The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ ที่ต้องระแวดระวังการเลิกรา เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย

แต่หากเปรียบประเทศไทยเป็นชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ตลอด 7 ปี ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘รัฐบาล’ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเดิมของคณะรัฐประหาร ก็คงเป็น Toxic Relationship ที่ควรกำจัดออกมากกว่ารักษาไว้

ในวาระครบรอบการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้

The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้ ก่อนรัฐประหาร 2557 จะเวียนมาครบ 7 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

ย้อนกลับไป 7 ปีก่อน ‘มายด์’– ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล คือเด็กคนหนึ่งจากจังหวัดสระบุรี ที่เติบโตในครอบครัวค้าขาย มีหน้าที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยได้ดั่งหวัง ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด อีกทั้งยังมองว่าเป็นเรื่อง ‘ไกลตัวและน่าเบื่อ’ ตามวาทกรรมที่เธอได้ยินจากสังคมรอบตัวมาโดยตลอด

7 ปีต่อมา เธอคือหนึ่งในแกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะเยาวชนปลดแอก ที่เข้าใจแล้วว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัว และความเหลื่อมล้ำทำให้การศึกษาเป็นเรื่องเข้าถึงยาก ทั้งหมดล้วนมีต้นตอเรื่องจากการเมืองแทบทั้งสิ้น  จึงเป็นเหตุให้เธอออกมาพูดถึงการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่บ่อยครั้ง เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

The Momentum ชวน ‘มายด์’ – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล พูดคุยถึงเรื่องราว 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยเกิดการรัฐประหาร 2557 ว่าอะไรที่ทำให้เด็กที่เพิกเฉยต่อการเมืองคนหนึ่ง ถึงกลายมาเป็นแกนนำที่ออกมาเรียกร้องและทำให้วัยรุ่นอีกจำนวนมาก ได้ ‘ตาสว่าง’ มองเห็นสารพัดปัญหาที่เกิดจากการเมืองได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่ 

ตอนนั้นอยู่บ้าน เตรียมไปโรงเรียนตามปกติ พอเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้น โรงเรียนก็สั่งหยุดเรียนหนึ่งวัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือดีใจ ไม่ต้องไปเรียน แค่นั้นเลย ความรู้สึกของเด็กที่ไม่สนใจการเมืองกับรัฐประหารปี 2557 มันแค่นั้นจริงๆ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ช่วงปี 2556-2557 เราเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนนั้นก็เริ่มเห็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่มาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บ้างแล้ว ได้เห็นการปิดถนน ปักหลักชุมนุม พยายามรณรงค์ไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิต เรามองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว สังคมรอบตัวในช่วงนั้นก็พยายามบอกว่าหน้าที่ของเราคือนักเรียนที่ต้องตั้งใจเรียนเท่านั้น 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ โรงเรียนของเราช่วงมัธยม อาจารย์ส่วนใหญ่จะมีแนวคิดตรงกับกลุ่ม กปปส. หลายครั้งเราเห็นครูเชิญชวนนักเรียนไปร่วมเดินรณรงค์ด้วย และมีอีกหลายคนที่หลังจากเกิดรัฐประหาร เขาเห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศต้องสงบเสียที หลายคนรอบตัวเราเชื่อมั่นในตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะทำให้ประเทศเราสงบได้จริงๆ ทั้งที่เขาเริ่มต้นคืนความสงบด้วยการแต่งเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย (หัวเราะ)

แต่เราก็ไม่ได้ไปร่วมเดินขบวนตามพวกเขา ไม่ใช่เพราะเราเห็นว่ามันไม่ถูกต้องนะ แต่เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันจะเกี่ยวข้อง และส่งผลกับตัวเรามาถึงทุกวันนี้

ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา 

หลังจากปี 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจที่ถดถอย นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้น ประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ครอบครัวเราทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างและค้าขาย ขนาดไม่ใช่รายเล็ก ก็ยังได้รับผลกระทบโดยตรง

ตอนแรกคิดว่าธุรกิจรับเหมาของป๊าที่ไม่มีเงินมาหมุนงานระยะยาวจะเจ็บหนักแล้ว แม่เราที่ทำธุรกิจขายอาหารเสริมและครีมเสริมความงามเจ็บหนักยิ่งกว่า เพราะของพวกนี้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย พูดตามตรงเศรษฐกิจในตอนนั้น จะมีใครเขาเอาเงินมาซื้อของที่ไม่จำเป็นแบบนี้ จากนั้นยอดขายลดลงทันตาเห็น ลูกค้าประจำบางคนเดินมาบอกเลยว่า ช่วงนี้ขอไม่รับก่อนนะ ไม่มีเงินจะซื้อจริงๆ ตอนนั้นจำได้ว่าต้องพยายามอย่างมากเลย หาสินค้าประเภทอื่นมาขายทั้งที่ตัวเองไม่ถนัด  ปรับตัวหาช่องทางค้าขายกันให้มากขึ้น แต่ก็นั่นแหละ มันก็ยังไม่พอ (ถอนหายใจ)

ตัวเราเองตอนนั้นกำลังจะขึ้นมหาวิทยาลัยแล้ว ในเมื่อมีรายได้จากที่บ้านน้อยลง เราก็เริ่มออกไปหาเงินเองมากขึ้น ตอนนั้นก็ทำงานพิเศษหลายอย่าง รวมถึงการได้เข้าร่วมกับกลุ่มชุมนุมก็เริ่มมาจากการเป็นทีมงานที่จัดเวทีชุมนุมนี่แหละ

แต่เชื่อไหมว่ากว่าที่จะเข้าใจว่านี่คือปัญหาทางการเมืองก็ปาเข้าไปปี 2558 แล้วนะ หนึ่งปีก่อนหน้าเรายังไม่เข้าใจบริบททางการเมืองเลย ตอนรัฐประหารรู้สึกมึนงงไปช่วงหนึ่ง เราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และจะเป็นอย่างไรต่อ 

เหตุการณ์ทำให้เราตาสว่างคือ การชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อพฤษภาคมปี 2558 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นเรารับไม่ได้จริงๆ ทำไมมนุษย์คนหนึ่งถึงต้องถูกกระทำแบบนั้น การที่พวกเขาแค่ไปยืนรวมตัวกัน กลับต้องถูกขัดขวางด้วยการใช้กำลัง 

ดังนั้นรัฐประหารปี 2557 มันทำให้เราตาสว่างพอจนมองเห็นว่าอะไรคือต้นตอของปัญหาในเมืองไทย สว่างจนเห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน สว่างจนเห็นว่าเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็สามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนสังคมและชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้ 

หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

เราคิดว่าอย่างไรก็จะไม่ซ้ำรอยเดิม อะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็จะได้เห็น อย่างน้อยก็จะได้เจอกับการแสดงออกหลากหลายรูปแบบของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะทุกวันนี้คนเขาตื่นตัวและเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือการกระทำที่ลิดรอนอำนาจ ลิดรอนสิทธิ ขนาดทุกวันนี้ที่เหมือนจะยึดอำนาจไปบางส่วนแล้ว ผู้คนเขายังออกมาต่อสู้เลย แล้วถ้าวันหนึ่งมีการยึดอำนาจอย่างเป็นทางการขึ้นมาจริงๆ มันต้องยิ่งมากกว่านี้แน่นอน 

ถ้าถามว่าต้องทำอย่างไร อย่างแรกก็พยายามสอดส่อง ตรวจสอบ วิจารณ์ เพื่อป้องกันการเกิดการรัฐประหารขึ้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาจริงๆ เราคิดว่าตัวเองคงไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะตอบได้แล้ว เชื่อว่าประชาชนหลายคนที่เขาตาสว่าง เขาจะมีวิธีแสดงออกถึงการต่อต้านที่หลากหลายมากๆ ซึ่งมันจะมีพลังมากกว่าที่คิดไว้ เราเชื่อแบบนั้น รัฐประหารครั้งต่อไปจะไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีประชาชนอีกจำนวนมากพร้อมจะลุกขึ้นสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตัวเอง

 

—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 01: ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คดีทางกฎหมายสิ้นสุด แต่การถูกหมายหัวไม่สิ้นตาม

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 02: ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ไม่ว่าเป็นการปกครองแบบใด สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องอยู่ดี กินดี และมีความสุข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 04: ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ รัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เสียของ แต่เสียหายยับเยิน

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 05: ‘เสรี วงษ์มณฑา’ ปัญหาเรื่อง ‘สื่อ’ ที่ได้รับการปฏิรูป แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 06: ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ 7 ปี แห่งการฉ้อฉลเชิงอำนาจ เมื่อทหารไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาที่แท้จริง

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 07: ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน

Tags: , , , , ,