23-24 กุมภาพันธ์ นี้ The Momentum อยากชวนทุกคนที่หลงใหลในเสียงหัวเราะ ไปชมสแตนด์อัพคอเมดี้ของผู้ชายอารมณ์ดี ยู-กตัญญู สว่างศรี ในโชว์ที่มีชื่อว่า A-Katanyu One Night Stand (Up) Show ซึ่งครั้งนี้ยูก็ได้ชวนเพื่อนๆ ในวงการมาร่วมแสดงในงานด้วย ทั้งครูทอม คำไทย ปอนด์ ใจดีทีวี โจ้บองโก้ และอื่นๆ อีกมากมาย ณ ร้าน The Sportsman Sportsbar Bangkok โชว์เริ่มตั้งแต่เวลาสองทุ่มเป็นต้นไป

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณเกิดความสงสัยเหมือนเราไหมว่า นอกจากเดี่ยวไมโครโฟนแล้ว เราจะยังมีงานสแตนด์อัพคอเมดี้โชว์อื่นๆ ให้ไปดูอีกหรือ หรือจริงๆ แล้ววงการสแตนด์อัพคอเมดี้ในประเทศไทยนั้นเล็กมากจนน้อยคนนักที่จะรู้ หรือแม้แต่ว่ามันมีวงการนี้อยู่จริงๆ หรือไม่ แล้วถ้าไม่มี ทำไมผู้ชายที่ชื่อกตัญญูถึงลุกขึ้นมาชวนทุกคนไปหัวเราะกับเขาในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้?

The Momentum ชวนคุณมาทำความรู้จักกับผู้ชายคนนี้ พร้อมไขข้อสงสัยในทุกคำถาม รับรองว่าการดูสแตนด์อัพคอเมดี้จะกลายเป็นกิจกรรมใหม่ที่คุณจะต้องติดใจ

ความรู้สึกอยากเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้มันเกิดขึ้นมานานก่อนที่เราจะรู้ว่าเราชอบสแตนด์อัพคอเมดี้ด้วยซ้ำ

ความรู้สึกชอบสแตนด์อัพคอเมดี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน

ไม่เลยนะ คือเราเป็นคนที่ไม่ได้ชอบสแตนด์อัพคอเมดี้มาตั้งแต่แรก เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเราตั้งใจชอบมันตั้งแต่ตอนไหน เรียกง่ายๆ ว่า เราเป็นคนที่ดูพี่โน้ต อุดม มาตั้งนานละ แต่เราไม่ใช่คนประเภทที่หลงใหลพี่โน้ต หรือชอบสแตนด์อัพคอเมดี้ โน้ต อุดม จังเลย คือมันไม่ได้เริ่มต้นแบบนั้น แต่ว่าพอหลังๆ เราได้มีโอกาสเห็นมากขึ้น อย่างเช่น พวกสแตนด์อัพของต่างประเทศ พอเราได้อ่าน ได้ดูมากขึ้น เราก็ชอบมันมากขึ้น ซึ่งมันเกิดขึ้นไม่นานนี้ด้วยซ้ำ พูดง่ายๆว่า ความรู้สึกอยากเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้มันเกิดขึ้นมานานก่อนที่เราจะรู้ว่าเราชอบสแตนด์อัพคอเมดี้ด้วยซ้ำ งงมะ คือเราเป็นคนที่ไม่ค่อยหลงใหลอะไรกับสิ่งไหนมากๆ เช่น เราเป็นแฟนแมนยูมาตั้งนาน แต่บางทีเราก็ชอบลิเวอร์พูล คือไม่ได้เป็นคนที่หลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขนาดนั้น สำหรับสแตนด์อัพ ความรู้สึกที่อยากเล่นมันเลยมาก่อนความรู้สึกชอบแบบจริงจังมากๆ แม้กระทั่งตอนนี้เราก็ยังรู้สึกว่าหลงใหลตอนเราได้ทำมากกว่าตอนที่ได้ดูมันด้วยซ้ำ

แล้วโมเมนต์ที่เราบอกกับตัวเองว่า “เฮ้ย เราอยากทำสแตนด์อัพคอเมดี้ล่ะ” เกิดขึ้นตอนไหน

ก่อนหน้าที่จะทำมันมีเชื้อบางอย่างอยู่ คือมันมีเหตุการณ์ที่ว่าเราไปดูพี่โน้ต ‘เดี่ยวเจ็ด’ ที่สกาลา เรานั่งดูอยู่ตรงบันได ตอนนั้นมันเกิดความรู้สึกว่า เราชอบการยืนอยู่บนเวทีแบบนั้น ‘เราว่าเราเล่นได้’ ความรู้สึกนั้นมันถูกเก็บมาเรื่อยๆ จนกระทั่งตอนงาน a book Lecture Show ที่เชียงใหม่เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เพื่อนๆ ที่ a book บอกเราว่าให้มาเป็นพิธีกรให้หน่อย เพราะปกติเราก็เป็นพิธีกรให้ a book อยู่แล้ว วันนั้นเพื่อนบอกเราว่าเวลาเหลือชั่วโมงหนึ่งก่อนงานจะเริ่ม ถามว่าเราอยากพูดอะไรไหม เราตอบตกลงทั้งที่เราก็ยังไม่เคยลองมาก่อน ตอนนั้นเราพูดเรื่อง ‘ชีวิตฟรีแล้ว’ ก็คือชีวิตฟรีแลนซ์นั่นแหละ พูดเกี่ยวกับทุกความรู้ของการเป็นฟรีแลนซ์มาเล่าในแบบกวนๆ ตอนนั้นเป็นหนึ่งชั่วโมงที่ฟินเหี้ยๆ หลังจากนั้นเราได้มีโอกาสกลับมาเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้วความรู้สึกที่บอกกับตัวเองว่า ‘กูจะทำแล้ว’ มันเกิดขึ้นตอนที่อยู่ในร้าน Tom N Toms ตอนดึกๆ ที่เขียนต้นฉบับอยู่ เราโทรเรียกเพื่อนที่ชื่อแซมมา ซึ่งแซมเป็นคนที่ทำให้เราได้ทำอย่างอื่นเยอะ มันเหมือนว่าพอทำคนเดียวแล้วมันไม่ใช่โปรเจกต์ยังไงไม่รู้ คืนนั้นก็เรียกแซมมาแล้วก็ลิสต์กันเลยว่าจะพูดเรื่องอะไรบ้าง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว แล้วก็ทิ้งช่วงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ทำจริงๆ เมื่อปีที่แล้วนี่เอง

ครั้งแรกมันคือบรรยากาศที่ดีที่สุดในชีวิต แต่มันก็เป็นความน่ากลัวที่สุดในชีวิตเช่นเดียวกัน

ความรู้สึกหลังจากเล่นครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง

โอ้โห มันดีมาก คือครั้งแรกมันมีหลายความรู้สึกเกิดขึ้นในวันนั้น คือมันมีทั้งความฟิน เป็นบรรยากาศที่ดีที่สุดในชีวิต แต่มันก็เป็นความน่ากลัวที่สุดในชีวิตเช่นเดียวกัน สแตนด์อัพคอเมดี้เป็นสิ่งที่ลองทำแล้วมันน่ากลัวมาก เหมือนเราท้าทายคนว่ามันจะต้องขำ มันยากนะ มันจึงมีทั้งความกลัวและความรู้สึกฟินอยู่ในนั้น แต่ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นเลย คือเรารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่สำหรับเรา

ตอนแรกเราไม่เคยรู้สึกกดดันเลย จนกระทั่งถึงวันที่กำลังจะได้ทำ ตอนที่ประกาศไปแล้วว่าอีกประมาณเดือนครึ่งจะจัดงาน ตอนนั้นแหละที่รู้สึกกดดัน มันเกิดความรู้สึกที่ว่า มึงจะทำยังไงของมึงวะ กูถามจริงๆ เหอะ กตัญญูมึงบ้ารึเปล่า

เราจะเล่าโมเนมนต์หนึ่งให้ฟัง วันที่ซ้อมวันแรกนะ เราไปเซตอัพกันที่ร้าน Zombie Book ไปกันตั้งแต่บ่ายเลย ไปด้วยความตื่นเต้นมาก ในระหว่างช่วงที่เซตอัพกันอยู่ ใครสักคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่าลองซ้อมดูก่อนไหม เราก็เลยลองซ้อมดูก่อนเลย พอเราซ้อมเสร็จ น้องที่เป็นคนถ่ายวิดีโอให้เราหันมามองหน้าเราด้วยสายตาที่เราจำได้แม่นจนถึงทุกวันนี้คือสายตาแบบ มึงไม่ตลก ไม่ตลกเลยเว้ย ไม่ขำเลยแม้แต่นิดเดียว ก่อนที่น้องจะพูดขึ้นมาเหมือนเอาใจช่วยเรานิดหนึ่งว่า “เออ มันยากเนอะพี่ มันยากกว่าที่คิดเยอะเลย”

พอฟีดแบ็กแรกทำให้ใจแป้ว แต่โชว์กำลังจะเริ่มแล้ว เราจัดการกับความรู้สึกนั้นยังไง     

จำได้ว่าเราเข้าไปนั่งในห้องน้ำแคบๆ แล้วกินเบียร์เหมือนเราไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหนแล้ว เรามีความคิดที่ว่า “เฮ้ย มึงไม่น่าทำอะไรแบบนี้เลย” แต่มันไม่ได้แล้ว เราประกาศออกไปแล้ว คนกำลังจะมาและงานกำลังจะเริ่ม อย่างหนึ่งเราว่ามันเป็นข้อดีของการมีเดดไลน์ การมีเดดไลน์มันบังคับให้เราทำ ไม่ว่าผลมันจะออกมาดีหรือร้าย อย่างน้อยมันทำให้เราได้ทำ

เมื่อรอบแรกจบลง ผลที่ออกมามันเหี้ยมาก คือเราเล่นเสร็จแล้วเราร้องไห้เลย มันแย่มาก มันไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่เราร้องไห้ออกมาด้วยความรู้สึกอัดอั้นที่เราอยากทำมันมาตั้งนาน ในที่สุดเราได้ปลดปล่อยแล้ว ได้ทำซะที แต่อีกด้านหนึ่งคือ มันไม่ดีอย่างที่เราคิดเลย จริงๆ บรรยากาศในวันนั้นมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นหรอก แบบไม่ใช่ว่ามาแล้วมันไม่ขำหรอก มันเห็นทางของมันอยู่ แต่มันต่างจากความคาดหวังของเรามาก ความรู้สึกกับตัวเองต่างหากที่มันแย่

อีโก้เป็นเรื่องที่จำเป็นเหมือนกันนะสำหรับการทำอะไรแบบนี้ อย่างน้อยเราก็มีความคิดที่ว่า เราเจ๋งพอ ไม่งั้นเราลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ไม่ได้หรอก และเราก็ค่อนข้างที่จะอีโก้เยอะ เลยตั้งความหวังกับตัวเองไว้สูง พอมันไม่เป็นเหมือนที่คิดไว้ มันเลยทำให้ ณ โมเมนต์นั้นมันแย่มาก แต่พอผ่านมันมาได้ เราก็ตั้งสติและบอกกับตัวเองว่า “ไม่สิ มึงก็ต้องแก้ตัวไง มึงก็เอาใหม่สิ มึงก็ไฟต์กับมันต่อ” เราว่าคนเราต้องตัดสินตัวเองตลอดเวลาว่าเรายังไม่ดีพอ และในขณะเดียวกันคือก็ต้องผลักดันตัวเองด้วยว่าเราเจ๋งกว่านี้ได้ เมื่อไรที่เรายินดีกับตัวเองง่ายเกินไปเราจะไม่เก่งขึ้น

ในเมื่อความตลกมันเป็นอะไรที่อาศัยความเป็นธรรมชาติ การจะเล่นสแตนด์อัพเราต้องเตรียมตัวยังไง

วิธีที่ง่ายที่สุดคือ เราดูสแตนด์อัพทุกคืนเพื่อศึกษารูปแบบ โครงสร้างว่าเป็นแบบไหน เราพัฒนาตัวเองด้วยการดูเพิ่ม แล้วก็นำมาลองออกแบบการเล่นใหม่ที่มันพัฒนาขึ้น บวกกับเราได้ประสบการณ์จากการเล่าครั้งก่อนด้วย อย่างเช่น เราก็จะรู้ว่าเราจะออกมาเล่าเรื่องราวเป๊ะๆ ไม่ได้นะ คือมันจะต้องเล่าออกมาจากความเข้าใจเรื่องเรื่องนี้ มีส่วนที่เราปล่อยพื้นที่ให้กับการขยี้ ส่วนที่ปล่อยพื้นที่ให้กับความสด มันอธิบายยาก ประเทศนี้ไม่มีโรงเรียนที่มาถอดบทเรียนของสแตนด์อัพคอเมดี้ออกมา หรือไม่ได้มีรุ่นพี่ที่เดินออกมาบอกว่า จะเล่นกีตาร์คอร์ดนี้ต้องแบบนี้ ต้องลีดแบบนี้ มันไม่มีคนที่มาสร้างองค์ความรู้อะไรเอาไว้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ การดูเพิ่ม และก็หาเวทีเล่น เราเคยพูดว่าเรามีเวทีเป็นโค้ช คนตัดสินคือคนดู เราไม่มีทางไหนที่จะฝึกได้ดีที่สุดเท่ากับการขึ้นเวที

ถ้าอะไรสักอย่างจะเกิดเป็นวงการขึ้นมา มันจะต้องอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มันเป็นจริงๆ

วงการสแตนด์อัพคอเมดี้ในประเทศไทยหน้าตาเป็นอย่างไร

บ้านเรามันไม่มีวงการ วงการมีที่ไหน คือพอเราพูดคำว่า วงการ เราจะนึกถึงสังคมที่มีคนหลายประเภทอยู่ในนั้น เช่น วงการฟุตบอล ก็จะมีผู้เล่นที่เป็นนักเตะ มีคนดู มีโค้ช มีผู้สนับสนุน มันมีหลายกลุ่มหลายรูปแบบที่เข้ามาทำงานร่วมกันให้วงการนี้มันเกิดขึ้น แต่สแตนด์อัพคอเมดี้มันไม่มีคนดูที่มีไอเดียว่า “เฮ้ย เดือนนี้จะไปดูสแตนด์อัพที่ไหน” เราไม่มีผู้เล่นที่จัดโชว์ หรือทัวร์ตลอดเวลา ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีสื่อที่พูดถึงเรื่องนี้ แม้กระทั่งโลกมันไปไกลขนาดนี้มันก็ยังไม่มีแชนแนลที่จะทำสแตนด์อัพไทย เรามีแค่แปลของต่างประเทศมา จริงๆ เราเพิ่งเห็นความพยายามใหม่ๆ คือ เดี่ยวดวลไมค์ ไทยแลนด์ หรือว่า Gag Talk แต่มันก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นวงการ เพราะว่ามันยังอยู่ได้ด้วยการทดลอง หรืออยู่ได้ด้วยการเป็นรายการโทรทัศน์ ถ้าอะไรสักอย่างจะเกิดเป็นวงการขึ้นมา มันจะต้องอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มันเป็นจริงๆ เหมือนที่คนชอบฟุตบอล หรือคลั่งมวยไทย วงการมันอยู่ได้ด้วยอะไรแบบนี้ เราก็เลยคิดว่าตอนนี้สแตนด์อัพคอเมดี้บ้านเรายังไม่มีวงการ

คนไทยก็ชอบดูตลก แต่ทำไมสแตนด์อัพคอเมดี้ถึงไม่เคยประสบความสำเร็จในบ้านเรา

ความตลกของตลกที่ดังในบ้านเรากับสแตนด์อัพมันคนละแพลตฟอร์มกันนะ คือตลกคาเฟ่มันก็คือตลกคาเฟ่ซึ่งเราก็ชอบดู แต่ว่าสแตนด์อัพคอเมดี้มันจะมีทางของมันอีกแบบหนึ่ง มันมีลักษณะของการเล่น ซึ่งนอกจากข้อแรกที่มันชัดเจนว่ามันต้องเล่นคนเดียวแล้ว ข้อที่สองคือ มันมีความ intellectual อยู่ในตัว เรามองว่ามันเป็นแบบนั้น มันมีความปัญญาชนนิดๆ ที่แบบทั้งคนเล่นและคนดูจะต้องเข้าใจเรื่องราวอะไรสักอย่าง เพื่อการล้อมันจะได้สนุกมากยิ่งขึ้น คือคุณจะไม่สามารถเห็นคนเล่นเดินมาลื่นกล้วยให้คนขำในสแตนด์อัพคอเมดี้แน่นอน คือไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีนะ แต่มันเป็นคนละแบบ

เสน่ห์ของสแตนด์อัพคืออะไร

สแตนด์อัพมันคือการเล่าเรื่องหนึ่งที่คนเล่าและคนฟังจะต้องรู้อะไรประมาณหนึ่งเพื่อที่จะตลกได้ ซึ่งมันไม่ได้ง่าย แล้วพอมันไม่มีคนเล่าเรื่องประมาณนี้ คนดูเลยไม่เข้าใจวิธีการเล่น เราว่ามันเหมือนเรื่องสั้นที่คนอ่านไม่เยอะ เพราะคนบอกว่าไม่เข้าใจ แต่ที่คนไม่เข้าใจไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าใจตัวเรื่องนะ สิ่งที่เขาไม่เข้าใจคือวิธีการดู วิธีการเสพ ถ้าไปถามคนที่ชอบเรื่องสั้นบางเรื่องที่มันดีมาก เขาอาจจะดูและเขาชอบแต่พอถามว่ารู้เรื่องไหม เขาอาจจะตอบว่าไม่ แต่ดูแล้วมันได้อารมณ์อย่างหนึ่ง เรื่องสั้นมันทำหน้าที่แบบนั้น สแตนด์อัพมันก็มีทางของมันที่คนดูอาจจะต้องมีความคิดความเข้าใจอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คนคนนั้นเล่าด้วย ซึ่งแปลว่าคนดูก็ต้องทำการบ้านมาพอสมควร มันก็เลยเป็นการออกแบบคนดูประมาณหนึ่ง

อย่างพี่โน้ต เราว่าเขาพูดเรื่องที่มันทั่วไปมาก เรื่องที่เขาเล่ามันมีความสากล ซึ่งนั่นคือพรสวรรค์มากๆ ที่ทำให้คนฟังรู้สึกมีส่วนร่วมได้มากขนาดนี้ จากเรื่องเล่าของคนคนเดียว เราคิดว่าด้วยสาเหตุนี้แหละ มันเลยทำให้บ้านเรามันไม่มีที่ทางนี้มาก

แล้วสแตนด์อัพบ้านเราต้องการอะไร ถึงจะทำให้เกิดเป็นวงการขึ้นมาได้

เรามีเพื่อนที่เป็นสแตนด์อัพฝรั่งคนหนึ่งบอกเราว่า เวทีของ The Comedy Club มันจะมี open mic กับ headliner ซึ่ง open mic ก็คือช่วงที่เปิดให้หน้าใหม่ขึ้นมาเล่น ส่วน headliner ก็คือคนที่ดังอยู่แล้วมาเล่นเป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งมันทำให้เรารู้ว่า อ๋อ การเล่นสแตนด์อัพมันไม่ได้จำเป็นต้องตลกมาก่อนก็ได้นี่หว่า มา open mic ที่นี่ก็ได้ เราคิดว่าบ้านเรามันอาจจะยังอยู่ในช่วงนี้ก็ได้

เราคิดว่าเราอยากจัด open mic เพื่อ open mind ให้คนรู้จักเปิดใจ แล้วมาลองฟัง เราพยายามที่จะจัดที่เล็กๆ ให้มีการเล่นอยู่เป็นประจำสนุกๆ อาจจะเดือนละครั้งหรือสองครั้ง แล้วก็พยายามหาคนที่เราคิดว่าสนุก คือทำตัวเป็นพ่องานนิดหนึ่ง แล้วก็ชวนคนมาดู ทำให้วันอย่างวันศุกร์ ซึ่งปกติคุณอาจจะเคยไปดูคอนเสิร์ตในบาร์เล็กๆ แต่ว่าวันนี้มันมีงานสแตนด์อัพ คุณก็อาจจะอยากเปลี่ยนมาลองดูก็ได้ เราอยากทำให้มันเป็นคอมมูนิตี้ไป อย่างน้อยเลยคือรวมคนห้าวที่อยากเล่นมาอยู่ด้วยกันก่อน แต่แผนมันก็ยังหลวมๆ มากในตอนนี้

ความฝันข้อหนึ่งของการเล่นสแตนด์อัพของเราคือ เราอยากมีเพื่อนเล่น
เราอยากดู เราว่ามันน่าสนุกกว่าถ้ามันมาเป็นคลื่นก้อนเดียวกัน มันจะเป็นหนทางที่ทำให้มันเกิดได้มากกว่าการที่เราพุ่งไปคนเดียว

ความฝันเกี่ยวกับสแตนด์อัพของเรามีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ เราอยากมีโชว์ที่ใหญ่แบบ โน้ต อุดม เราอยากแน่นอน เราอยากขนาดนั้น สองคือ เราดูสแตนด์อัพของต่างประเทศเยอะ แล้วเขามีการไปทัวร์ตามเมืองต่างๆ “สวัสดีชาวไมอามี สวัสดีชาวชิคาโก” เราก็อยากมีบรรยากาศที่ได้พูดว่า “สวัสดีชาวขอนแก่น ชาวหาดใหญ่” บ้าง คือเราอยากรู้ว่ามันจะเป็นไปได้ไหมที่สแตนด์อัพคอเมดี้มันจะไม่ได้มีอยู่แค่กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ แต่ความฝันสองอย่างนี้คือมันยากมากๆ แน่ๆ อยู่แล้ว ส่วนข้อที่สามคือ เราอยากมีเพื่อนที่เล่น เราอยากดู อยากเห็นคนเก่งๆ เล่น อยากสร้างให้มันมีคนเล่นเยอะๆ เราว่ามันน่าสนุกกว่าถ้ามันมาเป็นคลื่น มาเป็นก้อนด้วยกัน เราว่ามันน่าสนุกกว่า เราว่ามันจะเป็นหนทางที่ทำให้มันเกิดได้มากกว่าการที่เราพุ่งไปคนเดียว เพราะเรารู้สึกว่าปัจุบันนี้มันจะไม่มีบล็อกเกอร์มือหนึ่ง หรือวงร็อกมือหนึ่งอีกต่อไปแล้ว มันจะมีวงเรกเก้ วงอินดี้ วงเฉพาะทาง วงพวกนี้มันจะอยู่ได้จากการมีคอมมูนิตี้บางอย่างที่เชื่อมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน เราเชื่อว่าสแตนด์อัพจะเป็นแบบนั้น สำหรับเรามันยากมากนะที่จะมีโน้ต อุดม คนที่สอง แล้วเราก็ไม่ใช้คอเมเดียนคนต่อไป เราแค่เป็นหนึ่งในคอเมเดียนที่อยากเล่นแบบนี้ แล้วเราก็เชื่อว่ามันจะมีคนใหม่ๆ ขึ้นมาสนุกกันอีกในอนาคต

ขอบเขตของการพูดเรื่องบางอย่างในสังคม มันขยายได้ด้วยเสียงหัวเราะ

เราเห็นภาพว่าเมื่อไรที่มันมีการแลกเปลี่ยน มันถึงจะมีการพัฒนา วัฒนธรรมมันถึงจะมีการเติบโต คือเราเห็นภาพนะ อะไรก็ตามที่เราทำตอนนี้ เราทำจากการที่เราเห็นภาพปลายทางก่อนว่าแบบภาพมันเป็นแบบนี้ แล้วเราค่อยทำเป็นสเต็ป หนึ่ง สอง สาม สี่ ภาพของเราตอนนี้คือมองว่า เราอยากจัดเล่นให้ได้ทุกเดือน ให้คนมาดู ให้คนใหม่เข้ามาเล่น แล้วเราก็ทำคอนเทนต์ออกไป นี่คือภาพที่เราเห็นแล้วเราเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เราว่ามันมีคนที่ชอบอะไรแบบนี้อยู่จริงๆ บ้านเมืองของเราตอนนี้มีเรื่องอะไรให้ล้อเยอะมาก แม้ว่ามันจะมีขอบเขตของการพูดที่มันยาก แต่มันก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าถ้าเราจะพูดเรื่องบางอย่างที่เราอัดอั้น เราจะทำยังไงให้มันกลายเป็นเสียงหัวเราะ เรารู้สึกว่ามันมีเรื่องที่เราล้อไม่ได้เยอะมาก แต่ถ้าเราล้อบ่อยๆ มันจะขยายขอบเขตของการล้อได้มากยิ่งขึ้น เราก็จะยิ่งพูดได้มากขึ้น และเสียงของเราก็จะไปไกลได้มากขึ้น ขอบเขตของการพูดเรื่องบางอย่างในสังคม มันขยายได้ด้วยเสียงหัวเราะ

หากสามารถเลือกแขกรับเชิญคนหนึ่งที่ไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ อยากเล่นกับใครและเพราะอะไร

ถ้าไปไกลกว่าความเป็นไปได้เลย เราอยากเชิญ โบ เบิร์นแฮม (Bo Burnham) สแตนด์อัพคอเมดี้ของต่างประเทศมาเล่น เขาเก่งมากทั้งเพอร์ฟอร์แมนซ์ ร้องเพลง ก็เก่ง ล้ำสัดๆ อยากเชิญเขามาเล่นเหี้ยไรก็ได้สั้นๆ ห้านาที สิบนาทีก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องโน้ต อุดม ถ้าวันหนึ่งเขาขึ้นเวที One Night Stand (Up) นี่มันคงสุดตีนอะ นึกออกมะ”

FACT BOX:

A Katanyu One Night Stand (Up) Show จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 20:00-22:00 น. ณ The Sportsman Sportsbar Bangkok สุขุมวิท ซอย 13 บัตรราคา 459 บาท สำรองที่นั่งได้ที่  showbooking.com

Tags: ,