The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ ที่ต้องระแวดระวังการเลิกรา เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย
แต่หากเปรียบประเทศไทยเป็นชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ตลอด 7 ปี ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘รัฐบาล’ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเดิมของคณะรัฐประหาร ก็คงเป็น Toxic Relationship ที่ควรกำจัดออกมากกว่ารักษาไว้
ในวาระครบรอบการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้
The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้ ก่อนรัฐประหาร 2557 จะเวียนมาครบ 7 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้
สฤณี อาชวานันทกุล เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียน นักแปล และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นสังคมการเมือง เธอมักเขียนถึงเรื่องธรรมภิบาล การผูกขาดของนายทุน รวมถึงปัญหาคอร์รัปชัน
จนกระทั่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อม คสช. ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สฤณีเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารในครั้งนั้น ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านตัวอักษรบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย ชี้ชวนให้ผู้คนในสังคมมองเห็นถึงผลเสียที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ส่อแววดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์หนี้สินครัวเรือนที่ประชาชนต้องพบเจอ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ที่นับวันยิ่งเห็นชัดขึ้นกว่าเดิม
สฤณียังได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ตั้งแต่ เมื่อปี 2550 เพื่อรณรงค์ในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างตรงไปตรงมา และในปี 2559 ได้ยื่นรายชื่อคัดค้าน พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ สนช. ร่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีเจตนาส่อไปในทางลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถึงแม้สุดท้ายแล้ว พรบ. ดังกล่าวจะผ่านร่างก็ตามในภายหลัง
จากนั้นจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ที่คณะของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามามีบทบาทในการบริหารบ้านเมือง แต่ชื่อของสฤณี อาชวานันทกุล ยังคงถูกพูดถึงในฐานะนักเขียนอิสระที่ยืนหยัดไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เธอยังยืนยันว่า “ทหารไม่ใช่ผู้ที่จะเข้ามาขจัดปัญหาความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง”
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่?
ตอนนั้นจำได้รางๆ ว่าตัวเองนั่งอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็คิดไว้ในใจลึกๆ แล้วว่าน่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอย่างแน่นอน เพราะช่วง 1-2 วันก่อนหน้ามีการประกาศกฎอัยการศึก หลังม็อบ กปปส. กับฝ่ายรัฐบาลเจรจากันไม่ลงตัว พอเกิดการรัฐประหารจริง ตอนแรกก็รู้สึกเซ็งที่ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแล้ว จนมีรุ่นพี่ที่เรารู้จักเปลี่ยนรูปปกบนหน้าเฟซบุ๊กเป็นภาพที่มีคำว่า ‘ไม่เอารัฐประหาร’ เราก็เลยเอาบ้าง หลังจากนั้นก็มีฝ่ายที่เชียร์กับฝ่ายที่ไม่เชียร์รัฐประหารเข้ามาคอมเมนต์โต้ตอบใต้ภาพกันเต็มไปหมด
ถามว่าหลังเปลี่ยนรูปปกเฟซบุ๊กว่าไม่เอารัฐประหาร แล้วมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นตรงกันข้ามแล้วรู้สึกอย่างไร ก็ต้องบอกว่าพอเข้าใจได้นะ เพราะช่วงเวลานั้นมีหลายคนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. ที่อยากให้ทหารเข้ามาจัดการปัญหา ส่วนตัวก็ไม่ได้เซอไพรส์เท่าไหร่นัก แต่แค่รู้สึกแย่ที่ว่า ในรอบ 8 ปีนี้ ประเทศเราต้องเกิดการรัฐประหารอีกแล้วหรือน่าเสียดายที่เราไม่ได้บทเรียนก่อนหน้านั้นกันเลย
ถึงแม้ปี 2549 และ 2557 จะเป็นการทำรัฐประหารเหมือนกัน แต่มันมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน เพราะหลังรัฐประหารในปี 2549 ต่อมาไม่กี่ปีก็มีการแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนทันที ซึ่งแม้นายกฯ ขณะนั้น (พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์) จะเคยเป็นทหารมาก่อน แต่นั่นก็เป็นสัญญาณว่ากองทัพเองไม่ได้อยากเข้ามาบริหารประเทศ ที่กองทัพเข้าเพราะเขาเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเองได้ พอมาในปี 2557 ก็เป็นอย่างที่เราเห็นว่าสถานการณ์แย่กว่าครั้งก่อนมาก เพราะเมื่อเกิดการรัฐประหารก็มีการแต่งตั้งคณะ คสช. มีคำสั่งปิดสื่อ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระทำแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเขาอยากเข้ามามีอำนาจ ถึงแม้ฝ่ายที่เชียร์เขาจะตีความอ้างว่าการรัฐประหารรอบนี้ไม่อยากให้ ‘เสียของ’ เหมือนครั้งก่อน ยิ่งอยู่นานยิ่งมีเวลาแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้แบบถอนรากถอนโคน แต่สุดท้ายผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันว่าไม่เป็นความจริง”
ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนของตัวเองต้องถือว่าโชคดี ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่ต้องพึ่งพาการทำงานจากรัฐบาล อาชีพหลักของเราคือทำวิจัย คนที่สนับสนุนให้ทุนเราก็เป็นองค์กรหลากหลาย อาจจะมีผู้สนับสนุนเป็นองค์กรที่มาจากรัฐบ้าง แต่การทำงานก็ค่อนข้างเป็นอิสระ ส่วนการทำงานในฐานะนักเขียนหรือนักแปลเองแทบไม่ต้องพึ่งพาอะไรจากรัฐเลย
แต่ในแง่ของสังคม คิดว่าได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งระบอบใหม่ที่ชื่อว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ ตามที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้เคยกล่าวไว้ และเราก็เห็นด้วย ในมุมมองตามหลักเศรษฐศาสตร์ สิ่งนี้ทำให้เสียต้นทุน เสียโอกาสทางการเมืองจากการสืบทอดอำนาจ ด้วยกติการัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาอย่างไม่ยุติธรรม อยู่ๆ ก็มีการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ถึงแม้ตอนแรกจะอ้างว่าการตัดสินใจของ ส.ว. จะเป็นไปแบบอิสระ แต่ในข้อเท็จจริงเราก็เห็นแล้วว่าเสียงการตัดสินใจออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้านวุฒิสภาก็ทำหน้าที่เป็นองครักษ์รัฐบาล ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่เลย สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นค่าเสียโอกาสตลอดระยะเวลา 7 ปี ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
เมื่อมีการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้น เจตนาต่อมาจึงเป็นการทำให้กลไกการถ่วงดุลอำนาจที่มีไว้ตรวจสอบนั้นอ่อนแอลง ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้การทำงานของ ปปช. จะอ้างว่าทำงานอย่างเป็นอิสระ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปปช. ชุดนั้นก็เกิดจากการแต่งตั้งโดย คสช. นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการตั้งคำถามต่อการทำงานของ ปปช. อยู่บ่อยครั้ง เพราะโดยรวมๆ แล้ว องคาพยพทั้งหมดสามารถนิยามได้ว่า ‘มีไว้เพื่อการฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ และแน่นอนว่าเมื่อกลไลการถ่วงดุลอำนาจอ่อนแอ พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องฟังเสียงใครอีกต่อไป
ส่วนเรื่องของกลไกการต่อต้านคอร์รัปชันเราก็เคยเขียนไว้เยอะพอสมควร ในประเด็นที่เขากีดกันการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล พอระบอบการปกครองเป็นแบบนี้ เมื่อเทียบกับสถานการณ์สภาพสังคมไทยที่เจอความท้าทายเต็มไปหมดหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เช่น อยู่ๆ ก็มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาสังคมสูงวัย และยิ่งมีแนวคิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ AI ในอนาคตข้างหน้า ความเสี่ยงจึงตกเป็นของคนรุ่นใหม่กับความมั่นคงในหน้าที่การงาน
เมื่อแนวโน้มสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจถดถอยลงมากกว่าเดิม สังคมไทยตอนนี้จึงต้องการรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย มีความยืดหยุ่น เปิดรับฟังเห็นของประชาชน สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารให้เข้ากับสถานการณ์หรือความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมามีลักษณะตรงกันข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน”
หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม
คิดว่าคนไทยได้รับรู้บทเรียนจากรัฐประหารกันมามากพอแล้ว และจากที่ตัวเองได้คุยกับคนรู้จักที่เคยสนับสนุนการรัฐประหาร เขาเองก็เห็นแล้วว่ากองทัพไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาและช่วยให้เราพัฒนาในโลกยุคนี้ได้ อีกทั้งระบอบอำนาจนิยมเผด็จการมีแต่จะยิ่งดึงเราถอยลง กลับไปแช่แข็งอยู่กับอดีต จึงเชื่อว่าคนไทยเองตื่นตัวกับรัฐประหารมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากเมื่อปีที่แล้วที่มีการชุมนุมของนักศึกษา แล้วมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้คิดถึงเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะมีกฏหมาย 112 ก็ตาม
คำถามที่ว่าเราจะแสดงออกอย่างไรหากเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าเราเองไม่ได้เชี่ยวชาญตรงจุดนั้นมากเท่าไหร่นัก แต่เชื่อว่าเราน่าจะมีส่วนได้แรงบันดาลใจมาจากการประท้วงของชาวพม่าบ้าง เพราะตอนนี้ม็อบทั้งสองประเทศต่างก็เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจให้กันและกัน อย่างที่เราเห็นว่าประเทศพม่าเองต้านทานคณะรัฐประหารมาจนถึงตอนนี้ ถึงจะมีประชาชนล้มตายไปไม่น้อย
แต่จุดที่แตกต่างคือ ข้าราชการของเขาก็ทำการอารยะขัดขืนต่อการรัฐประหารอย่างชัดเจน นี่จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของเรา ว่าจะช่วยเหลือหรือทำอย่างไรให้ข้าราชการในประเทศที่ทำงานให้รัฐ สามารถออกมาทำการอารยะขัดขืนเคียงข้างไปพร้อมกับประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่าข้าราชการถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้รัฐสามารถทำงานได้ ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มเห็นกลุ่มข้าราชการบางกลุ่มที่แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองแบบนี้”
—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—
• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 01: ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ คดีทางกฎหมายสิ้นสุด แต่การถูกหมายหัวไม่สิ้นตาม
• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 03: ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่ดวงตายังคงมืดบอด
• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 07: ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน
Tags: รัฐประหาร, สฤณี อาชวานันทกุล, The Seven-Year Itch, รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน, คสช.