ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ถือเป็นวันสวรรคตของ ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล’ หลังทรงครองราชย์เป็นเวลา 12 ปี กับอีก 99 วัน ซึ่งต่อมาภายหลัง เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ปวงชนชาวไทยจึงมีการยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น ‘วันอานันทมหิดล’

วันที่ 2 มีนาคม 2478 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ โดยมิได้มีการสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท จึงทำให้ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้ทำจดหมายพิจารณาลงความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออัญเชิญ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่ขณะนั้นมีพระชนมายุ 9 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ เนื่องจากทรงมีฐานะเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์ ปี 2467 โดยวันที่ 25 มีนาคม 2478 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามใหม่ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล’

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาดังกล่าวในหลวงรัชกาลที่ 8 ยังคงถือเป็นผู้เยาว์ไม่บรรลุนิติภาวะ และยังทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 11 ปี ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ปรีดี พนมยงค์ ก่อนในวันที่ 5 ธันวาคม 2488 จะทรงเสด็จนิวัตกลับพระนครเป็นการถาวร โดยในระหว่างนั้น ยังคงทรงศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางความหวังของราษฎรที่กำลังตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เพิ่งสิ้นสุด

ขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงมีพระชนมายุล่วงเลยถึง 21 พรรษา และกำลังรอคอยพระราชพิธีบรมมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ อยู่ๆ ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลา 09.00 น ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อมีรายงานว่าพระองค์เสด็จสวรรคตภายในห้องบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ด้วยพระแสงปืนอย่างมีเงื่อนงำ โดยทางคณะแพทย์ผู้ชันสูตรพระศพ 3 ใน 4 ต่างลงความเห็นว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ ส่งผลให้ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส 3 มหาดเล็กคนสำคัญ ที่เฝ้าเวรยามอยู่หน้าห้องบรรทม ณ เวลานั้น ตกเป็นจำเลย เนื่องจากบริเวณนั้นไม่มีผู้ใดอื่น

คดีการสิ้นพระชนม์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ศาลผู้พิเคราะห์คดียังมีการสันนิษฐานไปยัง ปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นผู้บงการมหาดเล็กทั้งสามให้ลอบปรงพระชนม์ ถึงแม้จะไม่มีพยานหรือหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ชัดเจน แต่ก็ทำให้ปรีดีต้องตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศฝรั่งเศส เพราะมีการปลุกปั่นกระแสอยู่เป็นระยะ ซึ่งนักประวัติศาสตร์เห็นว่ามาจากฝีมือขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม ดั่งเหตุการณ์ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุงที่มีผู้ตะโกนว่าปรีดีเป็นผู้ลอบสังหารในหลวงรัชกาลที่ 8

9 ปีต่อมา ถึงแม้ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ไร้ผล ศาลยังคงยืนกรานคำตัดสินเนื่องจากคนที่อยู่หน้าห้องบรรทมมีแค่มหาดเล็กทั้งสาม และเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะไม่เห็นว่าใครเข้าออกห้องบรรทมเลย ท้ายที่สุดจึงตัดสินลงโทษผู้ต้องหาด้วยการประหารชีวิต โดยส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์ของกระทรวงมหาดไทย ระบุไว้ว่า

“ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิต ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และเฉลียว ปทุมรส จำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และจำเลยทั้งสามได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น

“บัดนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสามเสีย ทางราชทัณฑ์จึงได้นำตัวจำเลยทั้งสาม ไปประหารชีวิตตามคำพิพากษา ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 เวลา 05.00 น. ณ เรือนจำกลางบางขวาง ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เป็นประธานกรรมการ, ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี, นายแพทย์ เชื้อ พัฒนเจริญ และหลอม บุญอ่อน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมเรือนจำกลางบางขวาง เป็นกรรมการ ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเป็นการเสร็จไปแล้ว จึงขอแถลงมาให้ทราบทั่วกัน”

Tags: ,