วันวานของเรา – โลก – พลาสติก

ในปี1869 บริษัทแห่งหนึ่งในนิวยอร์กเสนอรางวัลมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่สามารถหาวัสดุมาผลิตลูกบิลเลียดแทนการใช้งาช้าง

และก็เป็น จอห์น เวสเลร์ ฮัตติ ที่สามารถคว้าเงินรางวัลจำนวน 10,000 ดอลลาร์มาได้ จากการค้นพบพลาสติกสังเคราะห์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้หลากหลาย แถมยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น กระดองเต่า เขาสัตว์ และงาช้าง

การค้นพบของเขานับเป็นหนึ่งในการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถผลิตพลาสติกสังเคราะห์ขึ้นมาใช้เอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากธรรมชาติมากนัก การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงช่วยให้ประชาชนคนธรรมสามารถเข้าถึงสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างได้มากขึ้น หากยังลดปริมาณการล่าสัตว์ เช่น เต่าทะเลและช้าง ที่มักถูกล่ามาทำเป็นวัตถุดิบในการทำข้าวของเครื่องใช้ในเวลานั้น

การค้นพบพลาสติกในยุคนั้น ได้รับการสรรเสริญว่าเป็นหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญที่ช่วยให้ธรรมชาติรอดพ้นจากความหิวกระหายวัตถุนิยมของมนุษย์ พร้อมกับทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมกัน

ต่อมาในปี 1907 ลีโอ เบรคแลนด์ คิดค้น บาเกไลต์ (Bakelite) พลาสติกสังเคราะห์แท้ที่ปราศจากส่วนประกอบจากธรรมชาติ บาเกไลต์มีคุณสมบัติป้องกันไฟฟ้าที่ดี กันความร้อน คงทนถาวร จึงเหมาะสมต่อการผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม อีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายจนถูกเรียกว่า ‘วัสดุสารพัดประโยชน์’

สงครามโลกครั้งที่ 2 มีส่วนที่ทำให้การใช้พลาสติกกระจายออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากในสหรัฐอมเริกา ในปี 1935 วอลเลซ คาโรเทอร์ ได้ค้นพบ ‘ไนลอน (Nylon)’ วัสดุสำคัญที่ใช้ประกอบอุปกรณ์สงคราม เช่น ร่มชูชีพ เชือก เสื้อเกราะ

ผลของความต้องการอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นมากถึง 300 เปอร์เซนต์ ภายหลังสงครามโลกและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การผลิตพลาสติกก็กลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง ราวกับว่าในยามนั้น การค้นพบพลาสติกเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้ามความขาดแคลนทางวัสดุธรรมชาติ และโอบกอดความรุ่มรวยทางวัตถุได้แน่นขึ้น

แต่ภาพยูโทเปียของพลาสติกก็ไม่ได้ดำรงอยู่ได้ตลอดไป ในทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่สหรัฐอมเริกาเริ่มมองเห็นถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นช่วงเดียวกับที่ค้นพบว่า มีการทิ้งเศษพลาสติกจำนวนมากลงในมหาสมุทร และในปี 1969 เหตุการณ์เพลิงลุกไหม้แม่น้ำคูญาโฮกา ในโอไฮโอ ยิ่งเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่สหรัฐอเมริกาและโลกขึ้นไปอีก

ต่อมาในทศวรรษ ‘70-‘80 พลาสติกก็เริ่มโดนพลิกบทบาท จากพระเอกกลายเป็นผู้ร้าย ท่ามกลางความกังวลเรื่องปัญหาขยะล้นโลก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่างออกมานำเสนอกระบวนการรรีไซเคิล เพื่อเป็นทางออกในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีรีไซเคิลในทศวรรษนั้นยังห่างไกลจากประสิทธิภาพ ทิ้งปัญหาท้าทายเรื่อง ฮาวทูกำจัดขยะพลาสติกไว้จนกระทั่งในปัจจุบัน

ผลิตสตาก – พลาสติก

พลาสติกที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน แบ่งออกเป็น 6 ประเภท

HDPE ใช้สำหรับผลิตถุงอาหารและถุงหูหิ้ว

PVC สำหรับผลิตท่อน้ำประปา และสามารถนำมาใช้ผลิตประตูพลาสติก หนังเทียม

LDPE สามารถทนต่ออุณหภูมิต่ำ จึงนิยมนำมาผลิตถุงใส่น้ำแข็งหรือถุงใส่อาหารเย็นประเภทอื่น

PP ทนทานต่อความร้อนสูง จึงมักนำมาผลิตภาชนะใส่อาหารร้อน อย่างกล่องอาหารในร้านสะดวกซื้อ

PS มีลักษณะใส และสามารถนำมาพิมพ์ลวดลายให้สวยงามได้ จึงมักนำมาผลิตของใช้ใกล้ตัว เช่น ถ้วยน้ำ เครื่องใช้สำนักงาน

และพลาสติกชนิดสุดท้าย คือ PET

ในปี 1948 ณ เมืองแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร จอห์น เร็กซ์ วินฟิลด์ และเจมส์ เทนแนนท์ ดิคสัน สองนักเคมีชาวอังกฤษ ทดลองผสมสารเคมีสองชนิด คือ โมโนเอทีลีนไกลคอล (Monoethylene Glycol) และกรดเทเรฟทาลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid) จึงเกิดขึ้นเป็น PET (Polyethylene Terephthalate) มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา เหนียวทนทานต่อแรงกระแทก ป้องกันการซึมผ่านก๊าซได้ดี และที่สำคัญที่สุดสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซนต์ ภาคอุตสาหกรรมจึงนิยมนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังสามารถนำมาผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ฟิล์มติดรถยนต์และวัสดุตกแต่งในรถยนต์ ขวดสบู่และขวดแชมพู ตลอดจนเส้นใยสำหรับทอผ้าและเครื่องนุ่งห่ม

ในห้วงเวลาที่โลกเสียสมดุลเช่นนี้ คุณสมบัติที่น่าตื่นตาตื่นใจของ PET อย่างการรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซนต์ นับเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถลดปริมาณขยะและการใช้พลังงานได้อย่างมากมาย โดยการรีไซเคิลขวดพลาสติกจำนวน 1 ขวด สามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่ากับการใช้หลอดไฟขนาด 60 วัตต์ เป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง

ตัวเลขนี้อาจจะดูไม่น่าสนใจเสียเท่าไร แต่ถ้าเราพูดว่า การรีไซเคิลขวดพลาสติกประมาณ 1 ตัน จะสามารถประหยัดน้ำมันเบนซินได้ถึง 1,000-2,000 แกลลอน นี่เป็นปริมาณมหาศาล ขนาดเราสามารถขับรถวนตามเส้นวงโคจรของโลกได้เกือบ 3 รอบ

พลาสติกหลายชีวิต

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Ventures) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและรีไซเคิลพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก มีโรงงานทั้งในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์

ส่วนในประเทศไทย อินโดรามา เวนเจอร์ส มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังมีโรงงานผลิตและรีไซเคิล PET อยู่ในจังหวัดระยองและนครปฐม

ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล ของอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า แม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน แต่กระบวนการรีไซเคิล PET ในประเทศไทยยังคงติดขัดด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้พลาสติกรีไซเคิลต้องถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลออกไปขายประเทศห่างไกล เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ

สาเหตุที่พลาสติกรีไซเคิล ในประเทศไทยไม่สามารถนำกลับมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มใหม่ได้ เป็นเพราะว่า ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

กฎหมายข้อนี้นับว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเทคโนโลยีในเวลานั้นยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าพลาสติกที่นำมารีไซเคิลจะสะอาดเพียงพอนำกลับมาใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่หรือไม่ อีกทั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะปกป้องและคุ้มครองสุขอนามัยของคนในประเทศ

หากแต่ระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 13 ปี เทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกก้าวรุดหน้าไปกว่าเดิมมาก อีกทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน หรือญี่ปุ่น ต่างก็สนับสนุนนโยบายที่สอดรับกับกระบวนการ 3Rs คือ ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่(Recycle) เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า กระบวนการกำจัดพลาสติกต้องอาศัยเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาวต่อโลกที่ทรุดโทรมใบนี้

โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 1 แสนตัน ต้องถูกนำไปฝังกลบ บางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ท้องทะเล

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสวีเดนที่ขาดแคลนขยะจนต้องรับซื้อจากประเทศข้างเคียงอย่าง นอร์เวย์และประเทศอื่นๆ ในยุโรปเพื่อนำมาป้อนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะในสวีเดน สามารถนำมาใช้ให้ความอบอุ่นกับบ้านเรือนได้มากถึง 20% หรือ 810,000 หลัง และยังสามารถป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนได้อีก 250,000 หลัง

เมื่อเหลียวมองประเทศเขาและมองกลับมายังประเทศเราแล้ว สะท้อนระบบการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพ ปราศจากวงจรการรีไซเคิลและไร้มิตรภาพต่อสิ่งแวดล้อม

วีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ออกมายืนยันว่า จะเป็นหนึ่งแรงที่สนับสนุนเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะพลาสติกในไทย เขากล่าวว่าเมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็เพิ่งจับมือกับภาครัฐ ประสานงานให้สมาชิกเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดหรือแคปซีลได้สำเร็จ

“ในวันนี้ เราเห็นว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลมีความก้าวหน้าไปมาก จนสามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มและอาหารได้อย่างปลอดภัย หลายประเทศก็ใช้ขวดเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลมาอย่างปลอดภัยเป็นเวลานานมากแล้ว” นั่นจึงเปิดทางให้เห็นว่า การร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ยังพอมีหวัง

เจมส์ ควินซีย์ ซีอีโอของบริษัทเครื่องดื่ม โคคา-โคลา ก็ออกมาสนับสนุนและพูดถึงเรื่องการรีไซเคิลว่า “ขวดและพลาสติกสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ ถ้าหากได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมและถูกจัดการด้วยความรับผิดชอบ” ซึ่งในปีนี้ โคคา-โคลาปล่อยแคมเปญ ‘World Without Waste’ รณรงค์ให้มีกระบวนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี

ในแคมเปญนี้ ต้องมีการพัฒนาสามด้าน คือ ‘การออกแบบบรรจุภัณฑ์’ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซนต์ภายในปี 2025 โดยตั้งเป้าว่า การผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล 50 เปอร์เซนต์ เรื่องนี้ต้องทำคู่ไปกับ ‘การเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์’ เพื่อนำกลับมารีไซเคิลได้เท่ากับที่จำหน่ายออกตลาด หรือกล่าวอีกภาษาคือ ขายไปเท่าไรต้องเก็บคืนเท่านั้น ซึ่งตั้งเป้าจะทำให้ให้ได้ภายในปี 2030

และด้านสุดท้าย ‘ความร่วมมือ’ โดยจะประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้ง รัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากขยะทั้งบนบกและทางทะล

อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่และรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกำลังกระตือรือร้นกับปัญหาขยะและมลพิษในธรรมชาติ ซึ่งระบบการจัดการขยะที่ดีควรเป็นสวัสดิการภาคบังคับที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชน โดยภาครัฐเป็นผู้นำในการออกแบบ ค้นคว้า และผลักดันให้เกิดขึ้น

ส่วนเรื่องระเบียบวินัยในการจัดการขยะ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนช่วยกันทำให้ระบบนี้ดำเนินไปได้มีประสิทธิภาพที่สุด

อ้างอิง:

  • https://www.sciencehistory.org/the-history-and-future-of-plastics
  • https://www.iurban.in.th/greenery/sweden-import-trash/
Tags: ,