ในพื้นที่ออนไลน์เวลานี้  fake news เป็นหนึ่งในอาวุธที่ทำให้คนหัวหมุนไปทั่ว หลายครั้งกว่าจะรู้กันว่าเป็นข่าวปลอมก็ทำเอาทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ปั่นป่วนไปไม่น้อย

ไม่ว่าจะยุคไหน ข่าวสารก็มีมูลค่าชนิดที่ว่าใครควบคุมทิศทางของข้อมูลเหล่านี้ได้ก็เท่ากับควบคุมความเป็นไปต่างๆ ของสังคมไปด้วย

ดังในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2016 แม้กระทั่งตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เองยังเคยจวกสื่อใหญ่อย่าง CNN ว่าเป็นสำนักข่าวปลอม หลังเสนอข่าวว่ารัสเซียมีบทบาทในการแทรกแซงผลการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อในเวลาต่อมา

ในประเทศไทย ผลงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่หลายต่อหลายผลงานแปะป้ายข่าวปลอมนั้นชวนให้ร้อง “ห๊ะ!” เพราะบางข่าวก็ใช่ว่าจะปลอมเสียทีเดียว แต่เป็นข่าวที่ยังพิสูจน์ไม่ได้อย่างในกรณี ข่าวปลอม อย่าแชร์! ไวรัสโคโรนา แพร่กระจายผ่านอากาศ (Airborne) เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข่าวนี้ถูกแปะป้ายว่าปลอม ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกในเวลานั้นต่างเห็นว่าเป็นไปได้เพียงแต่ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด

หรือกระทั่งกรณีที่รัฐเองสื่อสารผิดพลาดอย่างกรณีข่าวปิดห้างฯ และสถานบริการทั่วกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 21 มีนาคม จากผู้ว่าฯ กทม. ที่โฆษกรัฐบาลกลับออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว สุดท้ายจบที่ผู้ว่าฯ กทม.ออกมาแถลงผ่านการไลฟ์เฟซบุ๊ก ทำเอาประชาชนและผู้สื่อข่าวสับสนไม่รู้อะไรจริง-เท็จกันแน่

ในสถานการณ์ที่ข่าวสารเป็นทรัพยากรที่ประชาชนต้องการมากที่สุด และรัฐเป็นคนใช้อำนาจในการควบคุมและแปะป้ายข่าวสารได้แต่กลับทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของข่าวสารอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในโลกที่ความสามารถในการสร้างข่าวไม่จำกัดแค่เฉพาะกับสำนักข่าวอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงคนใช้อินเทอร์เน็ตทุกๆ คน

ชวนนักศึกษาทดสอบความจ้อจี้กับคาโบนาราไวรัส

เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องข้อมูลข่าวสาร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ The Momentum ร่วมกับโครงการ KitchenNET คิดเช่นเน็ต เป็นเช่นไหน จัดเวิร์กช็อป “สร้าง fake news อย่างไรไม่ให้ดู ‘จ้อจี้’” ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อชวนนักศึกษาธรรมศาสตร์มาร่วมถอดกายวิภาคของข่าวปลอม ผ่านกิจกรรม Post-truth role play ตอนคาโบนาราไวรัส เพื่อสร้างความเข้าใจการทำงานของข่าวปลอม และพลิกแพลงมันมาเป็นทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ

โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับมอบหมายให้สวมบทเป็นคนหลากกลุ่ม คือ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ กลุ่มสื่ออาชีพ กลุ่มนักศึกษาช่างฉอด และกลุ่มชาวเน็ต โดยกลุ่มชาวเน็ตจะต้องรับมือกับข่าวที่สามกลุ่มแรกปั้นขึ้นมาเสนอผ่านการจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองได้รับ หากสามกลุ่มแรกขายข่าวปลอมให้ชาวเน็ตเชื่อได้ คนปล่อยข่าวกลุ่มต่างๆ ก็จะได้แต้มไป แต่หากชาวเน็ตจับได้ พวกเขาก็ถูกตัดคะแนนมามอบให้ชาวเน็ตแทนนั่นเอง กลุ่มที่ได้คะแนนรวมมากที่สุดเมื่อจบเกมคือผู้ชนะ 

แต่เพื่อติดอาวุธให้ข่าวปลอมดูสมจริง คนกลุ่มต่างๆ ก็มีตัวช่วยสำหรับเพิ่มคะแนนได้อีก เช่น

  1. การมโนแหล่งข่าว สร้างความน่าเชื่อถือให้กับข่าวของตนเองแม้ไม่มีการอ้างอิงที่ถูกต้อง 

  2. กุทั้งเพ ปลอมข่าวทั้งหมด 

  3. สร้างทฤษฎีสมคบคิดเพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงและความน่าสนใจให้ข่าว 

  4. เพิ่มดราม่า ตีเนื้อข่าวให้ฟูเกินจริง 

โดยจะแต่ละกลุ่มจะมีโอกาสได้แสดงฝีมือทั้งหมด 3 รอบและเพื่อจะอยู่รอดในสมรภูมิข่าวปลอมนี้ได้ ชาวเน็ตต้องงัดทุกสติและข้อมูลมาถกเถียงกันในกลุ่มก่อนจะตัดสินใจเชื่อและแชร์เนื้อหา ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ง่ายนัก

ในแต่ละรอบ ประกอบด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ที่มีข่าวลือการอุบัติขึ้นของโรคระบาด จนถึงการระบาดไปทั่วโลก ในรอบแรกกลุ่มชาวเน็ตสามารถจับผิดข่าวปลอมส่วนใหญ่ได้เพราะกลุ่มที่สร้างข่าวไม่ได้สร้างข่าวปลอมที่ซับซ้อน มีเพียงเนื้อหาข่าวที่กุขึ้นมาหรืออ้างแหล่งข่าวมั่วๆ แต่เมื่อเข้าสู่รอบที่ 2 และ 3 คะแนนของกลุ่มคนสร้างข่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข่าวปลอมที่ซับซ้อนและจับได้ยากยิ่งขึ้น โดยมีประเภทข่าวปลอมที่เกิดจากการใส่ดราม่า ตีเนื้อข่าวให้ฟูเกินจริงถูกนำมาใช้และได้ผลในช่วงหลัง ซึ่งวิธีนี้เป็นการสร้างข่าวปลอมที่ปั่นหัวกลุ่มชาวเน็ตได้มากที่สุด

ในรอบที่ 2 และ 3 ข่าวสารที่มาจากกลุ่มคนสร้างข่าวที่แตกต่างกันดันมีเนื้อหาสอดคล้องกัน มีทั้งที่ตั้งใจ “ลอกข่าว” โดยไม่ตรวจสอบ (หรือรู้ว่าปลอมแต่ต้องการที่จะทำคะแนน) และรวมหัวกันสร้างข่าวที่ตรงกันอย่างตั้งใจเพื่อหวังว่าข่าวปลอมที่มาจากหลายที่มาจะน่าเชื่อถือและทำคะแนนได้มากขึ้น

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มชาวเน็ตเลือกรีทวีตข่าวปลอมข่าวหนึ่งในสัปดาห์ที่สาม ทั้งที่เนื้อหาจากข่าวปลอมนั้นถูกใช้มาก่อนแต่ไม่เคยถูกรีทวีตมาในสองสัปดาห์ก่อนหน้า แต่กลุ่มชาวเน็ตให้เหตุผลว่า เพราะเห็นข่าวนี้ผ่านตามาในสองรอบที่ผ่านมาแล้ว เมื่อรวมข่าวนี้เข้ากับบริบทของข่าวอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกันก็เป็นไปได้ที่จะเป็นข่าวจริง

แม้ว่าฝ่ายสร้างข่าวจะมีลูกเล่นที่ซับซ้อน ทั้งการรวมหัวกันสร้างข่าว ลอกข่าว หรือใส่สีต่างๆ แต่ใช่ว่าจะเป็นชาวเน็ตที่เสียรู้เพียงฝ่ายเดียว เพราะตลอดทั้ง 3 รอบ เหล่าทีมชาวเน็ตที่เป็นผู้มีความรู้เท่าทันสื่อไม่น้อยยังสามารถทำคะแนนและจับไต๋อีกฝ่ายได้ในเกือบทุกลูกเล่นที่นำมาใช้

ข่าวแสนซับซ้อน แปะป้ายว่าปลอมเลยคงไม่ได้

สถานการณ์ role play ปูมาให้ทุกทีมชิงไหวชิงพริบ ทั้งการร่วมมือระหว่างทีมเพื่อปั่นข่าวให้ออกมาในทางเดียวกัน การตัดแต่งใส่สี บิดเบือนตัวเลขสถานการณ์ระบาดของไวรัสและปั่นให้ชาวเน็ตที่ตามข่าวอยู่สับสนขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ในกิจกรรมสมมติดังกล่าวคล้ายคลึงกับโลกจริงของข่าวเข้าไปทุกที 

ผู้เข้าร่วมช่วยกันตั้งข้อสังเกตว่า บนความต้องการที่จะอยู่เหนือข้อมูลข่าวสารของฝ่ายต่างๆ การแยกว่าข่าวไหนปลอมและข่าวไหนจริง อาจจะไม่พอ เพราะมันมีภาวะก้ำกึ่งของข่าวทั้งสองประเภทนั้นอยู่ และเราอาจจะต้องแยกแยะว่า สิ่งที่ถูกเรียกว่าข่าวปลอมบางข่าว อาจจะเป็นข่าวที่พูดถึงข้อเท็จจริงอย่างไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ จนทำให้เกิดการเข้าใจผิดอย่างไม่เจตนา หรือเป็น ‘misinformation’ บางข่าว ก็มีเจตนาให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือจงใจให้เกิดการเข้าใจผิดอย่าง ‘disinformation’

ที่สำคัญ ประเภทของข่าวปลอมที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดมากที่สุดไม่ใช่ข่าวปลอมที่ปลอมทั้งข่าวอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่กลับเป็นข่าวที่เกิดจากการใส่สีและตีเนื้อข่าวให้ฟูขึ้น แม้เนื้อหาบางส่วนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่การตัดแต่งเนื้อหาหรือการพาดหัวข่าว ก็อาจจะพาให้เกิดความเข้าใจผิด หรือกลายเป็น misleading content ก็ได้

และยิ่งกว่าข่าวปลอมที่ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย คือสภาพแวดล้อมที่ป้อนหรือย้ำข้อมูลข่าวสารลักษณะเดิมๆ ให้กับเรา ข่าวบางข่าวที่ดูตอนแรกแล้วไม่น่าเชื่อถือเลย แต่เมื่อเราได้รับข่าวหรือข้อเท็จจริงนั้นซ้ำๆ หลายครั้งจนอาจหลงคิดว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริงจนเชื่อไปเอง ซึ่งอาจมาจากการที่ข่าวจำนวนมากในสื่อหลากสำนักพูดถึงเรื่องเดียวกันหลายๆ ครั้งก็ได้ จนเมื่อสภาพแวดล้อมของข้อมูลเต็มไปด้วยข่าวที่มีเนื้อหาไปในทิศทางแบบเดียวกัน คนเสพข่าวอาจจะคิดว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริง 

วงสนทนาร่วมถอดบทเรียนจากเกมสวมบทบาทกว่า 1 ชั่วโมง พบว่าประเด็นที่เป็นที่กังวลคือ มีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่ปัญหาเฟกนิวส์จะนำไปสู่ ‘การเซ็นเซอร์’ หรือการควบคุมเนื้อหาในสื่อ ทั้งจากอำนาจรัฐ และสำนักข่าว-ประชาชนเลือกที่จะปิดปากตนเอง ในขณะที่อำนาจในการแปะป้ายเฟกนิวส์ไม่ได้เป็นขององค์กรกลางที่เป็นอิสระ แต่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐ ที่อาจมองว่า เฟกนิวส์ไม่ใช่แค่การส่งข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่รวมถึงข่าวที่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ที่อาจะถูกนับเป็นเฟกนิวส์ได้เช่นกันหรือไม่ ดังเช่นในกรณีที่คล้ายคลึงกันอย่างการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการปิดปากประชาชนจากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ 

ไม่ใช่แค่จัดการอย่างไร แต่เป็น “ใคร” จัดการ

เมื่อข่าวในปัจจุบันแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทางอินเทอร์เน็ต ปัญหาของข่าวที่ไม่พึงประสงค์จึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวผู้บริโภค จนวงสนทนานำไปสู่การถกเถียงว่า หากเป็นเช่นนี้เราควรต้องมีการควบคุมสื่อไหม แล้วการควบคุมเหล่านี้ควรมีลักษณะอย่างไร

อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ KitchenNET ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมเล่นเกมมีความตระหนักและเฝ้าระวังข่าวปลอมเป็นอย่างดี แต่เรื่องที่ทำให้ประหลาดใจคือเมื่อบทสนทนาเข้าสู่เรื่องการจัดการกับข่าวปลอม ที่เมื่อคุยๆ กันไปแล้ว กลับมีข้อเสนอเรื่องการควบคุมเนื้อหาของสื่อขึ้นมา ซึ่งสำหรับอาจินต์แล้วเป็นเรื่องที่ควรจะคิดอย่างรอบคอบ

“5 – 10 ปีที่แล้ว ทุกคนพูดกันว่าเราจะต่อสู้กับการเซ็นเซอร์อย่างไร แต่ตอนนี้ข่าวปลอมมันผลักให้ข้อถกเถียงนั้นเปลี่ยนเป็นว่า เราควรจัดการกับข้อมูลเหล่านี้อย่างไร ซึ่งอันนี้น่ากลัว”

“ข่าวปลอมมันมากลบประเด็นของเสรีภาพสื่อหมดเลย ความอันตรายของการจัดการข่าวปลอมคือมันมีปัญหาต่อกระแสเรียกร้องเสรีภาพสื่อ” จากในอดีตที่เราเคยเชื่อกันว่า การต่อสู้กับข่าวที่ไม่พึงประสงค์คือการให้แต่ละฝ่ายได้พูดเรื่องเดียวกันอย่างเท่าเทียมกันและมีการควบคุมกันเองของสื่อ ที่ไม่ว่าจะทำงานได้ดีหรือไม่แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้มีใครถืออำนาจเบ็ดเสร็จ แต่หากตอนนี้เราเลือกจะให้อำนาจในการจัดการกับข่าวปลอมและเสรีภาพของสื่อไปอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งเพราะความกลัว 

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอาจจะไม่ใช่ข่าวปลอม แต่เป็นคนที่มีอำนาจในการบอกว่า อันไหนคือข่าวจริงหรือข่าวปลอม และกลุ่มคนที่สามารถจะเชื่อในอำนาจนั้นอย่างสนิทใจ

“ข่าวปลอมมันเกี่ยวกับทุกคน ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีจิตวิญญาณแบบนักประวัติศาสตร์ที่ต้องวิพากษ์เอกสาร หรือวิพากษ์การอ่านของตัวเองตลอดเวลา” อาจินต์กล่าว

Fact Box

  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจาก exclusive workshop เรื่องการสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ของโครงการ KitchenNET คิดเช่นเน็ต เป็นเช่นไหน ที่ได้ชวนนักศึกษาธรรมศาสตร์มาร่วมศึกษาพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และไลฟ์สไตล์ในโลกดิจิทัลของตัวเองเป็นเวลา 6 เดือน 
  • KitchenNET เป็นโปรเจกต์ร่วมระหว่างคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเว็บไซต์ The Momentum โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Shape the Young Mind ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ
Tags: , , , ,