ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดละเมิดได้ และสิทธิมนุษยชนนั้นคือสิ่งซึ่งเป็นสากล

(Human dignity is inviolable and human rights are universal)

—เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย 

เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนปี 2562 สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดงานนิทรรศการศิลปะสื่อผสม The Art of Human Rights นำเสนอผลงาน 13 ชิ้น โดยศิลปินคลื่นลูกใหม่อย่าง นักรบ มูลมานัส และ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงเนื้อหาพื้นฐานในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป ภายใต้แฮชแท็ก #EU4HUMANRIGHTS

นักรบ คือศิลปินคอลลาจที่โดดเด่นในการผสมผสานวัตถุดิบจากหลากวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และ นรภัทร คือศิลปินผู้ทำงานเกี่ยวกับดอกไม้ร่วมกับวัตถุต่างๆ ทั้งศิลปะจัดวางและภาพถ่าย ในคราวนี้ทั้งสองได้มาทำงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆ โดยนักรบยังคงคอนเซปต์การเสียดสีเบาๆ ผ่านงานคอลลาจได้อย่างเฉียบคม ขณะที่นรภัทรได้ลองเล่าถึงขอบเขตที่ไกลออกไปจากที่เคยเล่า 

“ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยกล้าหยิบเรื่องที่ไม่ใช่เรามาพูดในงานศิลปะ เช่นเราไม่ได้เป็นสตรี เราก็ไม่กล้าเอาเรื่องของสตรีมาพูด แต่ว่าการที่เราทำงานในนิทรรศการครั้งนี้ เหมือนเราได้เรียนรู้ ได้คลุกคลีกับประเด็นอื่นๆ และหวังว่างานศิลปะที่ออกมา จะเป็นตัวกลางให้คนอื่นได้เรียนรู้เหมือนที่เราได้เรียนรู้บางอย่างจากนิทรรศการนี้” นรภัทรกล่าว

ผลลัพธ์จากการทำงานกับประเด็นอย่างหนัก จึงเกิดเป็นงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์ 13 ชิ้น ที่สะท้อนมุมมองของศิลปินทั้งสองเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ตั้งแต่สิทธิคนพิการ สิทธิเด็ก สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา ความเสมอภาคทางเพศ เสรีภาพในการนับถือศาสนา จนถึงสิทธิแรงงาน และสิทธิและเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น ฯลฯ 

ศิลปะทุกชิ้นในนิทรรศการล้วนดึงดูดสายตาและเข้าถึงได้ไม่ยาก เพื่อส่งสารไปให้ถึงคนดูทุกคนว่าสิทธิไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย 

นางพิกุลทอง กับสิทธิสตรี : ระวังดอกพิกุลจะร่วง

โดย นักรบ มูลมานัส

เรื่องนางพิกุลทองเป็นนิทานพื้นบ้านที่นิยมนำมาเล่นเป็นละครนอกกันตั้งแต่สมัยอยุธยา นางพิกุลทอง ธิดาของท้าวสันนุราชกับนางพิกุลจันทราเป็นหญิงรูปงามและมีผมหอม เมื่อนางพูดจะมีดอกพิกุลทองร่วงจากปากทุกครั้ง นักรบเล่าว่า แนวคิดของงานคือการเปรียบผู้หญิงกับการแสดงออก ยิ่งพูดก็ยิ่งมีดอกไม้ร่วงออกจากปาก ถือเป็นภาพจำของผู้หญิงที่พูดมาก ซึ่งค่านิยมดังกล่าวถือเป็นการกดทับไม่ให้เพศหญิงได้แสดงออกถึงความคิดตน ในทางกลับกันค่านิยมเดิมได้เปลี่ยนไปแล้ว เพศหญิงควรมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดของตน อย่ากลัวที่จะส่งเสียงของตัวเองออกมา

ตุ๊กตาบาร์บี้-ดอกลิลลี่ กับเรื่องราวของสิทธิเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก และไม่ควรมองข้าม

โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

ดอกลิลลี่ที่ถูกมัดไว้ให้บาน ตุ๊กตาบาร์บี้ที่ถูกเทปกาวปิดปากไว้ —เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก งานชิ้นนี้ต้องการสร้างความตระหนักในสิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน กระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น ไม่ควรมีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

นรภัทรกล่าวว่าภาพเด็กผู้หญิงกับตุ๊กตาบาร์บี้เหมือนซ่อนความจริงบางอย่างของสังคมไว้ โดยเฉพาะในสถาบันครอบครัว ที่บางครั้งเด็กแทบไม่ได้มีทางเลือกในการใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง ภายใต้คำว่า ‘เชื่อฟัง’ และ ‘หวังดี’ อาจกลับกลายเป็นการปิดกั้นอิสรภาพ เด็กที่ไม่มีโอกาสพูดหรือแสดงออกสิ่งที่ต้องการ ก็คงไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ที่ไม่มีโอกาสได้เบ่งบาน 

สิทธิในการนับถือศาสนา กับผลงานแท่นบูชาแห่งความหลากหลาย 

โดย นักรบ มูลมานัส 

ผลงานเรื่องแท่นบูชา สะท้อนถึงสิทธิในการนับถือศาสนา ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ นักรบกล่าวว่า ภาพดังกล่าวยังแสดงถึงอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือ ในขณะที่บางช่องในผลงานถูกเว้นว่างเอาไว้ เพื่อเสนอว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง หรือแม้แต่สามารถนับถือศาสนาเบคอนได้ การเว้นช่องว่างจึงเหมือนศาสนาอื่นๆ ในโลกที่มีอีกมาก โลกใบนี้เองมีความแตกต่างมากมาย ทุกคนสามารถดำรงชีวิตด้วยแตกต่างได้ 

 

Working Hours ว่าด้วยเรื่องสิทธิแรงงาน การค้าทาสและความเป็นคน

โดย นักรบ มูลมานัส 

นักรบ เล่าว่าแม้ระบบทาสถูกยกเลิกไปหลายร้อยปี แต่ทว่าระบบทาสในการทำงานอาจจะยังไม่เลือนหายไปตามกาลเวลาในบางครั้ง แรงงานก็ยังถูกใช้งานราวกับทาส ในฐานะที่ทุกคนก็นับว่าเป็นแรงงานหนึ่งของสังคม จึงควรตระหนักในสิทธิของตนเองด้วย กล่าวคือทุกคนมีสิทธิในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างที่เท่าเทียมและค่าตอบแทนที่ยุติธรรม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด

 

Freedom of the Press แป้นพิมพ์สีดำที่ขาดแหว่ง กับเสรีภาพสื่อมวลชนที่ขาดหาย 

โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

ภาพแป้นพิมพ์เป็นผลงานที่เสนอเรื่องเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีสิทธิแสดงออกได้อย่างอิสระ ดังที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงออกกล่าวว่าทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ซึ่งแป้นพิมพ์ที่ขาดแหว่งไปถูกนำมาเรียงเป็นคำใหม่ให้ผู้ชมในงานคาดเดาเล่นว่าเป็นชื่อของใคร โดยนรภัทร ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานตอบเหตุผลถึงการเรียงคำดังกล่าวว่า “บางทีเราอาจจะต้องสละบางอย่างเพื่อให้บางอย่างอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าต้องสละอะไร แต่อยากให้คนดูมาดูแล้วคิดไปเอง” 

ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้คีย์บอร์ด นรภัทรกล่าวด้วยแววตาเปื้อนยิ้มว่า “สิ่งแรกที่พูดถึงสิทธิมนุษยชนที่เราคิดถึงเลย คือการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักที่เราใช้กัน มันเป็นสิ่งที่โยงเข้าถึงการพูด มีความร่วมสมัย” 

นิทรรศการ The Art of Human Rights : ศิลปะกับมนุษยชน เพราะสิทธิไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยังมีผลงานอีกหลายชิ้นที่จัดแสดงไว้ให้คุณได้ไปชมและลองตีความในแบบของตัวเองกันดู

อ้างอิง 

https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/ในโอกาสครบรอบ-30-ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก-ยูนิเซฟเผยรายงานฉบับใหม่

https://www.amnesty.or.th/index.php?cID=1053&stackID=217&bID=7305&btask=passthru_stack&ccm_token=1576456588:c81334826c7214c710b9f5ee960f8038&method=submit_form

 

 

Fact Box

  • นิทรรศการศิลปะสื่อผสม วันสิทธิมนุษยชนปี 2562 โดยสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและกระทรวงยุติธรรม จัดขึ้นที่ Yello House อยู่ในซอยเกษมสันต์ 1 ใกล้หอศิลป์กรุงเทพฯ (ฝั่งตรงข้ามมาบุญครอง) งานจัดระหว่างวันที่ 13-22 ธันวาคม 2562 เวลา 09:00-21:00 น.
  • นักรบ มูลมานัส เป็นศิลปินรุ่นใหม่ผู้หลงใหลสไตล์ Collage art ที่ผสมผสานงานศิลปะดั้งเดิมกับชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีกลิ่นอายของความร่วมสมัย 
  • นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ เป็นศิลปินผู้บอกเล่าชีวิตของเขาผ่านภาพถ่ายและศิลปะการจัดวาง (Installation art) ที่ใช้ดอกไม้เป็นผู้เล่าเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก เพศสภาพและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม