วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2567) นที สิทธิประศาสน์ กรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) เข้าร่วมถกในประเด็นความสำคัญของใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (International Renewable Energy Certificates: I-RECs) และประเด็นสภาพภูมิอากาศโลก ภายในงาน ‘Unlocking Potential I-RECs in Thailand’ ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

นทีกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของทุกวันนี้ที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ คือเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) และปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ที่พังทลาย โดยต้องควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ซึ่งขณะนี้ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ต้องเริ่มดำเนินการตามแผนจัดการปัญหาดังกล่าว

กรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) ระบุว่า ต้นตอปัญหาภูมิอากาศมาจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) หากจะแก้ปัญหาต้องลด-ละ-เลิกการใช้พลังงานประเภทดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อชดเชยปริมาณคาร์บอนที่หน่วยงานหรือองค์กรปล่อยออกไป หรือการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่หน่วยงานหรือองค์กรต้องดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่ปล่อยออกไปสู่ขั้นบรรยากาศผ่านการปลูกป่า

อย่างไรก็ตาม นทีฝากคำถามที่สำคัญไว้คือ ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร เพราะประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้เป็นจำนวนมากแล้ว

สำหรับแนวทางการเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2050 ว่า จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า (Renewable Energy: RE) ที่ร้อยละ 50 นั้น นทีมองว่าเป็นเป้าหมายที่หลวมเกินไป ไม่เพียงพอต่อการไปสู่เป้าหมาย โดยแผนการใช้พลังงาน RE ของไทยจะต้องมากถึงร้อยละ 80 จึงจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ทั้งนี้แนวทางการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เร็วกว่าเดิม คือการเปิดเสรีไฟฟ้าให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ เพราะในปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ซึ่งพลังงานที่นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึงร้อยละ 80 โดยหากเอกชนมีเสรีในการเลือกซื้อไฟฟ้าจะทำให้สัดส่วนการเลือกใช้พลังงาน RE เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อพูดถึงการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ นทียกกรณีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรปที่กำหนดราคาสินค้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหันมาผลิตสินค้าที่มีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ว่าเครื่องมือทางคาร์บอนอย่าง I-RECs ไม่สามารถใช้กับ CBAM ของสหภาพยุโรป แต่จะต้องใช้กลไกการกำหนดราคาให้คาร์บอน (Carbon Pricing) 2 ตัว ได้แก่

1. ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่รัฐจัดเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่หน่วยงานหรือองค์กรปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

2. ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ที่รัฐกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบในอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม กรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) ยังกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจาก CBAM ของสหภาพยุโรปมากนัก มีเพียงแค่อุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ในอนาคต CBAM อาจบังคับใช้ในทุกอุตสาหกรรม

Tags: