วันที่ 23 กรกฎาคม 2023 เป็นวันเลือกตั้งของหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ การลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้ชิดกับไทย
ดูเหมือนว่า กัมพูชามีการเลือกตั้งด้วยกติกาตามหลักสากลที่หลายคนมักพูดติดปาก คือ ‘เสรี’ และ ‘เป็นธรรม’ เมื่อประชาชนราว 9.7 ล้านคน มีตัวเลือกถึง 18 พรรคการเมืองในการทำหน้าที่ผู้แทนประจำรัฐสภา
แต่เรื่องราวไม่ง่ายดายดังที่ใครหลายคนคิด แม้การเลือกตั้งกัมพูชาจะมีตัวเลือกมากมายหลายพรรค แต่นักวิเคราะห์ต่างฟันธงล่วงหน้าว่า ฮุน เซน (Hun Sen) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะครั้งนี้อย่างถล่มถลาย ไม่ต่างจากการเลือกตั้งปี 2018 เมื่อพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) กวาดคะแนนเสียง 77.5% จากทั้งประเทศ
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกลยุทธ์อันสกปรกและวิธีการอันไม่ชอบเพื่อสืบทอดอำนาจของ ฮุน เซน ชายผู้ครองอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาเกือบ 4 ทศวรรษ
ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสุดคลาสสิก คือการยุบพรรคการเมืองคู่แข่ง นับตั้งแต่ ‘พรรคสงเคราะห์ชาติ’ (Cambodia National Rescue Party: CNRP) ในปี 2018 หรือ ‘พรรคแสงเทียน’ (Candlelight Party หรือ SPR ในภาษากัมพูชา) มรดกที่ยังคงเหลืออยู่จากพรรคสงเคราะห์ชาติ
รวมถึงการกวาดล้างจำคุกผู้คนที่คิดต่อต้านเขาหลายชีวิต ดังการคุมขัง เขม โสกา (Kem Sokha) อดีตผู้นำฝ่ายค้าน ในบ้านพักเป็นเวลา 27 ปี หลังถูกกล่าวหาในความผิดฐานกบฏ และสมคบคิดกับชาวต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายประเทศชาติผ่านการสนับสนุน ‘ปฏิวัติสี’ (Colour Revolution)
ร้ายแรงกว่านั้น ฮุน เซนยังใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อกำราบฝ่ายต่อต้านในการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยการคุกคามประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง เมื่อ อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานสถานการณ์การเลือกตั้งของประเทศกัมพูชาในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวมากกว่าความไว้ใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
“ฉันเกรงว่า พวกเขาจะเช็กชื่อผู้ลงคะแนนเสียง” พัลลี (Phally) หญิงนิรนามอธิบายกับอัลจาซีราว่า ฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชา อาจเข้าถึงข้อมูลการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และหากผู้นำเผด็จการรู้ว่าใครไม่ลงคะแนนเสียง ปัญหาอาจตามมาในภายหลัง
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นจากคำพูดของ ฮุน เซนในเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม และก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคม
“เลือกเอาว่า คุณจะถูกกฎหมายเล่นงานในชั้นศาล หรือให้ผมเกณฑ์ผู้คน (ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชา) ไปประท้วงและทุบตีคุณ” เขากล่าว
บ่อเกิดของความหวาดกลัวของชาวกัมพูชา ยังรวมถึงการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่อแววไปในทิศทางคุกคามเสรีภาพของพลเมือง เช่น ประชาชนอาจถูกปรับฐาน ‘ยุยง’ หากแนะนำหรือกระทำการขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นลงคะแนนเสียง และห้ามทำลายบัตรเลือกตั้ง
การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเลือกตั้งสร้างความสับสนให้กับประชาชน หลังผู้มีสิทธิเลือกตั้งนิรนามรายหนึ่งเปิดเผยว่า เธอรู้สึกมึนงงกับกฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเธอไม่เข้าใจว่า จะต้องพบเจอกับบทลงโทษแบบใด ในกรณีที่ไม่ลงคะแนนเสียง
“รัฐบาลไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสบายใจทั้งร่างกายและจิตใจเลย” เธอแสดงความรู้สึกกับการเลือกตั้งครั้งนี้
ขณะที่ โซฟาล เออร์ (Sophal Ear) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า การเลือกตั้งกัมพูชาอาจเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้คน มากกว่าการสร้างความเป็นธรรมตามระบอบเสรีประชาธิปไตย
“ท้ายที่สุด นี่คือการเลือกตั้งที่ผู้คนไม่มีแม้แต่ทางเลือกเช่นนั้นหรือ? จีนก็มีการเลือกตั้ง สหภาพโซเวียตก็มี (…)” เขาอธิบายว่า การเลือกตั้งในกัมพูชาเป็นเพียง ‘พิธีกรรม’ โดยเปรียบเทียบกับหลายประเทศเผด็จการทั่วโลก
ทัศนคติของผู้คนกัมพูชากับการเลือกนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในปี 2023 ตรงกับการให้สัมภาษณ์ของ คิม ซก (Kim Sok) นักวิเคราะห์การเมืองที่กำลังลี้ภัยหลังจากถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาท 2 ข้อหาจากรัฐบาล
คิม ซกอธิบายถึงกลยุทธ์ฉบับดั้งเดิมของฮุน เซน คือการสร้างความหวาดกลัวด้วยการเรียกชื่อผู้วิพากษ์วิจารณ์เขาต่อหน้าสาธารณะ เพื่อข่มขู่ผู้เห็นต่างและเตือนคนอื่นๆ ให้เลิกวิจารณ์ตนเอง
“ผู้คนมากมายไม่สนับสนุนเขา และต้องการความเป็นธรรมและระบอบประชาธิปไตย
“นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไม ฮุน เซนยังข่มขู่ผู้คนต่อไปเรื่อยๆ อยู่” เขากล่าวและอธิบายเสริมว่า วิธีการข้างต้นทำให้ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับ ฮุน เซนจำใจลงคะแนนเสียงด้วยความกลัว
แม้จะเต็มไปด้วยความกลัว แต่ สม รังสี (Sam Rainsy) อดีตผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา ให้ความเห็นที่แตกต่างผ่านบทความของเขาในเว็บไซต์เดอะดิโพลแมต (The Diplomat) ว่า การเลือกตั้งกัมพูชาในปี 2023 อาจมีทางออก หากประชาชนจำนวนมากไม่เลือกทั้ง 18 พรรคการเมือง ด้วยการ ‘ทำบัตรเสีย’ เพื่อต่อต้านกระบวนการเลือกตั้งที่ออกแบบสำหรับ ฮุน เซนและพรรคประชาชนกัมพูชา
เขาให้เหตุผลว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น หากเผยแพร่บัตรเสียต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งแสดงถึงแรงสนับสนุนประชาธิปไตยอันแข็งแกร่งทางอ้อม เนื่องจากประชาชนไม่สามารถรวมตัวชุมนุม ประท้วง หรือนัดหยุดงานได้โดยตรง เพราะความหวาดกลัวต่อการปราบปรามจากรัฐบาล
“การทำให้บัตรลงคะแนนเสียงเป็นโมฆะในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ จะช่วยให้ผู้คนแสดงออกโดยปราศจากความเสี่ยง สัญลักษณ์ทางการเมืองนี้จะได้รับปกป้องด้วยความลับของการลงคะแนนเสียง นี่เป็นโอกาสไม่กี่ครั้งที่จะแสดงความเห็น จำนวนบัตรเสียจะเป็นมาตรวัดสิ่งเหล่านี้เอง” ข้อความส่วนหนึ่งจากสม รังสี
เขาอ้างว่า ฮุน เซนไม่สามารถคุกคามผู้คนด้วยบัตรเสียได้ แม้ว่าผู้นำเผด็จการจะต้องการก็ตาม เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อความชอบธรรมของเขาต่อเวทีทั่วโลก และความเสี่ยงต่อการล่มสลายของตระกูลฮุน โดยเฉพาะการผลักดันกระบวนการสืบทอดอำนาจของ ฮุน มาเนต (Hun Manet) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดในกองทัพกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง เพราะมีความคิดตรงกันข้ามอีกมากมายที่มองว่า วิธีการดังกล่าวมีความเป็นอุดมคติ และ ‘ประมาท’ ชายผู้ครองอำนาจทางการเมืองเกือบ 40 ปี มากเกินไป
เพราะจากเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ฮุน เซน สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง เขาอาจเล่นงานฝ่ายต่อต้านรัฐบาลผ่านข้อห้ามในกฎหมายเลือกตั้งด้วยการตีความว่า การทำบัตรเสียมีความผิดตามข้อหาทำลายบัตรเลือกตั้งก็เป็นได้
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ควรคำนึง คือ ‘ความกล้าหาญ’ ของผู้คนในประเทศที่พร้อมใจต่อต้านฮุน เซน ซึ่งนับว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะประชาชนคุ้นชินกับการปกครองด้วย ‘วาทกรรมและความกลัว’ เสมือนเชือดไก่ให้ลิงดูมาตลอดเป็นระยะเวลา ‘เกินครึ่งชีวิต’ ของคนหนึ่งคน
นี่จึงเป็นบทสรุปอันเลือนรางสำหรับการเลือกตั้งกัมพูชาที่กำลังจะถึง และต้องคอยติดตามต่อไปว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งผลการเลือกตั้งจะสามารถสะท้อนอนาคตของกัมพูชาที่กำลังโหยหาเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ต่างจากหลายประเทศในอาเซียน
อ้างอิง
https://www.aljazeera.com/news/2023/7/15/fear-and-voting-in-cambodias-one-horse-election-race
https://www.rfa.org/english/news/cambodia/election-05082023184206.html
Tags: อาเซียน, เลือกตั้งกัมพูชา 2023, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ฮุน มาเนต, Cambodia, กฎหมายเลือกตั้ง, พรรคประชาชนกัมพูชา, พรรคสงเคราะห์ชาติ, บัตรเสีย, ยุบพรรคการเมือง, ฮุน เซน, การเมืองกัมพูชา, การเลือกตั้ง, เลือกตั้งสกปรก, ASEAN, พรรคแสงเทียน, กัมพูชา, Hun Sen