ปัญหา PM 2.5 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นประเด็นทางสังคม ที่ถกเถียงถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ความเคลื่อนไหวจากทางรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต่างสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในหลายภาคส่วน รวมไปถึงภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูลการแก้ไขมลพิษอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน
ในวันนี้ (23 มกราคม 2563) เวลา 9:30 น. กรีนพีช ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, Climate Strike Thailand และกลุ่มอากาศสะอาดกำแพงเพชร จัดกิจกรรม ‘พอกันที ขออากาศดีคืนมา’ บริเวณสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง พร้อมยื่นแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรมให้กับตัวแทนจากรัฐบาล
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีช ประเทศไทย ร่วมกับ 7 องค์กรอิสระ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง และร่วมกันปราศรัยเพื่อให้เห็นอันตรายของ PM 2.5 และการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีตัวแทนจากประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดออกมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเห็นผล เพื่อสุขภาพของประชาชน
ในการปราศรัยครั้งนี้มีผู้ปราศรัยที่ตั้งประเด็นได้อย่างน่าสนใจ เช่นนายพัทธดลย์ โรจน์รัชสมบัติ นักเรียนเตรียมอุดมฯ วัย 16 ปี ออกมากล่าวถึงคนกรุงเทพฯ และรัฐบาลที่ไม่แก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง
“ฝุ่นเป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ และประเทศไทย แล้วทำไมชาวต่างชาติและต่างจังหวัดถึงเข้ามาช่วยบอกถึงปัญหาของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ แต่เป็นสิ่งที่น่าอายว่าคนในกรุงเทพฯ ไม่สนใจพอ อย่างที่สอง การที่เรามาอยู่ในสถานที่นี้ มันแสดงว่ารัฐบาลไม่สนใจเรื่องฝุ่น ถ้ารัฐบาลเห็นว่าประเทศเรามีปัญหา ป่านนี้เขาแก้ไปนานแล้ว แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่สนแล้วเรามาเดินประท้วง มันเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ขอบอกรัฐบาลว่าถึงตอนนี้ คุณแทบไม่ได้ทำอะไรในการแก้ไขเรื่องฝุ่นเลย ตอนมีฝุ่นมา คุณก็แจกหน้ากาก มันไม่ได้แก้ไขที่ปัญหา เวลาฝุ่นมาคุณก็ฉีดใส่เครื่องตรวจฝุ่น มันไม่ใช่เรื่อง รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วเราก็ต้องมาทำเองเหรอครับ”
ทางนายธาราได้อ่านแถลงการณ์ ‘พอกันที ขออากาศดีคืนมา’ และยื่นแนวทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้กับตัวแทนนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล โดยกลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการดังนี้
-
สืบเนื่องจากรัฐบาลกำลังจะออกมาตรการแก้ฝุ่นพิษ 12 ข้อที่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งข้อมูลการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเป้าหมายการลดฝุ่น PM 2.5 ทำให้มาตราการขอความร่วมมือทั้ง 12 ข้อ ไม่สร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชาชนร่วมกันปฏิบัติ ยกตัวอย่างกรณีขอความร่วมมือในทุกภาคส่วนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ก็ควรสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดระบบขนส่งมวลชนให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและได้ใช้กันอย่างทั่วถึง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้ผลกระทบจากมาตรการนี้
-
สร้างพื้นที่ Clean Room สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากกันฝุ่นที่มีคุณภาพ ไว้ตามจุดต่างๆ ไม่ใช่แค่ที่ห้าง และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษและรับข้อมูลการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐกีดกันการรับข้อมูลจากส่วนอื่น เหมือนเป็นการปิดรับข่าวสาร นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มคุณภาพอากาศและลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง โดยตรวจวัด PM 2.5 แยกออกมาจากการวัดฝุ่นละอองรวม
-
เพิ่มพื้นที่สีเขียว และจัดสรรพื้นที่ของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนสาธารณะแทนที่จะยกพื้นที่ให้กับกลุ่มนายทุนเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นเป็นอย่างอื่นเช่น ห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้สนับสนุนการจัดการฝุ่นในภาคเกษตรกรรมโดยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการฟื้นฟูดินและลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำพวกข้าวโพดหรืออ้อยซึ่งมีผลตอบแทนต่ำและกลุ่มนายทุนรายใหญ่ได้ผลประโยชน์มากกว่าเกษตรกรรายย่อย
-
การร่างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งกฏหมายการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด กฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายแนวกันชนระหว่างเขตชุมชนกับแหล่งกำเนิดมลพิษ และนำหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษ
ทั้งนี้นายนพดล พลเสนได้รับแนวทางการแก้ปัญหา และกล่าวขอบคุณนักกิจกรรมที่ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาล พร้อมที่จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมของรัฐบาลเพื่อนำไปปรับใช้และอาจเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมแก้ไขปัญหาด้วย นอกจากนี้ทางนายธารา ได้แนะนำเพิ่มเติมว่าทางภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในการสื่อสารเรื่อง PM 2.5 เพราะที่ผ่านมาทางรัฐบาลให้ข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้และสร้างกำแพงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนผู้เสียภาษี