โลกประกอบสร้าง ของ ทรูแมน เบอร์แบงก์

ทรูแมน เบอร์แบงก์ (Truman Burbank) เคยเชื่อว่าเขาคือคนชั้นกลางที่มีชีวิตดีงามแบบอเมริกันดรีม มีบ้าน มีรถ และภรรยาที่น่ารัก อยู่ในเมืองเกาะกลางทะเลอันสงบสุข เขาเชื่ออยู่เช่นนั้นจนกระทั่งไฟสตูดิโอแผงหนึ่งหล่นโครมลงมาต่อหน้าในขณะที่จะออกจากบ้านไปทำงานตามปกติ

แม้ว่าจะมีคำอธิบายให้เขาผ่านรายการโทรทัศน์เล่าข่าวเช้านี้ ว่าเครื่องบินลำหนึ่งทำแผงไฟที่ว่านั้นร่วงหล่นลงมาขณะที่บินผ่านเมือง แต่แผงไฟนั้นเองทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับชีวิต กับอะไรบางอย่างที่เขาเคยคิดว่าประหลาดและไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเฉลียวใจอะไรมากไปกว่านั้น

จนกระทั่งเขาได้พบความจริงอันเจ็บปวดว่า ชีวิตตั้งแต่เกิดมาของเขา ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตอยู่ในสตูดิโอขนาดยักษ์ที่จำลองเมืองไว้เมืองหนึ่ง บุคคลทั้งหลายที่เขาได้รู้จักในชีวิตเป็นนักแสดงในรายการเรียลลิตี้โชว์ที่เรตติ้งดีที่สุดตลอดกาล – เดอะ ทรูแมนโชว์ (The Truman Show)

ภาพยนตร์จากปี 1998 นำแสดงโดย จิม แคร์รี่ ที่แม้ว่าตอนฉายนั้นจะฮือฮาและเป็นที่ตื่นเต้นกับพล็อตแปลกใหม่ที่มาพร้อมกับโจทย์ท้าทายความคิดและศีลธรรม กระนั้น มันก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกลืมไปเมื่อล่วงเข้าสู่ยุคมิลเลเนียม

ข้อเขียนจากนี้ไม่ใช่การสปอยล์ภาพยนตร์ เพราะทั้งหมดเท่าที่เขียนไปและหลังจากนี้อีกนิดหน่อย เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องย่อและคำโปรยที่เปิดเผยอยู่แล้วในหนังตัวอย่าง

1. พี่ไม่สนใจการเมืองแล้ว

“พี่ไม่สนใจการเมืองแล้วค่ะ (ครับ)” คือประโยคเสียดเย้ยที่มีต่อคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยตื่นตัวแข็งขันทางการเมืองสูงเป็นพิเศษในช่วง พ.ศ. 2555 – 2557 หรือถ้าให้ตรงไปตรงมากว่านั้น คือเฉพาะช่วงที่นักการเมืองฝั่งเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

หลังรัฐประหาร คนกลุ่มนี้แสดงความยินดีปรีดาอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ความสนใจทางการเมืองจะค่อยๆ หดหายไป พร้อมกับข้อกังขาในการปกครองในระบอบรัฐประหาร และเมื่อมีผู้ไปติดตามทวงถามพี่ๆ เหล่านั้นว่า ไม่คิดจะออกมาหืออือว่าอะไรคนโกงแล้วหรือ ก็ได้รับคำตอบว่า “พี่ไม่สนใจการเมืองแล้วค่ะ”

ชีวิตของพี่เหลือแต่การแชร์คำคมจากนักเขียนขายดีชื่อดัง หรือไม่ก็ธรรมมะสวัสดีจากพระอาจารย์ต่างๆ กิจกรรมส่วนตัว เรื่องหมาแมว และการไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงวันหยุดยาว… ไม่มีแล้วความคับแค้นชิงชังคนโกงขายชาติ องค์กรอิสระถูกแทรกแซง หรือเวทนาชาวนาที่ถูกหลอกให้จำนำข้าวแล้วไม่ได้เงิน

พี่มองไม่เห็นความระยำตำบอนของบรรดาคนดี การอ้างแถข้างๆ คูๆ ความสถุลหยาบถ่อย การใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินเหมือนตู้กดเงินส่วนตัว การใช้อำนาจมิชอบนานา กับทั้งองค์กรอิสระที่ปิดหูปิดตา แต่เปิดปากมีคำอธิบายให้พฤติกรรมน่ากังขาทั้งหลายโดยชอบด้วยกฎหมายได้ทั้งสิ้น

พี่มองไม่เห็นจริงๆ หรือ

2. กฎของแรงดึงดูด หรือกลไกการเลือกจุดสนใจของสมอง

เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์ว่า เมื่อใดที่เราหมายตาอะไรสักอย่าง เราจะได้เห็นแต่สิ่งนั้นในที่ต่างๆ โดยบังเอิญเต็มไปหมด เช่น ถ้าเราอยากหาสุนัขโกลเดนรีทรีฟเวอร์มาเลี้ยงสักตัว เราจะพบว่าเพื่อนฝูงเราใครๆ ก็เลี้ยงหมาโกลเดนฯ โพสต์รูปหมาโกลเดนฯ หรือไปเดินสวนสาธารณะก็จะเห็นคนจูงเจ้าขนทองออกมาเดินเล่น และเราก็อาจจะเผลอไผลคิดว่า โกลเดนรีทรีฟเวอร์มีจำนวนราวครึ่งหนึ่งของสุนัขที่มีผู้เลี้ยงในประเทศไทย

อันที่จริงคงอย่างที่ทุกคนทราบ หมาโกลเดนฯ ไม่ได้มีมากขึ้นกว่าปกติ หรือมากกว่าพันธุ์อื่นอย่างมีนัยสำคัญ มันเคยมีอยู่เท่าไรก็มีอยู่เท่านั้น เพียงแต่ความสนใจทำให้เราเลือกมอง เป็นกลไกทางสมองตามปกติที่ไม่มีอะไรพิเศษหรือไม่ใช่เรื่องผิด

การเลือกมองแต่สิ่งที่เราสนใจนั้นส่งผลแม้กระทั่งทำให้เราละเลยสิ่งที่ไม่อยู่ในความสนใจ การทดลองง่ายๆ คือ ให้คุณหลับตาลง และเมื่อลืมตา ให้มองไปรอบตัว แล้วนับสิ่งของที่มีสีเหลือง หากระดาษสักแผ่นจดจำนวนที่นับได้ไว้

ขั้นตอนต่อมา คือ เมื่อคุณเขียนแล้ว อย่าเพิ่งยกสายตาขึ้นจากกระดาษ ลองเขียนลงไปด้วยว่า ในภาพเมื่อครู่นี้คุณเห็นของที่มีสีแดงอยู่กี่ชิ้น อะไรบ้าง พยายามเขียนให้ได้มากที่สุด คุณอาจจะเขียนเกือบไม่ได้เลย หรือได้น้อยกว่าสีเหลืองมาก

จากนั้นให้คุณละสายตาจากกระดาษแล้วลองมองหา หากคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมปกติที่มีความหลากหลาย คุณจะพบเห็นของสีแดงจำนวนมากพอๆ กับสีเหลือง ที่คุณไม่ทันสังเกตในครั้งแรก

หลักการเดียวกันนี้เองที่นำมาใช้อธิบายเรื่อง “กฎของแรงดึงดูด” ที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินพวกโค้ชชิ่งหรือนักพัฒนาตัวเองเขาสอนกันว่า ถ้าเราคิดแต่เรื่องดีๆ มองหาแต่เรื่องบวก มันจะสร้างแรงดึงดูดสิ่งดีๆ ที่คาดหวังเข้ามาในชีวิต หลักการเดียวกันกับการทดลองเมื่อครู่นี้ คือถ้าชีวิตของคุณอยู่ในค่าเฉลี่ยปกติ ก็จะมีเรื่องดีๆ ร้ายๆ ปะปนกันไป เพียงแต่การโฟกัสแต่เรื่องบวก จะทำให้เรามองเห็นแต่เรื่องดีๆ โดยละการสังเกตเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นไป

นี่คือคำตอบของคำถามว่า “พี่มองไม่เห็นความฉ้อฉลของคนดีจริงๆ น่ะหรือ”

ใช่ พี่มองไม่เห็น และพี่ก็ไม่ได้แกล้งที่จะมองไม่เห็นด้วย

3. เรามีความสุขได้ในโลกอันดีงามที่เราเลือกสร้าง

ด้วยเทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์ก การ ‘เลือกมอง’ ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยี ด้วยความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ เมื่อมันเริ่มรู้จักเราในระดับหนึ่ง มันจะเรียนรู้และเริ่มคัดสรรแต่สิ่งที่เชื่อว่าเราจะชอบและสนใจมาให้

ใครที่มีบัญชีเฟซบุ๊ก 2 บัญชีคงรู้ดีว่านี่เป็นเรื่องจริงที่น่าทึ่ง ถ้าคุณเซ็ตตัวตนและบุคลิกภาพทั้ง 2 บัญชีให้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คุณจะพบว่าหน้าจอเฟซบุ๊กทั้งสองราวกับเป็นคนละโลกหรืออยู่คนละประเทศกัน เรื่องที่คุณเข้าใจว่าเขาพูดกันสนั่นเมือง เป็นเรื่องใหญ่ที่ใคร ๆ ก็ต้องติดตามวิพากษ์วิจารณ์ แต่มันกลับคล้ายว่าเรื่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเลยในอีกเฟซบุ๊กนั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่จริง ๆ

เมื่อ “พี่เลิกสนใจการเมือง” ระบบของเฟซบุ๊กก็จะหยุดส่งการเมืองมาให้พี่ดู และถ้าพฤติกรรมการใช้ของพี่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไปทำบุญมากขึ้น หรือโฟกัสกับที่ลูกเพิ่งจะเข้าเรียนอนุบาล ระบบก็จะเลือกเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นออกมาให้เต็มพื้นที่ของพี่ เช่นนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดในหน้าจอของพี่ อาจจะเป็นการจองคิวเพื่อไปปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ชื่อดัง หรือการติวสอบเข้าโรงเรียนสาธิตฯ ไม่ใช่การซื้อรถถังล็อตใหม่จากประเทศจีน หรือการที่ใช้งบประมาณในการจิ้มเลือกคนรู้จักเข้ามาเป็น ส.ว. แต่ใช้งบประมาณเท่าที่โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของพี่ตูนจะหามาได้

แต่มันจะมีปัญหาอะไร ในเมื่อเราอยู่อย่างมีความสุขได้ในโลกเช่นนั้นของเรา

ในช่วงหลัง ประมาณ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เริ่มมีการสร้างวาทกรรมในหมู่คนชั้นกลางว่า การเมืองไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และมันอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย เป็นแค่ความบันเทิงอย่างหนึ่งไม่ต่างจากการเชียร์ลิเวอร์พูลให้เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก เพราะไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล จะตาลุง ขุ่นแม่ หรือพ่อน้องฟ้า เราก็ต้องทำงานหาเงิน ซื้อรถ ผ่อนบ้าน จ่ายค่าเทอมลูก และใช้เงินนั้นหาความสุขไปตามอัตภาพอยู่ดี

วาทกรรมนี้ไปได้ดีกับการแชร์คำคมหรือแนวคิดประเภทที่ว่า ความล้มเหลว ความสำเร็จ ความร่ำรวย ความยากจน นั้นเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นความรับผิดชอบของตัวเราล้วนๆ 100% ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หรือไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด ก็จะมีคนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี หรือก่นด่ารัฐบาลทุกรัฐบาลไป

พวกเขาชี้มือให้คุณดูว่า เศรษฐกิจไม่ดีหรือ ดูนั่นสิ บริษัทนั้นกำลังขยายกิจการ ดูแถวผู้คนที่กำลังต่อคิวรอกินบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นพรีเมียมราคาหัวละพันห้าสิ ดูยอดจองโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่สิ นี่หรือที่คุณว่าเศรษฐกิจไม่ดี

ปัญหาอยู่ที่ตัวคุณเอง อย่าโทษใคร

4. ถ้าพี่จะอยู่ในโลกที่ไม่สนใจการเมืองเหมือนทรูแมน เบอร์แบงก์

ถ้าทรูแมนไม่ข้องใจกับการที่แผงไฟร่วงลงมาจากท้องฟ้า และเชื่อตามนั้นว่ามันหล่นจากเครื่องบิน เขาก็อาจจะไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมก่อนอาหารเช้า ภรรยาของเขาต้องหันกล่องซีเรียลให้เห็นสลากยี่ห้อชัดเจนไปในมุมใดมุมหนึ่ง พร้อมบรรยายคุณค่าทางอาหารและรสชาติของมันอย่างละเอียดลออเหมือนพูดให้ใครฟัง รวมถึงคงไม่ย้อนคิดไปว่า ทำไมบางครั้งตอนที่เป็นวัยรุ่น จะมีคนเพี้ยนๆ กระโดดออกมา ตะโกนว่า “ข้าเข้ามาอยู่ในรายการทรูแมนแล้วโว้ย” แล้วก็จะถูกใครสักคนมาลากออกไปโดยเร็ว

ความสงสัยว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่ปกติ ทำให้ทรูแมนได้พบความจริงที่เจ็บปวดข้างต้นว่า ชีวิตของเขาที่คิดว่ามีเจตจำนงเสรีนั้นไม่จริง เขามีเพียงสิทธิที่จะเลือกดำเนินชีวิตไปทางใดทางหนึ่งตามแต่กลไกที่ระบบจัดไว้ให้ เพื่อประโยชน์ของใครที่เป็นเหมือนพระเจ้าผู้จัดตั้งสร้างโลกนี้ขึ้นมาให้เขา

ถ้าเขาจะอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้อย่างมีความสุขจริงๆ ก็ต้องหัดรู้อยู่รู้เป็นที่จะใช้ชีวิตในโลกและสังคมนี้ไปได้อย่างมีความสุข

พี่คนนั้น หรือคุณคนไหนก็ได้ ก็สามารถที่จะมีความสุขแบบทรูแมนได้ด้วยการปรับความคิดเช่นนี้

แม้ว่าจะ “รู้” ว่าอะไรบางอย่างไม่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณมีเจตจำนงที่แข็งแกร่งพอที่จะ “เลือก” มองแต่ในแง่ของชีวิตที่ดีมีความสุข ซึ่งคุณก็จะได้สิ่งนั้นตามกฎของแรงดึงดูดหรือกลไกสมองที่ว่านั่น และถ้าคุณฝึกฝนหนักพอ คุณจะลืมความไม่ถูกต้องเหล่านั้นได้เสมือนว่ามันไม่มีอยู่จริงๆ และเมื่อนั้น การเมืองจะไม่มีผลต่อคุณ เศรษฐกิจไม่ดีเป็นเรื่องไม่จริง และใครจะเป็นนายกฯ ก็ไม่สำคัญ

ถ้าคุณฝึกฝนหนักพอ คุณจะลืมความไม่ถูกต้องเหล่านั้นได้เสมือนว่ามันไม่มีอยู่จริงๆ และเมื่อนั้น การเมืองจะไม่มีผลต่อคุณ เศรษฐกิจไม่ดีเป็นเรื่องไม่จริง และใครจะเป็นนายกฯ ก็ไม่สำคัญ

ถ้าคุณเป็นข้าราชการระดับสูงหน่อย หรือมีความมั่นคงทางการงานอยู่ในกิจการที่อิงแอบกับท่อน้ำเลี้ยงที่มั่นคงแห่งประชารัฐ หรือมีมรดกมหาศาลจากทางบ้านที่ใช้เท่าไรก็ไม่หมด แค่ดอกเบี้ยฝากประจำกองทุนที่ปลอดภัยที่สุดก็สามารถสร้างแพสซีฟอินคัมให้คุณได้เกินเดือนละสามแสนบาท คุณก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโลกที่คุณสร้างจากการเลือกมองได้ง่ายหน่อย

แต่ถ้าคุณทำการค้าแบบซื้อมาขายไป ขายของที่ต้องอาศัยกำลังซื้อจากตลาดใหญ่ ทำงานรับเงินเดือนในบริษัทระดับกลางถึงใหญ่ที่กิจการจะต้องได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลหรือการต่างประเทศ คุณก็อาจจะต้องใช้ความพยายามมากหน่อย หากชีวิตเจอโจทย์ยาก เช่นถูกเลย์ออฟ ลดเงินเดือน ขายไม่ออก นำเข้าสินค้ามาแล้วถูกห้ามขายหรือรัฐบาลประกาศอะไรสักอย่างที่ทำให้สินค้าเรากลายเป็นขยะในข้ามคืน

ในตอนนั้นคุณจะต้องเพ่งโทษตัวเองว่า นี่เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง เราปรับตัวกับเขาหรือเปล่า สินค้าบริการบริษัทของเรามีจุดอ่อนอย่างไรทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทำไมขายไม่ดีที่สุดแล้ว เราทำดีที่สุดหรือยัง ไม่ใช่แน่นอน ถ้าเราทำได้ดีแล้วจริง ทุกอย่างมันต้องดี เหมือนที่ชีวิตคนอื่นๆ ในเฟซบุ๊กเขาก็ไปได้สวยกัน

คุณอาจจะเจ็บปวดมากหน่อยในการรักษาโลกที่ไม่สนใจการเมืองของคุณ หรืออาจจะเสี่ยงต่อความป่วยจิตไข้ใจด้วยวิธีคิดที่โทษตัวเอง ไม่โทษการเมืองนี้ หากภูมิคุ้มกันทางจิตทางใจไม่แข็งแกร่งพอ

หากเรื่องนี้ก็ยังมีข้อพึงระวังว่า ต่อให้คุณเป็นคนกลุ่มแรก คุณก็ต้องแน่ใจว่า คุณจะอยู่ให้เป็นจริงๆ โดยไม่ก้าวข้ามเส้นที่ระบบเขาวางขอบเขตไว้ให้ แม้จะวางใจได้ว่าโอกาสที่คุณจะไปเจอเส้นนั้นอาจจะยากหน่อย เพราะ “โรงถ่าย” นั้นใหญ่โตพอประมาณ รวมถึงการสั่งสอนกล่อมเกลาตั้งแต่เกิด ก็ช่วยให้คุณปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง

แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณเคราะห์ร้าย มีเหตุให้ต้องไปประมูลงานแข่งกับบริษัทลูกนายพลท่านหนึ่งแล้วพบว่าทุกอย่างเหมือนเขาคุยกันไว้หมดแล้ว คุณถูกหลอกให้จ่ายเงินค่าซื้อซองมาเป็นคู่เทียบให้ตามระเบียบราชการเฉยๆ

หรือถ้าคุณมีเหตุกระทบกระทั่งหรือมีคดีความ เช่นถูกขับรถมาชน ลูกถูกทำร้าย โดยอีกฝ่ายเป็นผู้มีอำนาจ หรือต่อให้คุณเป็นข้าราชการ อีกฝั่งก็เป็นข้าราชการที่มีศักดิ์สูงกว่า

ในตอนนั้นถ้าคุณยอมรับได้ก็แล้วไป แต่ถ้าคุณยอมรับไม่ได้และเริ่มต้นต่อสู้ หรือรู้สึกอยากต่อต้าน เริ่มมองหาความเป็นธรรมที่คุณไม่สนใจ

คุณจะได้พบกับความจริงบางอย่าง เหมือนตอนที่ทรูแมนพยายามขับรถหนีออกจากเกาะ แล้วมีรถยนต์จากที่ไหนก็ไม่รู้วิ่งมาขวางจากทุกทิศทุกทาง

 

5. ตอนจบ

เราคงเดาได้ตั้งแต่พลอตแล้วล่ะ ว่าเรื่องราวของทรูแมนโชว์ จะต้องมีจุดขัดแย้งสำคัญว่าเขาจะเลือกอยู่ในโลกโรงถ่ายสตูดิโอ หรือจะหนีออกไปสู่ ‘ความจริง’ ข้างนอก

หลังจากอุปสรรคมากมาย ในตอนจบ ทรูแมนก็จะต้องเลือกเช่นนั้น

น่าเสียดาย แบบที่ไม่ได้เล่นมุขหรือเป็นลูกเล่นในการเขียนว่า ผมจำไม่ได้จริงๆ ว่าตกลงทรูแมนเลือกที่จะอยู่ต่อหรือเดินออกไป ความทรงจำมันคลุมเครืออยู่ที่ประมาณนาทีสุดท้ายของเรื่อง.

Tags: , , , ,