แม้ไม่ใช่การเผชิญปัญหาฝุ่นควันครั้งแรกของคนไทย แต่ความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ก็ปลุกให้หลายคนตื่นขึ้นมาทำความรู้จักกับมลพิษชนิดนี้ พร้อมทั้งหาวิธีป้องกันสุขภาพตัวเองและสมาชิกในครอบครัวกันยกใหญ่

หนึ่งในสิ่งที่ได้ยินแทบทุกวันผ่านการรายงานข่าวก็คือ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ‘เกินค่ามาตรฐาน’ ในพื้นโน้นพื้นที่นี้

ว่าแต่…ค่ามาตรฐานดังกล่าว บอกถึงอะไรบ้าง?

ในระดับสากล มักอ้างอิงกับแนวทางปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO Air quality guidelines: WHO AQG) ซึ่งจัดทำขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1987 เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ และมักปรับปรุงให้เท่าทันสภาวะมลพิษใหม่ๆ หลังพบหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและมีน้ำหนักเพียงพอ

ฝุ่นพิษขนาดเล็กจิ๋ว ทั้ง PM 10 และ PM 2.5 ไม่ได้ถูกนับรวมเข้ามาตั้งแต่ต้น แต่เพิ่งบรรจุเข้าใน WHO AQG ฉบับอัปเดต เมื่อปี 2005 โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ 25 และ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

ทั้งยังกำหนดเป้าหมายเฉพาะช่วงเวลา (Interim Target: IT) อีก 3 ลำดับ โดยแบ่งเป็น

  • มาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดตัวเลขที่ 75 (IT-1), 50 (IT-2) และ 37.5 (IT-3) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

  • มาตรฐานค่าเฉลี่ยรายปี กำหนดตัวเลขที่ 35 (IT-1), 25 (IT-2), 15 (IT-3) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ที่กำหนดแบบนี้ ก็เพื่อให้ประเทศที่ไม่สามารถยึดตาม AQG ได้ทันทีใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้น และค่อยๆ ปรับค่ามาตรฐานให้เข้มงวดขึ้นหลังจากควบคุมคุณภาพดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ข้อบังคับตายตัว เป็นเพียงกรอบแนวทางที่ให้ประเทศต่างๆ นำไปปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสม

อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแรกที่กำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1997 องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (USEPA) ก็ทบทวนปรับปรุง ก่อนจะกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในปัจจุบันไว้ที่ 35 และ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ขณะที่สหภาพยุโรปไม่กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM 2.5 ด้วยซ้ำ มีแค่ค่าเฉลี่ยรายปีที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

กลับมาดูของบ้านเราบ้าง ปรากฏข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2547 กรมควบคุมมลพิษมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษาและยกร่างมาตรฐาน PM 2.5 โดยใช้ข้อมูลความเข้มข้น PM 2.5 ระหว่าง พ.ศ. 2544-2551 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (กทม. พื้นที่ทั่วไป), การเคหะชุมชนดินแดง (กทม. พื้นที่ริมถนน) และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย (เชียงใหม่)

จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทางสถิติ ประเมินทางเศรษฐศาสตร์ทั้งประโยชน์ด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการควบคุมปริมาณฝุ่น โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กระทั่งปี พ.ศ. 2553 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงคลอดประกาศฉบับที่ 36 กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ไม่เกิน 50 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งตรงกับเป้าหมายเฉพาะช่วงเวลาลำดับที่ 2 (IT-2) ที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกนั่นเอง และยังคงใช้ตัวเลขนี้มาถึงปัจจุบัน

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 36 กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ไม่เกิน 50 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ว่าแต่…มีใครสงสัยบ้าง ทำไมจึงกำหนดมาตรฐานเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปี

คำอธิบายก็คือ แม้องค์การอนามัยโลกจัดให้ PM 2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษทางอากาศตัวอื่นๆ ฝุ่นจิ๋วส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแบบกึ่งเฉียบพลันกึ่งเรื้อรัง แต่ยังไม่เข้าขั้นเฉียบพลันทันที (acute effect) เหมือนก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และอื่นๆ ที่ต้องกำหนดมาตรฐานความเข้มข้นเป็นค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมงและต้องจัดการคุณภาพอากาศให้ได้ตามมาตรฐานนั้นตลอดเวลา ค่ามาตรฐานของ PM 2.5 จึงเหมาะจะคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงมากกว่า

ขณะเดียวกัน มันก็เป็นมลพิษที่ก่ออันตรายหรือโรคเรื้อรัง หากรับเข้าสู่ร่างกายสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงต้องกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยระยะยาว 1 ปีควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในลักษณะเรื้อรัง (chronic effect) นั่นเอง

ดังนั้น การระบุว่า พื้นที่โน้นพื้นที่นั้น ในช่วงเวลานี้หรือชั่วโมงนี้ มีความเข้มข้นฝุ่นเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยนำค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศมาเทียบเคียงกับค่ามาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จึงไม่ถูกต้องนัก

เพราะความเข้มข้นของ PM 2.5 จะไม่คงที่หรือเท่ากันตลอดทั้งวันทั้งคืน มันมีปัจจัยเรื่องลม ความร้อน ความชื้น ฯลฯ เข้ามาเป็นตัวแปรให้ปริมาณฝุ่นสูงขึ้นหรือลดลงได้ตลอดเวลา ซึ่งโดยปกติแล้วมันมักเพิ่มความเข้มข้นจนไต่ระดับสูงสุดในช่วงกลางคืน แล้วค่อยๆ ลดลงในช่วงสายถึงบ่าย

เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ที่คนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเผชิญอยู่ขณะนี้ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงอะไร เพราะความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 รายชั่วโมงของหลายวันในเดือนมกราคมก็ทะลุ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรไปไกล แค่อยากให้เข้าใจหลักการอ่านค่ามาตรฐานที่ถูกต้องเท่านั้น

ว่าแต่…ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 อย่างไรกันบ้าง

ในขณะที่ประเทศไทยยืนตัวเลขมาตรฐานเดิมมาเกือบ 9 ปี มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นสองประเทศที่วางแผนปรับลดเพดานมาตรฐาน PM 2.5 ทั้งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีอย่างต่อเนื่อง

โดยมาเลเซียตั้งเป้าลดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 50 และ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ. 2561 และ 2563 ตามลำดับ และลดค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิม 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 25 และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ. 2561 และ 2563 ตามลำดับเช่นกัน

มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นสองประเทศที่วางแผนปรับลดเพดานมาตรฐาน PM 2.5 ทั้งค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและค่าเฉลี่ยรายปีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สิงคโปร์เข้มงวดยิ่งกว่า เพราะตั้งเป้าขยับลดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิม 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และลดค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิม 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2563 ทั้งยังวางแผนระยะยาวที่จะบังคับใช้ค่ามาตรฐานตามกำหนดขององค์การอนามัยโลกด้วย

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็มีกระแสเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษทบทวนและปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนเช่นกัน แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นเราต้องมีแผนปฏิบัติที่สามารถควบคุมฝุ่น PM 2.5 ณ แหล่งกำเนิด เช่น ไอเสียจากยวดยานพาหนะ มลพิษจากปล่องโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินหรือชีวมวล การเผาในที่โล่ง ฯลฯ ได้ในระยะยาวและอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

แน่นอนว่า มันไม่ง่ายและต้องใช้เวลา แต่ยิ่งลงมือช้า วิกฤตฝุ่นพิษก็ยิ่งคลี่คลายช้า หนำซ้ำจะหนักหน่วงกว่าเดิมในฤดูหนาวปีต่อๆ ไป

มลพิษทางอากาศรอบนี้ทำให้คนตื่นตัววงกว้าง ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยกันกระตุ้นแกมกดดันให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนขยับเขยื้อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงและยานพาหนะเป็นมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 จำกัดการใช้รถส่วนตัว จำกัดการใช้รถเก่าที่ก่อมลพิษสูง ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในภาพรวมเพื่อลดการปล่อยมลพิษและความคับคั่งของการจราจร ตรวจวัดมลพิษ PM 2.5 ที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า และอื่นๆ

เพราะคุณภาพอากาศดีๆ เป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของทุกคน เราจึงควรทำอะไรมากกว่าแค่ใส่หน้ากาก N95 ในช่วงนี้และปล่อยปัญหาฝุ่นพิษให้จางหายไปพร้อมกับการมาถึงของฤดูร้อน

 

 

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก The Momentum ทางอีเมล

* indicates required


Tags: , ,