ก่อนหน้านี้ ได้เกิดความสับสนกรณีข่าวผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ประกาศสั่งปิดห้างและสกานให้บริการต่างๆ โดยแท้จริงแล้ว ไล่เรียงไทม์ไลน์ได้ดังนี้ 

  1. สำนักข่าวได้ออกข่าวการปิดสถานที่ใน กทม. ตามหมายข่าวที่ส่งเข้ากรุ๊ปของนักข่าว 
  2. แต่ต่อมา นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และให้หยุดแพร่ข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป 
  3. ทางกรุงเทพมหานครก็ได้ขอยกเลิกข่าวดังกล่าวเช่นเดียวกัน 
  4. ก่อนที่เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้ว่ากทม. จะทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันการปิดสถานที่อีกครั้ง 

ทั้งนี้ มติชนรายงานว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของ นฤมล เกิดขึ้นก่อนการประชุมของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ประมาณ 10 นาที โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาประมาณ 12.12 น. และผู้ว่ากรุงเทพมหานครแถลงข่าวในเวลา 12.23 น.

ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวจากรายการข่าว 3 มิติ และ The Reporter ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นต่อการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงวิกฤต “มีข่าวจะปิดห้าง โฆษกรัฐบาลบอก ข่าวปลอม แล้วก็มีแถลงจาก กทม. มาว่าปิดจริงนะ แล้วในห้องข่าว กทม. บอกขอยกเลิกข่าวนั้นก่อน แต่นักข่าวออกข่าวกันไปหมดแล้ว ทีนี้ผู้ว่าฯ กทม. จะแถลงผ่านเฟซบุ๊ก เอาไงก็บอกประชาชนให้ชัด นี่วิกฤตกว่าโควิด-19 ก็การสื่อสารของรัฐบาลนี่แหละ นักข่าวก็ออกไปตามที่ท่านแถลงนะคะ”

ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันแล้วว่าการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 เวลาประมาณ 14.00 ของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ว่าด้วยคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 26 ประเภทเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวงกว้าง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที้ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 มีผลบังคับใช้จริง 

ทั้งนี้ อาศัยอํานาจตามมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติ ที่ประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 จึงให้ สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยมีประเภทสถานที่ต้องปิด ดังนี้

  1. ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหาร ในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)
  2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการ ดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารเพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น)
  3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ
  4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจําหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสําเร็จ เพื่อนํากลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต)
  5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม
  6. สถานที่บริการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
  7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
  8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม
  9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต
  10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
  11. สระว่ายน้ํา หรือกิจการอื่นๆ ในทํานองเดียวกัน
  12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
  13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา
  14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ
  15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา
  16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ําหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม
  17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)
  18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ํา ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
  19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
  20. สถานประกอบกิจการอาบน้ํา อบไอน้ํา อบสมุนไพร 
  21. โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)
  22. สถานที่ออกกําลังกาย
  23. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
  24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย
  25. สนามกีฬา
  26. สนามม้า

 

อ้างอิง:

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3795473

https://www.matichon.co.th/politics/news_2075898

Tags: , ,