วันนี้ (20 กันยายน 2566) เวลา 11.00 น. ที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) นักขับเคลื่อนสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศจัดกิจกรรมแถลงข่าว ‘THREE MIRACLE LAWS กฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ’ ด้วยการยื่นเสนอกฎหมาย 3 ฉบับ ในฐานะการขับเคลื่อนภาคประชาชนไปพร้อมกัน ได้แก่ สมรสเท่าเทียม การรับรองเพศสภาพ และการยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักขับเคลื่อนสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ที่ยื่นทั้ง 3 ฉบับพร้อมกันเพื่อลดความยืดเยื้อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้ากระบวนการของรัฐสภา โดยต้องการอย่างน้อยฉบับละ 1 หมื่นรายชื่อเสนอต่อรัฐสภา 

สำหรับ (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. …. ฉบับประชาชน หรือ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ นัยนา สุภาพึ่ง นักขับเคลื่อนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ เล่าถึงเส้นทางการขับเคลื่อนของสมรสเท่าเทียมว่า ร่างที่นำเสนอในวันนี้เป็นคนละร่างกับที่ภาคการเมืองนำเสนอ โดยในการเข้าชื่อเสนอแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในภาคประชาชนมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2555 และต่อสู้มาตลอด เรื่องนี้ไม่ใช่การนำเสนอกฎหมายใหม่ แต่เป็นการขอแก้ไขในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องของการบัญญัติว่า ‘คู่สมรส’ จะต้องเป็นระหว่าง ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ ให้เปลี่ยนเป็นระหว่าง ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ 

โดยหลังจากวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า อนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุจุดประกายให้ประชาชนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ในการต่อสู้กับตัวบทกฎหมายที่มีโครงสร้างอคติทางเพศ อาจไม่ใช่เรื่องของภาคประชาสังคมที่จะต่อสู้เพียงลำพัง ภาคประชาชนต้องจับมือต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อให้โครงสร้างเหล่านี้สิ้นสุดลง

ขณะที่ ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนข้ามเพศ กล่าวเกี่ยวกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. หรือ ‘กฎหมายการรับรองเพศสภาพ’ (GENACT) ว่า ในร่างกฎหมายที่กำลังขับเคลื่อนมีต้นแบบมาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบที่ริเริ่มทำ, มอลตา ซึ่งเป็นต้นแบบในการครอบคลุมทุกเพศทุกอัตลักษณ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงแค่คนข้ามเพศ แต่ยังรวมไปถึงอินเตอร์เซ็กซ์และนอนไบนารีอีกด้วย และไอซ์แลนด์ ในฐานะของประเทศที่กฎหมายนี้ก้าวหน้ามากที่สุด โดยหลักการที่สำคัญที่สุดในกฎหมายนี้ คือการคำนึงว่า ‘บุคคลย่อมมีเจตจำนงในการเลือกเพศให้กับตัวเอง’ โดยบุคคลมีสิทธิใช้คำนำหน้าและการระบุเพศสภาพในเอกสารราชการ ให้สอดคล้องกับเพศสภาพของตัวเอง

ส่วนพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ SWING Clinic Bangkok องค์กรขับเคลื่อนสิทธิของผู้ค้าบริการทางเพศ กล่าวว่า ที่ต้องยกเลิกกฎหมายนี้เพราะเป็นกฎหมายบังคับใช้มาเป็นเวลานานและไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ค้าบริการทางเพศ ในครั้งนี้เป็นการต่อสู้เรื่องของผู้ค้าบริการทางเพศที่อบอุ่นที่สุด เพราะว่าเป็นการโอบรับว่าเป็นอาชีพที่เท่าเทียมกันกับทุกคน ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนประเด็นนี้โดดเดี่ยวมาก ถูกตีตราซ้ำซ้อนจากผู้คนในสังคมและกฎหมาย อีกทั้งการทำให้อาชีพนี้มีความ ‘เทาๆ’ เป็นไปเพราะมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ ดังนั้น จึงต้องการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว 

สำหรับความผิดทางกฎหมายการค้าประเวณีในฐานะผู้ขายบริการนั้น ผู้ให้บริการที่โฆษณาหรือทำให้แพร่หลายไปยังสาธารณะเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน- 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1-4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้ผู้ที่มีความผิดทางกฎหมายมีทั้งผู้ให้บริการทางเพศ รวมไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่โฆษณาการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ของตัวผู้ให้บริการทางเพศ

สุดท้ายนี้ วาดดาวกล่าวปิดท้ายว่า การขับเคลื่อนกฎหมายประเด็นเรื่องเพศในภาคประชาชนถูกปัดตก ถูกทำให้วนลูปจากกระบวนการที่ซ้ำซ้อนมานาน ในครั้งนี้ภาคประชาชนจะทำให้เห็นว่าพร้อมสู้ต่อ โดยเฉพาะ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ อาจผ่านทันวาเลนไทน์ปีหน้า (2567) เสียด้วยซ้ำ หากทั้งหมดเป็นไปทางกลไกที่วางไว้ และหลังจากนี้ภาคประชาชนจะพยายามมีบทบาทในการทำงานส่วนนี้มากขึ้น ผ่านการเข้าไปนั่งในกรรมาธิการรัฐสภา

Tags: ,