หนึ่งในช่วงเวลาน่าตื่นเต้นของเหล่าคอหนัง คือการมาถึงของเทศกาลหนังเมืองคานส์ในแต่ละปี ซึ่งน่าจับตาทั้งในแง่ประธานการจัดงาน คณะกรรมการ และรายชื่อหนังที่เข้าชิงในแต่ละสาย รวมถึงโปสเตอร์ของงานในแต่ละปีด้วย!

สำหรับโปสเตอร์เทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17-28 พฤษภาคมนี้ มาในธีม The Truman Show (1998) หนังชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขา ของ ปีเตอร์ เวียร์ (ซึ่งตัวเขาก็ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย) ที่ทำเงินไปทั้งสิ้น 264 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนเพียง 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังสร้างปรากฏการณ์ถล่มทลายในหลายแง่มุม รวมทั้งความป่วยไข้ของคนที่เชื่อว่า  ชีวิตของเราทั้งชีวิต คือรายการเรียลลิตี้โชว์ที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วทุกมุมโลก

 โปสเตอร์เทศกาลหนังเมืองคานส์

The Truman Show เล่าเรื่องของ ทรูแมน เบอร์แบงค์ (จิม แคร์รี) ชายหนุ่มที่ใช้ชีวิตมากว่า 3 ทศวรรษ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนเลยว่า ทั้งชีวิตของเขานั้นถูกถ่ายทอดสดอยู่ใน The Truman Show รายการเรียลลิตี้โชว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขารู้จัก ไม่ว่าจะเพื่อนบ้าน หัวหน้างาน พนักงานร้านขายของ ฯลฯ ล้วนเป็นทีมงานของรายการที่ปลอมตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายการเรียลลิตี้นี้ บ้านทุกหลัง ถนนทุกสาย เสื้อทุกตัวของคนในรายการ (หรือก็คือในหมู่บ้านของทรูแมน) มีกล้องจิ๋วสอดติดไว้ลับๆ พร้อมจะถ่ายทอดการกระทำของทรูแมนออกไปให้โลกภายนอกได้ดู ขณะที่ทรูแมนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลยว่า ทั้งชีวิตของเขานั้นเป็นการจัดฉากโดย คริสตอฟ (เอ็ด แฮร์ริส) โปรดิวเซอร์รายการที่คอยจัดฉากต่างๆ ให้ทรูแมนมาตลอด ทั้งยังวางจุดขายให้ทรูแมนเป็น ‘ชายที่ทุกคนเอ็นดู’ จนรายการที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย

ไม่เกินเลยนักหากจะพูดว่า นับตั้งแต่นาทีแรกที่ลืมตาถือกำเนิด ชีวิตของทรูแมนก็ถูกจับจ้องด้วยกล้องและทีมงานรายการที่รายล้อมเขาแล้ว ทรูแมนเกิดจากพ่อแม่ที่ไม่พร้อมมีบุตร ทำให้คริสตอฟ (และรายการ) อ้างสิทธิในการเลี้ยงดูเขาได้ตั้งแต่แบเบาะ ทั้งยังเป็นจุดขายที่คริสตอฟเอามาใช้ในรายการว่า ทรูแมนไม่ได้เป็นเด็กที่ได้รับอุปการะจากรายการเรียลลิตี้เท่านั้น แต่ผู้อุปการะเขาคือคนทั้งโลกที่ดูรายการนี้ต่างหาก (ซึ่งยิ่งทำให้คนดูผูกพันกับรายการและเด็กชายทรูแมนเข้าไปใหญ่)

นับตั้งแต่นั้น เด็กชายทรูแมนก็ถูกพาไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่ล้อมรอบด้วยน้ำ แล้วก็เป็นคริสตอฟอีกเช่นเคยที่สร้างเกาะทั้งเกาะขึ้นมาภายใต้โดมขนาดยักษ์ จ้างทีมงานและนักแสดงจำนวนมากให้เป็นชาวเมืองที่ซ่อนกล้องจิ๋วไว้คอยถ่ายทรูแมนตามเสื้อผ้าหรือกระเป๋า และเพื่อป้องกันไม่ให้ทรูแมนเกิดความคิดอยากออกจากเกาะ คริสตอฟจึง ‘กำกับ’ ให้นักแสดงที่รับบทเป็นพ่อของทรูแมนเสียชีวิตในทะเล และฝังความคิดให้ทรูแมนหวาดกลัวการเดินทาง ด้วยการโหมประโคมรายการ (ปลอมๆ) ทางโทรทัศน์ที่เล่าเรื่องอันตรายจากการออกท่องเที่ยว ไปจนถึงบทความ (ปลอมๆ) บนหน้าหนังสือพิมพ์ (ปลอมๆ) ที่อธิบายความสุขสงบของการได้ใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน

สิ่งที่ทำให้เรียลลิตี้ The Truman Show ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือเส้นเรื่องในชีวิตของทรูแมนที่ผ่านการกำกับจากคริสตอฟ ไม่ว่าจะการทำงาน การสูญเสียพ่อ ไปจนถึงการตกหลุมรักที่ล้วนแล้วแต่น่าเอาใจช่วยอย่างยิ่ง คริฟตอฟกำกับให้ทรูแมนตกหลุมรักหญิงสาว คือ เมอริล (ลอรา ลินนีย์) ซึ่งเขาแต่งงานด้วยในเวลาต่อมา แต่เอาเข้าจริง คนเดียวที่ทรูแมนไม่อาจลืมได้เลย คือ ซิลเวีย (นาตาชา แม็กเอลฮอน) เพื่อนร่วมชั้นเรียน ที่แน่นอนว่าก็เป็นทีมงานที่ถูกจ้างมาเช่นกัน แต่คริสตอฟจับได้ว่า เธอมีใจให้ทรูแมนจึงเอาเธอออกจากรายการ ทิ้งไว้เพียงทรูแมนที่เคว้งคว้างแม้จะแต่งงานกับเมอริลแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของซิลเวีย คือแผลขนาดใหญ่ของโปรดักชัน เมื่อเธอทำให้ทรูแมนไขว้เขว มิหนำซ้ำในขวบปีที่ 30 ของชีวิต ทรูแมนยังพบเรื่องประหลาดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสปอตไลต์ปริศนาที่หล่นลงมาหน้าบ้านเขาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย รายการวิทยุที่อยู่ดีๆ ก็รายงานการเคลื่อนไหวของเขา หรือการที่อยู่ดีๆ ทรูแมนก็ตระหนักได้ว่า ทุกครั้งที่เขาตั้งใจจะออกเดินทางไปให้พ้นเกาะ เป็นอันต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่ขวางกั้นเขาไว้ทุกที และนั่นจึงเป็นที่มาของการออกเดินทางไปสู่ชีวิตจริงของทรูแมน ซึ่งคริสตอฟไม่อาจควบคุมได้อีกแล้ว

แอนดรูว์ นิกโคล (Andrew Niccol) มือเขียนบทชาวนิวซีแลนด์ ได้ไอเดียหนังที่ว่าด้วยชายซึ่งชีวิตถูกหยิบไปถ่ายทอดสดทุกแง่มุมมาจากความคิดสมัยเด็กของตัวเอง สมัยที่เขาเคยคิดฝันไปว่า เขาคือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก และเมื่อเวลาผ่านไปจนเขากลายเป็นผู้ใหญ่ นิกโคลก็หยิบเอาไอเดียนี้มาดัดแปลงเป็นบทหนังไซ-ไฟอย่างหยาบๆ กล่าวกันว่าเขาเขียนบทหนังไว้ถึง 16 ร่างด้วยกัน และยิ่งเขียนเขาก็ยิ่งพบว่าตอนจบมันหม่นมืดมากขึ้นเรื่อยๆ “จริงๆ แล้วมันหดหู่มากเลยนะ ตอนจบที่ตั้งใจไว้ คือทรูแมนน่ะไปเจอคุณโสเภณีเข้า” นิกโคลสาธยาย “เรื่องราวเกิดขึ้นในนิวยอร์กและไม่ได้ลงเอยอย่างในหนังที่เราเห็นหรอกครับ”

เขาเสนอให้สตูดิโอพาราเมาต์รับซื้อไปทำเป็นหนัง ร่างแรกของบทนั้นมีน้ำเสียงทริลเลอร์มากกว่าตัวที่ใช้ในการถ่ายทำจริงซึ่งติดกลิ่นอายคอเมดี้มากกว่า (แม้หลายคนจะลงความเห็นว่า แก่นแท้ของเรื่องมันก็แสนจะทริลเลอร์ชวนสยดสยองอยู่ดี) และผู้กำกับไม้แรกที่พาราเมาต์ยื่นมาให้คุมบังเหียน คือ ไบรอัน เดอ พัลมา จากหนังพลังเดือดอย่าง Carrie (1976) และ Scarface (1983) พร้อมกันกับที่ทาบทาม จิม แคร์รี ให้มารับบทนำในหนังด้วย

“ทีนี้ ตอนนั้นจิมเขายังไม่เคยแสดงหนังสายดราม่ามาก่อน และไบรอันก็คิดว่าเขาไม่เหมาะกับบทนี้เอาเสียเลย เพราะงั้นมันเลยไม่ลงรอยกันตั้งแต่แรก” นิกโคลเล่า “จากนั้นมาก็เป็น ปีเตอร์ เวียร์ ซึ่งคิดว่าจิมน่ะเหมาะกับบททรูแมน เป็นเพราะว่าปีเตอร์เองมักมองเห็นศักยภาพของนักแสดงที่ปกติไม่ค่อยได้รับบทดราม่าด้วย ลองนึกดูอย่าง โรบิน วิลเลียมส์ จากเรื่อง Dead Poets Society (1989) นั่นก็เหมือนกัน คือปีเตอร์น่ะช่วยกำกับงานแสดงได้อยู่แล้ว ตัวผมเองก็ไม่ได้คิดว่าจิมเหมาะกับบทนี้ แต่ก็เออออไปกับปีเตอร์จนได้”

กล่าวสำหรับปีเตอร์ เวียร์ ภายหลังจากได้ร่วมงานกับวิลเลียมส์แล้วก็อยากร่วมงานกับเขาอีกใน The Truman Show ติดแต่ว่าเวียร์สนใจการแสดงของจิม แคร์รีจาก Ace Ventura: Pet Detective (1994) ซึ่งเวียร์ให้สัมภาษณ์ว่า ช่างเป็นการแสดงที่ชวนให้นึกถึง ชาร์ลี แชปลิน ยอดนักแสดงชาวอังกฤษ และท่ามกลางสายตาตั้งคำถามของหลายๆ คน รวมทั้งนิกโคล เวียร์ก็ได้แคร์รีมารับบททรูแมน โดยแคร์รียอมลดค่าตัวจาก 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“ผมจำได้ว่าบอกทางสตูดิโอไปว่า ‘ส่งไอ้บทหนังที่ว่ายังไม่เสร็จสักทีนั่นมาให้ผมหน่อย’ แล้วก็มีคนถามผมว่า ผมกำลังมองหาอะไรอยู่กันแน่” เวียร์บอก “ผมเลยบอกไปว่า ความฉิบหายยังไงละพวก 

“สิ่งที่ตราตรึงผมมากๆ คือความสดใหม่ของไอเดียกับไดอะล็อกน่ะ แต่ผมก็เอาแต่คิดวนไปวนมาว่า ‘จะทำหนังเรื่องนี้อย่างไร จะเล่นกับมันในแง่ไหน’ แล้วพยายามโยนไอเดียมาทุกทางจนถึงจุดที่แทบทำให้ตัวเองเป็นบ้าเอาได้น่ะ เหมือนเราพยายามจับตัวเม่น เพราะทั้งเรื่องมันเต็มไปด้วยสัญญะเปรียบเปรยมากมาย ซึ่งทำให้ผมสงสัยว่า จะพาคนดูไปด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งกับหนังเรื่องนี้ที่อาจจะทำลายเงื่อนไขเดิมๆ ของหนังกระแสหลักเรื่องอื่นๆ ได้หรือไม่ มันไม่ใช่หนังแบบที่เห็นได้ทั่วไป”

ช่วงยุค 90s เป็นช่วงที่โทรทัศน์เฟื่องฟู รายการใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไม่ว่าจะ The Oprah Winfrey Show ที่ถือเป็นหนึ่งในรายการที่โด่งดังมากที่สุดรายการหนึ่งของสหรัฐอเมริกา, The View รายการสนทนาประสาสาวๆ, The Jack Docherty Show รายการทอล์กชื่อดังของฝั่งสหราชอาณาจักร ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เล่าเนื้อหาสารพัดสารพัน เปิดโลกคนดูไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน

“ผมหมายความว่า เรารู้เรื่องเลดี้ไดอานา (เจ้าหญิงแห่งเวลส์) แทบจะทุกมิติเลยมั้ง ผู้คนโกรธแค้นเมื่อรู้ข่าวว่าเธอเสียชีวิตเพราะถูกปาปารัสซีขับรถไล่ตาม” เวียร์บอก “แต่กลุ่มคนนี้ก็เป็นกลุ่มคนเดียวกันกับที่ตามซื้อนิตยสารหรือแท็บลอยด์ที่เกี่ยวกับเธอ มันเป็นสถานการณ์ที่ย้อนแย้งกันเองน่ะ ซึ่งคุณโทษพวกเขาไม่ได้ด้วยนะ ก็พวกเขารักไดอานาและอยากรับรู้ทุกชั่วขณะที่เธอใช้ชีวิต ถ้าพวกเขาติดกล้องในบ้านเธอได้ ก็คงเป็นเสมือนคนดูในหนังเรื่อง The Truman Show หรืออาจจะหนักกว่านั้นด้วยซ้ำไป”

ภายหลังออกฉาย หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก นักวิจารณ์หลายคนลงความเห็นว่า The Truman Show จับจ้องไปยังแก่นความกลัวของมนุษย์ได้อย่างหมดจด นั่นคือการพินิจพิเคราะห์และสงสัยว่าชีวิตของเรานี้นั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องโกหก หรือมีใครสักคนคอยกำกับควบคุมเราจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา (ลักษณะเดียวกับเวลาเราเล่นเกม The Sims หรือเกมแนวโลกเสมือนจริงอื่นๆ ที่ผู้เล่นกำหนดพฤติกรรมตัวละครในเกมได้) ทั้งยังนำไปสู่คำถามเชิงปรัชญาในแง่ของเจตจำนงเสรี (Free Will) ที่ชวนตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วมนุษย์เรานั้นมีสิ่งนี้อยู่จริงหรือไม่ อะไรจะเกิดขึ้นหากทรูแมนใช้ชีวิตอยู่ในโดมนั้นต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยตั้งคำถามต่อชีวิตตัวเอง (ในหนังใช้ความรักเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เขา ‘เอะใจ’ ต่อชีวิต) มากไปกว่านั้น หนังยังถูกเอาไปตั้งเป็นชื่อภาวะหลอนอย่าง Truman Syndrome ที่ผู้ป่วยเชื่อว่า ชีวิตของตนเป็นเพียงภาพลวง และมีคนคอยจับจ้องเราอยู่ตลอดเวลา

สิ่งหนึ่งซึ่งตัวหนัง The Truman Show ตั้งประเด็นไว้นับตั้งแต่วันที่ออกฉาย และยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ คือบทบาทของสื่อที่ทะลุทะลวงไปยังชีวิตทุกมิติของมนุษย์สามัญ การที่สำหรับคริสตอฟแล้วทรูแมนอาจไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าซับเจกต์ที่คอยดึงดูดให้คนดูกดรีโมตเข้ามารับชมทั้งวี่ทั้งวัน หรืออาการหมกมุ่นเสพชีวิตของมนุษย์คนอื่นที่ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเรา อาจเพราะเราอยากรับรู้ว่าในโลกอันกว้างใหญ่นี้ เราไม่ได้โดดเดี่ยวหรือแตกต่างไปจากคนอื่นๆ และยิ่งกับปัจจุบันที่สื่ออยู่ในมือเราทุกคน เด็กทารกวัยยังไม่ประสากลายเป็นตัวละครสำคัญของผู้ปกครอง เรื่อยไปจนถึงวัฒนธรรมการไลฟ์ที่ง่ายดายและรวดเร็ว ยิ่งชวนให้คิดว่า โลกทั้งใบคือรายการ The Truman Show และเราต่างคือทรูแมน ในแง่ใดแง่หนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

Tags: , , , ,