ใครจะคิดว่า ‘เกาหลีใต้’ ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีค่าจีดีพีน้อยกว่ากานาและเกาหลีเหนือ วันนี้จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก 

BTS และ Blackpink ขึ้นแท่นศิลปิน​ K-Pop ที่มีฐานแฟนคลับมากที่สุด หนังเรื่อง Parasite (2019) และ Minari (2020) สามารถกวาดรางวัลบนเวทีออสการ์มาครองได้ ขณะซีรีส์ Squid Game (2021) สร้างปรากฏการณ์มีผู้ชมสูงสุดใน 90 ประเทศ และทำให้นักแสดงนำกลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์เพียงชั่วข้ามคืน 

ทั้งหมดนี้เกาหลีใต้ทำได้อย่างไร?  

หนังสือ กำเนิดกระแสเกาหลี (The Birth of Korean Cool) ของ ยูนี ฮง (Euny Hong) ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่ย้ายบ้านจากชานเมืองชิคาโกไปอยู่ย่านกังนัมในปี 1985 ยุคก่อนเปลี่ยนผ่าน จะพาเราไปค้นคำตอบว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จ 

‘ฮาน’ ความเจ็บปวดที่กลายมาเป็นแรงผลักดัน  

ยูนี ฮง เป็นชาวอเมริกันเชื้อชายเกาหลี ในครอบครัวมีฐานะทางการเงินและการศึกษาที่ดี ฮงใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาจนถึงอายุ 12 ปี ก่อนมีเหตุให้ต้องย้ายตามครอบครัวกลับมายังกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยพักอาศัยอยู่ ‘อัพกูจอง’ ย่านคนรวยซึ่งขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในเขตกังนัม แต่กรุงโซลในปี 1985 นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรุงโซลในปัจจุบัน ห้องน้ำสาธารณะยังเป็นแบบนั่งยอง ไฟดับน้ำไม่ไหลเป็นเรื่องปกติ และเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงก็ยังเป็นของห่วยที่ใช้ไปกลัวระเบิดไป เรื่องราวการผจญภัยของเด็กสาวจากประเทศโลกที่หนึ่งในประเทศโลกที่สามจึงเริ่มต้นขึ้น  

ในหนังสือมีทั้งส่วนที่ฮงบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อมาเจอวัฒนธรรมบางอย่างของเกาหลีที่ต่างคนละขั้วกับโลกที่เธอจากมา รวมถึงพาไปถอดประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของผู้คนมากหน้าหลายตาจากหลายวงการเพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นต่างๆ และข้อสรุปหนึ่งที่ค้นพบคือ ผู้คนเหล่านั้นต่างเชื่อว่า ‘ฮาน’ เป็นแก่นความสำเร็จของเกาหลี  

ฮงอธิบายว่า ‘ฮาน’ คือความเจ็บปวดร่วมของคนเกาหลีที่โดนชะตากรรมเฆี่ยนตีมากว่า 5 พันปี ในประวัติศาสตร์คาบสมุทรเกาหลี พวกเขาโดนรุกรานมาแล้วถึง 400 ครั้ง ฮานจึงเป็นประสบการณ์โดยรวมของชนชาติหนึ่งที่สามารถสืบทอดกันได้ ตามแนวคิดของ คาร์ล ยุง ที่กล่าวว่าความทรงจำของบรรพบุรุษสามารถถูกถ่ายทอดไปทางดีเอ็นเอหรืออย่างน้อยก็ในจิตใต้สำนึกโรคประสาทที่คนรุ่นปัจจุบันเป็นอยู่ เพราะในเกาหลีนั้นมีโรคที่เรียกว่า ‘ฮวาบยอง’ ซึ่งเกิดจากฮาน โดยมีการบันทึกไว้ในทางการแพทย์อยู่ในกลุ่มโรคเฉพาะทางวัฒนธรรมตามคู่มือด้านการวินิจฉัยและเชิงสถิติของอาการโรคทางจิตฉบับที่ 4 DSM-IV ด้วย 

ฮานอาจเป็นความทรมานที่ไม่มีวันลดน้อยลง มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นและสืบทอดต่อไป ทว่าชาวเกาหลีไม่ถือว่าฮานเป็นข้อด้อย แต่มองเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาฮึดสู้  ฮานจึงล้วนแทรกซึมไปอยู่ในหนัง ซีรีส์ เพลง และเป็นเหตุผลว่าทำไมสื่อบันเทิงที่เกาหลีส่งออกมาถึงมักสร้างน้ำตาให้เราอยู่เสมอ เพราะการร้องไห้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการไปแตะฮาน แตะความอยากหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่คนเกาหลีต้องเผชิญ 

‘ความอับอาย’ ที่ต้องกู้หน้าด้วยความสำเร็จ

นอกจากฮาน ความหน้าบางของคนเกาหลีก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จเช่นกัน ฮงเล่าย้อนไปว่าเศรษฐกิจของเกาหลีเดินมาถึงทางตันในปี 1997 และถ้าไม่มีวิกฤตนี้อาจไม่มีกระแสนิยมเกาหลี หรือ ฮอลยู (Hallyu) เกิดขึ้น เพราะวิกฤตครั้งนั้นรัฐบาลเกาหลีต้องไปขอกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สูงกว่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

วันที่รัฐบาลเกาหลีขอกู้เงินเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งความอัปยศของชาติ’ และในสายตาของชาวเกาหลีการต้องไปขอกู้เงินเป็นบาดแผลที่โหดร้ายที่สุด เกาหลีจึงสามารถเร่งใช้หนี้ได้หมดก่อนครบกำหนดชำระถึง 3 ปี และเป็นตัวจุดประกายให้เกิดแนวคิดส่งออกวัฒนธรรมกระแสนิยมขึ้นมา 

แทนที่จะผลักดันเทคโนโลยีสารสนเทศ คิม แดจุง (Kim Dae-jung) ประธานาธิบดีสมัยนั้น กลับรู้สึกประหลาดใจกับจำนวนเงินที่สหรัฐอเมริกาได้จากหนังและสหราชอาณาจักรได้จากละครเวที เขาจึงตัดสินใจใช้ความบันเทิง 2 ประเภทนี้เป็นบรรทัดฐานในการสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกระแสนิยมเกาหลี 

แน่นอนว่า ในตอนนั้นเขาดูเป็นคนเสียสติ เพราะวัฒนธรรมกระแสหลักถูกผูกขาดโดยอเมริกามายาวนาน มิหนำซ้ำจะมาส่งออกตอนประเทศกำลังขรุขระในช่วงวิกฤตการเงินอีก แต่ความบ้านี้ก็มีเหตุผลเพราะวัฒนธรรมไม่ต้องใช้สาธารณูปโภคมหาศาลในการลงทุน สิ่งที่ต้องการคือเวลาและความสามารถเท่านั้น ซึ่งคนเกาหลีวันนี้อาจนึกขอบคุณที่คิม แดจุง คิดไม่ผิด 

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่เกาหลีเปลี่ยนผ่านเพียงพริบตาเดียว

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 ในยุคที่โลกเปลี่ยนกันเป็นวินาที จึงเลี่ยงไม่ได้หากบางตัวอย่างที่ฮงหยิบยกมาพูดถึงจะตกสมัยไปแล้ว 

ยุคนั้นทุกคนร้อง ‘โอปป้ากังนัมสไตล์’ พลางกระโดดเต้นท่าควบม้าได้หมด และ PSY ก็สร้างปรากฏการณ์ที่เป็นเหมือนใบเบิกทางให้ศิลปิน K-Pop ตีตลาดโลก แต่ความโด่งดังของ BTS และ Blackpink ในวันนี้ไปไกลเกินกว่าที่ PSY ปูทางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว หรือหนัง Oldboy (2003) ของพัคชานวุคที่เคยไปถึงคานส์ ทุกวันนี้เกาหลีมี Parasite (2019) ถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกว่าเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่ชนะรางวัลออสการ์ ซึ่งสะท้อนความเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเกาหลีอีกทางหนึ่งเหมือนกัน ทว่าสิ่งที่ฮงช่วยให้คนอ่านเข้าใจมากกว่าเรื่องเทรนด์ คือเรื่องจุดตั้งไข่ของกระแสนิยมเกาหลีว่าประกอบสร้างขึ้นมาจากประวัติศาสตร์ชาติ การเมือง และวัฒนธรรมร่วมของคนในสังคม ที่ไม่ใช่ใครจะสามารถเลียนแบบได้

สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการสร้างชาติผ่านวัฒนธรรมของเกาหลีนั้น พวกเขาไม่คิดแบบเป็นภาพเดียว แต่วางโครงสร้างรากฐานต่างๆ ให้ส่งเสริมกัน ทำไมเกาหลีถึงได้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเร็วอันดับต้นๆ ของโลก เพราะรัฐบาลมองขาดว่าการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลกขึ้นอยู่กับการดำรงอยู่ของอินเทอร์เน็ต รัฐบาลจึงอุดหนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้แก่คนทุกกลุ่ม

ทำไมรัฐบาลถึงยอมใช้เงินลงทุนถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปลุกปั้นวัฒนธรรมกระแสหลัก เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันเป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ Soft Power ที่จะโกยรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล ทำไมสินค้าและวัฒนธรรมเกาหลีถึงครองใจประเทศโลกที่สาม เพราะเกาหลีเองก็เคยเป็นประเทศโลกที่สามมาก่อน และมีนักเศรษฐศาสตร์ทำงานอย่างหนักเพื่อประเมินว่าประเทศไหนจะร่ำรวยขึ้นหรือมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น 

คำที่เกาหลีประกาศกร้าวว่า ‘ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของพวกเขา เหมือนครั้งหนึ่งศตวรรษที่ 20 เคยเป็นของอเมริกา’ ยิ่งฉายภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อซีรีส์ เพลง หนัง วิดีโอเกม และรามยอน ได้ขยายการครอบงำทางวัฒนธรรมจากในหมู่ประเทศเอเชียไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วทุกโลก 

Fact Box

  • กำเนิดกระแสเกาหลี (The Birth of Korean Cool), ผู้เขียน: Euny Hong , ผู้แปล: วิลาส วศินสังวร, ออกแบบปก: Chalermpun Punjamapirom, สำนักพิมพ์: เอิร์นเนสต์ (Earnest)
Tags: , , , , ,