***บทความนี้มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อเรื่อง***

(1)

ถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปีที่ผ่านมา คำที่คนพูดกันบ่อยก็คือการเมืองไทยตกอยู่ในห้วงที่เรียกว่า ‘วงจรอุบาทว์’ กล่าวคือมีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาล มีข้อกล่าวหาว่าด้วยคอร์รัปชันหรือข้อกล่าวหาอื่นๆ ยึดอำนาจแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะเลือกตั้งใหม่ เกิด Cycle ขึ้นมาใหม่

โจทย์ของ Breaking the Cycle ตั้งไว้คือการทำสารคดีว่าด้วยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ตั้งพรรคการเมือง ทำพรรคการเมืองในฝันที่ชื่อว่า ‘พรรคอนาคตใหม่’ โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญคือ ‘หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.’ แล้วตามดูว่า ถึงที่สุดพวกเขาจะทำได้หรือไม่

เพราะฉะนั้น นั่นคือความเสี่ยงอย่างยิ่งของคนคิดจะทำโปรเจกต์ใหญ่เช่นนี้ หากจำกันได้ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทุกคนคาดไว้ว่า อนาคตใหม่คงได้ ส.ส.สัก 10-20 ที่นั่ง เป็นพรรคอุดมการณ์ ไม่ใช่พรรคที่เป็นไปได้ในชีวิตจริง 

แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.มากถึง 80 คน และเริ่มแหลมคมขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปทันที

Breaking the Cycle เก็บช่วงเวลาของภารกิจประวัติศาสตร์นี้ไว้ โดยห้วงแรกคือการตัดสลับภาพของสังคมอันสิ้นหวัง ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เป็นหัวหน้า คสช. กับภารกิจของธนาธรตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคการเมือง เริ่มแจกใบปลิว ในวันที่ยังไม่มีใครรู้จักเขา เพื่อเอาการเมืองไทยออกจากวงจรอุบาทว์นั้น โดยมีฉากสำคัญคือการปราศรัยใหญ่ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง 2 วัน ก่อนเลือกตั้ง ที่จะตัดสลับปรากฏขึ้นมาตลอดทั้งเรื่อง

และเลือกใช้ ‘ธนาธร’ เป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่อง เป็นภาพแทนของพรรคอนาคตใหม่ ที่เข้ามาต่อสู้ในสนามการเมืองอันเชี่ยวกราก

ฉากที่น่าสนใจที่สุดคือฉากที่ธนาธรพยายามอธิบายกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งว่า เคยได้ยินชื่อพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จัก หรือฉากที่พรรคอนาคตใหม่ไปหาเสียงในตลาด มีป้าคนหนึ่งถามว่า “ทำแบบนี้ได้เหรอ จะไม่โดนจับใช่ไหม”

ก่อนที่ระหว่างทาง พวกเขาแวะไปหาหลายเหตุการณ์ที่เราอาจลืมไปแล้ว เป็นต้นว่า การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ ‘ฟ้ารักพ่อ’ ที่เปลี่ยนพรรคอนาคตใหม่จากพรรคเฉพาะกลุ่มให้เป็น ‘พรรคมหาชน’ หลายคำพูดอันดุดันของธนาธรบนเวทีดีเบตหลายต่อหลายครั้ง หรือความพยายามเปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือกตั้ง 2562 เพื่อกดคะแนนของฝั่ง พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และบรรดาพรรคที่รวมกันตอนแรกมี 251 เสียง เพื่อกระจายไปยังพรรคเล็กอีก 11 พรรคแทน

ที่ต้องชื่นชมก็คือในหลายพันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาสามารถเรียบเรียงฟุตเทจได้แนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นฟุตเทจที่ธนาธรพาลูกขี่จักรยานเล่นหลังเวที ฟุตเทจที่ธนาธรกับ พรรณิการ์ วานิช นั่งคุยกับบนรถถึงโบรชัวร์ว่า ทำไมไม่เอาภาพ ‘ป๊อก’ ขึ้นด้วย หรือภาพเบื้องหลังการตั้งรัฐบาล 2562 และเรื่อง Side Story อย่างกลุ่ม ‘ฟ้ารักพ่อ’ ก็ไม่มีช่วงไหนที่น่าเบื่อ ทุกคนล้วนเรียนรู้ และเติบโตผ่านวันเวลา ผ่านอุปสรรคที่ถูกวางหมากกลไว้ไปด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ภาพของบรรดาคนอนาคตใหม่ก็ไม่ได้เป็นฮีโร่ ไม่ได้เป็นผู้วิเศษ แต่คือคนธรรมดาที่มีดีใจ มีเหนื่อย มีสิ้นหวัง ในการพยายามสู้กับ ‘ระบอบ’ ที่ใหญ่กว่าและทรงพลังกว่า โดยที่ไม่รู้จะสู้อย่างไร ไม่รู้จะสู้ได้สำเร็จหรือไม่

(2)

แต่ถามว่ามีข้อสังเกตหรือไม่ ก็ต้องพบว่ายังมีบางเรื่องที่ ‘พูดไม่ได้’ อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะเป็นส่วนสำคัญของ Cycle ก็ตาม

ว่ากันตามจริง สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นศูนย์กลางของการเมืองไทย ควบคู่ไปกับการปรากฏของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่โดดเด่นขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ ‘ไทยรักษาชาติ’ ที่ตั้งใจ ‘เล่นใหญ่’ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และการเล่นใหญ่ครั้งนั้นก็จบลงด้วยการยุบพรรค ก่อนการเลือกตั้ง 1 คืน ยังมีประกาศจากพระมหากษัตริย์ โดยอ้างอิงพระราชกระแสรับสั่งให้เลือก ‘คนดี’ เพื่อปกครองบ้านเมือง ซึ่งผิดจากวิสัยการเลือกตั้งอื่นๆ ทั่วไป

ขณะเดียวกัน แม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้มีนโยบายในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหมือนกับพรรคก้าวไกล แต่คนในแวดวงการเมืองต่างรู้ดีว่า เหตุผลสำคัญของการยุบพรรคอนาคตใหม่คือการอภิปรายเรื่องการโอนย้ายกำลังพลไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคในสภาฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และแม้ภาพยนตร์จะพูดถึงการเคลื่อนไหวบนท้องถนนอันเป็นผลพวงจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ก็มีเพียงภาพเหตุการณ์ ไม่ได้ลงลึกถึงเนื้อหา

น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้เลือกจะไม่พูดรายละเอียดเหล่านี้ อาจเป็นด้วยข้อจำกัด และเป็นเรื่องที่ผู้กำกับทั้งสอง ‘ตั้งใจ’ แบบนั้น (ซึ่งเราพอเห็นความตั้งใจนี้สะท้อนผ่านภาษาภาพในบางฉาก)

หากบันทึกเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา อาจเป็นได้ทั้งการจำกัดวงผู้ชม อันตรายทั้งการต้องผ่านคณะกรรมการเซนเซอร์ และอันตรายในการฉายเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกัน การฉายเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลด้วยข้อหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ ไม่นาน ย่อมเป็นเรื่องเสี่ยง

สะท้อนว่าในวงการนี้ ก็ยังมีเรื่องต้องห้าม ยังมี Elephant in the Room เป็นเรื่องอันอ่อนไหวพูดไม่ได้ และหวังว่าในวันฟ้าเปิดจะมีฉบับ Director’s Cut ที่พูดถึงกันได้จริงๆ เสียที

(3) 

จุดสำคัญอีกอย่างก็คือการหา ‘ทางลง’ ให้กับหนังเรื่องนี้ เนื้อหาสำคัญหลังพรรคอนาคตใหม่ชนะเลือกตั้ง ก็คือสิ่งที่พรรณิการ์เกริ่นไว้ในเรื่อง ก็คือการเรียนรู้โลกของ Realpolitik ที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการขมวดเกลียวคดี ‘ถือหุ้นสื่อ’ ของธนาธร การเดินเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างรวดเร็ว และการปรากฏตัวขององคาพยพจาก คสช.ในการรักษาอำนาจของ คสช.ไว้ ที่ไม่ได้มีเพียงแต่ภาพที่ปรากฏหน้าฉากผ่านพรรคพลังประชารัฐ ณ ขณะนั้น เพียงเท่านั้น แต่ยังมาในรูปขององค์กรอิสระ รูปของสมาชิกวุฒิสภา หรือรูปของพรรคการเมือง ทั้งหมดก็เพื่อส่งให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ โดยมีฉากสำคัญคือการลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างธนาธรกับพลเอกประยุทธ์ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562

เป็นการบ่งบอกว่าประเทศไทยยังคงอยู่ใน Cycle นี้ต่อไป และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ธนาธรพูดไว้ในหนังว่า อาจต้องใช้เวลาราว 10 ปี หรือมีการเลือกตั้ง 3 รอบ พวกเขาถึงจะทำงานความคิดได้สำเร็จ มีประสบการณ์สุกงอม พร้อมเป็นรัฐบาล เปลี่ยนประเทศได้จริง

บทสรุปจึงคล้ายกับที่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พูดไว้ในหนัง ก็คือ ‘อนาคตใหม่’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน มีความหมายในการทำให้คนในสังคมตื่นรู้ มองปัญหาให้เป็นเรื่องโครงสร้าง ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน 

และผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ พยายามทำลายสิ่งที่ คสช.สร้างไว้ อย่างการทำให้พลเมือง ทำให้เด็กไทยเป็นพลเมืองที่ ‘เชื่อง’ จนทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่ 5 ปี นับจากวันที่พรรคอนาคตใหม่ปูอิฐก้อนแรกไว้

ฉะนั้น ไม่ว่าภารกิจสุดท้ายของก้าวไกลจะสำเร็จหรือไม่ ก้าวไกลจะถูกยุบไหม บันทึกความทรงจำในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้จึงสำคัญยิ่งนัก

(4) 

อันที่จริงผู้กำกับทั้งสองเคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า อยากให้สารคดีนี้เป็นสารคดีการเมืองอันเข้มข้นเทียบชั้นสารคดีการเมืองที่เคยดูในหลายแอปพลิเคชันสตรีมมิง ผมคิดว่า Breaking the Cycle ประสบความสำเร็จในแง่นั้นอย่างงดงาม ทั้งเรื่องการลำดับภาพ เพลงประกอบ วิธีการเล่าเรื่อง การเชื่อมโยงแต่ละองก์เข้าด้วยกัน จนเรียบเรียงเหตุการณ์ 6 ปี ให้เป็นหนัง 2 ชั่วโมง โดยไม่มีช่วงเวลาที่น่าเบื่อ ไม่มีช่วงเวลาที่นิ่งเนือย และยังช่วยกระตุ้น ‘ฝัน’ ที่เคยมีด้วยกัน

ขณะเดียวกัน Breaking the Cycle ยังมีความหมายมากกว่าการเป็นสารคดีส่วนตัวของธนาธรหรืออนาคตใหม่ เมื่อถึงห้วงเวลา ถึงเหตุการณ์สำคัญ ผู้กำกับเลือกที่จะถอยออกมา ไม่ได้ให้ซีนของธนาธร, พรรณิการ์, ปิยบุตร หรือพิธา ในการสรุปบทเรียนทั้งหมด แต่ทิ้งให้คนดูคิดไปด้วยกัน

ในฐานะที่ผู้เขียนได้โผล่มาแวบๆ ในหนังเรื่องนี้ถึง 2 ฉากโดยที่ไม่รู้ตัว ก็พลางทำให้นึกย้อนไปได้ว่าในเวลานั้นกำลังทำอะไร และคิดอะไรอยู่

ถึงตรงนี้ Breaking the Cycle จึงปูไปถึงฉากท้ายๆ อันสำคัญมาก เป็นการส่งเสียงสะท้อนของประชาชน ไม่ใช่เสียงสะท้อนของพรรคการเมือง ว่าจะ Break วัฏจักรนี้ไหม หรือจะอยู่กันไปแบบนี้ จะเป็นพลเมืองที่ลุกขึ้นสู้ หรือจะเป็นพลเมืองที่อยู่เฉยๆ แล้วรอการดีล ดีลล้มเหลว แล้วทหารก็ยึดอำนาจอีกรอบ

ผู้กำกับบอกในงานเสวนาหลังรอบปฐมทัศน์ไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีภาค 2 ไม่มีเรื่องของก้าวไกล ซึ่งในอีกแง่หนึ่ง อาจบอกเป็นนัยว่า นับจากนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพวกเขาอีกแล้ว พวกเขาบันทึกประวัติศาสตร์ของ Cycle นี้ได้สมบูรณ์แล้ว 

หลังจากนี้ เป็นเรื่องของทุกคน

Tags: , , , ,