“ทำไมไม่เลิกกับแฟนคนนี้สักที”

“เจ็บนักหนาแล้วทนเพื่ออะไร”

“โดนทำร้ายแต่ยังยอมให้เขาทำไปเรื่อยๆ โง่หรือเปล่า?”

หลายครั้งคู่รักที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) ต้องพบเจอกับคำพูดเหล่านี้จากคนรอบตัว แน่นอนว่าเมื่อมีใครเอ่ยเตือนออกมาเช่นนี้ พวกเขาย่อมเห็นถึงสัญญาณที่ไม่ดีในความสัมพันธ์นั้นๆ ทั้งจากการกระทำและวาจา ที่ไม่ว่าจะมองอย่างไร ในสายตาคนนอกก็เห็นชัดว่าไม่มีเหตุผลให้ต้องทนต่อไป

แต่สำหรับเหยื่อ เรื่องมันยากกว่านั้น แม้ความรักจะไม่ต้องมีเหตุผล แต่การทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ อาจมีหลายเหตุผลที่ฉุดรั้งเอาไว้

หากยังเป็นแค่แฟน ผ่านการรักๆ เลิกๆ เพราะยากที่จะตัดขาดมากี่ครั้ง แต่สุดท้ายการจบความสัมพันธ์ในฐานะแฟนย่อมง่ายกว่าความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปถึงขั้นเป็นสามีภรรยา เป็นคู่ชีวิต มีการวางแผนชีวิตระยะยาว คิดฝันสร้างครอบครัวด้วยกัน ความสัมพันธ์เป็นพิษที่ว่าอาจกลายเป็นความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ได้เลยทีเดียว

เรามักคุ้นเคยกับภาพของความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบของการทำร้ายร่างกาย (Physical Abuse) หรือการบังคับข่มเหง แต่จริงๆ แล้ว ความรุนแรงในครอบครัวเป็นไปอย่างแยบยลกว่านั้น ร่องรอยความรุนแรงไม่ใช่รอยฟกช้ำที่ปรากฏให้เห็นชัดเสมอไป แต่รวมถึงแผลในจิตใจและการใช้อำนาจบงการโดยที่ผู้ถูกกระทำไม่ทันรู้ตัว

“เมื่อฉันไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ เขาทำราวกับว่าตัวเองมีสิทธิที่จะบังคับฉัน เพราะในสายตาของเขา ฉันไม่มีค่า ไม่น่าเคารพ เป็นเพียงสิ่งของของเขาเท่านั้น” นาเดีย (นามสมมุติ) เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ในประเด็นที่ถูกคนรักเก่าบังคับให้มีเพศสัมพันธ์

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในชีวิตจริง คนบางกลุ่มจะไม่มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติของคู่รัก เป็นเรื่องของผัวเมีย ทั้งที่การกระทำดังกล่าวเป็นความรุนแรงทางเพศ (Sexual Abuse) ที่คนเป็นสามีกระทำต่อภรรยาตัวเอง การที่ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจข่มขู่ บีบบังคับ หรือแม้แต่พยายามเกลี้ยกล่อมให้มีเพศสัมพันธ์ แม้จะไม่มีการบังคับทางกาย ก็ถือเป็นความรุนแรงทางเพศไม่ต่างจากการข่มขืน

ความรุนแรงที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือ ความรุนแรงทางวาจา (Verbal Abuse) การใช้วาจากับคนรักหรือลูก ไม่ว่าจะเป็นคำพูดรุนแรง ดุด่า การใช้เสียงตะโกนด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว หรือการวิจารณ์ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่มีคุณค่าและขาดความมั่นใจในตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรุนแรงที่ถูกมองข้ามไป

ความรุนแรงทางวาจาอันตรายยิ่งกว่าที่คิด เพราะมันสามารถพัฒนาไปเป็นความรุนแรงทางอารมณ์ (Emotional Abuse) ที่จะมีความแนบเนียนยิ่งกว่า เช่น การพูดประชดประชัน ลดทอนตัวตนของอีกฝ่าย ทั้งการพูดจาและการกระทำปั่นหัว (Gaslight) ให้เหยื่อตั้งคำถามกับตัวเอง ฯลฯ

เหยื่อความรุนแรงประเภทนี้จึงมักจะโทษว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด เพราะไม่รู้ตัวว่าโดนทำร้ายอยู่ หรือแม้แต่ผู้กระทำเองก็จะไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่าตนเป็นผู้ใช้ความรุนแรงกับคนอื่น

ความรุนแรงในครอบครัวที่จะกล่าวถึงต่อไป เป็นความรุนแรงรูปแบบสำคัญที่ฉุดรั้งให้หลายคนต้องทนอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษเพื่อรักษา ‘ความเป็นครอบครัว’ ไว้ ซึ่งสิ่งที่ว่าคือความรุนแรงทางการเงิน (Financial Abuse) เป็นความรุนแรงที่น่ากลัว เพราะเราแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันเป็นความรุนแรง

ในการสร้างครอบครัวแบบฉบับที่มีพ่อ แม่ และลูก หลายครั้งฝ่ายหญิงจำต้องเป็นฝ่ายออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้าน หากมองเผินๆ ก็เป็นหน้าที่ของสามีที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และหลายคนก็มองว่าสบายด้วยซ้ำที่ผู้หญิงไม่ต้องทำงาน อยู่บ้านอย่างเดียว (แน่นอนว่าในความเป็นจริงไม่สบายอย่างที่คิด)

มันจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากมันเป็นทางเลือกของเธอจริงๆ กลับกันถ้าออกจากงานมาใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านด้วยความจำเป็น ย่อมมีสิ่งที่มุ่งหวังไว้แล้วต้องเสียไปหลายอย่าง อย่างน้อยก็ในเรื่องอิสระทางการเงิน เพราะต้องพึ่งเงินสามีทางเดียว รวมถึงการสูญเสียประสบการณ์ชีวิต ช่วงวัย และความสัมพันธ์ทางสังคมอื่นๆ ที่เคยมีอยู่รอบตัว

จะยิ่งแย่ไปกว่านั้นหากมีคำพูดทำนองว่า “ทุกวันนี้ใครเป็นคนหาเงิน?” หลุดออกจากปากสามี เพราะสิ่งนี้เป็นการรวมกันของความรุนแรงในครอบครัวหลายรูปแบบ ที่น่าเศร้าคือเหยื่อไม่มีทางเลือกมากนักในสถานการณ์เช่นนี้ การทนอยู่ในความสัมพันธ์เพราะเห็นแก่ลูกที่ต้องพึ่งพาอีกฝ่ายทั้งเงินและความรัก หรือเพราะไม่สามารถออกไปตั้งหลักได้จึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

“เขาบังคับให้ฉันทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เขาทั้งแบล็กเมล์ และจะไล่ฉันออกจากบ้าน ถ้าฉันไม่ยอมทำตามที่เขาต้องการ”

คลารา (นามสมมุติ) หญิงสาวชาวต่างชาติที่ย้ายเข้าไปอยู่ในสหราชอาณาจักรตามแฟนหนุ่ม แม้ว่าหลังย้ายไปเธอจะถูกทำร้ายร่างกาย และถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่หลายเดือน แต่ด้วยความที่ไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่มีสัญชาติ จึงแทบไม่มีสิทธิทางกฎหมายใดๆ และด้วยความที่ไม่มีทางเลือก เธอจึงจำต้องใช้ชีวิตกับแฟนหนุ่มต่อไป แม้ว่าจะอยากหนีออกมาก็ตาม

แทนที่จะเพิกเฉยต่อความรุนแรงเพียงเพราะคิดว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย หรือแม้แต่กลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นหมาหากพวกเขากลับไปคืนดีกัน เราควรทำความเข้าใจว่า ด้วยอำนาจที่ไม่เท่ากันในความสัมพันธ์ การออกจากความสัมพันธ์เป็นพิษ หรือการหลีกหนีจากความรุนแรงที่คนในครอบครัว ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ

หลายครั้งเหยื่อมักมีเหตุผลเบื้องหลังมากมายซ่อนอยู่ โดยที่คนนอกอาจไม่ทันได้รับรู้ทั้งหมด เหตุผลที่ทำให้เหยื่อไม่กล้าเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่บั่นทอน

เราในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง จึงควรทำให้พวกเขาได้รับรู้ว่าตนไม่ได้ผิดใดๆ และยังคงมีคุณค่าในตัวเอง แม้ว่าจะพบเจอความสัมพันธ์ที่เป็นพิษมาก็ตาม

ที่มา

https://www.bbc.com/news/uk-england-london-60509125

https://www.bbc.co.uk/news/uk-politics-54254541

https://www.womensaid.org.uk/information-support/what-is-domestic-abuse/

Tags: , , , ,