*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องทั้งสามซีซัน
“ทุกคนมีสิทธิ์พูดถึงฉัน โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าเหรอ”
เอมิลี่ ดิกคินสัน (Emily Dickinson) อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักสำหรับทุกคน แต่ในแง่ภาษาและบทกวี เอมิลี่นับเป็นกวีชาวอเมริกันที่มีความสามารถโดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง เธอมีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเขียนกลอนเอาไว้เป็นจำนวนมากก่อนจากโลกนี้ไปโดยที่ยังไม่ทันได้เป็นนักเขียนมีชื่อ ซ้ำยังจากไปพร้อมกับคำครหาว่าเธอมีบุคลิกแปลกประหลาด หมกมุ่นกับความตาย เป็นหนอนหนังสือ และหลงรักเพื่อนเพศเดียวกัน จนเวลาผ่านไปราวสองร้อยปี เรื่องราวของเธอถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ชื่อ Dickinson
เนื้อหาของ Dickinson นั้นตรงตามชื่อ ทั้งสามซีซันจะเล่าถึงชีวิตของครอบครัวดิกคินสันเป็นหลัก โดยมีพื้นหลังเป็นสหรัฐอเมริกาที่ใกล้เข้าสู่ยุคสงครามกลางเมือง ไปจนถึงยุคที่สงครามปะทุและไม่มีทีท่าว่าจะจบลง เราจะได้พบกับชีวิตของชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงในอเมริกาเหนือที่มีทั้งความเพ้อฝัน กัดกินจิตใจ และทำให้เกิดการฟุ้งกระจายทางความรู้สึกมากกว่าที่หลายคนคาดคิด
ตัวละครหลักของเรื่องอย่าง เอมิลี่ ดิกคินสัน เป็นลูกคนกลางของตระกูลที่ค่อนข้างมีอิทธิพลทางการเมืองในแอมเฮิร์ส แมสซาชูเซตส์ โดย เอ็ดเวิร์ด ดิกคินสัน (Edward Dickinson) พ่อของเธอเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีสิทธิตัดสินใจทุกอย่าง เป็นเพียงคนเดียวที่หารายได้มาจุนเจือครอบครัว เป็นผู้ชี้ผิดชี้ถูกทุกอย่างในบ้าน ส่วน เอมิลี่ นอร์ครอส ดิกคินสัน (Emily Norcross Dickinson) ที่เอมิลี่ใช้ชื่อเดียวกับแม่ ถือเป็นผู้หญิงที่สามารถเรียกได้ว่า ‘แม่ศรีเรือนโดยแท้จริง’ เธอหลงใหลการทำอาหาร เสิร์ฟชา ปรนนิบัติสามี ดูแลความเรียบร้อยของบ้านทุกกระเบียดนิ้ว และพยายามให้ลูกสาวทั้งสองคนได้ออกเรือนโดยเร็วที่สุด
ส่วน ออสติน ดิกคินสัน (Austin Dickinson) พี่ชายคนโตของบ้านผู้ทำอะไรก็ได้ดั่งใจหวัง เขาเป็นหนุ่มจิตใจดี มีอารมณ์ขัน มั่นใจในตัวเอง เป็นที่รู้จักในชุมชน เป็นแสงสว่างของพ่อแม่ เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่ไม่ต้องหยิบจับช่วยเหลืองานบ้านใดๆ เพราะหน้าที่เหล่านั้นจะเป็นงานของแม่และน้องสาว เห็นได้จากตอนที่เอมิลี่กับลาวิเนียถูกแม่ปลุกตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างเพื่อไปตักน้ำ เมื่อเอมิลี่ถามว่าทำไมออสตินถึงไม่ต้องตื่นแต่เช้ามาตักน้ำด้วยกัน คำตอบนั้นสุดเบสิกนั่นก็คือ “งานพวกนี้ไม่ใช่งานของผู้ชาย”
สมาชิกคนสุดท้ายของบ้านคือ ลาวิเนีย ดิกคินสัน (Lavinia Dickinson) น้องคนเล็กที่ชื่นชอบการตกหลุมรัก หลงใหลเรื่องราวโรแมนติก ตามเทรนด์ ตามแฟชั่น เป็นสาวสังคมที่พอใจเวลาได้พบปะผู้คนหรือสนทนาในเรื่องที่ตัวเองสนใจ ถึงจะค่อนข้างเพ้อฝัน แต่เวลาฟังสิ่งที่เธอพูดหลายครั้งเข้าจึงพบว่าลาวิเนียค่อนข้างเป็นหญิงสาวที่มีความคิดซับซ้อนกว่าที่เห็น ถึงอย่างนั้น สมาชิกดิกคินสันที่เราจะได้เข้าไปทำความรู้จักลึกซึ้งมากที่สุดหนีไม่พ้น เอมิลี่ หญิงสาวผู้ชื่นชอบที่จะหมกตัวอยู่ในห้องทั้งวันทั้งคืน เพื่อเขียนกลอนบนกระดาษแผ่นน้อยแล้วส่งให้กับหญิงสาวที่เธอรัก
คนส่วนใหญ่มักมองว่าเอมิลี่เป็นผู้หญิงเพี้ยน แต่โชคดีเพราะเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมั่งคั่ง เธอไม่สนใจงานบ้าน เย็บผ้าไม่เป็น ไม่ชอบทำอาหาร ไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากมีลูก เธอชื่นชอบที่จะใช้เวลาแต่ละวันอยู่กับตัวเองเพื่อสร้างสรรค์บทกวีจำนวนมากแล้วส่งผลงานส่วนใหญ่ไปให้กับเพื่อนสนิท และบางส่วนถูกซ่อนเอาไว้ในกล่องใส่เสื้อผ้า เพราะพ่อของเธอจะไม่มีวันยอมให้ลูกสาวเขียนบทกวีส่งสำนักพิมพ์ใดก็ตาม
เอ็ดเวิร์ดจะรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากถ้าผู้หญิงไม่ได้อยู่หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่พวกเธอควรจะทำ เพราะเขาเป็นผู้เขียนบทความเรื่อง ‘พื้นที่ที่ผู้หญิงควรจะอยู่’ เห็นได้จากครั้งที่เอมิลี่แอบส่งบทกลอนเข้าประกวดโดยใช้ชื่อออสติน เมื่อพ่อรู้เข้าบ้านจึงแทบแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะลูกสาวของเขาทำในสิ่งที่ผู้หญิงยุคนั้นไม่ควรจะทำ
“การตีพิมพ์ผลงานของผู้หญิงนับเป็นเรื่องฉาวโฉ่”
ถึงคนส่วนใหญ่จะมองว่าเอมิลี่ ดิกคินสัน เป็นคนแปลก เพี้ยน และคุยด้วยนานไม่ได้ แต่ก็ยังพอมีคนที่ไม่ได้มองว่าเอมิลี่เป็นหญิงเพี้ยนอยู่เหมือนกัน คนเหล่านั้นส่วนใหญ่มักนิยมชมชอบในตัวเธอ ทั้งเพื่อนชายที่แวะเวียนมาจีบหลายต่อหลายปี คอยให้กำลังใจเรื่องงานเขียนและขอใช้ชีวิตร่วมกับเธอจนวันตาย หนุ่มนักกฎหมายที่ชอบอ่านกวีของเธอ ไหนจะเพื่อนร่วมชั้นเรียนของออสตินที่ถือว่าเป็นสุภาพบุรุษอนาคตไกลพึ่งพาได้ แม้แต่ ซู-ซูซาน กิลเบิร์ท (Susan Gilbert) เพื่อนสนิทวัยเด็กที่เอมิลี่พร่ำเขียนบทกวีนับร้อยนับพันให้ก็เช่นกัน คนเหล่านี้ชื่นชมในความสามารถด้านการเขียนของเอมิลี่ และมองว่าเธอเป็นอัจฉริยะมากกว่าเป็นคนประหลาด
ซูจึงเป็นทั้งแรงบันดาลใจและเป็นที่ปรึกษางานเขียนของเอมิลี่เสมอ ทั้งคู่มักตัวติดกัน ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนสนิท สุดท้ายเอมิลี่กลับได้ซูเป็นพี่สะใภ้แทนที่จะเป็นแฟนสาวของตัวเอง เพราะไม่มีทางใดพอจะเป็นไปได้เลยที่ผู้หญิงสองคนเมื่อสองร้อยปีก่อนจะแต่งงานใช้ชีวิตคู่ได้ดั่งหวัง
ความรักต้องห้ามของทั้งสองชวนให้เห็นบรรยากาศหวานอมขมกลืน ช่วงแรกเริ่มเอมิลี่ไม่แน่ใจว่าควรต้องรู้สึกอย่างไร ดีใจ มีความสุข หรือโศกเศร้า เพราะถึงซูจะอยู่ใกล้กับเธอมากขึ้นกว่าเก่า แต่เธอก็เป็นภรรยาของพี่ชาย ไหนจะต้องคอยประคองความสัมพันธ์กับซูให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ควบคู่กับประคองความสัมพันธ์ของพี่ชาย น้องสาว พ่อ แม่ และเพื่อนๆ รอบตัวอีก ทุกอย่างต้องทำพร้อมกันและไม่ได้ทำง่ายๆ เหมือนกับที่ออสตินเคยวิจารณ์สิ่งที่พ่อแม่ทำกับเอมิลี่ไว้ว่า “พวกเขาทำตัวร้ายกาจกับเธอ พวกเขาไม่รู้ว่าเธอพิเศษแค่ไหน พวกเขาปฏิบัติต่อเธอเหมือนเธอเป็นคนบ้า” แต่ถึงอย่างนั้น เอมิลี่และซูต่างรู้ดีกว่าไม่มีใครเลยที่เป็นบ้าอย่างที่ออสตินบอก
“คุณไม่ได้บ้า แต่โลกนี้ต่างหากที่บ้า”
ครอบครัวดิกคินสันต่างเผชิญกับบาดแผลทางค่านิยม การที่ผู้ชายคนเดียวเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง ทั้งแบกภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน เป็นหัวหน้าครอบครัว ชี้ผิดถูกต่อการกระทำของภรรยาและลูกๆ ทุกคน แม้จะเต็มไปด้วยความรักและหวังดี แต่อำนาจเผด็จการนั้นทำให้ทุกคนอึดอัดและโศกเศร้า พากันตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมชีวิตถึงเป็นแบบนี้ ก่อนจะเริ่มมองหาว่าใครที่มีส่วนทำให้ชีวิตของตนเดินมาถึงจุดนี้บ้าง บางคนโทษคู่ชีวิตของตัวเอง บางคนโทษแม่ บางคนโทษพ่อ วนอยู่กับการหาใครสักคนเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตที่ล้มเหลวของตัวเอง
ในแง่มิติตัวละครที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ถึงเอมิลี่จะกระทบกระทั่งกับผู้เป็นพ่อบ่อยครั้ง แต่ในความสัมพันธ์ที่ดูง่อนแง่นมักเผยให้เห็นว่าเอ็ดเวิร์ดสุดแสนจะรักและหวงลูกสาวคนนี้มากแค่ไหน เขาไม่ซีเรียสถ้าลูกสาวไม่แต่งงาน ยินดีเสียอีกที่เอมิลี่จะอยู่บ้านเขาจนเธอแก่เฒ่า แม้จะดุด่าเรื่องความดื้อในการพยายามทำให้งานเขียนเป็นที่รู้จัก แต่เขาก็ปล่อยให้เธอใช้เวลาทั้งวันอยู่กับการเขียนบทกลอน ขออะไรก็ได้ตามใจ (ยกเว้นสิ่งที่ขัดกับขนบธรรมเนียมที่ผู้หญิงควรจะเป็น) อีกทั้งเขายังสร้างเรือนดอกไม้ขนาดใหญ่เพื่อเอาใจเธอ และใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเปิดใจรับกับสิ่งที่ลูกสาวอยากจะเป็น
ทางด้านออสตินที่ดูไม่ได้เรื่องได้ราว เอาแต่ใจและคอยกวนประสาทเอมิลี่ พยายามแย่งชิงความรักจากซูเพราะรู้สึกว่าต้องแข่งขันอะไรบางอย่างกับน้องสาว แต่บางเวลาจะเห็นว่าเขาเป็นชายที่เปราะบาง และแบกรับความเป็นลูกชายคนโตของบ้านไว้เต็มบ่า
“ผมโตมาเป็นคนที่โคตรพัง ไม่มีความสุข
ในประเทศที่โคตรพัง และไม่มีความสุข”
ส่วนเอมิลี่ผู้แม่ที่เอาแต่ยัดเยียดผู้ชายให้กับลูกสาว คอยทำหลายสิ่งหลายอย่างขัดใจลูกสาว เทิดทูนสามีและลูกชาย หากมองอีกมุมนั่นคือทั้งหมดในชีวิตของเธอ ดูเหมือนว่าสังคมที่เธอโตมาล้วนเต็มไปด้วยคำสอนที่พร่ำบอกว่าผู้หญิงต้องมีหน้าที่อะไร ทำให้เธอยึดกับค่านิยมที่รับมาไว้จนสุดทาง ยังคงยึดมั่นว่า “ผู้หญิงมีหน้าที่คอยดูแลให้ทุกคนมีความสุขตลอดเวลาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชาย” ไปตลอดกาล ถึงบางครั้งจะเห็นว่าเธอเหนื่อยล้ากับการทำงานบ้านและการพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบก็ตาม
แม้กระทั่ง ซู กิลเบิร์ท ที่อาจดูมีมุมเจ้าเล่ห์ เอาแต่ใจ และอาจทำให้หลายคนคิดว่าเธอคิดถึงแต่ความรู้สึกตัวเอง แต่สุดท้ายเธอก็มีคนที่ตัวเองยึดมั่น ซูเชื่อใจในความรักที่เอมิลี่มีให้ เชื่อมั่นทักษะการเขียนของเพื่อนสนิท ซ้ำยังผลักดันให้เอมิลี่มั่นใจในพรสรรค์ของตัวเอง เรียกได้ว่าหากดู Dickinson ไปสักพัก เราจะเห็นในแต่ละมิติของตัวละครที่ทำให้เกลียดชังพวกเขาไม่ลงกันสักคน
“ทำไมเด็กถึงมีแม่สองคนไม่ได้ล่ะ ฉันรักเธอมากนะเอมิลี่ ถ้าเลือกได้ เราจะหนีไปจากครอบครัวของเธอ และเลี้ยงเด็กคนนี้ด้วยกัน”
เขยิบออกมาจากเรื่องราวความสัมพันธ์ ในแง่ความสามารถของเอมิลี่ เธอเคยถูกตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดถึงแต่งกลอนที่ยอดเยี่ยม หวือหวา เพ้อฝัน และเหนือจินตนาการได้ทั้งที่ชีวิตแต่ละวันเธอนั้นเรียบง่ายจนเข้าขั้นน่าเบื่อ ตั้งแต่ลืมตาดูโลกเธอแทบไม่เคยออกจากเมืองเล็กๆ ที่เป็นบ้านเกิด เฉยเมยกับการถูกเรียกว่าเป็นสาวโสดทึนทึก ใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกอยู่แต่ในห้อง นั่งอยู่บนโต๊ะที่มีกระดาษหนึ่งแผ่น พู่กันหนึ่งแท่ง และน้ำหมึกหนึ่งขวด การที่คนคนหนึ่งมีกิจวัตรประจำวันซ้ำซากแต่กลับสร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ เอมิลี่ไปเอาพลังแบบนั้นมาจากไหน
ความสัมพันธ์ซับซ้อน ความรู้สึกผิด โหยหาปนอึดอัดใจที่มีต่อครอบครัวที่ไม่สนับสนุนความสามารถอันโดดเด่นของเธอ ประกอบกับยุคสมัยแห่งการผลักดันเรื่องสิทธิ และสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นหลายปี ผสมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ส่วนตัว ทั้งหมดทำให้เอมิลี่สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมากขึ้นมาได้
นอกเหนือจากเรื่องราวของครอบครัวดิกคินสัน เราจะได้เห็นประเด็นความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ สงครามระหว่างอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ การดิ้นรนต่อสู้ของคนผิวดำที่พยายามปลุกเร้าปลดแอกจากการเป็นทาส ความหวังของเหล่าวัยรุ่นไม่ว่าจะมีสีผิวแบบใด และทำความรู้สึกกับวงการสื่อสารมวลชนอเมริกัน ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็ต้องอ่านหนังสือพิมพ์เพราะต้องตามข่าวสงคราม วงการสื่อจึงได้เล็งเห็นการกอบโกยกำไรจากความตายของผู้คน ทั้งหมดถูกเล่าเคล้ากับบรรยากาศแปลกๆ ที่ทำให้เห็นว่าสังคมเต็มไปด้วยระดับชั้นที่วัดกันด้วยเพศ อายุ สีผิว เชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งสีผม แต่อย่างที่คนรุ่นใหม่ในแมสซาชูเซตส์ว่าไว้ อะไรๆ จะต้องแย่ลงก่อนจะดีขึ้นได้ ประเทศนี้จะต้องถูกทำลาย ก่อนจะได้รับการเยียวยา
“ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นมา ฉันแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องเกิดขึ้นในวัย 20 ของเรา วัยที่เราน่ากำลังจะได้สนุกกันอยู่”
มาถึงจุดนี้อาจจะคิดว่า Dickinson เป็นซีรีส์ที่มีเนื้อหาหนัก เครียด และเล่าถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะโลกของเอมิลี่ที่เราพบเจอเต็มไปด้วยความเซอร์เรียล หลายช่วงหลายตอนเรียกได้ว่า ‘เหนือความคาดหมาย’ ทั้งการเพ้อฝันถึงความตายบ่อยครั้งของเอมิลี่ ไหนจะดนตรีประกอบที่ฉีกแนวขนบการทำซีรีส์ย้อนยุคเดิมๆ เสริมให้กลมกล่อมไม่ซ้ำใคร
เพลงประกอบซีรีส์เกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นดนตรีสมัยใหม่ มีทั้ง ร็อก ป็อป คันทรี ฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ หรือเพลงแนวใดก็ตามที่คนในยุคสองร้อยปีหลังจาก เอมิลี่ ดิกคิกสัน ลืมตาดูโลกนิยมฟังกัน ทุกแนวเพลงสามารถฟังได้ทั้งหมดในโลกของเอมิลี่ ปาร์ตี้ที่ควรจะเป็นดนตรีคลาสสิกกลับกลายเป็นผับสมัยใหม่ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้ ไม่เพียงเท่านั้น บทกลอนจำนวนมากของ เอมิลี่ ดิกคินสัน กวีชื่อดังผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ กับการแสดงอันยอดเยี่ยมของ เฮลีย์ สไตน์เฟลด์ (Hailee Steinfeld) ผู้รับบท เอมิลี่ ดิกคินสัน กับ เอลล่า ฮันท์ ผู้รับบท ซู กิลเบิร์ท (Ella Hunt) และคนอื่นๆ ทำให้ในพริบตาเดียวที่ได้ร่วมผจญภัยไปกับกวีหญิงชื่อดัง เราก็ดูจนจบทั้งสามซีซันเสียแล้ว
อาจเรียกได้ว่า Dickinson เป็นซีรีส์ที่ดูได้เพลินๆ ไม่ต้องทำความเข้าใจซับซ้อน แต่ก็เต็มไปด้วยประเด็นสังคมชวนขบคิด เผยให้เห็นความซับซ้อนของจิตใจหญิงสาวคนหนึ่งที่เหมือนจะถูกตีความว่าเกิดมาผิดยุคผิดสมัย กระนั้นเธอก็ยังคงเป็นตัวของตัวเอง และพยายามใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเองให้ได้มากที่สุด แม้ชีวิตของเธอจะถูกจำกัดกรอบก็ตาม
“เธอไม่ต้องผลักความเจ็บปวดออกไป เธอเจ็บปวดได้ …ความตายทำใจคนแตกสลายได้ บทกวีก็ประกอบใจคนขึ้นใหม่ได้เช่นกัน”
Tags: เอมิลี่ ดิกคินสัน, LGBT, Dickinson, The Momentum, Emily Dickinson, film, เลสเบียน, LGBTQ, Screen and Sound, ตรีนุช อิงคุทานนท์, โลกของเอมิลี่, ซีรีส์เลสเบี้ยน