(1)

หากมองย้อนกลับไป ปี 2565 ที่ผ่านมา จะพบความ เปราะบางของโลกเล็กๆ ใบนี้ หลายประการ เราเปิดต้นปีมาไม่นาน ก็เจอสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากนั้น โลกเผชิญกับปัญหาวิกฤตพลังงาน พบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชาติมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ยังคงขัดแย้งกันต่อไป และแม้โควิด-19 จะไม่ใช่เงื่อนไขใหญ่อีกต่อไปแล้ว โลกหลังจากโควิด-19 ก็ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม

เอาง่ายๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้ในตอนแรกว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 4% แต่ ณ ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้เพียง 3.2% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศให้ต่ำกว่านั้นที่ 2.8% แม้จะมีการท่องเที่ยวในลักษณะ ล้างแค้นทั่วโลกจะเดินทางเข้ามาพักผ่อนในไทยกันอย่างเต็มที่ช่วงไฮซีซัน แต่การค้า การลงทุน และความผันผวนก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเนื้อหอมเหมือนเดิม

The Economist บอกว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 คือจุดสิ้นสุดช่วงเวลาที่เราสามารถคาดการณ์ อนาคตได้ การคาดการณ์อะไรไม่ได้ หรือ Unpredictability ถือเป็น New Normal และยังไม่มีทางที่จะหลุดพ้น

คำถามก็คือแล้ว การเมืองไทยล่ะ จะคาดการณ์ได้ไหม และอยู่ตรงไหนในโลกที่ปั่นป่วนใบนี้

(2) 

ต้องยอมรับว่า ในปี 2565 นั้น เป็นปีแห่งความตกต่ำของระบอบอำนาจนิยมไทย ความขัดแย้งของบรรดาขุนทหารระดับนำเริ่มส่งสัญญาณชัดเจน ระบอบ 3 ป. ที่เคยเหนียวแน่น เมื่อถึงเวลาต้องแยกจาก ต่างคน ต่างก็ต้องการสร้างดาวของตัวเอง โดยมี แบ็กอัพที่แตกต่างกัน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีแบ็กอัพจากพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่พลเอกประวิตรตั้งมาตั้งแต่แรกอย่างพรรคพลังประชารัฐ​ และบรรดากลุ่มการเมืองแบบเก่า ไปจนถึงองค์กรอิสระ ส.ว. ที่พลเอกประวิตรตั้งมากับมือ เมื่อครั้งยังมีสัมพันธ์ที่ดีกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีแบ็กอัพเป็นของตัวเองผ่านรัฐมนตรีบางคน สร้างขุมกำลังผ่านพรรคใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ และมีกลุ่มทุนที่อยู่ตรงข้ามพลเอกประวิตรอยู่เบื้องหลัง ยิ่งทหารแตกแยกกันเท่าไร สนิมเกิดจากเนื้อในเท่าไร โมเมนตัมย่อมส่งไปถึงกลุ่มนักการเมืองที่อยู่นอกวงมากเท่านั้น

ความแตกแยกของบรรดาคณะทหาร ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งมีเงาของ เนวิน ชิดชอบ อยู่เบื้องหลังเติบใหญ่ขึ้น คอยเก็บตกบรรดา ส.ส. จากฟากรัฐบาลไปทั่ว และในเวลาเดียวกัน พลังอำนาจจากการร่วมรัฐบาลและยึดครองกระทรวงเกรดเออย่างกระทรวงคมนาคม ก็ทำให้พรรคนี้มี กระสุนมากพอ ในการดึง ส.ส. ฝ่ายค้านมาเป็นพรรคพวก

ยิ่งเมื่อภูมิใจไทยยังอยู่ข้างรัฐบาล ยิ่งเมื่อภูมิใจไทยไม่ได้ทำอะไรขัดหรือแย้งกับฝ่ายอนุรักษนิยม และมีส่วนสำคัญในการช่วยให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่รอดตลอด 4 ปี ก็ทำให้ไม่มีใครกล้าทำอะไรกับพรรคนี้ แน่นอนว่าภูมิใจไทย จะเป็นตัวจักรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และไม่ว่าจะได้ ส.ส. สักกี่เสียง ก็จะเห็นพรรคนี้อยู่เคียงข้างฝ่ายรัฐบาล สามารถต่อรองกระทรวงใหญ่ๆ กระทรวงเกรดเอได้อีก

รวมถึงหากฝ่ายทหารแตกแยกกันมาก พรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม ก็มีความเป็นไปได้ว่าฝั่งอนุรักษนิยมจะเลือกหนุนพรรคภูมิใจไทย มากกว่าจะอยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน

ด้วยเหตุนี้ อนุทิน และตระกูล ชิดชอบจึงเนื้อหอมเป็นพิเศษ ทั้งเป็นพรรคที่ใหญ่โตขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น และสร้างระบอบที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หนึ่งในผู้ที่เคยร่วมบอยคอตต์เลือกตั้งในช่วงการชุมนุม กปปส. เมื่อปี 2557 บอกว่าเป็นเอง ธนกิจการเมือง ที่มีการประมูลตัวผู้สมัคร ส.ส. หลังจากนั้นก็พยายามถอนทุน นำไปสู่การคอร์รัปชัน และทำลายประชาธิปไตยในที่สุด

นั่นแปลว่าการ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่เพียรพยายามสร้างกันมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีความหมายอะไรเลยในช่วง 8 ปีให้หลังการชุมนุมของ กปปส.

 

(3) 

หากใช้มุมทางประวัติศาสตร์พินิจการเมืองไทย ผมจะพูดอยู่เสมอว่า รัฐบาลชุดนี้มีความพยายามจะพาประเทศกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในสมัยที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว กล่าวคือไม่ว่าการเมืองในสภาฯ จะบรรเลงกันย่อยยับเพียงใด ป๋าเปรมจะลอยตัวเสมอ และคุมฟากราชการ คุมกองทัพได้หมด ภาพของป๋าคือนายทหารคู่ราชบัลลังก์ ผู้จงรักภักดี ผู้ยุติความขัดแย้ง ยุติสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ และทีมเศรษฐกิจ ทีมเทคโนแครตของป๋าก็ไม่ได้ขี้เหร่ เศรษฐกิจยุคโชติช่วงชัชวาลเกิดขึ้นในเวลานี้ และในที่สุด เมื่อถึงเวลาหยุด ป๋าก็หยุดด้วยตำแหน่ง ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่พลเอกเปรม และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ พลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีความสำเร็จใดๆ มากพอที่จะ หยุดในช่วงเวลานี้ได้ ยิ่งในสายตาฝ่ายอนุรักษนิยม (ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่เสียงดังพอสมควร) ยังมีอริราชศัตรูอยู่ทั่วไป เสียงบอกให้ลุงตู่อยู่ต่ออีก 2 ปี จึงเป็นเสียงที่ดังกว่าปกติ ว่าต้องจัดการฝ่ายตรงข้ามให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด บวกกับหาทางลงให้สง่างามกว่านี้

อย่างไรก็ตาม แม้แต่พลเอกเปรมที่เชียร์พลเอกประยุทธ์มาอย่างยาวนาน และมีทีท่าว่าจะสนับสนุนการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็ยอมรับในวาระท้ายๆ ก่อนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 3 ปีก่อนว่า “ตู่ใช้กองหนุนจนหมดแล้ว” 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่คณะทหาร และฝ่ายอนุรักษนิยมลงแรงกันเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ยังไม่ผลิดอกออกผล ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่าที่ได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มฐานเสียงเดิม ทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ทั้งหมดจึงเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่สามารถปล่อยให้สภาพการเมืองเป็นไปในลักษณะนี้ เป็นไปในลักษณะที่สูญเปล่า การเมืองเดินด้วยพรรคธนกิจการเมือง จับมือกับพรรคเพื่อไทย และในเวลาเดียวกัน พรรคก้าวไกล ก็จะเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สั่นคลอนฝ่ายอนุรักษนิยมมากขึ้นตามเวลา

คำถามก็คือในสภาพแบบนี้ ฝ่ายอนุรักษนิยมจะสู้กลับอย่างไร 

 

(4) 

หากเดาใจกองเชียร์พลเอกประยุทธ์ก็จะพบว่ามีสองมุมมองที่ตัดสินใจให้พลเอกประยุทธ์อยู่ต่อ

มุมมองแรกก็คือ พลเอกประยุทธ์นั้นมีภาพของทหารชัดเจน ไม่ข้องแวะกับฝ่าย การเมืองที่ถูกมองเป็นตัวร้ายตลอดกาล และทำให้ภาพของพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน หรือทำทุนเพื่อกลุ่มการเมือง หรือเพื่อพรรคการเมืองมากนัก

มุมมองที่สองก็คือ ถึงอย่างไร คนอย่างพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางโอนอ่อนไปทางพรรคเพื่อไทย หรือข้ามขั้วไปอยู่กับพรรคก้าวไกล ภาพที่ติดตัวยังเป็นภาพของทหารเสือราชินีผู้จงรักภักดีอยู่วันยันค่ำ

และในทางกลับกัน ต่อให้ ฝ่ายเดียวกันจะมีพฤติกรรมทำทุนเข้าพรรคการเมือง เข้ากลุ่มการเมืองอย่างไร พลเอกประยุทธ์ก็พร้อมจะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ โดยไม่ตั้งคำถาม ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการ แบกคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา 4 ปี ให้ไปต่อ

ขณะเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีอำนาจเต็มในการคุมทหารโดยตรงเหมือนอย่างช่วงการรัฐประหารใหม่ๆ แต่ระบอบนี้ก็พร้อมจะแบกความเน่าเหม็นของทั้งระบบราชการ ตำรวจ และทหาร เพราะระบอบนี้รู้ดีว่าแม้เสียงสนับสนุนจากประชาชนจะไม่ได้มากที่สุด แต่การมีระบบราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นพวกนั้น จะค้ำบัลลังก์ของรัฐบาลให้มั่นคง

ด้วยเหตุนี้ ต่อให้เรื่องการทุจริตที่นครราชสีมา จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้ามากขนาดไหน เกี่ยวข้องกับเรื่องตำรวจระดับสูงเกี่ยวพันกับธุรกิจมืดมากเพียงใด เกี่ยวข้องเรื่องเรือดำน้ำจีนที่ไม่มีเครื่องติดมาด้วยและยังไม่รู้อนาคตจะไม่ชอบมาพากลมากขนาดไหน และสุดท้าย เหตุเรือหลวงสุโขทัยล่มนั้น จะส่งผลสะเทือนกับกองทัพเรือหนักหนาแค่ไหน ระบอบนี้ก็พร้อมจะ แบกไว้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่หาต้นเหตุ 

พลเอกประยุทธ์ จึงเป็นตัวเลือก’ ชั้นหนึ่ง ของระบอบนี้ เพราะทำให้บรรดาชนชั้นนำ กลุ่มการเมือง รัฐราชการ ล้วนสมประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

 

(5) 

ด้วยเหตุและปัจจัยทั้งหมด จึงมีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งที่หลายฝ่ายหวังใจจะให้เกิดขึ้นอย่างน้อยๆ ก็กลางปีหน้า จะเป็นเพียงหนึ่งพิธีกรรมที่ทำให้ผ่านพ้นไป หาใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

เพราะต้องไม่ลืมว่าฝ่ายอนุรักษนิยมยังมีระบบราชการ ยังมีกองทัพที่แข็งแรงอยู่เคียงข้าง เพื่อรักษาระบอบอันเกิดจากการรัฐประหารไว้ เพราะรู้ดีว่าระบอบนี้ รักษาวัฒนธรรมจารีต และป้องกันภัยคุกคามได้ดีที่สุด

บทความเรื่อง ‘Authoritarians are making a comeback across South-East Asia And holding elections does not always stop them’ หรือ ‘ฝ่ายอำนาจนิยมกำลังกลับมาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการจัดเลือกตั้งอาจไม่สามารถหยุดคนกลุ่มนี้ได้’ ใน The Economist ฉบับพิเศษ The World Ahead 2023 พูดถึงประเทศไทยชัดเจนในตอนท้ายบทความว่าทหารไทย และทหารเมียนมานั้นมีบทบาทที่คล้ายคลึงกัน

“ในปี 2023 ทหารไทยอาจเตรียม เล่นบทเดิมคือการล้มเลือกตั้งและอาจยึดอำนาจอีกครั้ง หากฝ่ายตรงข้ามชนะเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2023 

“สำหรับผู้มีอำนาจเผด็จการในภูมิภาคนี้ ประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแกะสลัก ซึ่งถูกกำหนดให้โยนทิ้งทันทีที่บรรลุวัตถุประสงค์”

เรื่องทั้งหมดอาจฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่ถ้าหากพินิจจากขณะนี้ ที่รัฐธรรมนูญยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนในขณะที่ทหารยังมีอำนาจ สมาชิกวุฒิสภายังมาจากการแต่งตั้งของคณะทหาร และเชื้อของ คสช. ยังคงนั่งอยู่เต็มองค์กรอิสระ รวมถึง ศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่รัฐประหารในรูปแบบเดิมด้วยการนำรถถังออกมาวิ่ง ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยังมีวิธีอื่นอีกมากในการรัฐประหารแบบ ไม่เป็นทางการ

คำถามก็คือ หากสถานการณ์สมมติเหล่านี้เกิดขึ้นอีกครั้ง คนไทยจะยอมรับอำนาจจากกระบอกปืนได้อยู่หรือไม่ ทหารจะรักษาอำนาจด้วยวิธีใด และทหารจะรักษาอำนาจได้นานแค่ไหน

คำถามก็คือ หากสถานการณ์สมมติเหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะสั่นคลอนกับอำนาจใดบ้าง แล้วสุดท้ายวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อกันยาวนานกว่า 17 ปี จะจบได้จริงด้วยวิธีนี้จริง หรือจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ พาประเทศนี้ให้ถลำลึกกว่าเดิม

ทั้งหมด เป็นคำตอบที่ยังไม่มีคำตอบ และภาวนาให้เป็นเพียงบทวิเคราะห์อันเพ้อฝันจากนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งเท่านั้น!

ที่มา:

https://www.economist.com/the-world-ahead/2022/11/18/authoritarians-are-making-a-comeback-across-south-east-asia

Tags: , , ,