เคยไหม ถูกพ่อหรือแม่ทำให้โกรธแค้น ด้วยเหตุที่ไม่ว่าจะพิจารณาด้วยหลักการใด ตรรกะแบบไหน ความไม่พอใจในครั้งนั้นของเราก็ถูกต้องเหมาะสมแล้ว แต่เพียงเพราะผู้ที่ทำผิดต่อเรามีฐานะเป็นถึง ‘บุพการี’ สุดท้ายคนที่ต้องเป็นฝ่ายถูกตบหน้าด้วยคำพูดที่ว่า
“ยอมๆ ไปเถอะ ถึงอย่างไรเขาก็เป็นพ่อเป็นแม่เรานะ”
ก็ไม่พ้นเป็นตัวเราเองอยู่ดี
ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเก่งกาจหรือวิเศษวิโสมาจากไหน ไม่มีใครหลีกหนีสิ่งที่เรียกว่า ‘Human Error’ พ้น และการมีลูกก็ไม่ใช่วัคซีนที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ใครรอดพ้นจากธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ได้แต่อย่างใด
ถึงเป็นพ่อเป็นแม่คน ก็ผิดพลาดได้ ชั่วร้ายเป็น
เมื่ออุปสรรคใหญ่ที่ยืนคั่นกลางระหว่างคนในสังคมกับความตระหนักรู้ถึงความจริงคือจารีตประเพณีและความเชื่อ ค่านิยมดั้งเดิมของไทยที่ยกให้พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ในบ้าน จึงยังคงสถานะค่านิยมกระแสหลักเอาไว้ได้ไม่เสื่อมคลาย
นั่นคือเหตุผลที่แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 เราทุกคนก็ยังคงต้องตกเป็นเหยื่อของความกลัวที่จะถูกชี้นิ้วด่าว่า อกตัญญู ทรพี เนรคุณ ในทุกย่างก้าว
นั่นคือเหตุผล ที่เมื่อได้เห็นภาพผู้ป่วยชราติดเตียงนอนรอความตายโดยไม่มีใครเหลียวแล สิ่งแรกที่เราได้ยินมักเป็นเสียงก่นด่าของผู้คน ถึงลูกหลานใจยักษ์ใจมารที่กล้าทอดทิ้งผู้มีพระคุณที่น่าสงสารได้ลง ทั้งที่ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าคนคนนี้เคยสร้างคุณงามความดีอะไรให้ลูกหลานตอบแทนแล้วจริงหรือ
จาก ‘วันเฉลิม’ สู่ ‘มุน ดงอึน’
หากศาสนาพุทธในไทยมีข้อพึงปฏิบัติตามหลักธรรมทิศ 6 ว่าต้องเคารพรัก ตอบแทนบุญคุณ และช่วยเหลือบิดามารดา ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในทิศเบื้องหน้า (ปุรัตถิมทิส) ลัทธิขงจื๊อซึ่งได้หยั่งรากลึกลงไปในความเชื่อและวิถีชีวิตของคนเกาหลี ก็มีหลักการที่พูดถึงหน้าที่ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลประเภทต่างๆ ว่าบุตรธิดาจะต้องเคารพเชื่อฟังและกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา
แนวคิดเรื่องความกตัญญูหรือ ‘ฮโยโด’ (효도: 孝道) จึงเป็นวาทกรรมหลักซึ่งเป็นหนึ่งในเบ้าหลอมสำคัญที่ยังครอบงำสังคม การสร้างระบบคุณธรรม และค่านิยมปัจจุบันของเกาหลีในปัจจุบัน
นับตั้งแต่วันที่เริ่มรู้ความ เด็กเกาหลีจะถูกปลูกฝังให้รู้จักรักษากิริยามารยาทต่อหน้าผู้อาวุโสกว่า ไปจนถึงการปลูกฝังบทบาทหน้าที่ในฐานะลูก นั่นคือเมื่อยังเยาว์วัยต้องคอยสนับสนุน ช่วยเหลือกิจการของพ่อแม่ และเมื่อโตขึ้นก็ต้องคอยดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเพื่อตอบแทนบุญคุณ
เช่นเดียวกับไทย สังคมเกาหลีภายใต้ระบบอาวุโสเข้มข้น ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาเครือข่ายสายสัมพันธ์ หรือ ‘ช็อง’ (정: 情) ระหว่างผู้น้อยที่ยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ทำให้ความผิดของพ่อแม่ หรือความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมของลูก จึงเป็นดั่งเส้นผมเล็กบางที่ไม่อาจบดบังทัศนียภาพอันใหญ่โตของภูเขาได้
ในขณะสื่อบันเทิงไทยที่ยังคงมีแนวโน้มจะรีเมกละครที่สอนใจคนว่าจะต้องเคารพเทิดทูน มีหัวใจที่สามารถรักและอภัยให้พ่อแม่ abuser แบบ ‘ลำยอง’ ได้โดยไม่รู้จบ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นทองเนื้อเก้า เป็นคนดีที่เนื้อแท้ เป็นเพชรที่ยังคงความเป็นเพชรไว้ได้เสมอแม้จะอยู่ในตม เหมือนอย่าง ‘วันเฉลิม’
สื่อเกาหลีได้ก้าวผ่านชุดความคิดที่ว่า สื่อต้องสามารถสะท้อนความตกต่ำในสังคมเพื่อสอนคุณธรรม ไปสู่อีกชุดความคิดว่า สื่อที่ดีควรชี้นำสังคมให้เดินไปสู่ทิศทางที่เปิดกว้าง เราจึงแทบไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลีที่เชิดชูการก้มหน้าก้มตาทำตัวเป็นลูกกตัญญูอีกแล้ว
กลับกันด้วยซ้ำ งานที่วิพากษ์ระบบความเชื่อเดิมๆ ต่างหากที่มีโอกาสจะได้รับความนิยมมากกว่า
และ The Glory ก็เป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ว่านั้น
*** คำเตือน: ส่วนถัดไปของบทความมีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของซีรีส์
ภาพสะท้อนของเหล่า ‘บุพการี’ ใน The Glory
“สาเหตุที่หนูไม่มีวันให้อภัยแม่ได้ เป็นเพราะจนถึงตอนนี้ แม่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าแม่นั่นแหละคือคนแรกที่ทำร้ายหนู”
ถึงจะมีบทไม่มากนัก แต่หนึ่งในตัวละครที่มีส่วนสำคัญต่อโครงเรื่องและโดดเด่นจนเป็นที่จดจำที่สุดในครึ่งหลังของซีรีส์คือ ‘จอง มีฮี’ (รับบทโดย พัค จีอา) หรือแม่ของมุน ดงอึน
ก่อนหน้านี้ แม่ดงอึนเคยโผล่มาให้เห็นครู่หนึ่งในฉากคัตอินสั้นๆ ขณะถูกทาบทามโดยแม่ของเด็กที่รังแกลูกของตัวเองให้รับเงินค่าปิดปาก แล้วเซ็นเอกสารที่จะสามารถรับรองได้ว่าดงอึนลาออกเองโดยสมัครใจ เพราะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้
ซึ่งเธอก็ยิ้มรับเงินจำนวนนั้นไว้ด้วยความเต็มใจ ก่อนจะหายตัวไปในกลีบเมฆ ทิ้งดงอึนในวัยสิบแปดให้มืดแปดด้าน ทำอะไรไม่ได้นอกจากออกไปทำงานหาเลี้ยงปากท้องของตัวเองเต็มเวลา
จริงอยู่ที่ตัวละคร ‘แม่ที่ไม่ดี’ อาจไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่สาเหตุที่แม่ดงอึนตะเกียกตะกายขึ้นแท่นตัวละครที่คนดูเกลียดที่สุดได้อย่างรวดเร็ว จนน่ากลัวว่าอาจจะแซงหน้าตัวร้ายหลักอย่างพัค ยอนจิน ไปแล้ว คงเป็นเพราะเราทุกคนต่างมองเห็นภาพใครบางคนในชีวิตจริงของตัวเอง ซ้อนทับขึ้นมาในทุกครั้งที่มีตัวละครนี้เข้ามาร่วมฉาก
โชคดีหน่อยก็เป็นแค่ความทรงจำสีจางเกี่ยวกับพ่อแม่ของเพื่อน คนรู้จัก คนแถวบ้าน แต่สำหรับบางคนที่โชคไม่ดีนัก ภาพติดตาที่ลอยเด่นชัดขึ้นมาในห้วงความคิด อาจเป็นญาติสนิทหรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของตัวเอง
แม้ในเรื่องจะพอมีภาพแทนพ่อแม่ดีๆ อยู่บ้างอย่างแม่บ้านสายสืบ ‘คัง ฮยอนนัม’ (รับบทโดย ยอม ฮเยรัน) อีกหนึ่งตัวละครสนับสนุนที่ได้บทเด่น แต่การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อลูกของตัวละครนี้ ก็ไม่ใช่การต่อสู้กับภัยนอกบ้านที่ไหนเลย
เพราะสาเหตุความทุกข์ทรมานของเธอและลูก ก็คือสามีขี้เมาที่มีนิสัยชอบทุบตีของเธอนั่นเอง
แน่นอนว่า The Glory ที่มีแก่นเรื่องหลักเป็น ‘ความรุนแรงที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม’ คงไม่หยิบยื่นบทพ่อแม่รังแกฉันให้เพียงคนจนอย่างแม่ของดงอึน หรือสามีขี้เหล้าของป้าสายสืบเพียงฝ่ายเดียวเป็นแน่
เพราะท้ายที่สุด ฉากหน้าที่ดูรักใคร่หวงแหนลูกสาวเหมือนไข่ในหินของ ‘ฮง ยองแอ’ (รับบทโดย ยุน ดาคยอง) หรือแม่ของยอนจิน ก็ถูกเปิดโปงว่าเมื่อถึงคราวเข้าตาจน คนรวยก็ขายลูกกินได้ไม่ต่างอะไรจากคนจน
ความสำเร็จของบทสรุปที่สันติไม่ใช่ทางออก
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาพแทนของพ่อแม่หลากหลายเฉดสีในเรื่องนี้ ถูกสร้างมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนและจิกกัดสังคมเกาหลี ให้มองเห็นเสียทีว่าต่อหน้าพ่อแม่แบบจอง มีฮี คำพูดที่ว่า ‘ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก’ ก็เป็นได้เพียงนิทานกล่อมนอน หรือมุขตลกที่ขำไม่ออกเท่านั้น
หากทีมเขียนบทหยุดทุกอย่างไว้เพียงเท่านี้ ซีรีส์เรื่องนี้คงไม่ได้พิเศษไปกว่าทองเนื้อเก้าตรงไหนเลย เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ตัวละครลำยองเองก็สะท้อนภาพพ่อแม่แย่ๆ เหล่านั้นได้ดี ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ฉะนั้น ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ The Glory เป็นผลงานที่ทรงพลัง คือบทสรุปของเรื่องต่างหาก
เพราะสุดท้ายป้าสายสืบก็ยืมมือคนอื่นฆ่าสามีตัวเองเพื่อปกป้องลูกสาวได้สำเร็จ
เพราะสุดท้าย แม่ของยอนจินก็ต้องสูญเสียอภิสิทธิ์ทุกอย่างไป และลงเอยที่การเข้าไปชดใช้ความผิดของตัวเองในคุก
และเพราะสุดท้าย คนดูย่อมรู้ดีที่สุดว่าน้ำเสียงและสายตาของดงอึนในวินาทีก่อนส่งแม่เข้าศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยติดสุรา ไม่ใช่สายตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวังว่าสักวันแม่จะดีขึ้น เหมือนสายตาของวันเฉลิมตอนบวชให้ลำยอง
แต่เป็นสายตาของลูกสาวที่รู้จักแม่ของตัวเองดี ว่าอีกฝ่ายไม่มีทางเปลี่ยนตัวเองได้และจะต้องเน่าตายอยู่ในนั้น
“มีแค่หนูคนเดียวที่ทำแบบนี้กับแม่ได้ เพราะหนูเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเพียงคนเดียวของแม่ไง”
“ขอบคุณนะคะแม่ ขอบคุณที่ไม่เปลี่ยนไปเลย ขอบคุณจริงๆ ที่เป็นเหมือนเดิมเสมอมา”
ที่มา
Kim, G. Filial Piety: Greatest Heritage of Korea. https://www.koreatimes.co.kr/www/news/special/2008/08/181_29719.html
Sorenson, C.W. The Value and Meaning of the Korean Family. https://asiasociety.org/education/value-and-meaning-korean-family
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, Revenge, ความรุนแรงในครอบครัว, Screen and Sound, The Glory, Filial Piety, ความกตัญญู, แก้แค้น, Netflix