นอกเหนือจากการเลือกตั้งของประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่กำลังจะถึงในอีกไม่ช้า อาเซียนยังมีอีกหนึ่งการลงคะแนนเสียงครั้งสำคัญ อย่างการเลือกตั้งของกัมพูชาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2023

การเลือกตั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2018 หลังจากฮุน เซน (Hun Sen) ผู้นำจาก ‘พรรคประชาชนกัมพูชา’ (Cambodian People’s Party: CPP) ได้รับคะแนนอย่างล้นหลามถึง 77.5% หรือคิดเป็นที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 125 ที่นั่ง แม้จะมีเสียงประท้วงจากชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (European Union: EU) ถึงกระบวนการไม่โปร่งใส่ในการเลือกตั้ง หลังจาก ‘พรรคสงเคราะห์ชาติ’ (Cambodia National Rescue Party: CNRP) คู่แข่งสำคัญของพรรค CPP ถูกยุบลงโดยศาลสูงสุด ด้วยข้อหาล้มล้างรัฐบาลผ่านการประท้วง และมีสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง

การเลือกตั้ง 2023 กับทายาททางการเมืองคนสำคัญ ‘ฮุน มาเนต’ : สัญญาณถึงอนาคตกัมพูชาในวันที่ไม่มีฮุน เซน

การเลือกตั้งของพนมเปญในเดือนกรกฎาคม มีความพิเศษที่ต้องจับตามอง เมื่อชายผู้มีอำนาจทางการเมืองเกือบ 4 ทศวรรษ กล่าวเป็นนัยสำคัญว่า เขาจะวางมือทางการเมือง ถึงแม้ฮุน เซนเคยสาบานต่อหน้าประชาชนในปี 2018 ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงปี 2028 ก็ตาม

“ตอนนี้กัมพูชาเจอคนรุ่นใหม่ที่มาแทนที่พวกเราแล้ว เราควรส่งต่อ และอยู่ข้างหลังพวกเขาเสียดีกว่า” เขากล่าวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ‘คนรุ่นใหม่’ คือ ทายาททางการเมืองของฮุน เซน ที่ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก ‘ฮุน มาเนต’ (Hun Manet) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 45 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศ อย่างผู้บัญชาการกองทัพแห่งกัมพูชา หัวหน้ากองกำลังต่อต้านการก่อการร้าย อีกทั้งยังมีบทบาทในพรรค CPP คือ การเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการถาวรของพรรค และว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากฮุนเซนวางมือในอนาคต 

ฮุน มาเนตในการพบนายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ  ที่มา: Reuters

ซึ่งก็ตรงกับการรายงานของแหล่งข่าวใกล้ชิดกับรัฐบาลว่า ฮุน เซนอาจส่งต่ออำนาจในมือให้กับ ฮุน มาเนต โดยเวลาที่เป็นไปได้มากที่สุดคือช่วงหลังการเลือกตั้งวุฒิสภาปี 2024

ฮุน เซนจะคงอยู่ในอำนาจต่อไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ไหม?

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังมองว่า ฮุน เซน ในการนำพรรค CPP มีโอกาสชนะในการเลือกตั้งปี 2023 มากที่สุด อ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นของชาวกัมพูชา โดยนายเบน โสเคียน (Ben Sokhean) นักข่าวจาก Khmer Times 

เขาอธิบายว่า พรรคประชาชนกัมพูชามีโอกาสได้เก้าอี้ในสภาถึง 104 ที่นั่ง หรือ 83.2% ในขณะที่คู่แข่งอย่างพรรคเพลิงเทียน (Candlelight Party) ซึ่งก่อตั้งจากสมาชิกที่เหลือของการยุบพรรคสงเคราะห์แห่งชาติ อาจมีที่นั่งเพียง 21 เก้าอี้ หรือ 16.8% แต่ผลการวิเคราะห์นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรค CPP ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยการคิดเป็นคะแนน 92% ของทั้งหมด

แนวโน้มการคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฮุน เซน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะตลอดการดำรงตำแหน่ง เขามีกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจเป็นอย่างดี เริ่มจากกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม เช่น การล่มสลายของพรรค CNPR ในปี 2018 และการปราบปรามประชาชน กลุ่มนักกิจกรรม และนักสิทธิมนุษยชน โดยใช้วิธีการดำเนินคดี จำคุก และเนรเทศ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กึม สุขขา อดีตหัวหน้าพรรคสงเคราะห์แห่งชาติ ถูกจับกุมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ในข้อกล่าวหา ‘ทรยศชาติ’ โดยรัฐบาลกัมพูชาอ้างหลักฐานด้วยวิดีโอการปราศรัยของเขาในปี 2013 ว่ามีสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง

วาทกรรมเกลียดกลัวเพื่อนบ้านและสงคราม: อาวุธลับของ ฮุน เซน เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมในทุกการเลือกตั้ง

กลยุทธ์รักษาอำนาจของฮุน เซน ยังรวมไปถึงการสร้างความหวาดกลัวและปลุกกระแสชาตินิยมให้กับประชาชนผ่าน ‘วาทกรรมสงครามและความเกลียดชังต่อเพื่อนบ้าน’ ซึ่งก็ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเพิ่มคะแนนเสียงให้กับตนเองเช่นกัน 

มีรายงานจากสำนักข่าว UCANews ว่า ฮุน เซนประกาศกร้าวในพิธีจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอเชีย-ยูโร เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2022 ถึงการเกิดขึ้นของสงครามกลางเมืองในกัมพูชาอีกครั้ง หากพรรคประชาชนกัมพูชาแพ้เลือกตั้ง เพราะพรรคคู่แข่งอย่างพรรคเพลิงเทียนมีนโยบายยึดทรัพย์สินจากคนรวย เพื่อนำไปให้คนจน อีกทั้งจะก่อความรุนแรงจากการทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไปจากไทยและเวียดนาม

“ผมพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าสงครามจะเกิดขึ้น หากพรรคของเราไม่ชนะการเลือกตั้งด้วย 2 เหตุผล คือนโยบายการยึดทรัพย์สินจากคนรวยไปสู่คนจนของพรรคฝ่ายค้าน  และการทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไป…รวมถึงนโยบายอื่นๆ ในการปลุกระดมประชาชนให้เกลียดชังต่อรัฐบาล” ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์จากผู้นำ 4 ทศวรรษต่อนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอเชีย-ยูโร

ในขณะเดียวกัน ธัช เศรษฐา (Thach Setha) รองหัวหน้าพรรคเพลิงเทียนออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของฮุน เซนว่า เป็นเพียงจินตนาการของเขาเพียงฝ่ายเดียว เพราะอันที่จริงกัมพูชาไม่มีอาวุธจะทำสงครามเลยด้วยซ้ำ

“ในยุคนี้ การแก้ปัญหาของชาติไม่ควรเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางทหาร แม้ว่าเวียดนามมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีกับกัมพูชา แต่เราไม่ต้องการทำสงครามกับเพื่อนบ้าน” เขากล่าว

วาทกรรมสงครามและความเกลียดชังต่อเพื่อนบ้านมักถูกนำมารื้อฟื้น และผลิตซ้ำในทุกการเลือกตั้งอยู่เสมอ เพราะในปี 2013 ฮุน เซนพูดเช่นเดิมว่า ทั้งสงครามระหว่างเพื่อนบ้านกับเวียดนามและสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้น หากพรรคสงเคราะห์ชาติชนะการเลือกตั้ง 

ซึ่งพรรคฝ่ายค้านก็ออกมาปฎิเสธข้อกล่าวหานี้ และระบุว่าไม่มีนโยบายสร้างสงคราม ถึงแม้จะเคยให้คำมั่นในการหาเสียงว่า จะนำเกาะตราล (หรือเกาะฟู้โกว๊ก) มาคืนให้ชาวเขมรจากเวียดนาม ถ้าพวกเขาได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล

รวมถึงในปี 2017 คำขู่ของฮุน เซนยังปรากฏเหมือนเคย หากแต่รุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากพรรคประชาชนกัมพูชาเกือบพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2013 ด้วยคะแนนที่สูสีกับพรรคฝ่ายค้าน 

“สงครามเกิดแน่ ถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะขึ้นมา…พวกมันบอกว่าจะทำลายตระกูลฮุนเป็นอันดับแรก ผู้สนับสนุนฮุน เซนต้องไม่นิ่งเฉย

“เราไม่จำเป็นต้องใช้ปืนเพื่อก่อสงครามเลยซักนิด เพราะสงครามเกิดได้ด้วยคำพูด ถ้าพรรค CPP หมดความอดทน และไปที่หน้าบ้านของพวกคุณเพื่อเผาทั้งเป็น 

“ทางออกเดียวนั่นก็คือ พรรคของเราต้องชนะการเลือกตั้งทุกขั้นตอน” เขาขู่ต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ประวัติศาสตร์บาดแผลของกัมพูชาที่ถูกซ่อนในวาทกรรม: 4 ปีนรกภายใต้เผด็จการและสงครามกลางเมือง

สาเหตุที่ฮุน เซน มักหยิบยกเรื่องสงครามและความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง เพราะฝันร้ายของคนกัมพูชาคือเรื่องราวการครองอำนาจของกลุ่มเขมรแดง (Khmer Rouge) 4 ปี นำโดย ‘พล พต’ (Pol Pot) ซึ่งในอดีต ฮุน เซนเคยเป็นหนึ่งในสมาชิก ก่อนหนีไปร่วมกับฝ่ายต่อต้านเขมรแดงในเวียดนามภายหลัง

การครอบงำกัมพูชาของเขมรแดง นำมาสู่การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามครั้งสำคัญ เริ่มจากกลุ่มผู้มีความรู้ กลุ่มชนชั้นนำ และนายทุน เพราะขัดต่อเป้าหมายการสร้างสังคมอุดมคติภายใต้ระบบคอมมูนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา จนมีผู้เสียชีวิตนับล้านด้วยความเหนื่อยล้าจากการใช้แรงงาน การขาดสารอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ และการถูกซ้อมทรมานจากรัฐจนถึงตาย

 อีกทั้งยังเกิดสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่ กินระยะเวลานานถึง 11 ปี เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาในปี 1978 และเรื่องราวสิ้นสุดในปี 1989 แม้ชาวกัมพูชาบางส่วนรอดพ้นภายใต้เงื้อมมืออันโหดร้ายของกลุ่มเขมรแดง แต่นั่นก็ไม่ได้รับรองความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการวิพากษ์ถึง ‘วันกำเนิดใหม่ของชาติ’ 7 มกราคมว่า ชาวกัมพูชาสมควรยินดีอยู่หรือไม่ เพราะวันปลดปล่อยประชาชนจากกลุ่มเขมรแดง เป็นวันที่ชาติถูกรุกล้ำอธิปไตย ด้วยการแทรกแซงจากโลกภายนอก

ช่วงเวลาอันยาวนานเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมืองเกือบ 2 ทศวรรษข้างต้น ถือเป็น ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ไม่เพียงแต่ทำให้กัมพูชาถูกแช่แข็งจากกาลเวลาคนทั่วโลก แต่มันยังสะท้อนความโหดร้ายของคนในชาติเดียวกัน ที่ทำให้ทั้งประเทศกลายเป็น ‘นรกบนดิน’ ภายในไม่กี่ปี 

จึงไม่น่าแปลกใจ หากฮุน เซน ผู้ผ่านเรื่องราวทางการเมืองของกัมพูชาร่วม 40 ปี จะปกครองประชาชนด้วยความกลัวในอดีต ผ่านวาทกรรมและการข่มเหง เพราะเขารู้ดีว่า ไม่มีเรื่องราวไหนที่ทำให้กัมพูชาบอบช้ำไปมากกว่าการสูญเสียอธิปไตยและเพื่อนร่วมชาตินับล้านคนอีกต่อไปแล้ว 

อ้างอิง

https://www.ucanews.com/news/cambodian-pm-warns-of-war-if-his-party-loses-power/98517

https://www.bbc.com/thai/international-44996248

https://prachatai.com/journal/2018/07/77974

https://apnews.com/article/cambodia-hun-sen-hun-manet-prime-minister-0095b3362ca2d5af4f14dd77c76ef351

https://www.bangkokpost.com/world/2541111/hun-sens-son-to-stand-in-july-election

https://thediplomat.com/2023/03/cambodia-and-thailand-a-tale-of-two-elections/

https://www.rfa.org/english/news/cambodia/hun-sen-04192013173854.html

https://www.ft.com/content/3894454c-4681-11e7-8519-9f94ee97d996

https://www.bbc.com/thai/international-46621685

https://www.reuters.com/article/us-cambodia-rouge-idUSKCN1P10IT

Tags: , , , , , , ,