ไต้หวันหมดเงินไปกับการกระตุ้นประชากรให้มีลูกกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) แต่ก็ยังไม่เป็นผล

รัสเซียคิดนโยบายมอบเงินก้อนมูลค่า 7,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.4 แสนบาท) ให้กับทุกครอบครัวที่มีลูก 2 คนขึ้นไป แต่อัตราการเกิดยังลดต่อเนื่อง

สวัสดิการลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรที่ครบครันของหลายประเทศในยุโรป ไม่ได้ช่วยให้อัตราเกิดกระเตื้องขึ้นมากนัก

ฯลฯ 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ที่อุบัติขึ้นทั่วทุกมุมโลก สร้างความตื่นตระหนกให้กับเหล่าผู้นำในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะมีรัฐบาลหัวใสกี่ประเทศพยายามคิดนโยบายที่สร้างสรรค์เพียงใด เพื่อกระตุ้นการมีลูกของประชากร แต่เทรนด์โลกในภูมิภาคต่างๆ ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม

(มีข้อยกเว้นเพียงกลุ่มประเทศยากจนในทวีปแอฟริกาที่อัตราการเกิดยังคงโตต่อเนื่อง เช่น ไนเจอร์ ชาด และคองโก)

‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Ageing Society) คือคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อยขึ้นทุกวัน จากทั้งนักการเมืองและสื่อ เพราะนั่นคือทิศทางที่หลายประเทศกำลังเดินทางไป โดยมีเกาหลีใต้ที่กำลังวิ่งนำลิ่ว และคาดว่าจะเข้าสู่เส้นชัยในสถานะ ‘สังคมสูงอายุระดับสุดยอด’ (Super-Aged Society) ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2025 

นักการเมืองทั่วโลกโน้มน้าวใจคนให้มีลูกด้วยวิธีใดแล้วบ้าง?

1. ไต้หวัน: ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ไต้หวันประสบภาวะอัตราการเกิดถดถอยมาหนึ่งทศวรรษเต็ม พยายามขยับปรับเปลี่ยนนโยบายมาโดยตลอด เริ่มจากนโยบายลาคลอดที่กำหนดให้บริษัทจ่าย 60% ของเงินเดือน ให้กับพ่อแม่มือใหม่ตลอด 6 เดือนที่ลา ก่อนจะเพิ่มเป็น 80% ในปี 2021

นอกจากอนุญาตให้พ่อแม่เด็กลดหย่อนภาษี ลงทุนเงินมหาศาลไปกับการสร้างศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ จัดอีเวนต์หาคู่เพื่อกระตุ้นให้ประชากรแต่งงานมากขึ้น รัฐบาลไต้หวันเคยเสนอจัดหาสัตว์เลี้ยงให้ฟรีๆ หากครอบครัวไหนมีลูกอีกด้วย (แน่นอนว่านอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังถูกประชาชนไต้หวันวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก)

2. สหภาพยุโรป: หลายคนอาจไม่แปลกใจที่บางประเทศในยุโรปเริ่มดำเนินนโยบายเหล่านี้มากว่า 20 ปีแล้ว เช่น 

– ออสเตรียปฏิรูปกฎหมายลาคลอดเมื่อปี 2000 โดยให้แม่เด็กลาคลอดได้จากเดิม 1 ปีครึ่ง เพิ่มเป็น 2 ปีครึ่ง 

– ในลักษณะเดียวกัน บัลแกเรียกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการลาคลอดที่ดีที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยแม่เด็กที่ลาคลอดจะได้รับเงิน 90% ของเงินเดือนเป็นเวลานานถึง 58 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 ปี กับอีก 1 เดือนกว่าๆ

– เยอรมนีหันมาลงทุนกับสวัสดิการบริบาลเด็กเล็กในปี 2013 โดยกำหนดให้เด็กทุกคนที่อายุครบ 1 ขวบ มีสิทธิเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กทันทีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อการันตีว่าเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาระดับปฐมวัย

– สำหรับประเทศที่ใช้นโยบายสวัสดิการเงินก้อน นอกจากรัสเซียที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ยังมีกรีซที่ทดลองนโยบาย ‘เบบี้โบนัส’ ที่จะจ่ายให้แต่ละครอบครัวตามจำนวนลูกที่เกิดมา รวมถึงฮังการีที่คิดโครงการปล่อยกู้เงิน 3 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 ล้านบาท) ให้คู่แต่งงานใหม่ โดยจะยกหนี้ให้ทันที 100% หากมีลูกครบ 3 คน

ความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนที่ดันกลายมาเป็นฝันร้ายของ Policy Makers

ในแง่หนึ่ง อัตราการเกิดที่ต่ำลงในประเทศหนึ่ง มักเป็นผลลัพธ์จาก ‘ความสำเร็จ’ ในการกระจายการเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดและองค์ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวไปสู่ประชากรทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรหญิงที่ควบคุมร่างกายไม่ให้ตนเองตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่พร้อมได้มากขึ้น 

เห็นได้จากตัวอย่างสำคัญคือสหรัฐฯ ภายหลังคดีประวัติศาสตร์ (Roe v. Wade) ที่ทำให้สตรีอเมริกันเข้าถึงสิทธิที่จะทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายในหลายรัฐ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่การคุมกำเนิดเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวเลขสถิติการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นอเมริกันก็เริ่มลดลงทีละน้อยทุกปี ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่ออัตราการเกิดโดยรวมของทั้งประเทศด้วย

คล้ายกับที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเกิดน้อยด้วยชุดคุณค่าที่มีความอนุรักษนิยม จนถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้ง

การเกิดเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่

คนไทยไม่อยากมีลูก นี่คือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย

อยากฝากรณรงค์ให้หญิงไทยมีลูก เพื่อลดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม

นักการเมืองอเมริกันส่วนหนึ่งมักใช้วาทกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงการทำแท้งถูกกฎหมาย เข้ากับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงมาโน้มน้าวใจโหวตเตอร์ เช่น ไมค์ จอห์นสัน (Mike Johnson) ส.ส.พรรครีพับลิกัน ควบตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่กล่าวว่า ผลการตัดสินคดี Roe v. Wade คือเหตุที่นำมาสู่การสูญเสียแรงงานอเมริกัน

“หากเรายังมีแรงงานที่มีเลือดเนื้อร่างกายเหล่านั้น (ทารกที่สูญเสียไปผ่านการทำแท้ง) อยู่ในระบบเศรษฐกิจของเราวันนี้ เราคงไม่ต้องเผชิญกับความกลับตาลปัตรจนล้มหัวทิ่มหัวตำอย่างที่เป็นอยู่นี้”

สุดท้าย ทั้งสุนทรพจน์และคำอภิปรายหนุนค่านิยมดั้งเดิมของนักการเมืองฝ่ายขวา หรือแม้แต่ความพยายามในการคิดค้นสวัสดิการระยะสั้นมากมายของนักการเมืองฝ่ายซ้าย กลับไม่ส่งผลเชิงบวกต่อการตัดสินใจที่จะมีลูกของประชาชนในประเทศอยู่ดี

การสร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ อาจเป็นคำตอบที่ยั่งยืนกว่า?

ฟิลลิป โคเฮน (Philip Cohen) ศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (University of Maryland) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์ประชากรศาสตร์และโครงสร้างครอบครัว ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ความพยายามทั้งหมดนี้ไม่เป็นผล เพราะปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกของคนในสังคม เช่น จำนวนวิธีการคุมกำเนิดที่เพิ่มขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้น หลุดออกจากการควบคุมผ่านกลไกนโยบายของรัฐไปแล้ว ในขณะที่อัตราการเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มสูง ทำให้ประชากรเริ่มรู้จักแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ค่าเสียโอกาสของการมีลูก’ มากขึ้น

“โดยพื้นฐานคือผมไม่เห็นด้วยกับการนำการเพิ่มอัตราการเกิดมาเป็นเป้าหมายของนโยบาย ณ จุดนี้ไม่ว่าคุณจะกระตุ้นอย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีโอกาสเกิดผลเสียแล้ว ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับยังน้อยและใช้เวลาระยะยาวมากด้วย” โคเฮนกล่าว

แทนที่จะมัวพยายามกระตุ้นอัตราการเกิด ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า เหล่า Policy Makers ควรหันมาลงทุนกับประชากรที่มีอยู่แล้ว สนับสนุนความสำเร็จของพวกเขา และเพิ่มทางเลือกให้พวกเขาออกแบบครอบครัวตามที่ตัวเองอยากมีได้ ผ่านความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายเช่นเดียวกับที่หลายประเทศลงมือทำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาลาคลอดที่เพียงพอและได้รับค่าตอบแทน ระบบการศึกษาฟรีถ้วนหน้าที่มีคุณภาพ และสวัสดิการแรงงานที่เป็นธรรม

แม้สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลให้อัตราการเกิดกลับมาเพิ่มขึ้นโดยตรง แต่สิ่งที่จะเพิ่มขึ้นในกระบวนการเหล่านี้อย่างแน่นอน คือคุณภาพชีวิตของประชาชนและความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล เมื่อประชาชนมีความสุขและเชื่อมั่นรัฐบาลของตัวเอง เราจึงจะกลับมามีหวังเรื่องอัตราการเกิดได้ 

เช่นเดียวกับฟินแลนด์และนอร์เวย์ที่เข้าสู่เฟส ‘เบบี้บูม’ ขนาดย่อม ในปี 2021 เพราะรัฐบาลสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง อีกทั้งยังทำให้พวกเขาพบสมดุลในชีวิตที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น จากการ Work From Home หลังการระบาดของโควิด-19

“มันดีกว่าที่จะคอยช่วยเหลือประชากรให้สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ แล้วปล่อยให้พวกเขาตัดสินใจเอง” โคเฮนยืนยัน

อ้างอิง

https://www.vox.com/23971366/declining-birth-rate-fertility-babies-children

https://www.nordicstatistics.org/news/all-time-low-nordic-fertility-rates/ 

https://www.thelancet.com/journals/lanwpc/article/PIIS2666-6065(23)00183-9 

https://www.latimes.com/world-nation/story/2023-10-24/taiwan-government-matchmaker-plummeting-birth-rate 

https://www.nationalgeographic.com/history/article/the-pandemic-delivered-a-surprise-to-nordic-countries-a-baby-boom 

https://www.thairath.co.th/news/politic/2746121 

Tags: , , , , , , , , , ,