นับเป็นข่าวร้ายที่สุดสำหรับคนรักของหวาน เมื่อราคาน้ำตาลในดัชนีราคาอาหารโลกขึ้นและลงสลับกัน เมื่อเดือนตุลาคม 2016 ราคาน้ำตาลทะยานสูงขึ้นในรอบ 4 ปี แต่ตกฮวบอย่างรวดเร็วในช่วงธันวาคม และตอนนี้กลับมาสูงเหมือนเดิมแล้ว แน่นอนว่าราคาของน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวส่งผลบวกกับผู้ประกอบการน้ำตาลอย่างมาก แต่คงไม่ใช่สำหรับคนชอบรสหวานอย่างแน่นอน

Photo: Valentin Flauraud, Reuters/Profile

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อเดือนรวม 5 กลุ่มสินค้า คือ ซีเรียล, น้ำมันพืช, ผลิตภัณฑ์นม, เนื้อสัตว์ และน้ำตาล พบว่าการใส่น้ำตาลในชาของคุณจะทำให้ชาแก้วนั้นมีราคาแพงกว่า 45% ในขณะที่การใส่นมเข้าไปแทนจะแพงกว่า 33% และราคาน้ำสลัดเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แต่เนื้อสัตว์ราคายังคงที่อยู่ เพิ่มขึ้นเพียง 8%

FAO ยังระบุด้วยว่าปัจจุบันราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2017 ในเดือนเดียวกับที่ FAO เปิดเผยดัชนีการขึ้นราคาอาหารนั้น ผู้คนทั่วโลกรู้สึกในทันใดว่าตัวพวกเขาเองไม่สามารถแม้แต่จะซื้อสินค้าปัจจัยพื้นฐานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของเขา มากไปกว่านั้นราคาของหอมหัวใหญ่ที่พุ่งสูงขึ้นนำความจลาจลมาสู่อินเดีย แต่รัฐบาลเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยสั่งห้ามการขนส่งสินค้าออกนอกประเทศ และตัดภาษีสินค้านำเข้า

Photo: Dylan Martinz, Reuters/Profile

จากรายงานของ Eurostat ประเทศที่มีการซื้อของแพงที่สุดในภูมิภาคยุโรป คือ สวิตเซอร์แลนด์ เพราะราคาอาหาร เครื่องดื่ม และใบยาสูบสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนยุโรปทั่วไปถึง 72% ในขณะที่นอร์เวย์สูงกว่าค่าเฉลี่ย 60% เดนมาร์ก 45% และไอซ์แลนด์ตามมาที่ 30% ซึ่งเดนมาร์กเป็นตลาดที่สินค้ามีราคาแพงที่สุดและโปแลนด์เป็นตลาดที่มีสินค้าถูกที่สุดในอียู (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 37%) จากประเทศที่สำรวจ

โครงการอาหารโลก (WFP) คาดคะเนว่าประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นใช้จ่าย 60-80% ของรายได้ครัวเรือนไปกับอาหาร เมื่อราคาอาหารพุ่งสูงและเร็วขึ้น WFP คาดการณ์ว่าผลกระทบจะตกอยู่ที่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ บังคับให้พวกเขาต้องตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างในการใช้ชีวิตออกไป เช่น หนังสือเรียน ยารักษาโรค ชั้นวางของ และเสื้อผ้า

การที่ราคาอาหารพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น สร้างความตระหนักให้ตัวเราว่ายุคของอาหารราคาถูกนั้นจบลงไปนานแล้ว โดยเฉพาะครอบครัวรายได้ต่ำที่รับผลกระทบมากที่สุดนั้นก็ยังต้องการอาหารและปัจจัยอื่นอยู่ คำถามคือไม่ใช่เมื่อไรที่อาหารจะราคาถูกลงอีกครั้ง แต่เราจะดำรงชีวิตอย่างไรในยุคที่อาหารแพงแบบนี้ต่างหาก

อ้างอิง:

Tags: , , ,