The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย

ในวาระครบรอบการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้ 

The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้

ไพบูลย์ นิติตะวัน ในวัยหนุ่มทำไร่อยู่ต่างจังหวัด เป็นนักพัฒนา แรงกล้าด้วยอุดมการณ์ สร้างเนื้อสร้างตัวจากการบุกเบิกทำงานสร้างธุรกิจการเกษตร ก่อนเข้ามาสู่โลกของอำนาจและการเมือง

ชื่อของเขากลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่สังคมไทยจดจำและให้ความสนใจเสมอ ทุกครั้งที่เขาปรากฏบนหน้าสื่อ ด้วยบุคลิกเฉพาะตัว ลีลาการตอบคำถาม และแนวคิดทางการเมือง รวมถึง ‘ความชัดเจน’ ในการสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทสำคัญของสังคมไทย ในการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ผู้เคยประกาศก้องว่ามีส่วนที่ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่ง หลังเป็นผู้ยื่นคำร้องฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรีในคดีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ ก่อนเปิดช่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าใช้อำนาจปกครองประเทศแทน ในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่รัฐบาลซึ่งนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในสังคมไทย เป็น 7 ปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย และชื่อของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังได้รับความสนใจอยู่เสมอ ในฐานะ ‘กันชน’ ทีมกฎหมายของพรรคที่ออกมาปกป้องสมาชิกและสามารถเปลี่ยนเกมในรัฐสภา ให้พารัฐบาลเดินหน้าต่อได้บนเส้นทางการเมือง

ถึงนาทีนี้ เขายังยืนยันคำเดิมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้นำประเทศ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่

สถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นผมก็อยู่ในเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องการชุมนุม กปปส. จนกระทั่งก่อนเหตุการณ์รัฐประหารไม่กี่วัน คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ผมได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แล้วศาลก็อ่านคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 9 คน รวมเป็น 10 คน วันนั้นเป็นวันที่ทำให้รัฐบาลรักษาการของพรรคเพื่อไทยหลุดพ้นจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นแกนหลักของรัฐบาล คือเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองต่อไปได้”

ผมอยู่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้นวันที่ 21 พฤษภาคม ก็มีการประชุม และผมยังชุมนุมกับ กปปส. อยู่เลย จึงทราบว่ามีความพยายามคุยกันเพื่อหาข้อยุติ หาทางออกของประเทศ ซึ่งก็มองว่าต้องตั้งนายกฯ คนกลาง โดยให้วุฒิสภาแต่งตั้ง แต่ทีนี้มติโต้แย้งกันว่า รัฐบาลยังมีรัฐมนตรีอยู่หลายคน ทำให้เกิดสภาพสุญญากาศที่จะไปสู่การใช้มาตรา 7 ก็มีการประชุมกันเพื่อหาทางว่ารัฐบาลที่เหลือจะลาออกหรือไม่ ปรากฏว่าพอยืนยันว่าไม่ออก มันก็ไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีรัฐบาลที่จะบริหารประเทศแล้ว จำได้ว่าวันที่ 22 พฤษภาคม ในเมื่อทางซีกรัฐบาล ที่มีตัวแทนโดย ชัยเกษม นิติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าไม่ลาออก พอถึงช่วงบ่ายก็ตามที่ปรากฏเป็นข่าว พลเอกประยุทธ์ก็ยึดอำนาจ”

ผมเองยังเชื่อว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ต้องการจะยึดอำนาจอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นห่วงหลายเรื่อง โดยนิสัยผมเชื่อว่าท่านเป็นคนที่ไม่อยากจะทำเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าจำเป็นก็ต้องทำ ผมยังมองว่าพลเอกประยุทธ์มีความจำเป็และไม่มีทางเลือกอื่น

ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ผมแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการปกครองโดยคณะ คสช. เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งผมมองว่าในช่วงเวลาที่ คสช. เข้าไปควบคุมและบริหารประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างสภานิติบัญญัติ ก็เป็นระบบเผด็จการ ซึ่งก็เป็นการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ มีข้อดีในเรื่องที่ทำให้การเมืองมีความเรียบร้อยได้อย่างดี สามารถหยุดเรื่องการชุมนุม หรือความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ได้ สำหรับการที่ประเทศเจอวิกฤตมาขนาดนั้น ก็ยังสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เติบโตพัฒนาการไปได้ในระดับพอสมควร ไม่ใช่เป็นแบบก้าวกระโดด เพราะแบบนั้นจะไม่มีเสถียรภาพ จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวของ คสช. 5 ปีนั้น เป็นแนวที่เน้นเรื่องของเสถียรภาพเป็นหลัก เป็นการบริหารประเทศแบบควบคุมเน้นการปฏิบัติ

ช่วงนั้นมีปัญหาอย่างเดียวคือ ผู้ที่เข้าสู่อำนาจไม่ใช่นักการเมืองจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกลุ่มอำนาจกลุ่มใหม่ที่เข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรี หรืออยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกลุ่มนักการเมืองก็คงไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็พอใจในเรื่องที่ว่าหากบ้านเมืองสงบก็ยอมรับได้ ดังนั้นในช่วง 5 ปี ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดีและถูกต้อง ผมก็ยังมองว่า ถ้าผู้นำของพรรคเพื่อไทยในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการตัดสินใจไปอีกแบบ บ้านเมืองก็จะไปอีกแบบ หมายถึงตัดสินใจยอมถอยนะ แต่ในเมื่อมาอย่างนี้แล้ว มันย้อนกลับไม่ได้ ประเทศก็ไปได้ดีพอสมควร และยังมีความมั่นคงมาจนปัจจุบัน

ส่วนหลังจาก 5 ปี ก็มาสู่ยุคของการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีการเลือกตั้ง มี สส. เข้ามา แม้หลายฝั่งจะบอกว่ามี สว. มาเลือกนายกฯ ด้วย ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็สุดแล้วแต่มุมมอง แต่สิ่งที่สำคัญคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง และมี 253 คน เลือกพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม ถือว่ามาตามรัฐธรรมนูญและตามหลักสากล ซึ่งทุกประเทศก็ยอมรับ และให้การรับรองรัฐบาลนี้”

ในการบริหารในยุคที่สองของพลเอกประยุทธ์ ก็ยังสามารถเดินหน้าในแนวทางที่ใช้วิธีการปฏิบัติได้ดี ส่วนที่ผมมองว่าเป็นผลดีคือ การที่รัฐธรรมนูญปี 60 ได้ออกแบบเป็นกลไกป้องกันช่วงเปลี่ยนผ่านไว้ ไม่ว่าหลายฝ่ายจะมองเรื่องของการมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน เป็นปัญหา ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในส่วนผม ผลของการดูแลให้ประเทศเดินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ถือว่าก็มีส่วนในการช่วยประคับประคองไปได้ ดังนั้น ปัญหาก็เกิดเฉพาะนักการเมืองฝ่ายค้านเท่านั้นที่ไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นผลโดยรวมของคนส่วนใหญ่ หรือประโยชน์ของประเทศนั้น ผมถือว่ายังเป็นประโยชน์ที่ดี

สิ่งที่วัดได้ดีที่สุดคือเมื่อมีวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 เข้ามา ก็จะได้เห็นการรับมือของระบบการปกครองหรือรัฐบาลแต่ละประเทศ จะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าจะผ่านพ้นวิกฤตได้หรือไม่ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์กับระบบการปกครองของประเทศในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีกลไกรับมือที่ทำให้รัฐบาลสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีติดอันดับต้นๆ ของโลก

หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ตั้งแต่อดีต การเกิดรัฐประหารไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิด แต่มันมีที่มาของบริบทต่างๆ ที่ทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น เช่น เป็นผลจากเหตุ ที่ว่าการเมืองไม่ดี การเมืองมีปัญหาขัดแย้งมากมาย หรือบางครั้งก็มีการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง และทำให้กลุ่มทหารบางกลุ่มอาจจะฉวยโอกาสนั้นในการอ้างเหตุทำรัฐประหาร แต่ช่วงที่ผ่านมาของพลเอกประยุทธ์ เป็นเรื่องของความไม่สงบของการชุมนุมทางการเมืองของรัฐบาลและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งก็จะแตกต่างจากรัฐประหารก่อนหน้านั้น

ในขณะนี้ ผมดูแล้วยังไม่เห็นว่ามีเหตุใดหรือมีบริบทใดที่จะนำไปสู่รัฐประหารได้เลย สถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีเหตุใดที่จะทำให้เกิดการรัฐประหาร ถ้าไม่มีเหตุ ผมบอกได้เลยว่ามันยังไม่มีผล รัฐประหารเป็นผลไม่ใช่เป็นเหตุ รัฐประหารคือผลจากที่มีเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น

สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีความสุขมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของการปกครอง ช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีทำได้ดี สิ่งนี้คือข้อสรุป

 

—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 01: ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คดีทางกฎหมายสิ้นสุด แต่การถูกหมายหัวไม่สิ้นตาม

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 03: ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่ดวงตายังคงมืดบอด

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 04: ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ รัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เสียของ แต่เสียหายยับเยิน

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 05: ‘เสรี วงษ์มณฑา’ ปัญหาเรื่อง ‘สื่อ’ ที่ได้รับการปฏิรูป แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 06: ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ 7 ปี แห่งการฉ้อฉลเชิงอำนาจ เมื่อทหารไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาที่แท้จริง

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 07: ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน

Tags: , , , ,