“คนมีอำนาจไม่มีวันที่จะสำนึกผิด เพราะเขาสามารถเปลี่ยนเรื่องผิดๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้อยู่เสมอ” – ผู้พิพากษา โอจินอู

ประโยคสั้นๆ ที่สามารถสรุปแก่นเรื่องของ The Devil Judge (2021) ซีรีส์เกาหลีแนวอาชญากรรม ที่เล่าเรื่องถึงประเทศเกาหลีในอนาคตข้างหน้าหลังจากเกิดเหตุการณ์การระบาดของโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประชาชนต่างลุกฮือก่อจลาจลเพราะความเป็นอยู่ และสภาพสังคมที่ตกต่ำถึงขีดสุด

คนรวยกินอยู่อย่างสบายเพียงกระจุก ในขณะที่คนจนแร้นแค้นยากลำบากอย่างกระจาย เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวจากการเกิดโรคระบาด รัฐบาลขาดความเชื่อมั่น นักการเมืองกังฉินเต็มบ้านเต็มเมือง ผู้มีอำนาจเอาเปรียบประชาชนในทุกทาง ประชาชนกำลังสิ้นหวังกับทุกสิ่งอย่างในประเทศไม่เว้นแม้แต่ ‘ศาล’ สัญลักษณ์ของความยุติธรรม ที่ประชาชนหวังว่าจะสามารถมอบโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดได้

กลุ่มผู้มีอำนาจทั้งจากทางฝั่งของรัฐบาล และเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ จึงได้ตัดสินใจที่จะแก้ไขระบบตุลาการขึ้นมาใหม่ โดยการสร้าง ‘รายการพิจารณาคดี’ เรียลลิตี้โชว์ที่นำการพิจารณาคดีตัดสินโทษภายในศาลมาทำการถ่ายทอดสดออกอากาศ โดยให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจำเลยในคดีนั้นสมควรที่จะได้รับความผิดหรือไม่ ผ่านแอพพลิเคชันที่มีชื่อว่า ‘DIKE’ เพื่อดึงความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา และบรรเทาความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่เชื่อว่า ‘พวกคนรวยมีอำนาจที่มีเส้นสาย สามารถเปลี่ยนเรื่องที่ผิดให้กลายเป็นถูกได้เสมอ’

คังโยฮัน (จีซอง) ,โอจินอู (คิม แจคยอง) และคิมกาอน (ปาร์ก จินยอง) คือผู้ที่ได้รับเลือกให้รับหน้าที่ผู้พิพากษาของรายการพิจารณาคดี โดยเฉพาะกับคังโยฮัน หัวหน้าผู้พิพากษาที่ได้รับฉายาว่า ‘ผู้พิพากษาปีศาจ’ ที่มีประวัติในการตัดสินพิจารณาคดีอย่างเลือดเย็น ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน คนทรงอิทธิพล หรือคนลำบากยากไร้ เขาไม่เคยมีความเห็นอกเห็นใจในการตัดสินคดี หากเขาตัดสินแล้วว่าคนผู้นั้นมีความผิดจริง ก็จะได้รับโทษอย่างสาสมโดยไม่มีการไว้หน้าใครทั้งนั้น 

“มีใครอยู่เหนือประชาชนบ้างครับ ประชาชนทุกคนนั่นแหละคืออำนาจ” – ผู้พิพากษารายการพิจารณาคดีคังโยฮัน

แต่เบื้องหลังรายการพิจารณาคดี เป็นสิ่งที่กลุ่มผู้มีอำนาจต้องการที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อลดกระแสต่อต้านรัฐบาลของประชาชนให้เบาบางลงเท่านั้น โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือ ‘กลุ่มมูลนิธิรับผิดชอบสังคม’ ผู้ที่นำเงินบริจาคของมูลนิธิมาสนับสนุนรัฐบาล เบื้องหลังผู้ชักใยประเทศเกาหลีอีกทอดหนึ่ง

กลุ่มผู้มีอำนาจดังกล่าวประกอบไปด้วย ประธานมูลนิธิรับผิดชอบสังคม ซอจองฮัก, เลขากลุ่มมูลนิธิรับผิดชอบสังคม จองซอนอา ,ประธานาธิบดี ฮอจุงแซ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมชาคยองฮี, ประธานเครือมินโบกรุ๊บ มินยงชิก และประธานมหาชนมีเดีย พัคดูมัน 

แต่แทนที่คังโยฮันจะเป็นเพียงแค่หุ่นเชิดของมูลนิธิ เขากลับใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชน หันเข้าโจมตีกลุ่มผู้มีอำนาจเสียเอง ไม่เว้นแม้แต่ทางมูลนิธิฯ ที่สร้างรายการดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากเหตุผลความแค้นส่วนตัวบางอย่างที่คังโยฮันมีต่อกลุ่มสมาชิกมูลนิธิฯ และจะนำพวกเขามาลงโทษจนได้ โดยไม่เกี่ยงวิธีการว่าจะสกปรกเลือดเย็น หรือไร้มนุษยธรรมเพียงใด จนทำให้เราสงสัยว่าสุดท้ายแล้วผู้พิพากษาคนนี้ยึดถือในความถูกต้อง หรือทำไปเพราะความสะใจกันแน่

เมื่ออำนาจในการตัดสินโทษอยู่ในมือมวลชน เราจะเลือกวิธีที่ถูกต้องหรือวิธีที่ถูกใจ?

“ร่างกฎหมายที่ไม่เข้าท่าแบบนั้น มันไม่ใช่ความคิดของนักกฎหมายหรอกนะ แต่เป็นของนักการเมืองต่างหาก” คำพูดที่มินจองโฮ อาจารย์ผู้สอนกฎหมายของคิมกาอน ผู้พิพากษาหน้าใหม่ที่เป็นหนึ่งในสามผู้พิพากษาแห่งรายการพิจารณาคดี ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของคังโยฮันและแนวคิดดังกล่าว

แม้ว่าการนำเหล่าอภิสิทธิ์ชนที่ลอยตัวเหนือปัญหามาลงโทษตามกฎหมายให้ได้คือสิ่งที่ควรทำ แต่คนอย่างผู้พิพากษาปีศาจผู้ไร้หัวใจต่อคนทำผิดอย่างคังโยฮัน ที่ใช้เสียงขอประชาชนเป็นเครื่องมือในการตัดสินว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้นควรลงโทษหรือไม่ ตามหลักกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรทำจริงๆ หรือ?

มุนยูซุก อดีตผู้พิพากษา และผู้เขียนบทของ The Devil Judge ได้นำเสนอประเด็นคำถามที่น่าสนใจและน่าคิดตามว่า ในเมื่ออำนาจอันศักดิ์สิทธิอย่างการบังคับใช้กฎหมายในมือของตุลาการ ไม่หลงเหลือความสูงส่งและความยุติธรรมอีกต่อไป แล้วการกระจายอำนาจดังกล่าวกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป? 

หาก ‘คังโยฮัน’ เป็นตัวแทนของ ‘ปีศาจ’ ในทางกลับกัน ผู้พิพากษาอีกท่านอย่าง ‘คิมกาอน’ คงเป็นตัวแทนของ ‘มนุษย์’ ที่ยังคงเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ว่าการที่ใช้มวลชนตัดสินนั้นเป็นเรื่องที่ผิด และควรที่จะตัดสินคดีไปตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การทำตัวเป็นศาลเตี้ยเทียวตัดสินคดี ลงโทษผู้กระทำผิดออกอากาศเช่นนี้

ตลอดการรับชมซีรีส์เรื่องนี้เราจึงไม่สามารถที่จะสรุปได้อย่างชัดเจนว่าแนวคิดของใครเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง เพราะมิติที่ล้ำลึก และการผูกปมหลังในอดีตของตัวละครแต่ละคนที่มีเหตุผลในการกระทำของตัวเอง จนทำให้เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นของใครถูกต้อง แต่ที่แน่ๆ คือในเรื่องนี้คงไม่มีใครที่เป็น ‘เทวดา’ เพราะหากเทวดามีอยู่จริง คงไม่ปล่อยให้เหล่าทรราชย์เสวยสุขบนความฉิบหายของประชาชนเช่นนี้แน่ๆ 

“ประเทศนี้ไม่ได้เสมอภาคสำหรับทุกคน แม้จะอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่ชีวิตของเราก็ไม่เหมือนกันนะคะ” – ผู้พิพากษาโอจินอู

ในตอนที่ 5 ของซีรีส์ ได้มีการพูดถึงการพิจารณาคดีของซูเปอร์สตาร์ที่ต้องความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ และทางอัยการได้เสนอบทลงโทษให้แก่นักแสดงผู้นี้ด้วยการ ‘ทำหมันทางกายภาพ’ หรือการตัดอวัยวะเพศเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งทางฝั่งของทนายฝั่งจำเลยมองว่าเป็นการลงโทษที่ไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชนสิ้นดี เพียงแค่บทลงโทษจำคุกก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับคดีดังกล่าว อีกทั้งประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่อัตราอาชญากรรมต่ำอยู่แล้ว คงไม่เกิดเหตุการแบบเดิมขึ้นซ้ำสองจากจำเลยอย่างแน่นอน

หนึ่งในผู้พิพากษาโอจินอูจึงได้พูดขึ้นมาว่า “สิทธิมนุษยชนที่คุณทนายพูดถึงฉันเคารพมันเสมอมา แต่หากจะบอกว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่อาชญากรต่ำนั้น ประเทศที่คนยากไร้อยู่ ไม่ใช่ประเทศเดียวกันกับที่คุณทนายอยู่หรอกค่ะ”

การตัดสินขาวหรือดำไม่ได้จึงเป็นแก่นแท้ทั้งหมดของเรื่องนี้ ซึ่งแม้ว่าผู้พิพากษาคังโยฮันจะสามารถตัดสินโทษที่เหมาะสมให้แก่จำเลยได้ก็ตาม แต่ถือว่าเป็นบททดสอบที่ยากสำหรับเขา เพราะหากคังโยฮันตัดสินโทษเพียงแค่จำคุก รายการพิจารณาคดีคงหมดความน่าเชื่อถือเพราะปล่อยให้ผู้อำนาจหลุดรอดมือไป ไม่เป็นดังที่เขาเคยสัญญาแก่ประชาชนเอาไว้ แต่หากตัดสินให้ต้องทำหมันถาวร เช่นนั้นก็เป็นบทลงโทษที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม 

ซีรีส์ The Devil Judge จึงแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของชนชั้นสูง และความศักดิ์สิทธิ์ของระบบที่ต้องสิ้นท่าลงเมื่อมาอยู่ต่ออำนาจดังกล่าว แม้กระทั่งกฎหมาย จึงทำให้อดที่จะคิดตามไม่ได้ว่า หากวันใดบ้านเมืองไหนกลายเป็นเช่นในซีรีส์ หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่เราต้องการคือปีศาจในคราบผู้พิพากษาอย่างคังโยฮัน ที่ลงโทษทุกคนอย่างยุติธรรม และเท่าเทียม ด้วยหลักประชาธิปไตยที่เป็นของที่ดูหรูหราเหลือเกิน ในประเทศที่อยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติ

Tags: , , , ,