หลังจากการระเบิดในเชิงมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลชื่อดังอย่าง บิตคอยน์ (Bitcoin) ที่ทำเอาแวดวงการเงินดิจิทัลต้องสั่นสะเทือนกันอีกครั้งในช่วงต้นปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา หลายคนจึงหันมาจับตามองเจ้าสิ่งที่สัมผัสไม่ได้แต่มีมูลค่ามหาศาลนี้กันอีกครั้ง
ไม่เพียงแค่นั้น แรงกระเพื่อมจากการระเบิดครั้งนี้ ยังถูกซ้ำเข้าไปด้วยการปั่นของคนดังอย่าง อีลอน มัสก์ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Tesla ส่งผลให้มีนักลงทุนหน้าใหม่พร้อมกระโดดเข้ามาแจมในตลาดการลงทุนกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นี่ยังไม่นับการปั่นหุ้นบริษัท GameStop ที่เป็นสัญญาณสำคัญถึงพลังของนักลงทุนมือสมัครเล่น ที่สามารถโค่นบริษัทการเงินและสั่นสะเทือนวอลล์สตรีทได้เลยทีเดียว สถานการณ์อันวายป่วงทั้งหมดนี้ ผนวกรวมเข้ากับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้หลายคนหันมามองการลงทุนในด้านสกุลเงินดิจิทัลมากยิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับตัวผมนั้น ทันช่วงที่บิตคอยน์เปิดตัวใหม่ๆ พอดี แต่ไม่มีโอกาสได้ ‘ขุด’ เพราะในเวลานั้นยังไม่มีทรัพยากร (ยุคนั้นเป็นยุคที่ขุดบิตคอยน์ได้จากที่บ้านเลยด้วยซ้ำ) พอมาถึงตอนนี้ก็ยังเสียดายอยู่เหมือนกัน ถึงแม้การเข้าถึงและลงทุนในกลุ่มเงินดิจิทัลจะทำได้ง่ายมากขึ้นหลายเท่าตัวแล้วก็ตาม พร้อมด้วยตัวเลือกอื่นๆ ที่ทยอยกันเปิดตัวออกมาตามความสำเร็จของบิตคอยน์ ถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าที่แตกต่างกันพอตัว
ทีนี้คำถามในใจของหลายๆ คนคงจะไม่พ้นหลักการทำงานเบื้องหลังของบิตคอยน์ และกลุ่มสกุลเงินดิจิทัลประเภทเดียวกันนี้ ในเมื่อมันไม่มีการควบคุมโดยใครเลย และไม่มีการอ้างอิงมูลค่ากับวัตถุหรือสกุลเงินใดๆ บนโลกตอนที่ถูกสร้างขึ้นมา (ไม่เหมือนดิจิทัลหยวนที่ผมเคยกล่าวถึงในบทความก่อนหน้า) แล้วบิตคอยน์ได้มูลค่าของตัวมันเองมาจากไหน ระบบอะไรที่ช่วยให้ทุกอย่างดำเนินได้อย่างราบรื่นตามกลไกตลาด ปราศจากการ ‘โกง’ หรือทำลายระบบ ‘ดิจิทัล’ นี้ลงได้
แน่นอนว่าภายใต้การทำงานอันซับซ้อน มีชื่อหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในวงการนี้เลย นั่นก็คือ ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) กระบวนการทางคณิตศาสตร์และประมวลผลนี้ จัดว่าเป็นหนึ่งในรากเหง้าที่ทั้งแก้ปัญหาและช่วยให้บิตคอยน์ทำงานได้จริง ที่สำคัญคือมันดันเวิร์กมากๆ
ในบทความนี้ เราจะมาสรุปให้ดูกันว่าบล็อกเชนทำงานอย่างไร และก่อนที่คุณจะกระโดดเข้าไปลงทุนในวงการที่ดูจะหวานหอมนี้ การทำความเข้าใจถึงหลักการของมันอย่างถ่องแท้ย่อมเป็นอะไรที่ควรจะทำอยู่แล้ว เพราะจะได้รู้ว่าเรากำลังเสียเงินไปกับอะไร ที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามลืมเด็ดขาดว่าการลงทุนทุกอย่างนั้นมีความเสี่ยงทั้งสิ้น
จุดกำเนิดของ Blockchain
คาดว่าคุณผู้อ่านทั้งหลายย่อมมีบัญชีธนาคารกันอยู่แล้ว พร้อมๆ กับแอพพลิเคชันธุรกรรมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้สมัยนี้ไม่ต้องไปธนาคารเลยด้วยซ้ำ ถ้าไม่ได้มีธุระที่จำเป็น
ระบบนี้เป็นตัวอย่างแรกของการเงินดิจิทัล ถึงการใช้งานจะสะดวกสบาย แต่ก็มีการบันทึกและตรวจสอบตลอดโดยธนาคาร จึงนับว่าเป็นระบบรวมศูนย์ (Centralized system) รวมถึงมีการอ้างอิงโดยตรงกับเงินบาทที่เรามีในบัญชี ดังนั้น จึงไม่ต่างจากสกุลเงินปกติที่จับต้องได้ เพียงแค่การทำธุรกรรมนั้นถูกทำผ่านช่องทางออนไลน์ สมมติว่าเราโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เงินในบัญชีเราก็จะถูกประมวลผลและย้ายไปจริงๆ
ข้อจำกัดของระบบประเภทนี้คือการที่ทุกอย่างถูกรวมอยู่ที่เดียว ถ้าเจ๊งขึ้นมาก็แย่จะเอาไปเผยแพร่ก็ลำบาก (ต้องแปลงสกุลเงินและวุ่นวายสารพัด) แถมยังผูกติดกับสิ่งที่มีอยู่ในโลกแห่งความจริง
จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราตั้งโจทย์ใหม่เป็นระบบเงินดิจิทัลที่ไม่มีการรวมศูนย์ ทุกคนสามารถใช้ได้ และมีความปลอดภัยที่มาพร้อมกับความเป็นส่วนตัวโดยไม่ต้องพึ่งระบบศูนย์กลางเพื่อยืนยันความถูกต้อง แน่นอนว่าเป็นไปได้ยากมาก จนกระทั่งเทคโนโลยีบล็อกเชนถูกคิดค้นขึ้นโดย ซาโตชิ นากาโมโตะ ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2008 ซาโตชิคือบุคคลปริศนาที่อยู่เบื้องหลังการคิดค้นบิตคอยน์ ซึ่งเอาเข้าจริง ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบตัวตนที่แท้จริงเลยว่าเขาเป็นใคร แต่การเกิดขึ้นของบิตคอยน์ได้ตอบโจทย์ที่ผมตั้งเอาไว้หลักๆ คือ สามารถกระจายการควบคุมและเปิดกว้างแบบสุดๆ ผ่านการทำงานระบบบล็อก (Block) ที่ต่อๆ กันเป็นห่วงโซ่ (Chain) เพื่อให้มีความปลอดภัยไม่ต่างจากระบบของโลกการเงินหลัก
สรุปการทำงาน (ฉบับกะทัดรัด)
บล็อกเชนทำงานผ่านหลักการพื้นฐานอย่างระบบ Ledger หรือบัญชีแยกประเภท ซึ่งจะทำการบันทึกการเคลื่อนไหวทางการเงินเอาไว้ทั้งหมดในแต่ละบล็อก โดยมีการกำหนดจำนวนครั้งเอาไว้ก่อนจะทำการขึ้นบล็อกถัดไป
แต่ถ้าไม่มีระบบศูนย์กลางในการตรวจสอบความถูกต้อง ผมเองก็สามารถที่จะปลอมแปลงหรือแก้ไขบล็อกดิจิทัลนี้ได้เรื่อยๆ แน่นอนว่าระบบทั้งหมดถูกป้องกันไว้แล้วผ่านการทำงานด้วยระบบ P2P (Peer-to-peer) การเข้ารหัส และการตรวจสอบโดยกลุ่มบุคคลที่ทำให้เกิดการ ‘ขุด’ ขึ้นมา เอาเป็นว่าแบบนี้คงไม่เห็นภาพสักเท่าไหร่ เดี๋ยวผมจะขอเล่าเป็นขั้นตอนไป
สมมติว่าผมมีบิตคอยน์อยู่หนึ่งเหรียญพอดี และกำลังจะจ่ายให้กับคุณผู้อ่าน สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเลยในกระบวนการของบล็อกเชนคือ
1. Creation
ระบบจะทำการสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อบันทึกข้อมูลหลัก ประกอบไปด้วยข้อมูลธุรกรรม (เช่น ผมโอน 1 BTC ให้ผู้อ่าน) ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของบล็อก ดังนั้นในบล็อกจึงมีการทำธุรกรรมแล้วหนึ่งรายการ
2. Entry & Signature
ในบล็อกจะมีการเข้ารหัสสำหรับรายการนั้นๆ ด้วย Public-Private Key ซึ่งเปรียบเสมือนลายเซ็นดิจิทัล เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ตัวลายเซ็นจะถูกสร้างขึ้นโดยใช้ทั้งข้อมูลค่าเฉพาะตัวของรายการ และรหัส Private Key ของเรา ทำให้ลายเซ็นไม่มีวันเหมือนกันเลยในแต่ละรายการ
ระบบจะถอดรหัสเพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องด้วยการใช้ Public Key ซึ่งถ้าถูกต้องก็จะทำการดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งระบบ Key นั้น มีใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วในปัจจุบัน
ตัวอย่าง: Message + Private Key = Signature (ซึ่งตรวจสอบโดย Message + Signature + Public Key)
ดังนั้นโอกาสที่จะให้เดา Private Key เพื่อปลอมรายการจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราใช้การเข้ารหัสแบบ 256 Bits เป็นมาตรฐานหลัก ที่มีทั้งหมด 2256 รหัสที่เป็นไปได้ การเข้ารหัสทั้งหมดนี้คือที่มาของชื่อ ‘Crypto’ จาก ‘Cryptography’
3. Entry Validation
ระบบจะตรวจสอบรายการทางธุรกรรมว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยตรวจสอบจำนวน ‘เงิน’ ที่มี ซึ่งในกรณีที่ผมไม่มีเหรียญ BTC ที่ว่าจริงๆ ระบบก็จะหยุดการดำเนินการทันที ทำให้ไม่มีการรับหรือจ่ายเงินที่ไม่มีอยู่จริง และป้องกันการโกงระบบไปด้วยในตัว
นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างมูลค่าให้กับบิตคอยน์ในระบบที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับใช้ทำธุรกรรม หมายความว่าคุณจะเสกเงินขึ้นมาเล่นๆ ไม่ได้
4. Proof of work and hash function
ปิดท้ายด้วยการทำบล็อกจะต้องมีการสร้าง Proof of work ขึ้นมา เพื่อรองรับว่าตัวบล็อกนั้นมีความถูกต้องจริงๆ โดยมีระบบรหัสขึ้นมาในรูปของฟังก์ชัน แล้วจึงใช้ข้อมูลของบล็อกในการคำนวณออกมาเป็นชุดตัวเลขที่เราเรียกว่า ‘Hash’ ที่จะเป็นตัวสร้างเอกลักษณ์ให้กับบล็อกได้ เพราะหากข้อมูลที่นำเข้ามาสู่ฟังก์ชันเปลี่ยน ชุดตัวเลขที่ได้ก็จะมีค่าเปลี่ยนไปด้วย
Proof of work มักจะเป็นจำนวนครั้งที่ใช้ในการประมวลผลเพื่อให้ได้ค่า hash ตามที่ข้อมูลตั้งต้นของบล็อกนั้นกำหนดไว้ การประมวลผลนี้ เปรียบได้กับการสร้างบล็อกขึ้นมาให้ใช้ได้จริงๆ ระบบจึงมีการให้รางวัลผู้ประมวลผล (หรือที่เราคุ้นชินกันในชื่อ Miner) โดยให้ BTC ปริมาณหนึ่งเป็นผลตอบแทน (Block reward) ในรูปของรายการในบล็อกนั้นๆ ด้วย กระบวนการนี้เป็นการเพิ่มเงินเข้ามาในระบบ ซึ่งแน่นอนว่าจำนวน reward จะมีค่าลดลงเรื่อยๆ เพื่อจำกัดจำนวน BTC ที่มีในระบบ ซึ่งจะมองว่าทั้งหมดนี้เหมือนการแทงหวยผ่านการรันด้วยคอมพิวเตอร์ก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพอยู่บ้าง
5. Chaining
เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ แต่ละบล็อกก็จะถูกส่งต่อให้กับบล็อกถัดไปใช้ในการประมวลผล และเชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นสายยาวแบบลูกโซ่ ถ้ามีการไปเปลี่ยนข้อมูลหรือสลับบล็อก การเข้ารหัสจะเปลี่ยนตามไปทั้งหมด ทำให้ต้องมีการคำนวณ Proof of work ให้ถูกต้องกันใหม่
6. Broadcast
บล็อกเชนจะถูกถ่ายทอดให้กับทุกคนในระบบผ่านรูปแบบ P2P เพื่อให้สามารถยืนยันความถูกต้องซึ่งกันและกันได้ โดยมีกฎหลักคือระบบจะเชื่อมสายของบล็อกเชนที่ยาวที่สุด และผ่านการประมวลผลหา Proof of work มากที่สุด เป็นการสร้างระบบที่ปลอดภัยแบบสุดๆ แถมยัง Decentralize ได้ด้วย เพราะทุกคนช่วยตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน
ซึ่งหมายความว่าถ้าผมจะโกงระบบ (เช่น ไปแปลงรายการว่าคุณผู้อ่านต้องจ่ายให้ผมล้านเหรียญ BTC) ผมต้องคำนวณ Proof of work เพื่อสร้างบล็อกที่ใช้งานได้ขึ้นมาหลอก โดยแข่งกับทีม Miner ทั่วโลก แถมยังต้องสร้างบล็อกต่อๆ กันไปเรื่อยๆ เพื่อแข่งกับสายบล็อกเชนหลักของระบบ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ในช่วงแรก แต่ด้วยจำนวนแล้ว การจะเดาและประมวลผล Proof of work ให้ได้ทันนั้นเป็นไปไม่ได้ในระยะยาวเลย (ค่าเฉลี่ยการคำนวณคือบล็อกละ 10 กว่านาที ไหนจะเรื่องทรัพยากรด้านฮาร์ดแวร์) และเมื่อผมไม่สามารถผลิตบล็อกใหม่ได้ได้ทัน ระบบก็จะตัดบล็อกเชนของผมทิ้งไปและเชื่อบล็อกเชนเดิมที่ยาวที่สุดอยู่ดี การโกงระบบจึงเป็นไปไม่ได้เลยในทางคณิตศาสตร์
สรุปแล้วพวกเราที่ใช้บิตคอยน์ก็จำเป็นที่จะต้องมีบล็อกที่ถูกต้อง ซึ่งกลุ่ม Miner จะเป็นคนทุ่มกำลังผลิตมาให้ผ่านการรับข้อมูลของพวกเราและหา Proof of work ของบล็อกนั้นๆ ออกมา ถ้าหาได้ ระบบก็จะให้ค่าตอบแทนกับ Miner
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่ใช้ในโลกของสกุลเงินดิจิทัล (การทำงานจริงตามหลัก Protocol นั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่านี้มาก) อาจจะฟังดูยาก แต่ถ้าเข้าใจแล้ว เราจะมองเห็นภาพได้เลยว่าทำไมเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ที่ไม่มีใครดูแล กลับมีความปลอดภัยสูงมากๆ เสียอย่างนั้น
สำหรับใครที่สนใจจะเจาะลึกการทำงานของบล็อกเชน และการเข้ารหัสแล้วล่ะก็ ผมต้องขอแนะนำวิดีโอของยูทูเบอร์สายคณิตศาสตร์ ‘3Blue1Brown’ ที่ทำเอาไว้ได้อย่างดี พร้อมแอนิเมชันที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพกันได้ชัดเจนมากขึ้น
สู่ยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงิน
ถ้าจะกล่าวเผินๆ บิตคอยน์ในช่วงแรกก็ไม่ต่างอะไรจากเงินในเกมสักเท่าไหร่ ถ้าถามว่ามันมีค่าไหมก็ไม่ขนาดนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาในทางดิจิทัล ถ้าเราไม่ให้คุณค่าอะไรกับมัน บิตคอยน์คงเลือนหายไปในเวลาไม่นานหลังจากการกำเนิดขึ้นเมื่อหลายปีที่แล้ว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ระบบบล็อกเชนที่เป็นรากฐานของบิตคอยน์นั้นดันเวิร์กสุดๆ กับโมเดลสกุลเงินดิจิทัล แถมยังทำงานได้เพราะในช่วงเวลาที่เปิดตัว เทคโนโลยี P2P และโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว ไม่เพียงแค่นั้น โมเดลธุรกรรมออนไลน์ก็มีให้เห็นแล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น VISA หรือ PayPal และระบบ e-Wallet อีกเพียบ ทำให้บิตคอยน์เป็นตัวเลือกที่ไม่มีใครมาแย่งตลาดที่มีความสามารถอันเฉพาะตัวของมันไปได้ ทำให้นักลงทุนและผู้คนที่สนใจจะหาตัวเลือกใหม่ๆ ได้เข้ามาใช้งานระบบกันอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่นาน มูลค่าของระบบบิตคอยน์ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับจำนวนนักขุดที่แห่เข้ามาเก็บเหรียญดิจิทัลนี้เอาไว้ จนในเวลาไม่กี่ปีความต้องการก็ปั่นราคา BTC จนสูงสุดๆ แบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน จากที่เทียบเป็นเงินไทยเพียงเหรียญละหนึ่งหมื่นบาท ตอนนี้ก็ปาไปกว่าเหรียญละหนึ่งล้านห้าแสนบาทแล้วในกรณีของบิตคอยน์
ความสำเร็จของบิตคอยน์ทำให้วงการสกุลเงินดิจิทัลเกิดการบูมขึ้นมา พร้อมกับการเปิดตัวของสกุลเงินใหม่ๆ ในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น Ethereum (ETH), Lite Coin (LTC) หรือแบบเอาฮา แต่ดันใช้งานได้จริงอย่าง Dogecoin ที่อ้างอิงถึงมีมหมาชิบะอันแสนจะเป็นเอกลักษณ์ สกุลเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่ยึดเอาโมเดลบล็อกเชนเป็นหลักในการดำเนินการ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ และการประมวลผลในลักษณะอื่นด้วยเช่นกัน ทั้งการกระจายฐานข้อมูลหรือปรับปรุงโมเดลบล็อกเชนให้เหมาะสมกับสกุลเงินนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีนี้เป็นดาบสองคม ประการแรกเลยคือมูลค่า ซึ่งในท้ายที่สุดก็ถูกอ้างอิงกับสกุลเงินของโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ดี ซึ่งทำให้สภาพตลาดนั้นดูปั่นป่วนไม่น้อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลพุ่งทะยานทะลุเพดาน และตกกระแทกพื้นแรงกว่าตลาดหุ้น เพราะความที่ไม่มีศูนย์กลางในการควบคุมค่าเงิน มูลค่าจึงมีผลตามตลาดเสรีโดยสมบูรณ์ (ซึ่งนักลงทุนมือฉมังน่าจะมองเกมออกกันได้พอตัว) อีกประการหนึ่งคือการขาดซึ่งระบบตรวจสอบแบบศูนย์กลางและความเป็นส่วนตัวที่สูงมาก ส่งผลให้มีการใช้สกุลเงินเหล่านี้ในธุรกิจหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายได้โดยง่าย จนทำให้มีช่วงหนึ่งที่ทั้งรัฐบาลและสถาบันการเงินต่างๆ มีความระแวงและพยายามจะปิดกั้นอย่างจริงจัง แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับข้อได้เปรียบและฐานผู้ใช้ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ วงการสกุลเงินดิจิทัลเบ่งบานเต็มที่ การลงทุนในด้านนี้สามารถทำได้เป็นเรื่องปกติ แถมมีข้อมูลอยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต หากคุณมีเงินก้อนมากพอก็สามารถกระโดดเข้ามาแจมในระบบได้อย่างง่ายดายทั้งในมุมมองของผู้ใช้และผู้ขุด ซึ่งกลุ่มหลังนั้นผุดขึ้นมาเยอะจนกระเทือนตลาดฮาร์ดแวร์ (โดยเฉพาะการ์ดจอในกลุ่มนักขุดมือสมัครเล่น) เอาเข้าจริงในตอนนี้มีกระทั่งเว็บรับขุดบิตคอยน์, แอพฯ แลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล, บริษัทวิจัยด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาอีกเพียบ
เราจึงสรุปได้เลยว่า ตอนนี้สกุลเงินดิจิทัลได้กลายเป็นฟันเฟืองชิ้นใหม่ในระบบเศรษฐกิจหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในวงการการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้หลายเท่าตัวเลยทีเดียว
ข้อเข้าใจผิดของ Blockchain
ก่อนจะจากกันไป ผมในฐานะผู้เขียนจำเป็นต้องขอเคลียร์เรื่องที่เข้าใจผิดกันบ่อยๆ ในวงการสกุลเงินดิจิทัล อย่างแรกเลยคือ บล็อกเชนเป็นเพียงส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีที่ใช้สร้างสกุลเงินดิจิทัล แต่ตัวมันเองไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัล เป็นเพียงตัวสร้างให้ระบบสามารถใช้งานได้ในโลกแห่งความเป็นจริง แน่นอนว่าในตอนนี้ ไม่ใช่ว่าทุกสกุลเงินดิจิทัลจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน แต่ส่วนมากยังคงยึดระบบนี้เป็นต้นแบบกันอยู่
อีกข้อหนึ่งคือการขุด (ซึ่งจริงๆ คือการประมวลผล) จะสามารถกำหนดจำนวนเงินที่มีในระบบได้โดยอัตโนมัติผ่านการลด Block Reward ลงเรื่อยๆ อย่างในกรณีของบิตคอยน์นั้น ท้ายที่สุดแล้วจะมีเหรียญในระบบจำนวน 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่ง ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น เหรียญกว่า 18.5 ล้านเหรียญก็ได้ถูกนำเข้าสู่ระบบไปแล้ว ผ่านการให้ Block Reward กับนักขุด ทีนี้หากคุณผู้อ่านสงสัยว่าเงินในระบบเริ่มต้นมาจากไหนในเมื่อไม่ได้มีการฝากเข้ามาหรือเชื่อมกับเงินจริง คำตอบก็คือ คนสร้างนั้นเป็นคนแรกที่ขุดและทิ้งบล็อกเริ่มต้นหรือ ‘Genesis Block’ เอาไว้เพื่อจุดให้ระบบทำงานต่อไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหลักการส่วนหนึ่งของโลกอันกว้างใหญ่ของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งนับว่าเกิดขึ้นได้เพราะนวัตกรรมด้านคอมพิวเตอร์และความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีล้วนๆ หากคุณผู้อ่านสนใจจะเข้ามาใช้งาน ผมแนะนำให้ศึกษาต่อถึงรายละเอียดเชิงลึกของแต่ละสกุลเงินไปเลย เพราะยิ่งรู้หลักการมากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถเข้าใจถึงธรรมชาติและคุณลักษณะของเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปอย่างไม่หยุดยั้ง
บทส่งท้าย (และภาคต่อของ Blockchain)
แนวคิดของบล็อกเชนกับสกุลเงินดิจิทัลไม่ได้จบลงแค่โลกการเงินเท่านั้น เพราะหากเรามองลึกเข้าไป โมเดลทั้งหมดนี้คือรูปแบบหนึ่งในการจัดเก็บ ถ่ายทอด รวมถึงประมวลผลข้อมูลที่มีเอกลักษณ์และประสิทธิภาพที่สูงทีเดียว ดังนั้นจึงมีการประยุกต์ไปใช้กับทั้งวงการเกมและซอฟต์แวร์, ระบบควบคุมพลังงาน, การจัดการ Supply chain, ระบบป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล, การจัดเก็บฐานข้อมูลที่เป็นรายการ เช่น บันทึกทางการแพทย์ไปจนถึงระบบลงทะเบียน
บล็อกเชนจึงช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยกับตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับเวลาและการใช้งานที่มากได้อย่างดี มีการเข็นเอางานวิจัยใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ พร้อมกันกับการพัฒนาตัวโมเดลบล็อกเชนออกมาเป็นระบบที่สามารถควบคุมได้ (Private Blockchain) หรือแบบผสม (Hybrid Blockchain) ก็มีให้เห็นแล้วเช่นกัน
ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีโอกาสทิ้งเงินที่จับต้องได้ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ดูท่าทีแล้ว ระบบสกุลเงินดิจิทัลน่าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับมนุษย์ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยประหยัดทรัพยากร และเพิ่มความสะดวกได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว แต่เราต้องไม่ลืมว่า โลกในยุคนั้นต้องมีอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้าในทุกพื้นที่ เพราะท้ายที่สุดแล้วข้อจำกัดทางเทคโนโลยีนี้เอง ที่ทำให้เงินที่เราจับต้องได้ทั้งหลายยังคงครองแชมป์ในฐานะตัวกลางแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอยู่ดี (อย่างเคสที่รัฐบาลไทยใช้แอพพลิเคชันในโทรศัพท์ทำการแจกเงิน แต่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีสมาร์ตโฟนใช้ หรือการที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นเลือกคืนเงินเยียวยาผ่านการส่งจดหมาย ซึ่งล้วนตอกย้ำข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี)
สุดท้ายนี้ หากใครพร้อมที่จะเข้าไปผจญภัยในโลกของสกุลเงินดิจิทัล สิ่งหนึ่งที่ผมต้องฝากไว้คงจะไม่พ้น
‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน’
อ้างอิง
https://www.investopedia.com/terms/b/blockchain.asp
https://www.investopedia.com/terms/d/digital-money.asp
https://www.investopedia.com/terms/b/bitcoin.asp
https://www.youtube.com/watch?v=hYip_Vuv8J0&ab_channel=WIRED
https://www.youtube.com/watch?v=bBC-nXj3Ng4&ab_channel=3Blue1Brown
วิกิพีเดีย
https://en.wikipedia.org/wiki/Blockchain
https://en.wikipedia.org/wiki/Cryptocurrency
Tags: Scientifica, Blockchain, Bitcoin, Cryptocurrency, บิตคอยน์