“ที่ผ่านมามีหลายคนขอให้ดิฉันพาไปหาลูกของคุณตาชิต คุณยายหนู ดิฉันไม่เคยพาไปเลย เพราะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากๆ สำหรับครอบครัวเรา มันไม่ใช่เรื่องสนุก เราไม่ต้องการเป็นเกมการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องนี้ ญาติของเราถูกใส่ความและประหารชีวิต เพราะเกมการเมือง โดยแท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์” สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) ที่มูลนิธิซิเนม่าโอเอซิส ซอยสุขุมวิท 43 สมานรัชฎ์, กังวาฬ พุทธิวนิช และนายแพทย์กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลระนอง จัดแถลงข่าวรายละเอียดของหลักฐาน ที่จะรื้อฟื้นคดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยเป็นคดีที่มีจำเลย 3 คน ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กหน้าห้องบรรทม และเฉลียว ปทุมรส ราชเลขานุการในพระองค์ ถูกกล่าวหาว่ากระทำการประทุษร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ถึงแก่ชีวิต และถูกศาลตัดสินโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498

สมานรัชฎ์อธิบายต่อว่า เธอมีความสัมพันธ์กับครอบครัวสิงหเสนี เพราะในช่วงหลังการประหารชีวิตนักโทษ 3 คน เมื่อปี 2498 คุณยายหนู (ชูเชื้อ สิงหเสนี ภรรยายของชิต สิงหเสนี) มาอยู่กับครอบครัวเธอที่กงสี

“ลูกของคุณยายหนูเวลาไปโรงเรียน ก็มีคนบอกว่า พ่อแกฆ่าในหลวง นี่เป็นเรื่องจริง ด่าแบบนี้เลย ตัวดิฉันเองตอนเรียน ป.5-6 ก็เห็นชื่อตาชิตบนกระดานเด่นหราในวิชาประวัติศาสตร์ บอกว่าฆ่าในหลวง ความรู้สึกเราแย่มาก ถึงเราจะไม่พูดอะไรก็ตาม

“เราเป็นครอบครัวที่เป็นพยานประวัติศาสตร์ เราไม่เป็นซ้ายเป็นขวาอะไรทั้งสิ้น แต่การเป็นพยานประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เจ็บปวด และคุณจะถูกใส่ร้ายป้ายสี คุณจะไม่เหลืออะไรเลย นี่คือข้อเท็จจริงของแผ่นดินไทย ดิฉันถือว่าเป็นคำสาปของแผ่นดิน ถ้าเราไม่ชำระล้างความอยุติธรรมนี้ เราจะไม่มีวันหลุดพ้นจากความมืดมนของเผด็จการทางจิตวิญญาณไปได้”

รื้อคดีสวรรคตที่เป็นอย่างไรก็เป็นกัน

สมานรัชฎ์กล่าวก่อนการแถลงข่าวว่า การรื้อฟื้นคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ขึ้นมาครั้งนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอก็พร้อมรับทั้งนั้น รวมถึงใครที่อยากจะมาหาเรื่องก็ตาม เพราะสิ่งที่เธอต้องการมีเพียงขอให้ความจริงปรากฏ “ใครที่ไม่อยากให้ความจริงปรากฏคุณต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่าทำไม มันไม่มีอะไรต้องกลัวหรอกค่ะ”

“ก็รอมา 70 ปีแล้ว” ผ่องพรรณ สิงหเสนี ลูกสาวของชิต สิงหเสนี ฝากสมานรัชฎ์ก่อนเริ่มงานแถลงวันนี้ เนื่องด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้

ในนามของญาติของผู้พิพากษา

หลังจากนี้เป็นบทสนทนาโต้ตอบบางส่วนระหว่างสมานรัชฎ์กับพลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งเขาระบุว่า วันนี้มาเป็นตัวแทนญาติผู้พิพากษาผู้ตัดสินคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8

พลโทนันทเดช: ญาติผู้พิพากษาฝากผมเป็นตัวแทน

สมานรัชฎ์: ทำไมเขาไม่มาเองคะ ทำไมต้องมีตัวแทน ถ้าเขาไม่ละอายในสิ่งที่เขาทำ

พลโทนันทเดช: เขาไม่ละอายครับ คุณต้องใจเย็นๆ คุณต้องยอมรับ

สมานรัชฎ์: ไม่เย็นค่ะ เราโดนประหารชีวิต แล้วคุณคิดว่าตาชิต ชั่วร้ายจริงๆ เหรอคะ ฆ่าในหลวงจริงๆ เหรอคะ กล้าพูดแบบนั้นหรือเปล่า

พลโทนันทเดช: คุณจะให้ผมพูดไหม กล้า

สมานรัชฎ์: เพื่ออะไรคะ เราไม่ได้มาฟังคุณกันนะ เวอร์ชันโฆษณาชวนเชื่อของคุณฉบับเผด็จการมันออกมาแพร่หลายให้ใส่กบาลเด็กทุกวันอยู่แล้ว คุณไม่ต้องการเหตุผลของอีกฝั่งหนึ่ง คุณไม่อนุญาตให้ใครพูดเลย เขามาจัดงาน เขาศึกษากันมาเป็นปีๆ คุณยังไม่ให้พูด คุณต้องพูดอยู่คนเดียว มันเป็นแบบนี้แหละ

ฯลฯ

สมานรัชฎ์: ขอให้สิ่งชั่วร้ายเท่าที่เกิดขึ้นกับเราเกิดขึ้นกับคุณบ้างแล้วคุณจะรู้สึก เราไม่ได้สาปแช่งให้คุณแย่ แต่อยากให้คุณมีหัวใจ ให้รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้างสำหรับเรา

พลโทนันทเดช: คุณต้องรู้ความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ศาลพิพากษาเพราะตาชิตสารภาพ ถ้าตาชิตไม่สารภาพศาลจะลงโทษได้อย่างไร คุณรู้หรือเปล่าเหตุการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร

สมานรัชฎ์: คุณเป็นใครถึงมีสิทธิมาพูดเหยียบย่ำหัวใจคนที่ถูกทำร้ายขนาดนี้ […] นี่คือเหตุผลที่ลูกหลานเขาไม่กล้ามา เพราะกลัวเจอคนชั่วแบบนี้ ดิฉันยังบอบช้ำคิดดูว่าเขาจะบอบช้ำขนาดไหน

รื้อฟื้นคดีสวรรคตตามกระบวนการของกฎหมาย

ภายหลังการพูดโต้ตอบระหว่างสมานรัชฎ์กับพลโทนันทเดช จึงเป็นการพูดเสวนาของ กังวาฬ พุทธิวนิช ผู้เขียนหนังสือ ‘74 ปี คดีสวรรคต’ โดยเขากล่าวว่า การขอยื่นรื้อฟื้นคดีครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ว่าต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้สืบสันดาน ปัจจุบันมีทายาทหรือผู้สืบสันดานของชิตเป็นลูกสาวทั้งสามคน โดยผู้มอบอำนาจเป็นลูกสาวคนรองของผ่องพรรณ สิงหเสนี และพวงศรี สิงหเสนี (นามสกุลเดิม) ส่วนลูกสาวอีกคนเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถเซ็นมอบอำนาจได้

ลูกสาวคนแรกเสียชีวิตด้วยการอัตวินิบาตกรรม ซึ่งมีผลพวงจากการที่ชิตถูกประหารชีวิต กังวาฬให้รายละเอียดว่า การดำเนินการขอให้มีการรื้อฟื้นคดีครั้งนี้ใช้มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ และมาตรา 20 คือเป็นคดีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะไม่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา โดยระบุถึงเจตนารมณ์ในการรื้อฟื้นคดีฯ คือ

คืนความเป็นธรรมให้กับจำเลยผู้บริสุทธ์ทั้ง 3 คน ประกอบด้วย ชิต, บุศย์ และเฉลียว ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจกล่าวต่อว่า ตลอดเวลา 77 ปี ที่ผ่านมายังไม่มีใครดำเนินการรื้อฟื้นคดีสวรรคตเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ กังวาฬเคยไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานพระราชวัง ผ่านพลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขาธิการในพระองค์ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ เขาจึงเดินไปดักขบวนเสด็จแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต เลยต้องยื่นผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สุดท้ายก็ทราบไม่ถึงพระองค์ท่าน รวมไปถึงเคยยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเช่นกัน

สำหรับหลักฐานใหม่ที่ระบุเข้ามาคือ

1. ตำแหน่งรอยกดปืนที่หน้าผาก

2. วิถีกระสุนเข้าและออก

3. ตำแหน่งกระสุนทะลุหมอน

4. ตำแหน่งหัวกระสุนฝั่งในฟูก

5. ตำแหน่งปลอกกระสุนตก

6. พระหัตถ์เปื้อนเลือด

นอกจากนี้ ผู้มอบอำนาจยังระบุต่อว่า ในช่วงการพิจารณาคดีที่ผ่านมา พยานวัตถุตีความหลักฐานผิดพลาด นอกจากนี้ ด้านนายแพทย์กฤติน มีวุฒิสม แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลระนอง ให้ความเห็นทางการแพทย์ว่า กระดุมเม็ดแรกที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายคือความเห็นของแพทย์สมัยก่อน ที่ก่อให้เกิดความสับสน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้าใจผิดของขนาดบาดแผลที่ใหญ่และเล็ก สมัยก่อนเข้าใจกันว่า บาดแผลเล็กจะเป็นทางเข้า แผลที่ใหญ่จะเป็นทางออก ซึ่งข้อสรุป ณ เวลานั้นทำให้เกิดข่าวลือในช่วงแรกว่า มีการลอบปลงพระชนม์ ซึ่งหากดูในเวลานั้น แม้จะมีคณะแพทย์กว่า 20 คน ในการพิสูจน์คดี แต่หากดูจริงๆ แล้วแทบไม่มีแพทย์ทางนิติเวชเลย รวมไปถึงสมัยนั้นความรู้ทางนิติเวชยังไม่ก้าวหน้าเท่าสมัยนี้

นอกจากนี้ นายแพทย์กฤตินยังกล่าวต่อว่า หากพูดถึงระยะยิง จากรูปหลักฐานจะเห็นได้ชัดว่าเป็นระยะติดผิวหนัง ซึ่งทางนิติเวชบอกได้เลยว่า การกระทำนี้เกิดจากการกระทำตัวเอง 94-96% สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถตัดข้อสันนิษฐานว่า รัชกาลที่ 8 ไม่ได้กระทำตัวเอง ไม่ว่าจะแบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจออกไปได้ รวมไปถึงไม่ว่าจะเป็นคดีไหนก็ตาม

นอกจากนี้ กังวาฬยังกล่าวต่อว่า มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระแสงปืนของรัชกาลที่ 8 ที่เคยขัดลำกล้องสองครั้งว่า รัชกาลที่ 8 เคยเรียกข้าราชบริพารเอาปืนไปซ่อม และกล่าวพูดเตือนว่าเอาปืนไปให้ดูแล้วห้ามส่อง ถ้าส่องปืนจะเข้าที่หน้าผาก รัชกาลที่ 8 พูดพร้อมกับชี้ไปที่หน้าผาก พร้อมกันนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร องคมนตรีในขณะนั้น ก็ให้การว่าเคยเห็นรัชกาลที่ 8 นำปืนส่องดูกระสุนในลำกล้อง และบอกว่าปืนกระบอกนี้ไกอ่อนลั่นง่าย

“แค่เป็นข้อสันนิษฐานว่า ถ้าวันนั้นมีการขัดลำกล้อง และท่านพยายามที่จะดู อาจจะเกิดเหตุการณ์นี้ได้ไหม ผมตอบไม่ได้ว่ามันถูก แต่หากดูแล้วมันสามารถตอบข้อสงสัยอัยการได้ทุกข้อ

“ผมอาจจะไม่ถูกทั้งหมดแต่ผมขอโอกาส แต่ดุลยพินิจตัดสินเป็นอำนาจศาล” กังวาฬทิ้งท้าย พร้อมขึ้นข้อความคำว่า “บัดนี้ถึงเวลาชำระประวัติศาสตร์ ด้วยความก้าวหน้าทางนิติวิทยาศาสตร์”

Tags: , , ,