The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ ที่ต้องระแวดระวังการเลิกรา เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย

แต่หากเปรียบประเทศไทยเป็นชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ตลอด 7 ปี ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘รัฐบาล’ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเดิมของคณะรัฐประหาร ก็คงเป็น Toxic Relationship ที่ควรกำจัดออกมากกว่ารักษาไว้

ในวาระครบรอบการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้

The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้ ก่อนรัฐประหาร 2557 จะเวียนมาครบ 7 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ใช้ชีวิตเกินครึ่งศตวรรษในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครอง ตั้งแต่การเป็นนักศึกษา จวบจนการจดจำในชื่อ ‘สหายชัย’ และ ‘สหายแผ้ว’ อดีตนักปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ใช้เวลาต่อสู้ในป่ากว่า 7 ปี นอกจากนี้ยังเป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ต่อมา จรัลได้เข้าร่วมเป็นแกนนำ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสถานะปัจจุบันของเขาคือ ‘ผู้ลี้ภัย’ ในวัย 74 ปี เขายืนยันกับเราว่า ‘สหายชัย’ และ ‘สหายแผ้ว’ ไม่ได้ตายไปจากจรัล ดิษฐาอภิชัย เขายังยืนยันที่จะต่อสู้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่

วันที่เขาทำรัฐประหาร ผมชุมนุมอยู่ที่ถนนอักษะ พร้อมแกนนำและมวลชนเสื้อแดง เราก็ประชุมกันว่าจะเอาอย่างไร จะสู้หรือไม่สู้ จะต่อต้านหรือไม่ต่อต้าน จนที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าเราคงต่อต้านไม่ไหว เพราะแกนนำส่วนหนึ่งที่ไปเจรจาก็ถูกจับ เช่น วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ จนสุดท้ายเราต้องยุติการชุมนุม เพราะถ้าไม่ยุติ เขาก็จะส่งกำลังทหารมาปราบ ซึ่งอาจทำให้พี่น้องเสื้อแดงบาดเจ็บล้มตายกัน แต่พอเราประชุมเสร็จแล้วออกจากห้องประชุม กำลังจะขึ้นไปประกาศยุติการชุมนุม ก็มีเสียงปืนดังขึ้น แสดงให้เห็นว่าทหารเข้ามาแล้วด้านหลังเวที พวกเราก็วิ่งหลบกระสุนกัน

“ผมก็วิ่งหลบ จนเดินออกมาเจอคนขับมอเตอร์ไซค์ เขาก็บอกว่า ‘อาจารย์ๆ ไปกับผมนะ ต้องรีบแล้ว ทหารกำลังมาล้อมปิด อาจารย์ถูกจับแน่ๆ’ แล้วเขาก็พาผมออกจากถนนอักษะ

“สิ่งที่น่าสังเกตในการรัฐประหารครั้งนี้คือ ผู้บัญชาการทหารบกมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเรียกตัวแทน 4 ฝ่าย มีฝ่ายรัฐบาล, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพใช้วิธีประกาศกฎอัยการศึกก่อน เพื่อข่มขู่รัฐบาลและประชาชน แล้วทำรัฐประหาร

“ส่วนตัวของผมมองว่ารัฐประหารครั้งนี้ มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ 2 ประการคือ 1. เพื่อหยุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ 2. เพื่อบ่อนทำลายพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม จากเป้าหมายสูงสุด 2 ข้อนี้ จึงตอบปัญหาว่า ทำไมรัฐประหารชุดนี้ถึงอยู่นานกว่า 7 ปี”

ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

หลังออกจากถนนอักษะ ผมหลบอยู่ในกรุงเทพฯ จากนั้นก็เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเดินทางมาต่อมายังประเทศฝรั่งเศส เพราะผมมีพาสปอร์ตและวีซ่าอยู่ นอกจากหลังการรัฐประหาร ผมมีหมายจับ 5 คดี คดีแรกคือคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คดีที่สองคือคดีอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีจัดการแสดงละคร เจ้าสาวหมาป่า ในงานครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 ผมเป็นจำเลยอันดับที่ 2 เพราะเป็นประธานจัดงาน ส่วนจำเลยที่ 1 คือคนทำละครกับคนแสดงละคร คดีที่สามคือผมไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ส่วนอีกคดีศาลตัดสินแล้ว คือคดีไม่ยื่นทรัพย์สิน สมัยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

หากถามว่ารัฐประหารครั้งนี้ส่งผลต่อผมอย่างไร 1. ผมต้องลี้ภัยมาอยู่ประเทศฝรั่งเศส สิ่งที่ผมได้ยินมาตลอดชีวิตคือ ‘ไอ้พวกที่หนีไปคือพวกไม่สู้ ถ้าสู้จริงต้องไม่หนี ต้องติดคุก’ มันเป็นวาทกรรม เป็นคำวิพากษ์ผู้ที่หนี แน่นอนว่าการอยู่ในคุกมันสามารถสู้ต่อได้ แต่มันสู้ได้มากได้น้อยแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับการลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆ ถ้าเรายอมติดคุกก็เท่ากับว่าเรายอมรับอำนาจรัฐประหาร  ยอมรับอำนาจเผด็จการ ผมไม่ยอมรับอยู่แล้ว และการลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน มันเป็นสิทธิ์ที่จะลี้ภัย 2. ผลกระทบอีกอย่างคือ ทำให้ต้องแยกกับครอบครัว ตอนนี้ผมอยู่คนเดียว ภรรยาอยู่ประเทศไทย มันคือความทุกข์ทรมานมากกับการที่ต้องอยู่ประเทศอื่น พูดเลยว่าการอยู่ประเทศอื่นมันไม่สนุกเท่ากับอยู่ประเทศไทย (หัวเราะ) พออายุมากก็ทำงานไม่ได้แล้ว ไม่มีบริษัทไหนรับ

แต่ฝรั่งเศสเขาก็มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ มีเงินคนแก่ ทุกวันนี้ผมก็ใช้เงินคนแก่นะ แล้วบางคนเขาคิดว่า หากอยู่ก็ต้องอยู่ถาวรไปถึงขั้นตายที่เมืองนอก เหมือนท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ตายที่ฝรั่งเศส ผมประกาศตลอดว่า ถ้าผมตาย อย่านำศพผมกลับประเทศไทย ไม่ใช่รังเกียจเดียดฉันท์อะไร แต่การนำศพผมกลับมามันมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผมไม่อยากให้ภรรยาหรือลูกต้องมาออกเงิน ผมตายไปก็ไม่รู้เรื่องแล้ว จะเอาศพผมไปทิ้งไปฝังตรงไหนก็ได้ แต่บางคนเขาไม่ได้คิดแบบนี้ เวลาตายต้องมีพิธี ต้องได้กลับบ้าน อีกผลกระทบที่ผู้ลี้ภัยหลายคนต้องประสบกับปัญหาพ่อแม่เสียชีวิต นี่ก็เป็นความทุกข์ยากอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้กลับไปเผาพ่อแม่ แต่พ่อแม่ผมเสียชีวิตไปแล้ว จึงมีปัญหาแค่พี่สาวตาย หลานตาย”

 หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ผมอภิปรายไปไม่รู้กี่ร้อยครั้งแล้ว ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ 1. เราต้องให้ประชาชนรักและหวงแหนเสรีภาพประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่รักไม่หวงแหน ทหารก็จะทำรัฐประหารได้อีก 2. ประชาชนต้องเป็นพลังประชาธิปไตยให้มีลักษณะเป็นกระบวนการ เป็นพลังประชาธิปไตยที่คอยหยุดยั้งการเกิดรัฐประหาร 3. จะต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญที่จะป้องกันไม่ให้ทหารทำรัฐประหารได้

นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีเรื่องของกฎหมายด้วย เช่น ห้ามไม่ให้มีวิทยุทหารเกินความจำเป็น ให้มีเฉพาะหน่วยสื่อสาร เวลานี้ วิทยุประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นวิทยุทหาร ซึ่งวิทยุเหล่านี้มันสนับสนุนกองทัพ และเป็นแหล่งทำมาหากินของทหาร ยกตัวอย่างง่ายๆ ต้องออกกฎหมายปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพอาชีพ กองทัพต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่กองทัพรับใช้พระราชา สิ่งนี้เป็นที่พูดกันมานานแล้วแต่ไม่สำเร็จ หรือทำให้กองทัพเล็กลง กองทัพไทยใหญ่มาก และดูเหมือนมีจำนวนนายพลมากที่สุดในโลก ผมอยู่ฝรั่งเศสพบว่ามีนายพลไม่ถึงร้อยคน ในขณะที่ประเทศไทยมีนายพลเป็นพันเลย ไม่มีประเทศไหนที่ทหารแต่งชุดทหารแล้วให้สัมภาษณ์สื่อ  มีไม่กี่ประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย แต่งชุดทหารมาสัมภาษณ์เรื่องการเมืองออกความเห็นทางการเมือง ที่อื่นไม่มีนายพลคนไหนออกมาให้สัมภาษณ์เป็นข่าว มีแต่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศไทยมีทหารเป็นใหญ่มานาน การแตะต้องทหารมันต้องอาศัยพลังประชาชนและพลังทางการเมืองอย่างมาก”

 

—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 01: ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คดีทางกฎหมายสิ้นสุด แต่การถูกหมายหัวไม่สิ้นตาม

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 02: ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ไม่ว่าเป็นการปกครองแบบใด สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องอยู่ดี กินดี และมีความสุข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 03: ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่ดวงตายังคงมืดบอด

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 04: ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ รัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เสียของ แต่เสียหายยับเยิน

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 05: ‘เสรี วงษ์มณฑา’ ปัญหาเรื่อง ‘สื่อ’ ที่ได้รับการปฏิรูป แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 06: ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ 7 ปี แห่งการฉ้อฉลเชิงอำนาจ เมื่อทหารไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาที่แท้จริง

Tags: , , , ,