ผู้เขียนอ่านข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ประกาศเตรียมเปิดตัว “ศูนย์ต้านข่าวปลอม” (เฟคนิวส์เซ็นเตอร์) ไม่เกินวันที่ 1 พ.ย. นี้ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็นว่า ‘ข่าวปลอม’ หรือ fake news กำลังสร้างปัญหามากมายจริงๆ ในสังคมไทยที่คนใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาของข่าวปลอมมีตั้งแต่การดิสเครดิตนักการเมืองหรือพรรคการเมือง (ไม่ว่าฝั่งไหนก็ตาม) การสร้างและตอกย้ำความเข้าใจผิดให้กับคน (ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม เช่น หาเงิน) การยุยงปลุกปั่นให้แตกแยก ฯลฯ
รมว. ดีอีแถลงว่า ศูนย์ต้านข่าวปลอมนี้จะมีช่องทางรับแจ้งและชี้แจงผ่านเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นไลน์ โดยมั่นใจว่าจะสามารถ “สกัดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จได้ใน 1-2 ชั่วโมง”
เนื่องจากข่าวปลอมจำนวนไม่น้อยสร้างปัญหา การตั้งศูนย์ต้านข่าวปลอมจึงนับเป็นความคิดที่ดี และหลายประเทศก็มีหน่วยงานที่มีเป้าหมายคล้ายกัน ถึงแม้ว่าโดยมากจะไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นโครงการของสื่อหรือองค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานด้านสื่อ เน้น ‘fact check’ หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากลักษณะสำคัญของ “ข่าวปลอม” ก็คือ ผู้สร้างใช้ข้อมูลเท็จโดยมีเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิด เว็บ fact check ที่ผู้เขียนชอบในต่างประเทศมีอาทิ Snopes.com, Politifact.com และ FactCheck.org ในอเมริกา, FactLy.in ในอินเดีย และ Taiwan FactCheck Center ในไต้หวัน
ศูนย์ต้านข่าวปลอมในไทยจะเป็นโครงการของรัฐ มีทรัพยากรและศักยภาพที่จะเข้าถึงคนไทยได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากกว่าโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านๆ มา อาทิ รายการชัวร์ก่อนแชร์ ของช่อง 9 อสมท. แต่ความเสี่ยงก็ใช่ว่าจะไม่มี ตลอดห้าปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ตำรวจและทหารภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันด้วย จับกุมประชาชนภายใต้ข้ออ้างว่า สร้างและเผยแพร่ “ข่าวปลอม” ทั้งที่ในความเป็นจริง เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนรัฐบาลในโลกออนไลน์เท่านั้น
ความเสี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘ข่าวปลอม’ เป็นข้ออ้างในการปิดกั้นการแสดงออกหรือข่มขู่คุกคามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล ทำให้ผู้เขียนอยากเสนอ 5 สิ่งที่ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรทำ และ 5 สิ่งที่ไม่ควรทำ ดังต่อไปนี้
5 ควรทำ
ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่คิดหาวิธีรับมือกับข่าวปลอม สื่อค่ายต่างๆ และองค์กรอื่นทั่วโลกที่เน้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายค่าย มารวมตัวกันเป็น “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ” (International Fact-Checking Network – IFCN) ริเริ่มโดย Poynter องค์กรสื่อชื่อดังในอเมริกา เครือข่ายนี้เขียนและเผยแพร่ “ชุดหลักการ” (code of principles) ของเครือข่าย เพื่อใช้ตรวจรับรององค์กรต่างๆ ที่มาสมัครเป็นสมาชิก องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงในต่างประเทศทุกแห่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นล้วนเป็นสมาชิกของ IFCN และผ่านการรับรองว่าปฏิบัติตามหลักการทั้งห้าข้อ
ผู้เขียนเห็นว่าชุดหลักการของ IFCN สามารถนำใช้เป็นรายการ “5 สิ่งที่ควรทำ” สำหรับศูนย์ต้านข่าวปลอมของไทยได้เป็นอย่างดี หลักการเหล่านี้ได้แก่
-
ยึดมั่นในความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และความเป็นธรรม
ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้มาตรฐานเดียวกันสำหรับการตรวจทุกกรณี ไม่เน้นตรวจเฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น (เช่น ตรวจสอบเฉพาะข่าวปลอมที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล) ใช้กระบวนการเดียวกันและสรุปจากข้อมูลหลักฐานที่พบ ไม่มีจุดยืนทางการเมืองใดๆ ต่อประเด็นที่ตรวจสอบ
-
ยึดมั่นในความโปร่งใสของแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูล
ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรทำให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบข้อค้นพบของศูนย์ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเปิดเผยแหล่งข้อมูลทั้งหมดที่ใช้อย่างละเอียดเพียงพอที่ผู้อ่านจะไปค้นตามได้ ยกเว้นว่าการเปิดเผยอาจทำให้แหล่งข่าวไม่ปลอดภัย ในกรณีนั้นก็ควรเปิดเผยรายละเอียดให้มากเท่าที่จะมากได้
-
ยึดมั่นในความโปร่งใสของแหล่งทุนและโครงสร้างองค์กร
ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรมีความโปร่งใสเกี่ยวกับแหล่งทุนที่ใช้ ถ้ารับทุนจากองค์กรอื่น ก็ควรจะมีกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าแหล่งทุนนั้นๆ จะไม่มีอิทธิพลต่อข้อสรุปของการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าศูนย์ต้านข่าวปลอมจะใช้เงินทุนในการดำเนินงานทั้งหมดจากงบประมาณในส่วนของกระทรวงดีอี โครงสร้างการบริหารจัดการศูนย์นี้ก็จะต้องมีความชัดเจนว่าจะป้องกันไม่ให้กระทรวงดีอีมาแทรกแซงได้อย่างไร นอกจากนี้ ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรเปิดเผยประวัติของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในตำแหน่งสำคัญๆ ขององค์กร รวมถึงโครงสร้างองค์กรและสถานะทางกฎหมาย รวมถึงมีช่องทางสื่อสารที่ชัดเจนกับผู้อ่าน
-
ยึดมั่นในความโปร่งใสของระเบียบวิธี
ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรอธิบายระเบียบวิธีที่ใช้ในการคัดเลือก วิจัย เขียน เรียบเรียง ตีพิมพ์ และแก้ไขการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกกรณี นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้อ่านส่งเนื้อหา (ที่คิดว่าน่าจะเป็น “ข่าวปลอม”) ให้ตรวจสอบ และเปิดเผยอย่างโปร่งใสทุกกรณีว่าทำไมถึงตรวจสอบเรื่องนั้นๆ และมีขั้นตอนตรวจสอบอย่างไร
-
ยึดมั่นในนโยบายแก้ไขข้อผิดพลาดที่เปิดเผยและซื่อสัตย์
ศูนย์ต้านข่าวปลอมควรเผยแพร่นโยบายแก้ไข (corrections policy – สำคัญมากเนื่องจากอาจเกิดข้อผิดพลาดหรือความเข้าใจผิดได้เสมอในการตรวจสอบข้อเท็จจริง บางครั้งตีพิมพ์ไปแล้วมีเหตุให้ต้องแก้) และทำตามนโยบายของตัวเองอย่างเคร่งครัด แก้ไขเนื้อหาของตัวเองอย่างชัดเจนและโปร่งใสตามนโยบาย ทำให้ผู้อ่านมองเห็นเนื้อหาที่ถูกแก้ไขใหม่
นอกจากจะมีห้าเรื่องที่ควรทำแล้ว ผู้เขียนอยากเสนอห้าเรื่องที่ศูนย์ต้านข่าวปลอมไม่ควรทำเช่นกัน เนื่องจากกรณีเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และถ้าเกิดต่อไปในนามของศูนย์ฯ ก็อาจสร้างความเสียหายและบั่นทอนความน่าเชื่อถือของศูนย์ฯ ในสายตาประชาชน
5 ไม่ควรทำ
-
ไม่ควรแปะป้าย “ข่าวปลอม” กับเนื้อหาที่เป็นเพียงการให้ข้อมูลอีกด้านหรือรายละเอียด
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่โฆษกรัฐบาลชี้แจงกลางเดือนสิงหาคม 2562 หลังมีข่าวว่า รัฐบาลตัดงบโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (“บัตรทอง”) ไป 676 ล้านบาท เพื่อเอาเงินไปสนับสนุนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน ด้วยการบอกว่าเป็น “fake news” หรือข่าวปลอม เนื่องจากในความเป็นจริง คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกองทุนบัตรทองของปีงบประมาณ 2563 เป็นเงิน 1.91 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2562 ไปกว่า 6,500 ล้านบาท
ฟังอย่างผิวเผิน ข่าวตัดงบ 676 ล้านบาท ก็ฟังเหมือน “ข่าวปลอม” เพราะโฆษกรัฐบาลชี้แจงว่างบประมาณรวมของกองทุนบัตรทองเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง กลุ่ม “คนรักหลักประกันสุขภาพ” ที่เปิดประเด็นนี้อย่าง นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ก็ออกมายืนยันว่ามีการ “ตัดจริง” ในส่วนของกองทุนนอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น กองทุนโรคไตที่งบหายไป 300 ล้านบาท หรือกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่งบหายไปราว 50 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เปิดช่องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เจรจากับสำนักงบประมาณ ซึ่งสำนักงบฯ ก็ยังคงยืนยันตัวเลขที่จะตัดงบนอกงบเหมาจ่ายรายหัวลงไป รวม 676 ล้านบาท
ฟังอย่างผิวเผิน ข่าวตัดงบบัตรทองฯ 676 ล้านบาท ก็ฟังเหมือนเป็นข่าวปลอม เพราะโฆษกรัฐบาลชี้แจงว่างบประมาณรวมของกองทุนบัตรทองเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง ก็มีการตัดงบประมาณจริง ในส่วนของกองทุนนอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น กองทุนโรคไตที่งบหายไป 300 ล้านบาท หรือกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่งบหายไปราว 50 ล้านบาท
พูดง่ายๆ ก็คือ งบประมาณรวมของกองทุนบัตรทองเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ในไส้ใน งบบางส่วนก็ถูกลดลงจริง ฉะนั้นโฆษกรัฐบาลกับกลุ่ม “คนรักหลักประกันสุขภาพ” จึงพูดถูกทั้งคู่ เพียงแต่พูดกันคนละเรื่อง คนหนึ่งพูดตัวเลขรวม อีกคนหนึ่งพูดตัวเลขไส้ใน
โฆษกรัฐบาลจึงไม่ควรใช้คำว่า “ข่าวปลอม” แปะป้ายคำพูดของผู้ทักท้วง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมซึ่งจะเป็นของรัฐก็ต้องระวังเรื่องนี้ให้มากเช่นกัน
-
ไม่ควรแปะป้าย “ข่าวปลอม” กับเนื้อหาที่ไม่ชัดว่าผู้สร้างมีเจตนาหลอกลวง (ให้เชื่อว่าเป็นข่าวจริง)
“ข่าวปลอม” หรือ fake news ไม่ใช่คำที่จะหมายถึงอะไรก็ได้ แต่ควรใช้ในความหมายแคบๆ “เนื้อหาเท็จที่ผู้สร้างเจตนาหลอกให้คนหลงเชื่อว่าเป็น “ข่าว” จากสำนักข่าวจริง” เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์เปรียบเสมือน “ป่าดงดิบ” ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความคิดและวิธีแสดงออก เราทุกคนบางครั้งอาจโพสหรือแชร์เนื้อหาที่มีส่วนเท็จ เป็นข่าวเก่า เพียงเพราะเราเองเข้าใจไม่หมด เข้าใจผิด ไม่ทันสังเกตข้อมูลเวลา (timestamp) ของเนื้อหาว่ามันเก่าแล้ว หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น มีข้อมูลใหม่ที่เที่ยงตรงกว่าไหลมาเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีคนทวีตข้อความ “เกิดไฟไหม้ในซอยสุขุมวิท 31” ด้วยความตื่นเต้นที่เจอเหตุโกลาหล จากนั้นสักพักมีคนแจ้งว่า “จริงๆ ไฟไหม้ในซอยสุขุมวิท 33” ข้อความแรกที่ทวีตไปก็ไม่น่าจะใช่ “ข่าวปลอม” ถึงแม้มันจะไม่จริง เพราะมันเป็นเพียงการพูดคุย การอยากสื่อสารว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าคนทวีต “มีเจตนาหลอกให้คนหลงเชื่อว่าเป็น “ข่าว” จากสำนักข่าวจริง” แต่อย่างใด
เนื้อหาที่ทำขึ้นเพราะชัดเจนว่ามีเจตนาล้อเลียน หรือข่าวเก่าที่เอามาแชร์ใหม่ก็เช่นกัน ทั้งสองกรณีนี้ไม่ใช่ “ข่าวปลอม” เพราะการล้อเลียนย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (แต่คนที่ทำเนื้อหาล้อเลียนก็ต้องระวังเช่นกัน ไม่ทำเนื้อหาที่ “เนียน” เกินไปจนคนไม่รู้ว่าล้อเลียน หลงผิดคิดว่าเป็นข่าวจริง) ส่วนข่าวเก่าที่เอามาแชร์ใหม่ก็ไม่ใช่เนื้อหาเท็จ เพียงแต่เป็นข่าวเก่าเท่านั้น แต่คนแชร์อาจเข้าใจผิด ผู้เขียนเองก็เคยแชร์ข่าวเก่าเพราะคิดว่าเป็นข่าวใหม่เหมือนกัน ใครๆ ก็พลาดได้ ดังนั้นถ้าไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ไม่ควรเรียกมันว่าเป็นข่าวปลอม แจ้งประชาชนว่าเป็น ‘ข่าวเก่า’ ก็พอ
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของการพูดคุยในโลกออนไลน์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่งานของศูนย์จะกลายเป็นการปิดกั้นการแสดงออกธรรมดาๆ ของประชาชน
-
ไม่ควรตรวจสอบเฉพาะข่าวปลอมที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล
ประเด็นนี้คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนย่อมอยู่ได้ในระยะยาวด้วยการยอมรับจากประชาชน ถ้าหากประชาชนไม่เชื่อถือ เนื้อหาอะไรก็ตามที่ออกมาจากศูนย์ฯ นี้ก็จะถูกมองอย่างคลางแคลงใจตามไปด้วย ยิ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในไทยเป็นโครงการของรัฐ กระทรวงดีอี กรรมการศูนย์ และทุกคนที่เกี่ยวข้องยิ่งต้องพยายามยึดมั่นในชุดหลักการของ IFCN ที่กล่าวถึงข้างต้น โดยเฉพาะข้อแรกที่ว่าด้วยความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
-
ไม่ควรขยายขอบเขตงานของศูนย์ฯ ไปรวมการจับกุมด้วย
ลำพังการสร้างและเผยแพร่ “ข่าวปลอม” อาจไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย ต้องไปดูต่อว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ซึ่งตัวบทและการตีความก็มีปัญหามากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา) หรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่ เช่น ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกในวงกว้าง เป็นภัยต่อความมั่นคง ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของตำรวจ
ผู้เขียนเห็นว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมควรเน้นเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหมือนกับองค์กรลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ การขยายขอบเขตงานไปเรื่องการจับกุมนอกจากจะไม่ใช่หน้าที่แล้ว ยังอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดกันไปใหญ่ว่า ‘ข่าวปลอม’ แปลว่าผิดกฎหมายทุกกรณี
-
ไม่ควรเปิดเผยตัวตนของผู้ให้เบาะแสหรือข้อมูล
เรื่องนี้เป็นหลักการทั่วไปที่ควรทำอยู่แล้วเพื่อคุ้มครองผู้ให้เบาะแสหรือข้อมูล
ผู้เขียนเห็นว่า การใส่ใจอย่างจริงจังใน “5 ควรทำ + 5 ไม่ควรทำ” ข้างต้นนั้น จะช่วยให้ศูนย์ต้านข่าวปลอมสามารถทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ เป็นที่พึ่งของประชาชน และช่วยติดอาวุธทางปัญญาได้อย่างแท้จริง
มิฉะนั้นศูนย์ฯ อาจกลายเป็นเครื่องมือเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่ออีกช่องทางของรัฐ เครื่องมือใช้ ‘ข่าวปลอม’ เป็นข้ออ้างในการคุกคามผู้เห็นต่าง หรือเครื่องมือบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการล้อเลียนของประชาชน
Tags: fake news, ข่าวปลอม, ศูนย์ต้านข่าวปลอม, กระทรวงดีอี