1.

ตอนเด็กๆ คุณมีความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างไรบ้าง… สำหรับผมแล้ว คณะราษฎรคือตัวร้ายในประวัติศาสตร์ไทยเสมอ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเล่าของการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เรื่องเล่าของการจับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อเป็น ‘ตัวประกัน’ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเป็นตัวการ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงระบอบกษัตริย์ให้คงเหลือแค่ชื่อ ก่อนจะตามมาด้วยความแตกแยกครั้งใหญ่ในหมู่ผู้นำ และความล้มเหลวในระบอบประชาธิปไตยไทย ที่นอกจากทุกคนจะโยนให้เป็นความผิดของ ‘นักการเมืองเลว’ แล้ว คณะราษฎร ในฐานะผู้ออกแบบระบบ ก็ถูกโยนให้มีส่วนในการรับผิดชอบไม่น้อย

‘คนไทยไม่พร้อม’ คือใจความใหญ่ของ ‘เรื่องเล่า’ วันนั้น หากคณะราษฎรอดทนรอสักนิด ไม่ตัดสินใจ ‘เนรคุณ’ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ด้วยการอภิวัฒน์สยาม ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 รอให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ ประเทศไทยอาจดีกว่านี้ คือสิ่งที่พูดปากต่อปากกันมา

ในบรรดาผู้ก่อการของคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดูจะเป็นคนที่ถูกกล่าวหาหนักที่สุด เป็น ‘ท่านผู้นำ’ จอมเผด็จการ อย่างที่ถูกวาดภาพไว้ในหนัง ‘โหมโรง’ เป็นพวกฟาสซิสต์ ผู้มุ่งแต่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า แต่ลืมรากเหง้าความเป็นไทย ซ้ำยังยอมยกประเทศให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพ และหวังจะ ‘แข่งบารมี’ กับพระมหากษัตริย์ ขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกเรื่องเล่าแบบปากต่อปากทำลายไม่ต่างกัน

2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน หนังสือใหม่เอี่ยมโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ คือความพยายามค้นลึกในมิติความเป็นมนุษย์ของบรรดา ‘ผู้ก่อการ’ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่พวกเขาเจอหน้ากันที่ปารีส จนถึงวาระสุดท้ายในงานฌาปนกิจศพ พร้อมด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์ คำบอกเล่าของผู้ก่อการที่พูดถึงเหตุการณ์สำคัญทั้งในยุครุ่งเรือง ในห้วงเวลาแห่งความแตกแยก และในยุคตกต่ำของคณะราษฎร ผ่าน ‘เชิงอรรถ’ หลายร้อยเล่ม เพื่อปะติดปะต่อ และให้เกียรติพวกเขาอย่างถึงที่สุด และนี่คือส่วนหนึ่งที่ 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน พูดถึง ‘พวกเขา’

2.

เป็นที่รู้กันว่า คณะราษฎรพบปะกันครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่อายุยังน้อย ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้เคยรับใช้ใกล้ชิดในหลวง รัชกาลที่ 6 คือผู้ที่เล่าถึงความเสื่อมโทรมของ ‘ระบอบเก่า’ ให้กับนักเรียนกฎหมายหนุ่มที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ที่กรุงปารีส ในปี 2467 ในวันที่ปรีดีอายุเพียง 25 ปี ส่วนประยูรมีอายุ 32 ปี

หลังจากพูดคุยกันวันละหลายชั่วโมง และเดินพูดคุยกันเป็นเวลานานหลายเดือน ปรีดีก็เอ่ยปากกับประยูรว่า “เราได้พูดเรื่องการเมืองกันมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที”

ส่วนชื่อ ‘คณะราษฎร’ นั้น เกิดขึ้น 3 ปีให้หลังจากนั้น ในปี 2470 ที่กรุงปารีสเช่นเดิม โดยมาจากข้อเสนอของปรีดี ที่เห็นว่าเพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยที่แท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย

และเรื่องที่เหลือ ก็คือ ‘ประวัติศาสตร์’

3.

ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นที่รู้กันว่าประเทศสยามเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่ได้เสียเลือดเนื้อ หากแต่เรื่องเล่าผ่านหลายบุคคลที่นำเสนอผ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย เป็นต้นว่า แผนทั้งหมดเกิดจากการระดมสมองและมอบหมายให้ผู้ก่อการคนสำคัญอย่าง ‘พระยาทรงสุรเดช’ เป็นผู้นำเสนอ โดยความสำเร็จของคณะทหาร-พลเรือนที่ไม่ได้มีอาวุธในมือมากมายนัก มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. คำสั่งลวงทหารมาชุมนุม อ้างว่าเป็นการสาธิตอาวุธ

2. ระยะปฏิบัติการมาจากช่วงเวลาที่ในหลวงแปรพระราชฐานไปยังหัวหิน

3. การตัดการสื่อสารพร้อมตระเวนควบคุมตัวเชื้อพระองค์ที่มีอำนาจในรัฐบาลไว้เป็นตัวประกัน

 ปรีดีบันทึกว่าข้อสำคัญของการอภิวัฒน์ที่ทำให้ไม่เกิดการเลือดตกยางออกนั้น มาจาก ‘ประยูร’ โดยเฉพาะการใช้วิธียึดตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับคำขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญ​

แต่ที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากวิธีดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ถูกนำมาใช้จริงแล้ว ยังมีแผนอื่นๆ อาทิ การจู่โจมเข้ายึดพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นที่ประทับฯ ในเวลาดึก หรือยึดอำนาจระหว่างเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟไปยังหัวหิน เมื่อผ่านสถานีตลิ่งชัน ขณะเดียวกัน ความคิดที่จะใช้ ‘คนคุก’ แบบกรณีบัสตีย์ ประเทศฝรั่งเศส ก็อยู่ในหนึ่งวิธีการของคณะราษฎรเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน ยังรวบรวมบันทึกจากชายหาดหัวหิน ของ นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย ผู้อาวุโสสุดของคณะราษฎร ที่นำเรือหลวงสุโขทัยจากพระนครเข้าทอดสมอไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ที่ประทับของในหลวง รัชกาลที่ 7 ซึ่งบรรยายฉากตึงเครียดไว้ว่า หากเวลา 12 นาฬิกาวันนั้น หลวงศุภชลาศัยยังไม่นั่งเรือเล็กกลับมาถึงเรือหลวงสุโขทัย ให้เรือใหญ่ระดมยิงสถานีหนองแกทางทิศใต้ของพระราชวัง และให้ปืนท้ายทลายชะอำด้านเหนือ และปืนกราบอีกสองกระบอก ‘ซัลโว’ ตัวพระราชวังไกลกังวลอย่างเต็มเหวี่ยง

แต่สุดท้าย ภาพนั้นก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่พระสุรเสียงจากรัชกาลที่ 7 ที่ทรงตรัสว่า “นี่เธอจะมาจับฉันใช่หรือไม่”

ก่อนที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินกลับพระครด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 เป็นการกลับพระนครในฐานะพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ​ และพระมหากษัตริย์พระองค์แรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

4.

อย่างไรก็ตาม วันชื่นคืนสุขของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ไม่ได้หอมหวาน การ ‘เอาคืน’ ของระบอบเก่า และความขัดแย้งกันเองในหมู่คณะราษฎร ก็ทำให้รากของการปฏิวัติจบลงภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี หนังสือเล่มนี้สรุปความขัดแย้งของคณะราษฎรไว้อย่างอ่านง่าย และพอจะทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจความขัดแย้งในบรรดาผู้ก่อการ โดยใช้เวลาไม่นานนัก

ความขัดแย้งครั้งที่ 1 คือการเสนอ ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ ของปรีดี ในปี 2476 และการเนรเทศปรีดี ก่อนจะลงท้ายด้วยกบฏพระยาทรงสุรเดช ซึ่งจอมพล ป. จัดการได้เด็ดขาด และมีผู้ที่ถูกสั่งประหารชีวิตรวม 18 ราย

ความขัดแย้งครั้งที่ 2 คือความขัดแย้งระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี ในเรื่องการจัดการช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะท่านผู้นำ เลือกอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น และปรีดีเลือกอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ความขัดแย้งรอบนี้ลากยาวไปจนถึงการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และกลุ่มซอยราชครู นำโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ จับมือกับตระกูลปราโมช และพรรคประชาธิปัตย์ เลือกข้างฝ่ายจอมพล ป. เพื่อจัดการกับปรีดี และส่งปรีดี ไปอยู่ต่างประเทศตลอดกาล

และความขัดแย้งครั้งที่ 3 คือระหว่าง จอมพล ป. และ ปรีดี ที่พยายามยึดอำนาจคืนผ่าน ‘กบฏวังหลวง’ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทว่าล้มเหลว และเมื่อเกิด กบฏแมนฮัตตัน อีกครั้งในปี 2494 คณะราษฎร ก็ถูกฝ่ายทหารบกจัดการอย่างสิ้นซาก

นักประวัติศาสตร์ทราบดีว่าช่วงท้ายของ จอมพล ป. ไม่ได้คงเหลือความเป็น ‘คณะราษฎร’ อยู่แล้ว หากแต่เป็นตัวละครที่ถูกฝ่ายชนชั้นนำ ‘เชิด’ ขึ้นมาเป็นผู้นำ เพื่อรอวันสร้างสถานการณ์ และรอวันถูกเขี่ยทิ้ง

ในที่สุด วันที่ 16 กันยายน 2500 ชื่อของคณะราษฎร ก็เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับการเดินทางออกนอกประเทศหลังการรัฐประหารของ จอมพล ป.

ไม่เพียงเท่านั้น จอมพล ป. ยังได้บันทึกถึง ควง อภัยวงศ์ หนึ่งในผู้ก่อการคณะราษฎร ที่ในเวลาต่อมาไปเป็นผู้ก่อตั้งพรรค และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของ ‘ระบอบเก่า’ และมีส่วนสำคัญในการพยายามจัดการเขา ช่วงต้นทศวรรษที่ 2490 หลังจากควงเดินทางมาเยี่ยมที่ญี่ปุ่น เมื่อปี 2504 หลังการ ‘ลี้ภัย’ ของเขาว่า “ที่จริงไม่อยากพบ เพราะดูดมาก ไร้สาระ โกหกมากด้วยตามเคย” และลงท้ายด้วยการอธิบายควง อดีตสหายผู้ทำการอภิวัฒน์สยามด้วยคำว่า “นายควง อภัยวงศ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่โกหกประชาชนเป็นใหญ่”

“ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้” คำพูดของ จอมพล ป. ในปี 2483 ดูจะเป็นคำพูดร่วมสมัย ถึงการต่อสู้ที่ยังไม่จบสิ้น

5.

อันที่จริงข้อที่ว่าคณะราษฎรล้วนตายไม่ดีนั้นไม่สมเหตุสมผลและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเท่าไรนัก บทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ บันทึกวาระสุดท้ายของสองผู้ก่อการคนสำคัญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบขณะนั่งดูโทรทัศน์ที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมพูดกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามว่า “เธอ ความตายคือความสุข”

ขณะที่ปรีดีก็จากไปอย่างสงบกำลังนั่งเขียนหนังสือในบ้าน ทว่าทั้ง 2 ต้องไปจากไปในต่างประเทศ เพราะด้วยความขัดแย้งกับ ‘ระบอบเก่า’ ระบอบเก่าที่พาพวกเขาต้องระหกระเหิน ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ระบอบเก่าที่กลับมามีอำนาจและแข็งแกร่งส่วนหนึ่งก็ด้วย ‘ความขัดแย้ง’ กันในหมู่ผู้ก่อการด้วยกันเอง

น่าเสียดายที่นับตั้งแต่วันฌาปนกิจ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี 2490 ทั้ง จอมพล ป. และปรีดี ก็ไม่ได้พบกันอีกเลย และยังเป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกันนานนับทศวรรษ และแม้จะมีแนวคิดในการจับมือกัน เพื่อทำการอภิวัฒน์ให้ลุล่วง แต่จอมพล ป. ก็มีอันต้องจากไปเสียก่อน

หลังจากความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของคณะราษฎร และหลังจากการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของการเมืองไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ว่าด้วยคณะราษฎรไม่เคยได้รับการชำระสะสางอย่างสมบูรณ์แบบ ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคืออนุสรณ์สำคัญของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ รูปปั้นของพระยาพหลพลพยุหเสนา และรูปปั้นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศก็หายสาบสูญ แม้แต่ชื่อสนามกอล์ฟ จอมพล ป. ที่ลพบุรี ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนากีฬาเพียงเท่านั้น คงเหลือเพียงรูปปั้นปรีดีที่ยังตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต

คำถามสำคัญก็คือ แล้วมรดกสำคัญที่คณะราษฎรหลงเหลือไว้ในทางประวัติศาสตร์คืออะไร? สิ่งที่ยังฝังมากที่สุดก็คือความคิดเรื่องคนเท่ากัน ความคิดเรื่องที่ว่าไม่ควรมีใครอยู่เหนือใคร และอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย หลักคิดสำคัญที่ฝังไว้ในประเทศนี้ นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475

ทั้งหมดนี้ ไม่มีวันสูญสลาย ไม่มีวันหายไปไหน ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสามัญชนของพวกเขาจะได้รับการพูดถึงทุกแง่มุมในสักวันหนึ่ง วันที่ประชาชนได้รับชัยชนะ

ไม่ว่าในวันนี้ ระบอบเก่าจะ ‘แข็งแรง’ ขึ้นมากเพียงใด และไม่ว่าต้องรออีกนานเพียงใด ‘ระบอบใหม่’ ถึงจะได้รับชัยชนะก็ตาม…

Fact Box

2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน, ผู้เขียน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, สำนักพิมพ์มติชน, จำนวน 440 หน้า, ราคา 440 บาท

Tags: , , , ,