วันนี้ (20 กรกฎาคม 2023) สำนักข่าวเมียนมานาว (Myanmar Now) รายงานว่า ในเมืองมัณฑะเลย์ ทหารและตำรวจแจกใบปลิวที่มีภาพของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย พร้อมกับระบุว่า ดอนหารือกับอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) โดยอ้างคำพูดของดอนที่ระบุว่า ในการหารือ ซูจีระบุว่าเธอไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาของฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ในใบปลิวอ้างข่าวจากสำนักข่าว PanOrient ซึ่งเป็นสำนักข่าวเล็กๆ ของญี่ปุ่นที่รายงานข่าวนี้ภายหลังการประชุม ทว่าหลายฝ่ายต่างก็ตั้งคำถามกับสำนักข่าวนี้ โดยเฉพาะเจ้าของสำนักข่าวอย่าง คาลดอน อัลซารี (Khaldon Azhari) ชาวซีเรีย ที่ช่วยรัฐบาลทหารเมียนมากระจายข่าวโฆษณาชวนเชื่อตลอดมา

PanOrient รายงานว่า ซูจีกล่าวกับรองนายกฯ ไทยว่า เธอไม่ได้สนับสนุน NUG และกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมา และทั้งซูจีกับดอนต่างก็หารือกันจนได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองหน่วยงานถูกกล่าวหาจากรัฐบาลทหารเมียนมาว่า ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก นอกจากนี้ ทั้ง NUG และ PDF ต่างก็เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ทั้งยังบอกด้วยว่า ซูจีสนับสนุนการต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธ

นอกจากนี้ ในใบปลิวยังบันทึกภาพจากบรรดาผู้สนับสนุน NUG ว่า หลายคนผิดหวังที่อองซานซูจีมิได้สนับสนุนพวกเขา

สำหรับสถานที่แจกใบปลิวคือรอบสะพานไม้ ‘อูเป็ง’ แลนด์มาร์กของเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งมีชาวเมียนมาจำนวนมากใช้สัญจร โดยผู้สนับสนุนรายหนึ่งบอกว่า ทหารเมียนมาไม่ได้พูดอะไร เพียงแค่นำใบปลิวมาจับใส่มือเท่านั้น ทว่าหลายคนต่างก็บอกว่า ‘ไม่เชื่อ’ ในเนื้อหาใบปลิวนั้น

กระนั้นเอง ดอนยืนยันเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2023 ว่า การหารือเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ระบุว่า อองซานซูจีพูดถึงกลุ่ม NUG หรือกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไร

จากคำบอกเล่าของดอนกล่าวว่า ตนพบกับซูจีเมื่อหลายวันก่อนการประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยยังยืนยันว่า ซูจีพูดสนับสนุนให้มีการพูดคุยและเจรจาเพื่อหาทางยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเมียนมาหลังรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมจากนักการทูตและรัฐมนตรีเมื่อสื่อมวลชนสอบถามไป อีกทั้งคนเมียนมาส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าซูจีกล่าวเช่นนั้น

ดังนั้น นอกเหนือไปจากการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย สิ่งนี้เป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ประชาคมโลกให้ความสนใจและจับตามายังตัวแทนประเทศไทย จึงเป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อฝั่งตัวแทนจากไทยทำเช่นนี้จะเป็นไปในแนวทางอย่างไร และจะส่งผลใดๆ ต่อการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อหรือไม่

อ้างอิง

https://myanmar-now.org/en/news/myanmar-junta-uses-thai-fm-meeting-to-claim-that-suu-kyi-is-anti-pdf/

Tags: ,