หนังสือเริ่มเปิดประเด็นทันทีว่า ใครว่ารู้ประวัติศาสตร์แล้วจะไม่ทำซ้ำรอย ไม่จริง
ย้อนมาดูชีวิตประจำวันของเราเอง รู้ทั้งรู้ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ก็ยังทำ เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่ว่าเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไว้เสีย จะได้ไม่พลาดซ้ำ ก็คงจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไปนิด …แต่อย่าเพิ่งปิดหนังสือเล่มนี้ไป
ทำไมต้องรู้ประวัติศาสตร์ อาจเป็นเพราะบางความจริงในอดีตอาจตบหน้าเราฉาดใหญ่ อะไรก็ตามที่เราชอบอ้างกันว่า “เขาก็ทำแบบนี้กันมานานแล้ว” หรือการรักษาคุณค่าบางอย่างที่สืบทอดมานาน เอาเข้าจริง เมื่อหันกลับไปมองค่านิยมในตอนนั้น อาจทำให้เรางงจนไปไม่เป็น
เป็นต้นว่า เรื่องกษัตริย์ต้องการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ของตัวเองถึงขั้นร่วมเพศกับลูกและร่วมเพศกับหลานที่เกิดจากลูก และร่วมเพศกับเหลนที่เกิดจากหลานอีกที (!) หรือการรักษาอาการปวดหัวยอดนิยมในยุคหนึ่ง คือการเจาะรูที่หัวระบายเลือดออกมาเสียเลย
หนังสือ ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง มากับหน้าปกสีแสดจ้า ที่เห็นแล้วก็ง่วงไม่ลงนี้ แปลมาจากหนังสือชื่อ The Mental Floss History of the World: An Irreverent Romp through Civilization’s Best Bits โดย อีริค แสส (Erik Sass) สตีฟ ไวแกนด์ (Steve Wiegand) และกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์
กษัตริย์ต้องการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ของตัวเองถึงขั้นร่วมเพศกับลูกและร่วมเพศกับหลานที่เกิดจากลูก และร่วมเพศกับเหลนที่เกิดจากหลานอีกที (!)
โจทย์ของหนังสือเล่มนี้ที่ให้คำมั่นกับผู้อ่านก็คือ “เรื่องจริงไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ”
จังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องของเล่มนี้ ก็เหมือนกับที่ชื่อภาษาไทยให้คำมั่นไว้ คือพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเล่าอย่างไรให้ไม่ง่วง มันอาจจะไม่หวือหวาแบบตบมุกให้ขำกลิ้งตลอดเวลา แต่การรักษาความกระชับของสิ่งที่เล่าคือหัวใจ
หากเรานึกถึงห้องเรียนวิชาสังคมศาสตร์ตอนมัธยมฯ ที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ (ในแง่ของชุดความรู้บางอย่างที่ต้องการการจดจำเพื่อนำไปใส่ในช่องว่างของแบบทดสอบ) เราจะพบว่า เพื่อให้ท่องได้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจำแนกเรื่องเหล่านี้ออกจากกันเป็นแผ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉีกออกไปเป็นช่วงคริสตศวรรษต่างๆ ฉีกออกไปตามชื่อยุคหรือเหตุการณ์สำคัญ ฉีกออกไปตามสมัยราชวงศ์ หรือฉีกออกแบบข้ามทวีป ท้ายที่สุดก็มักกลายเป็นการศึกษาคู่ขนาน อารยธรรมตะวันตก-อารยธรรมตะวันออก ราวกับว่าสองโลกนี้ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวพันกันเท่าไร อดเข้าใจผิดไม่ได้ว่าพวกเราเพิ่งมาเจอหน้ากันเมื่อไม่นานมานี้เอง
การฉีกแยกส่วนในแบบนี้นี้ก็เป็นเหมือนขนมปังขนาดพอดีคำที่ ‘ช่วยจำ’ แต่จะพบอีกเช่นกันว่า ประวัติศาสตร์ไม่สนุกเอาเสียเลย
ความพยายามของคณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ปรากฏให้เห็นจากการหาเส้นเชื่อมโยงของเรื่องราว และเลือกเล่าบางเหตุการณ์สำคัญที่อาจสอดพ้องส่งผลกับยุคถัดมา เช่น เรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอารยธรรมนี้อาจส่งผลอย่างล้ำลึกต่อการล่มสลายของอารยธรรมถัดมา หรือการพัฒนาของบางสิ่งบางอย่างในอีกซีกโลกก็ส่งผลสั่นสะเทือนแบบข้ามน้ำข้ามทวีป
การตัดสลับรวดเร็วแล้วเข้าสู่หัวข้อถัดไปให้เร็วที่สุด ทำให้เรานึกถึงการสรุปดรามาตามเพจสรุปหรือในทวิตเตอร์ ที่จะรวบรัดให้คนมีเวลาน้อยแต่อยากรู้เยอะอย่างเราๆ (หรือเวลาอาจจะมีเยอะ แต่สมาธิน้อย) ได้เข้าใจว่า ที่ผ่านๆ มา มันเกิดอะไรขึ้น
ส่วนผู้เขียนจะทำสำเร็จหรือไม่ ที่จะใช้หนังสือจับจูงเราให้ไม่คิดถึงหมอน ก็คงต้องลองไล่สายตาอ่านเพื่อพิสูจน์เอาเอง
หากเรานึกถึงห้องเรียนวิชาสังคมศาสตร์ เราจะพบว่า เพื่อให้ท่องได้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจำแนกเรื่องเหล่านี้ออกจากกันเป็นแผ่นๆ
ระหว่างพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้นึกถึงหนังสือ คู่มือศึกษาประวัติศาสตร์โลก ฉบับไม่งี่เง่า ซึ่งเป็นความพยายามสรุปรวบยอดสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเช่นกัน (เล่มนั้นมีความหนาเพียง 224 หน้า) แต่จุดประสงค์ของทั้งสองเล่มต่างกันไป เพราะ คู่มือศึกษาประวัติศาสตร์โลกฯ ดูจะมีธงชัดเจนว่าต้องการหยิบความจริงอีกชุดมาปะทะเข้าใส่เรา ซึ่งผู้เขียนอนุมานว่าน่าจะผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ตามตำรากระแสหลัก ซึ่งอันที่จริงเราก็ไม่แน่ใจนักว่ามันคืออะไร
แต่กับเล่มนี้ ท่วงท่าในการเล่าค่อนข้างเบาสบายกว่า คือถ้าเขาจะกำลังเล่าเรื่องที่เราน่าจะเซอร์ไพรส์ ก็เป็นเรานี่แหละที่เลิกคิ้วแปลกใจเอง
อย่าเพิ่งเครียด นี่ไม่ใช่การมารื้อสร้างเรื่องเล่า หรือเย้ยหยันตำราเรียน เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนกับเพื่อนเนิร์ดๆ คนหนึ่งที่ไม่ชอบเถียงครู แต่ก็มีเรื่องเล่าอีกแบบที่อยากเล่าเต็มไปหมด แล้วคอยมาสะกิดเราในห้องเรียนว่า “นี่ แกๆ รู้หรือเปล่า …ฯลฯ” เกือบทุกหน้าจะมีเกร็ดเรื่องเล่าในกล่องสีส้ม คอยทำหน้าที่เล่าเรื่องเหวอๆ ดูไม่สลักสำคัญแทรกเอาไว้ แต่ความไม่สำคัญของมันท่ามกลางอภิมหาเรื่องเล่าของยุค ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่น่าสนใจ หรือไม่ก็อาจเป็นคำคมที่ต้องฉุกคิด เช่น “ถ้าโกหกไม่เป็น ท่านก็ปกครองไม่ได้” ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ที่สะท้อนไปกับยุคสมัยของเรื่องเล่า และอีกสารพัดเรื่องราว
ที่เราอ่านแล้วอาจจะคิดว่าไม่รู้ก็ได้ แต่รู้แล้วก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร
เพื่อรอวันที่ความรู้ใหม่จะมาท้าทายสิ่งที่เราเพิ่งกลืนเข้าไปอีกที เพราะอย่างไรเสีย เรื่องดรามาไม่ได้จบในยุคนี้อย่างแน่นอน
Fact Box
- ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง แปลโดย สุวิชชา จันทร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ a book ตีพิมพ์เมื่อ มีนาคม 2561
- ใครสันทัดภาษาอังกฤษ ลองไปทำควิซทดสอบความรู้ทางประวัติศาสตร์กันเล่นๆ ที่ http://mentalfloss.com/quizzes/13386