ได้เวลาเตรียมตัวเตรียมใจกันแล้ว สำหรับเทศกาลสำคัญประจำปีของคนไทย (โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน) ซึ่งแน่นอนว่าปีนี้การเดินทางและงานรวมญาติคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ตามปกติอีกต่อไป แต่ประเพณีพื้นฐานอย่างการแจกอั่งเปาใน ‘เทศกาลตรุษจีน’ ก็คงจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนรอคอยกัน

ด้วยชื่อเรียกที่หลากหลายตั้งแต่ ‘แต๊ะเอีย’ (เงินผูกเอว) ‘อั่งเปา’ (แปลตรงตัวว่าซองสีแดง) และ ‘ซองแดง’ (เงินปีใหม่) ประเพณีการให้เงินในเทศกาลสำคัญหรือวโรกาสอันเป็นมงคลนั้นมีมานานมากๆ แล้วในประวัติศาสตร์ของจีน และกระจายไปทั่วโลกจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบเห็นกันได้ทั่วไปในยุคปัจจุบัน ผ่านการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีน ที่พกเอาวัฒนธรรมของตนเองไปด้วยทุกแห่งหน

สำหรับตัวผู้เขียนเองก็พูดได้เต็มปากเลยว่าอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัตินี้มาตั้งแต่ยังเยาว์วัย สมัยที่ยังไม่ประสีประสาเลยด้วยซ้ำว่าทำไมถึงต้องให้เงินมาในซองแดงด้วยนะ จะเหมือนกับการห่อของขวัญให้กันในวันคริสต์มาสไม่ก็วันเกิดหรือเปล่าก็ไม่รู้

เมื่อโตขึ้นมาในโลกที่หมุนไปด้วยพลังแห่งเศรษฐกิจและเงินตราก็ทำให้ผมได้เห็นมุมมองเบื้องลึกเบื้องหลังของอั่งเปามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากฝั่งผู้ให้และผู้รับเอง ที่สำคัญคือหลายสิ่งหลายอย่างที่ประกอบกันเป็นอั่งเปานั้นไม่ใช่แค่เงิน แต่คือ ‘บรรจุภัณฑ์’ ที่ใส่เงินนั้นมาต่างหากที่ดูจะมีความสำคัญไม่แพ้ของข้างในเลยก็ว่าได้ แท้จริงแล้วคุณค่าของ ‘ซองแดง’ นั้นมีมากขนาดไหน และทำไมถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของเทศกาลปีใหม่จีนหรือเทศกาลตรุษจีนของพวกเราไปซะได้ บทความนี้จะลองมาเจาะลึกในประเด็นนี้กันดูครับ

ก่อนจะเป็นซองแดง

อารยธรรมจีนก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาในแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหเมื่อกว่า 1,600-3,600 ปีมาแล้ว (สายพันธุ์มนุษย์ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นถึง 80,000 ปี) ตัววัฒนธรรมจีนนั้นจึงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมแรกๆ ของโลกที่พัฒนาขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้สำเร็จ (กลุ่มอารยธรรมโบราณ)

กาลเวลาผ่านไปจนถึงยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศจีนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเมืองการปกครอง ศิลปกรรม และเทคโนโลยี ขนบธรรมเนียมหลายๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันก็เริ่มที่จะปรากฏขึ้นให้เห็นเด่นชัด นวัตกรรมอย่างดินปืนและกระดาษได้ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว ซึ่งกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของเทศกาลตรุษจีนในภายหลัง (ชาวจีนยุคแรกเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ก่อนจะกลายมาเป็นตรุษจีนที่ยึดเอาวันเวลาตามปฏิทินสุริยจันทรคติ)

เมื่อจีนเริ่มผลิตระบบเงินตราขึ้นมาใช้อย่างจริงจัง  ผู้คนทั่วไปจึงได้มีโอกาสเข้าถึงเหรียญกษาปณ์ในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางการเงิน ในช่วงราชวงศ์ชิงนั้นชาวจีนทั่วไปมักจะใช้เหรียญชนิดที่มีรูจตุรัสอยู่ตรงกลาง (Cash coin – 方孔钱) และทำการพกพาหรือเก็บโดยใช้เชือกร้อยผ่านรูเข้าไปเพื่อมัดเป็น ‘ท่อนเหรียญ’ แล้วผูกเอาไว้ที่เอว (แต๊ะเอีย) ในยุคนี้การผลิตกระดาษคุณภาพดียังไม่เป็นที่แพร่หลายหรือมีประสิทธิภาพมากพอ การใช้ซองหรือธนบัตรจึงยังไม่มีให้เห็นในสังคม ส่งผลให้การให้เงินในเทศกาลตรุษจีนนั้นมักจะให้เหรียญไปเป็นท่อน โดยใช้ด้ายหรือเชือกสีแดงผูกเอาไว้ นับเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี

เชื่อกันว่าตำนานที่เป็นรากฐานของประเพณีให้เงินนี้ มาจากเรื่องเล่าของปีศาจที่ชื่อว่า ซุย (Sui – 祟) ซึ่งจะปรากฏกายในช่วงค่ำคืนก่อนวันปีใหม่ หากมันเจอเด็กคนใดที่กำลังหลับไหลก็จะเข้าไปแตะหัว ทำให้เด็กเกิดอาการกลัวและร้องไห้รวมถึงมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ชาวจีนโบราณจึงหลีกเลี่ยงที่จะนอนกันในช่วงคืนพิเศษนี้ ว่ากันว่ามีคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งพยายามป้องกันไม่ให้ลูกของตนเผลอหลับโดยเล่นกับลูกด้วยเหรียญทองแดง (ใช่ครับ เหรียญที่มีรูนั่นแหละ) แต่เมื่อลูกง่วงจนเกินขีดจำกัดแล้ว พวกเขาจึงจำต้องปล่อยให้ลูกไปนอนโดยนำเหรียญห่อด้วยวัสดุสีแดงวางเอาไว้ใต้หมอน เมื่อเจ้าปีศาจซุยมันปรากฏกายและทะลวงผ่านหน้าต่างเข้ามาในห้องนอนอย่างรวดเร็ว แต่พอจะเอื้อมมือไปแตะตัวเด็กเท่านั้นแหละ หมอนก็เปล่งแสงขึ้นและทำเอาเจ้าปีศาจตกใจจนเตลิดหนีไป ตำนานนี้จึงน่าจะเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่าการมอบเงินในบรรจุภัณฑ์สีแดง (ซึ่งเป็นสีมงคลตามวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว) จะช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายและปกป้องผู้ที่ได้รับมอบของขวัญชนิดนี้เอาไว้ โดยเฉพาะกับเด็กๆ

อีกหนึ่งตำนานคือที่มาของคำว่า ‘อั่งเปา’ เรื่องเล่านี้ดูจะตรงไปตรงมาหน่อย โดยเริ่มที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งถูกสัตว์ร้ายเข้าอาละวาดโจมตี สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นนักรบหรืออัศวินจากทั่วทุกสารทิศก็ไม่สามารถที่จะปราบอสูรตนนี้ลงได้เลย จนกระทั่ง ‘อั่งเปา’ (紅包) เด็กกำพร้าพร้อมดาบวิเศษที่ตกทอดมาจากบรรพบรุษ (ไม่ใช่ดาบเอกซ์แคลิเบอร์นะ) ปรากฏกายขึ้นและเข้าต่อสู้กับสัตว์ร้ายตนนี้อย่างดุเดือด ในที่สุดเขาก็สามารถปราบมันลงได้ และนำพาเอาความสงบสุขกลับคืนสู่หมู่บ้านได้สำเร็จ เพื่อตอบแทนบุญคุณของเขา ชาวบ้านจึงให้ซองเงินกับอั่งเปา ซึ่งกลายเป็นฮีโร่และสัญลักษณ์ของความดีงามไปหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตามตำนานทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันถึงความเป็นมาอันชัดเจน ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าเรื่องเล่าทั้งหมดนี้ก็ไม่ต่างจาก เรื่องเล่าทั่วๆ ไปที่ถูกแต่งขึ้นมาในอดีตเพื่อแสดงถึงแนวคิดบางอย่าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าเรื่องเล่าพวกนี้แหละ ที่ค่อยๆ รังสรรค์ประเพณีการให้อั่งเปาขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งจนกลายมาเป็น ‘แต๊ะเอีย’ ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน (คำสองคำนี้ถูกใช้เรียกสิ่งเดียวกันไปแล้วและเอาเข้าจริงก็ถูกใช้สลับกันไปกันมาจนเคยชินเลยด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าความหมายจริงๆ จะไม่ใกล้เคียงกันเลยก็ตาม)

 

ซองกลายเป็นของต้องมี

เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์และผลิตกระดาษจากตะวันตกได้เข้ามาในจีน ยุคสมัยปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ผลิตภัณฑ์กระดาษจึงเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและค่าเงินได้ส่งผลให้เหรียญรูเสื่อมความนิยมลง และถูกแทนที่ด้วยเหรียญชนิดใหม่ที่ได้มาตรฐาน (และที่สำคัญคือไม่มีรู) แต่พระเอกตัวจริงที่เข้ามาล้างบางวงการเหรียญเลยก็คือ ‘ธนบัตร’ ที่นอกจากจะมีมูลค่าที่สูงกว่ามาก ยังพกพาสะดวกและมีน้ำหนักเบาอีกด้วย

โรงพิมพ์ต่างๆ ผุดขึ้นมาเพียบในจีนและกลุ่มชุมชนคนจีนในต่างแดน (ในไทยเราน่าจะคุ้นเคยกันกับพวกห้างหุ้นส่วนแถวเยาวราชและสำเพ็ง) ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอะไรที่รุ่งเรืองแบบสุดๆ ทั้งหนังสือ จดหมาย ปฏิทิน และซองแดง ต่างเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่ทำเงินได้เป็นอย่างดี ซองแดงในยุคใหม่ไม่ใช่แค่ซองจดหมายย้อมสี แต่กลายเป็นวัตถุที่เต็มไปด้วยดีไซน์อันหลากหลาย โชว์พาวของผู้ผลิตแต่ละเจ้ากันอย่างเต็มที่ ซองแดงที่คลาสสิกหน่อยจะมีคำเขียนเป็นตัวอักษรจีนสีทองที่เกี่ยวกับสิ่งมงคลแปะเอาไว้เป็นคำอวยพร และเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์ถูกเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์กราฟิก ดีไซน์ของซองแดงก็ยิ่งหลากหลายมากขึ้นไปอีก เราสามารถหาซองแดงลายเทพเจ้า ซองแดงชนิดพับเปิดปิดได้แบบโอริกามิ ซองแดงจากวัสดุพิเศษ ซองแดงขยับได้หรือมีไฟประดับ ฯลฯ เอาเป็นว่าถ้าไม่เกินขีดจำกัดทางฟิสิกส์ของกระดาษแล้วล่ะก็ ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ครับ และที่สำคัญที่สุดคือซองนั้นเป็นอะไรที่เหมาะมากๆ ในการใส่ธนบัตร ถ้าด้ายแดงใช้กับเหรียญ ซองแดงก็ใช้กับแบงก์ได้ไม่ต่างกัน

สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบันของการให้ซองแดงนั้น ยังคงยึดตามหลักเดิมเสียส่วนใหญ่ กล่าวคือผู้ใหญ่จะให้ซองแดงกับเด็กๆ จนถึงช่วงอายุหนึ่ง ส่วนใหญ่จะให้จนกว่าเด็กๆ จะมีงานทำนั่นแหละครับ (หลักการนี้แตกต่างกันไปตามพื้นที่ด้วยนะ) รวมไปถึงผู้อาวุโสหรือคู่แต่งงานก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน ในเรื่องของจำนวนเงินนั้นมักจะให้กันเป็นเลขคู่หรือจำนวนที่ลงตัว และต้องไม่มีเลขสี่ เพราะถือว่าเป็นเลขอัปมงคลจากการอ่านออกเสียงเหมือนกับคำว่า ‘ตาย’ อีกหนึ่งธรรมเนียมคือไม่ควรเปิดซองต่อหน้าผู้ให้ ควรจะไปเปิดรวมกันทีหลังเมื่อเสร็จสิ้นงานแล้ว (นี่เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้ซอง คือช่วยปิดบังยอดเงินได้ด้วย ทำให้กระบวนการ ‘ให้’ นั้นเท่าเทียมและราบรื่นขึ้น)

การให้ซองแดงไม่ได้หยุดอยู่ที่เทศกาลตรุษจีนเพียงอย่างเดียว งานมงคลต่างๆ ก็สามารถให้ซองแดงกันได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นงานแต่งงาน ที่มักจะนับเอาซองแดงเป็นเงินก้อนสำหรับคู่บ่าวสาวในการสร้างครอบครัว ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเลย คือ จำนวนเงินสามารถเป็นเลขคี่ได้ในกรณีนี้ เพราะจำนวนที่หารสองไม่ลงตัวหมายความว่าแบ่งครึ่งได้ลำบาก แปลกลายๆ ได้ว่าความรักนั้นจะยั่งยืน ปราศจากการหย่าร้างครับ

สรุปแล้วซองแดงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีในการผลิตกระดาษและวงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็ว่าได้ แต่ในยุคที่วงการนี้กำลังเจอกับคลื่นปฏิวัติจากวงการดิจิทัล ซองแดงจะสามารถยืนหยัดต่อไปในฐานะของสัญลักษณ์แห่งวันตรุษจีนได้หรือไม่นั้นเป็นอะไรที่เรากำลังจะได้รู้กันแล้วครับ

อนาคต (ที่ดูเหมือนจะกำหนดโดยรัฐบาลจีน)

กาลเวลาผ่านไปแล้ว จนเราอยู่ในยุคของจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบัน (และข้อขัดแย้งที่ตามมาอีกเพียบ) ประเทศจีนกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่รุ่งเรืองทางด้านเทคโนโลยีและวงการอุตสาหกรรมแทบจะทุกแขนง รวมถึงมีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งพอตัว รัฐบาลจีนในตอนนี้มีความต้องการที่แรงกล้ามากๆ ในการพยายามที่จะพลิกโฉมการใช้เงินหยวนในประเทศให้กลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด จีนประกาศเปิดตัว ‘ดิจิทัลหยวน – Digital Currency Electronic Payment (DC/EP)’ ที่มาพร้อมระบบ e-wallet และดำเนินการในรูปของ Cryptocurrency ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน (ไม่ปล่อยฟรีไปเลยแบบบิทคอยน์) มูลค่าของดิจิทัลหยวนจึงถูกผูกเข้ากับเงินหยวนจริงๆ ในคลังของรัฐบาลจีน หายห่วงเรื่องมูลค่าที่จะเปลี่ยนแบบมั่วซั่วเช่น Cryptocurrency ส่วนใหญ่ที่ไม่มีการผูกกับของมีค่าหรือมีหน่วยงานมารับรองและควบคุม (จะมองว่าคือเงินหยวนเดิม แต่ในรูปดิจิทัลก็ได้)

จีนทำทั้งหมดนี้ไปไม่ใช่แค่เพื่อต้องการเป็นที่หนึ่งในด้านเทคโนโลยี แต่เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสดในอุดมคติขึ้นมาด้วย กระบวนการนี้มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลดีต่อบริษัทอย่าง เทนเซ็นต์ (Tencent) และ อะลีบาบา (Alibaba) ที่มีส่วนในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากการใช้จ่ายออนไลน์อยู่แล้ว ช่วยให้ประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้มีโอกาสใช้งานระบบเงินตรา (ขอแค่มีโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต) และ ‘อาจจะ’ นำพาเงินหยวนไปสู่สกุลเงินสำรองใหม่ในระดับนานาชาติแทนที่เงินดอลลาร์ฯ ได้ แต่ข้อดีที่ขาดไม่ได้เลยคือรัฐบาลจีนจะรู้เห็นทุกอย่างจากระบบดิจิทัลหยวนครับ (ลืมเรื่องการปิดบังชื่อไปได้เลย ทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้หมดเพราะเป็นระบบการเงินดิจิทัล)

ทีนี้คำตอบของคำถามที่ผมเกริ่นไว้ก็น่าจะกระจ่างแล้วนะครับ ‘ถ้าไม่มีเงินสด ซองแดงก็หมดความหมาย’ นี่เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ในเมื่อเราเข้าสู่ยุค 5G กันแล้ว วงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็ดูจะรับหมัดหนักกว่าใครเพื่อน การผลิตซองจำนวนมหาศาลดูไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อธรรมชาติและผลกำไรซักเท่าไหร่ในระยะยาว ผนวกกับสังคมที่ค่อยๆ เข้าสู่ยุค ไร้กระดาษ (paperless) ด้วยแล้ว อนาคตของกระดาษดูจะริบหรี่ลงจนเหลือใช้แค่ที่จำเป็นเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วซองแดงยังคงไม่เลือนหายไปไหนเร็วขนาดนั้นหรอกครับ จริงอยู่ที่เราเริ่มมีระบบ ‘ซองแดงออนไลน์’ ให้ใช้กันแล้ว ทั้งในแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่ให้บริการระบบงานเงินหรือ e-wallet และผู้คนรุ่นใหม่ก็ชื่นชอบกับความสะดวกของซองแดงชนิดนี้ที่ยิงเงินตรงเข้าบัญชีไปได้เลยโดยแทบไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยหรือมานั่งจัดการเงินสดให้ปวดหัว อย่างไรก็ตามผู้เถ้าผู้แก่ส่วนใหญ่ก็ยังคงชอบในการให้ซองแดงที่ใส่ธนบัตรจริงๆ กันอยู่ เพราะไม่ว่าซองแดงจะมาในรูปแบบไหน หากยังคงมีเงินสดที่จับต้องและส่งมอบให้กันได้แล้วล่ะก็ ความรู้สึกของผู้รับและผู้ให้ย่อมพิเศษกว่าการกดปุ่มส่งเงินออนไลน์ในไม่กี่วินาทีอยู่แล้วล่ะครับ

ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่สังคมไร้เงินสดกลายเป็นส่วนหลักของระบบเศรษฐกิจ ซองแดงอาจจะกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบดิจิทัลไปโดยสมบูรณ์ ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าขนบธรรมเนียมในการให้อั่งเปาของเจเนอเรชันต่อไปคงจะเป็นอะไรที่แปลกไปจากที่เป็นอยู่ในวันนี้ ไม่มากก็น้อย

บทส่งท้าย

สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับมากกว่าเงินในซองตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาคือ ‘คุณค่า’ ของมันครับ ในวันที่ผมนั่งพิมพ์บทความนี้อยู่ ตัวผมเองก็หาเงินด้วยลำแข้งตัวเองได้บ้างแล้วเหมือนกัน (และในอนาคตย่อมต้องเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้อยู่แล้ว) ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ต้องนึกย้อนไปว่าการแจก ‘ซองแดง’ ในตระกูลนั้นเป็นอะไรที่ทำกันมาโดยตลอด ไม่ว่าฐานะทางการเงินของผู้ให้จะเป็นอย่างไร เด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติและเจเนอเรชัน จะต้องได้เงินเก็บเข้ากระเป๋าไปในวันตรุษจีน ซึ่งสำหรับผมแล้วเงินที่ได้รับมาจะถูกยิงตรงเข้าบัญชีไปเลย จนกระทั่งเข้าช่วงมัธยมจึงได้เห็นมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินซึ่งครอบครัวได้หามาให้เราด้วยความยากลำบากทั้งหมดนี้ ยิ่งในวัยเด็กด้วยแล้ว เราแทบไม่รู้เลยว่ากว่าจะมาเป็นเงินในซองแดงที่ได้รับมาฟรีๆ นั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ซองแดงวันตรุษจีนไม่ใช่แค่วัฒนธรรมธรรมดาๆ แต่เป็นทั้งเครื่องมือทางสังคมและดัชนีที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของครอบครัว มันเป็นทั้งเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกของหลายๆ คน เป็นทั้งตัวฝึกการบริหารเงินให้กับเด็กๆ และในขณะเดียวกันก็เป็นพาหนะของความห่วงใยในรูปของสิ่งที่จับต้องได้จากคนในเจนเนอเรชันก่อนหน้า ที่ต้องเผชิญกับการทำงานในโลกที่หมุนไปด้วยเงินก่อนเรา รวมทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การค้นพบทางเทคโนโลยี และความเชื่อในสิ่งมงคลของคนจีนที่หล่อหลอมจนเกิดเป็นวัฒนธรรมนี้ขึ้นมา

ภายในซองแดงไม่ได้มีแค่เงินสด แต่รวมเอาความรู้สึกนึกคิดและสายสัมพันธ์ต้นตำรับของชาวจีนเอาไว้ได้อย่างถ่องแท้

 

อ้างอิง

https://chinesenewyear.net/red-pockets/

https://artsandculture.google.com/story/8-things-you-should-know-about-the-lucky-red-envelope/PwKiICEFJXMOJg

http://nwasianweekly.com/2012/01/where-do-red-envelopes-come-from/

https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3116010/chinas-rich-face-million-dollar-question-stay-and-risk-losing

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinas-march-to-be-the-worlds-first-cashless-society-china-daily-contributor

https://news.cgtn.com/news/2020-05-24/This-is-China-The-cashless-era-is-coming–QpxfBV65kk/index.html

https://www.investopedia.com/understanding-chinas-digital-yuan-5090699

https://en.wikipedia.org/wiki/Red_envelope

Tags: , , ,