ดอกไม้ใดจะเศร้าเท่าดอกไม้หน้าศพ

“อยากให้ครอบครัวผู้ตายรับรู้ว่ายังไม่ถูกลืม” เขาจึงจัดดอกไม้หน้าศพจำลองจากของจริงซึ่งแห้งเหี่ยวไปแล้ว เพื่อบันทึกภาพมันไว้ให้คงอยู่ไปตลอดกาล

Only For “The Dead on Duty?” หรือ ‘สำหรับผู้ตายในหน้าที่?’ คือนิทรรศการภาพถ่ายโดย บอล—นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ที่จำลองดอกไม้หน้าศพของนายทหารและนักเรียนเตรียมทหารทั้งหมด 6 ศพที่เสียชีวิตจากการลงโทษหรือการทารุณกรรมในค่ายทหาร ประกอบกับเรื่องเล่าจากครอบครัวผู้ตาย ที่ยังคงต้องอยู่กับความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการใช้อำนาจ ซึ่งที่สุดแล้ว หลายครั้งได้กลายเป็นฆาตกรรม

ภายในนิทรรศการ ท่ามกลางกลิ่นดอกซ่อนกลิ่นจางๆ ในอากาศ เราจะเห็นภาพถ่ายดอกไม้ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างสวยงามในแสงสีทึมทึบหนักแน่น มีป้ายบอกวันชาตะ-มรณะ ซึ่งเมื่อลองคำนวณอายุของผู้ตายแล้วนับว่าน่าตกใจ หนึ่งในนั้นคือภาพดอกไม้หน้าศพของ นตท.ภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตในเดือนตุลาคม ปี 2560 จัดแสดงร่วมกับภาพดอกไม้หน้าศพช่ออื่นๆ ของผู้ตายที่จากไปก่อนหน้านั้น เรื่องของพวกเขาอาจจะเป็นข่าวขึ้นมาสักช่วงหนึ่ง แต่ไม่นานนักผู้คนก็ลืมหรือเลิกที่จะยินดียินร้าย

ทางด้านซ้ายคือดอกไม้หน้าศพของ ‘น้องเมย’

ใกล้กับแต่ละภาพเป็นข้อความชุดหนึ่ง ซึ่งนรภัทรได้ไปพูดคุยกับทางครอบครัวผู้ตายและสืบค้นจากข่าวของสื่อต่างๆ  แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่อย่างตั้งใจ เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงแท้ที่สุด ใช้วิธีเซ็นเซอร์อย่างท้าทายโดยขีดฆ่าคำบางคำเอาดื้อๆ

และนี่คือหนึ่งในข้อความที่คุณจะพบเห็นในนิทรรศการดังกล่าว

“ศพที่ 3 เหตุเกิดในปี 2560: ผู้ตายถูกสั่งขังคุกทหารเพราะไม่ได้เข้าเวรตามที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ ในระหว่างคุมขัง ผู้ตายถูกซ้อมโดยทหารยศสูงกับพรรคพวก ด้วยวิธีการอันโหดร้าย เริ่มด้วยการจับถอดเสื้อและกางเกง ผูกคอผู้เสียชีวิตด้วยเสื้อผ้าของเขาเองติดกับคานของลูกกรง พร้อมทั้งดึงขึ้นดึงลงในลักษณะของการแขวนคอ รวมไปถึงการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะให้หายใจอย่างทรมาน และใช้เหล็กตีศีรษะของผู้ตายซ้ำๆ จากนั้นจึงใช้ผ้าผูกขาผู้ตายและนำไปแขวนบนขื่อของกรงในลักษณะห้อยหัวลงมา และการรุมทำร้ายอื่นๆ อีกเป็นเวลาถึง 2 วัน จนสุดท้ายผู้ตายมีอาการทรุดจึงถูกนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาลและสิ้นใจในที่สุด”

ดอกไม้หน้าศพของศพที่ 3 โดยในงานศพครั้งแรกนี้เป็นการจัดงานขึ้นโดยไม่ได้เผาศพ แต่เก็บศพไว้ที่วัดจนกว่าคดีความจะผ่านพ้น

ดอกไม้งานศพครั้งที่สอง ของศพที่ 3 โดยหลังจากมีการจับกุมผู้ต้องหา 9 คน ครอบครัวได้ทุบปูนที่ก่อครอบไว้เพื่อรักษาสภาพศพ พบว่าศพนั้นไม่เน่าเปื่อย แม้จะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่สำหรับครอบครัว ความเชื่อกลายเป็นความหวังและกำลังใจ พวกเขาจัดดอกไม้ปลอมขึ้นเพื่อตั้งไว้หน้าโลงศพของลูกชายตลอดกาล

นรภัทรยังเขียนเล่าถึงเรื่องราวหลังจากนั้น การดำเนินการทางกฎหมาย การขอขมา การจัดงานศพ และสิ่งที่ครอบครัวต้องแบกรับหลังพยายามต่อสู้ ฯลฯ ทุกเรื่องราวช่างหนักหนา อยุติธรรม และนำมาซึ่งความขมขื่นเมื่อมองไปที่บรรดาดอกไม้สีสวยสด

“ดอกไม้หน้าศพมีความทรงจำเต็มเปี่ยมอยู่ในนั้น มันประดับอยู่กับภาพของผู้ตายตลอดการจัดงานศพ ภาพที่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้ผู้มาร่วมงานระลึกถึงพวกเขาเหล่านี้ได้ มีครอบครัวหนึ่งถามเราว่า บอลไปถ่ายมาตอนไหนเหรอ เขาไม่เห็นรู้เลย เราก็บอกเขาว่าเราจัดเลียนแบบเอา เขาก็บอกว่ามันเหมือนของจริงมาก ซึ่งครอบครัวเขาจำรายละเอียดของดอกไม้ตรงนั้นได้หมดเลย เพราะเขาจ้องมองไปตรงนั้นเกือบตลอดเวลา ใช้เวลาอยู่กับมันนานมากๆ”

ความสะเทือนใจของนรภัทรที่มีต่อประเด็นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะเขามองเห็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยเหตุผลที่ยากจะยอมรับ แต่เรื่องนี้ยังเป็นปมในใจของเขาตั้งแต่ยังเด็ก

“ตอนเด็กแม่บังคับให้เราเรียน ร.ด. เพราะไม่อยากให้เราต้องเกณฑ์ทหาร แต่ถึงจะเป็นแค่เรียน ร.ด. เราก็กลัวอยู่ดี กลัวที่สุดในโลก เราไม่อยากเรียน เลยทะเลาะกัน คืนหนึ่งแม่เรียกเรามาคุยกันจริงจัง ต่างคนต่างร้องไห้ แม่กระแทกกระป๋องไบกอนบนโต๊ะตรงหน้าเรา บอกว่าถ้าไม่เรียน ร.ด. ก็เอาไบกอนฉีดอัดปากให้ตายไปทั้งคู่ตรงนี้แหละ มันเลยเป็นปมในใจเราตลอดมา ที่เราทั้งเลือกเพศตอนเกิดไม่ได้ แล้วเราก็ยังไม่มีทางเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเป็นทหารอีก”

และเมื่อสิ่งที่เขากลัวได้เกิดขึ้นจริงกับหลายชีวิต นรภัทรจึงเริ่มต้นทำงานชิ้นนี้ขึ้น เขาตามหาข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และติดต่อไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตเท่าที่สามารถติดต่อได้ เพื่อขอถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาผ่านภาพถ่าย

“บางครอบครัวเขาอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาเดินทางมาหาเราที่กรุงเทพฯ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเราซึ้งใจมาก แล้วเขาเองก็ไม่ได้โทษใครนอกจากโทษตัวเอง ที่ปล่อยให้ลูกชายไปอยู่ในจุดนั้น แล้วเขาก็ร้องไห้ออกมา ซึ่งเรารู้สึกว่า ไม่ใช่สิ จริงๆ แล้วคนผิดมันมี แต่ไม่ใช่ครอบครัวเขาแน่ๆ”

“คนในครอบครัวผู้ตายยังบอกอีกว่า อย่ามองว่านี่เป็นเรื่องไกลตัว ก่อนหน้านี้พวกเขาเองก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน ว่าลูกชายจะต้องมาเสียชีวิตระหว่างการทำหน้าที่แบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่เขาอยากขอคือ จงอย่าลืม ว่ามันเคยเกิดขึ้น และจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไข ในปีปีหนึ่งคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคนตายแบบนี้กี่คน แล้วพรุ่งนี้ล่ะ? ปีต่อไปล่ะ? อะไรคือการแก้ปัญหาที่แท้จริง”

นรภัทรเองต้องการปลุกข่าวเหล่านี้ให้กลับมาอยู่ในความสนใจผู้คนอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ในวงกว้าง แต่อย่างน้อยเขาก็อยากให้คนได้ตระหนักว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ และผลของมันก็ยังดำเนินอยู่ เรื่องนี้ไม่ได้จบลงอย่างที่มันควรจะเป็น

บางกรณีครอบครัวผู้ตายต้องจัดงานศพโดยเผาโลงเปล่า เนื่องจากศพยังต้องถูกนำไปพิสูจน์หาความจริงอีกหลายขั้นตอน บางกรณีครอบครัวได้รับศพที่ไร้เครื่องในกลับบ้าน บางกรณี ไม่ใช่เรื่องของการผิดวินัยด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องของการทะเลาะวิวาท หรือกระทั่งการจับได้ซึ่งความผิดของทหารยศสูงกว่า ฯลฯ บางกรณีผู้กระทำผิดได้ออกมาขอขมา แต่สิ่งเดียวที่ครอบครัวต้องการคือชีวิตของลูกชาย ที่ไม่อาจตีค่าเป็นเงินชดเชยหลักแสนหลักล้านได้

เรื่องราวทั้งหมดคือความจริงที่นรภัทรต้องอยู่ด้วยตลอดระยะเวลาการทำงาน บางเหตุการณ์เขารับฟังจากปากของครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้มองเข้าไปในตาพวกเขา ครุ่นคิดถึงมันตลอดการจัดช่อดอกไม้จำลอง มวลความรู้สึกต่างๆ ประดังประเดเข้าหาเขาเหมือนกับที่ผู้เข้าชมภาพจะได้รู้สึก หรืออาจจะมากกว่าและยาวนานกว่า

“จากที่แค่ดูข่าว เราไม่คิดว่ารายละเอียดมันจะเยอะขนาดนี้ บางครั้งมันไม่ใช่แค่การลงโทษ แต่มันคือการฆาตกรรมด้วยซ้ำ เราไม่ได้โกรธใครนะ แต่เราเสียใจ ว่าทำไมคนถึงไม่มีทางเลือกขนาดนั้น คือระบบนี้มันยังมีอยู่ต่อไปก็ได้ แต่อย่างน้อยคนต้องได้เลือกที่จะเข้าไปหรือไม่เข้าไปตรงนั้น อย่าบังคับกัน มันถึงยุคสมัยที่คนเราควรให้สิทธิกันจริงๆ สักทีไม่ใช่แค่ปากพูด เราอยากให้มีการจัดการที่ดีกว่านี้ ปรับระบบความคิดให้มันดีกว่านี้ ต้องมีคนตายอีกกี่ศพ ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หรือมันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกแล้ว”

คำถามและความรู้สึกมากมายผุดขึ้นภายในนิทรรศการของนรภัทร เรานึกย้อนกลับไปในคืนที่แม่ของเขาหยิบกระป๋องไบก้อนขึ้นกระแทกบนโต๊ะ เนื่องจากนั่นอาจจะดีกว่าที่ลูกต้องเข้าไปอยู่ในระบบที่ความตายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เราไม่ได้ไถ่ถามความสัมพันธ์ของเขากับแม่มากไปกว่านั้น แต่หลังจากสัมภาษณ์เขาเสร็จ แม่ของนรภัทรก็มาถึงหน้างานพร้อมดอกไม้ช่อหนึ่งสำหรับลูกผู้เป็นศิลปิน

“บ้านเราชอบดอกไม้เหมือนกัน ทุกคนก็จะอินและดีใจที่เราชอบด้วย เรื่องเพศ ที่บ้านเราก็ค่อนข้างเปิดรับ เลยไม่มีปัญหากันเรื่องนี้เลย เพียงแต่ตอนนั้นเขาเป็นห่วง ไม่อยากให้เราเป็นทหารเท่านั้นเอง วันนี้เราก็ไม่ต้องเป็นแล้ว แต่ก็แลกมากับการที่เราต้องเรียน ร.ด. ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ต้องแลกก็ได้ไง อีกหลายคนก็ด้วย พวกเขาควรมีสิทธิเลือก” นรภัทรยืนยันทิ้งท้าย

ศิลปินผู้เปรียบผู้คนและตัวเองเป็น ‘ดอกไม้’

ก่อนจากกัน เราอยากเล่าถึงดอกไม้ของนรภัทรอีกสักหน่อย เขาเริ่มทำงานถ่ายภาพจริงจังตั้งแต่ปี 2012 ทุกงานของเขาจะมีดอกไม้เป็นตัวเอกเสมอ ภาพเซ็ตก่อนหน้าที่เขาซุ่มทำลับๆ ก่อนจะพัฒนามาเป็น Only for “The Dead on Duty?” คือชุดภาพถ่ายดอกไม้ที่เขาใช้ตะขอเบ็ดเกี่ยวกลีบดอกไม้ที่ยังตูมให้บานออก เพื่อสื่อถึง ‘เหยื่อ’ ที่ถูกอะไรบางอย่างบังคับให้ต้องเบ่งบานในวันที่ยังไม่พร้อม งานชิ้นก่อนหน้าเขาก็ใช้ดอกไม้บอกเล่าเรื่องราวของเพศสภาพ หรือความเป็นอื่น

“คนมักจะมองว่าภาพของเราสีสันสดใส แต่ดอกไม้ในภาพของเรามันคือสีสันสดใสที่ฉาบเอาไว้บนความพังทลายต่างหาก เราไม่เคยทำงานที่มีจุดเริ่มต้นจากความสุขเลย มันจะมาจากปมในใจเราเสมอ เช่นเรื่องเพศสภาพ เรื่องครอบครัว หรือผู้เสียชีวิตอย่างในงานชิ้นนี้ ทุกงานของเราจะช่วยคลี่คลายปมที่เราไม่สามารถคลี่คลายมันได้ในวัยนั้นๆ เราจะค่อนข้างโล่งใจหลังจากที่ได้ทำงานออกไป พอคนได้มีประสบการณ์ร่วมกับมัน เรารู้สึกว่าเราได้มีเพื่อน มีคนรับฟังเรื่องของเรา”

ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาของนรภัทร

ฟังอย่างนั้นแล้ว เราอดไม่ได้ที่จะแอบถามว่าเขามองตัวเองเป็นดอกไม้ชนิดใด

“ดอกพุดซ้อนเป็นดอกไม้ที่มีเรื่องราวกับเรามากที่สุด ตอนเด็กๆ ที่เรายังไม่รู้ว่าเพศสภาพหรือเพศทางเลือกคืออะไร เราก็จะชอบเอาดอกพุดมาติดหัว มาติดตัว แล้วใบมันค่อนข้างแข็งแรงกว่ากลีบดอก กลีบดอกพุดจะเฉาและกลายเป็นสีเหลืองเร็วมาก แต่ใบจะยังเขียวสดอยู่อีกนาน ซึ่งเรารู้สึกว่านั่นคือความเข้มแข็งในความอ่อนแอ และความอ่อนแอในความเข้มแข็งที่เป็นตัวเรามาก แล้วกลิ่นมันก็น่าพิศวง ซึ่งเราเองก็พบว่าหาคำบรรยายเกี่ยวกับตัวเองยากเหมือนกัน”

ด้วยเหตุนั้นที่ด้านหลังของนรภัทรจึงมีรอยสักรูปดอกพุดซ้อนที่มีเกสรเป็นคลิตอริสประดับเอาไว้ เขามีดอกไม้อยู่ในหลายมิติของชีวิต จดจำคนด้วยดอกไม้ จำชื่อชนิด กลิ่น สีสันและรูปแบบของมัน และยังใส่ใจกับรายละเอียดของดอกไม้แต่ละชนิดที่ใช้ทำงาน ในงานชุด Gushing out my Confession เขาต้องใช้เวลาเป็นปีเพื่อรอให้ดอกไม้ที่เขาต้องการถึงฤดูที่จะบาน ดอกไม้บางชนิดเช่นแม็กโนเลียที่เป็นดอกไม้เมืองหนาว เขาก็ต้องคอยดูแลประคับประคองมันไว้ไม่ให้บานแล้วก็โรยลงไปก่อนที่จะถึงเวลาถ่ายภาพ ดอกไม้ทุกดอกล้วนถูกเลือกมาอย่างมีนัยยะและความหมาย

เช่นเดียวกับในงาน Only For “The Dead on Duty?” ที่เราเล่าถึงในบทความนี้ เขาเลือกใช้ดอกซ่อนกลิ่นมาประดับในงาน เพราะที่มาจากชื่อมัน เป็นดอกไม้ที่ถูกนำมาจัดในงานศพเพื่อซ่อนกลิ่นศพ “ต้องเป็นดอกไม้ชนิดนี้เท่านั้น” นรภัทรเล่าในชุดสีดำขรึมๆ ราวกับกำลังร่วมงานศพของใครสักคนอยู่

 

ติดตามผลงานอื่นๆ ของนรภัทรได้ที่ www.naraphatsakarthornsap.com

Fact Box

  • นิทรรศการจัดขึ้นที่ 1 PROJECTS Gallery ตั้งแต่ 30 มิถุนายน - 19 สิงหาคม 2561 เป็นส่วนหนึ่งของงาน Photo Bangkok 2018 และ Bangkok Biennial
  • เขาได้รับรางวัลจากการประกวด Young Thai Artist Award 2016 จากผลงานถ่ายภาพ ‘ดอกสมบูรณ์เพศ’ ที่เขาได้ถ่ายภาพดอกชบาตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศสภาพ โดยชบาคือดอกไม้ที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียว ซึ่งไม่เคยถูกแบ่งแยกหรือจำกัดว่ามันเป็นดอกไม้เพศใด และสิ่งนั้นก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นกัน
  • นรภัทรคือเจ้าของภาพถ่ายดอกไม้บนปกหนังสือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12 ซึ่งถูกนำไปคอลลาจโดยนักรบ มูลมานัส
Tags: , , , , , , , , ,