ข่าวปลอมเป็นปรากฏการณ์ที่ได้ยินมากในยุคการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ที่จริงแล้ว เนื้อหาจำพวกที่แสดงความคิดเห็นชวนให้เชื่อจนเกินข้อเท็จจริง เกิดขึ้นมาก่อนยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู ดังที่แต่ก่อนมีคำเรียกสื่อประเภทนี้ว่า สื่อเหลือง (เพราะแต่ก่อน หนังสือพิมพ์แนวใส่สีตีไข่ จะนิยมใช้สีเหลืองสีพิมพ์) 

แต่ข่าวปลอมกลายเป็นปัญหาใหญ่ในยุคที่สื่อสารผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการแพร่กระจายเนื้อหาในลักษณะไวรัล ซึ่งอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้ข้อมูลส่งต่อถึงกันได้รวดเร็ว และเชื่อมโยงไปยังการรับรู้ของคนอื่นๆ ได้ เพราะเมื่อเราส่งต่อ (แชร์) สิ่งที่เรารับรู้ออกไป เพื่อนเราก็จะรับรู้ไปด้วย 

นักปรัชญาอย่างฮิวเบิร์ต เดรย์ฟัส (Hubert Dreyfus) กล่าวถึงลักษณะของเว็บ 2.0 ไว้ว่าอินเทอร์เน็ตทำให้ความคิดเห็นของผู้ใช้อยู่ในระนาบเดียวกันกับข่าวที่มาจากสำนักข่าว ดังเช่นเพจดังที่สามารถแสดงความเห็นกับสังคมได้ราวกับเป็นสำนักข่าวมืออาชีพ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเว็บ 2.0 คือการที่ผู้ใช้สามารถนำเข้าข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปในระบบได้ นั่นจึงกลายเป็นว่า เมื่อมันอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหรือมือสมัครเล่นก็สามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนเองได้เท่ากัน

สิ่งที่ทำให้ข่าวปลอมเป็นเรื่องวุ่นวายมากยิ่งขึ้น ก็มาจากสิ่งที่เรียกว่า ฟองข้อมูล (Filter Bubble) ที่อัลกอริทึมจะจัดสรรเนื้อหาที่เหมาะกับแต่ละบุคคล (Personalised Algorithm) เห็นได้ชัดจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่หน้าฟีดของเราจะมีแต่เรื่องที่เราสนใจ และเรามักจะได้รับการแนะนำเรื่องที่คล้ายๆ กันมาให้ หรือแนะนำเรื่องที่เพื่อนเราสนใจมาให้เรา โดยคิดว่าเราน่าจะชอบเหมือนเพื่อนของเรา 

แม้เฟซบุ๊กจะพยายามปรับอัลกอริทึมในหน้าข่าวของเราเพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอม แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่า เฟซบุ๊กจะดูแลข่าวได้ทุกภาษา เพราะการคัดกรองข่าวที่ทำโดยอัลกอริทึมและปัญญาประดิษฐ์ มีความแตกต่างกันไปตามเนื้อหาข่าวของแต่ละสังคม 

เมื่อมีทั้งเรื่องฟองข้อมูล บวกกับคุณสมบัติของโซเชียลมีเดียที่เนื้อหาอาจจะไวรัลกระจายไปได้ไกล สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งทับถม ให้ข่าวปลอมกลายเป็นปัญหาใหญ่ในยุคดิจิทัล

สารสนเทศ(ที่จริง)คือความรู้

คำว่า สารสนเทศ (Information) ในที่นี้ หมายถึงหน่วยของการสื่อสาร ซึ่งตามทฤษฎีการสื่อสารของ คลอด แชนนัน (Claude Shannon) เขานับหน่วยการสื่อสารเป็น ‘บิท’ (Binary Digit) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการนับหน่วยข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบัน 

ตัวอย่างง่ายๆ คือ เรานับเอกสารว่ามีกี่หน้า แต่เมื่อเราต้องส่งผ่านอีเมล์ ข้อมูลนั้นจะแปลงเป็นขนาดของไฟล์ดิจิทัลแทนการนับเป็นหน้า

หัวใจของสื่อสารคือ การสื่อสารข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทางให้สมบูรณ์ที่สุด และในการสื่อสารระยะไกลนี่เอง ที่จะต้องส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพที่สุด และการนับหน่วยเป็นบิท ทำให้ค่าความเป็นไปได้เป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ เช่น ไฟล์ภาพในระบบ 32 bit ก็คือการแทนให้สีต่างๆ ของภาพแสดงออกเป็นสีดิจิทัล 4,294,967,295 สี จะเห็นว่า การแสดงผลตัวเลข 4,294,967,295 ถูกแทนด้วยเลขบิทเพียงแค่ 32 หลัก

ปรัชญาสารสนเทศสนใจทฤษฎีการสื่อสารโดยเสนอว่า ข้อมูลที่ส่งผ่านไปในการสื่อสาร ไม่เพียงแต่รับ-ส่ง แต่สารสนเทศ (Information) คือข้อมูล (Data) ที่มีความหมาย ตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้าเราเปิดเครื่องรับสัญญาณหรือรับข้อมูล แล้วได้รับเพียงเสียงคลื่นแทรก หรือได้ข้อความที่ตัวอักษรไม่ชัดเจน แสดงว่าผู้รับไม่ได้สารสนเทศที่มีความหมาย และผู้รับไม่สามารถได้ข้อมูลใดๆ ที่ส่งมาจากต้นทาง ดังนั้น การรับข่าวจึงมันไม่ใช่แค่ว่าเราได้ข้อมูลอะไร แต่สำคัญที่ ‘กระบวนการ’ ด้วย 

นักปรัชญาที่สนใจเรื่องสารสนเทศอย่าง ลูชาโน ฟลอริดิ (Luciano Floridi) เสนอว่า ‘สารสนเทศ’ ไม่เพียงแค่เป็นข้อมูลที่มีความหมาย แต่ต้องมี ‘ค่าความจริง’ ด้วย เพราะการได้รับสารสนเทศเป็นส่วนหนึ่งของการอ้างความรู้

ตัวอย่างที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารสนเทศกับความรู้ เช่น เราได้รับข่าวสองข่าวบนเฟซบุ๊ก ข่าวแรกบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะพิจารณาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป กับข่าวที่ ข่าวที่สองบอกว่า สหราชอาณาจักรกำลังจะพิจารณาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป ข่าวทั้งสองนับเป็นข้อมูลที่มีความหมายถ้าคนที่เข้าใจภาษาไทยอ่านตัวอักษรเหล่านี้ แต่เราอ้างความรู้จากข่าวแรกไม่ได้ เพราะว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ ดังนั้น ตามปรัชญาของฟลอริดิแล้ว การได้รับสารสนเทศที่เป็นจริงจึงจะเรียกได้ว่า เราได้รับความรู้

แนวคิดที่ว่าสารสนเทศจะต้องมีค่าความจริงนั้นสำคัญในปรัชญาของฟลอริดิ เพราะช่วยให้สามารถแยกแยะระหว่างสารสนเทศที่คลาดเคลื่อนจากความจริง (Misinformation) และสารสนเทศที่ไม่เป็นความจริง (Disinformation)

ฟลอริดิยังเสนอเรื่องจริยธรรมสารสนเทศหรือจริยธรรมดิจิทัลว่า ในระบบข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่นั้น ไม่ควรมีข้อมูลหรือสารสนเทศที่เป็นเท็จ การสื่อสารข้อมูลควรก่อให้เกิดความรู้มากกว่าข้อมูลที่แยกไม่ออกว่าจริงหรือเท็จ และในทางปฏิบัติก็จะเห็นได้ว่า ข่าวปลอมเป็นปัญหาที่ผู้รับข่าวสารต้องใช้วิจารณญาณกันเอาเองว่าจะเลือกเชื่อข่าวนั้นอย่างไร

ข่าวปลอมและการอ้างความรู้

ความน่าสนใจของปรัชญาสารสนเทศในประเด็นข่าวปลอมก็คือ ข่าวที่ดีคือข่าวที่ให้สารสนเทศที่เป็นจริง และข่าวที่ไม่ดีก็คือข่าวที่ไม่นำเสนอความจริง แต่ตามแนวความคิดของฟลอริดิแล้ว สารสนเทศที่ประกอบด้วยความจริง มันช่วยให้เราสามารถเห็นความแตกต่างระหว่าง Misinformation ซึ่งเป็นการได้รับสารสนเทศที่คลาดเคลื่อนจากความจริง และ Disinformation ซึ่งก็คือสารสนสนเทศที่ไม่มีค่าความจริง 

 ถ้านับจากมุมมองของสื่อ Misinformation คือการให้สารสนเทศ (ข้อมูล) ที่คลาดเคลื่อน เช่นข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน โดยอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะนำเสนอให้ผู้รับเข้าใจผิด ส่วนกรณีของ Disinformation ก็คือกรณีที่ผู้ส่งสารจงใจให้ผู้รับเข้าใจความเท็จ 

ยังมีคำเรียกสารสนเทศที่ไม่เป็นความจริงอีกคำหนึ่ง คือ mal-information หมายถึงการส่งสารที่มุ่งหมายให้เกิดผลเสียบางอย่างตั้งแต่ต้น ถ้าจะใช้คำเรียกให้ตรงกับสถานการณ์ในบ้านเราก็คือ IO (Information Operation) แต่สำหรับ mal-information ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจหรือไม่ แต่ปัญหาของมันก็คือ mal-information หวังผลที่เกิดจากข่าวที่เผยแพร่ออกไปด้วย

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับเป็นจริงหรือเท็จ?

สำหรับคนเรียนปรัชญา การอ้างความรู้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าสิ่งที่เราจะอ้างว่ารู้ ต้องเป็นความจริงด้วย เราเชื่อว่าสิ่งที่อ้างว่ารู้นั้นเป็นจริงและให้เหตุผลสนับสนุนมันได้ (เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของญาณวิทยา ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงยาวนานว่าตกลงแล้วเราจะอ้างความรู้ได้อย่างไร)

แต่ในที่นี้ เครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถรับข่าวโดยกังวลกับข่าวปลอมน้อยลงก็คือ การรู้จักแขวนความเชื่อ หรือยับยั้งความเชื่อ วิธีการนี้เป็นทักษะของการเรียนญาณวิทยา เพราะว่าประเด็นพื้นฐานทางญาณวิทยาอย่างหนึ่งคือ เราอาจจะไม่รู้ว่าโลกในความเป็นจริงคืออะไรก็ได้ เช่น เราอาจจะอยู่ในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ หรือจริงๆ แล้วเราอาจจะเป็นผีเสื้อที่ฝันว่าเป็นตัวเราก็ได้ 

แนวคิดนี้ทำให้คนที่เรียนญาณวิทยาระมัดระวังที่จะอ้างว่า รู้ – ไม่รู้ อะไร และการแขวนความเชื่อก็คือการที่เราไม่รีบที่จะบอกว่า อะไรเป็นความรู้ จนกว่าจะแน่ใจจริงๆ

ในกรณีข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ เราไม่จำเป็นต้องรีบเชื่อว่าทุกข่าวที่รับเป็นความจริง การรณรงค์ให้หยุดแชร์ข่าวเป็นมาตรการแบบหนึ่ง แต่ก็ยากมากๆ ว่าเราพลาดการส่งต่อความจริงให้กับเพื่อนรึเปล่า? การเลือกสำนักข่าวหรือแหล่งข้อมูลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ประสบการณ์พอสมควรจึงจะบอกได้ว่า สำนักข่าวหรือแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน? 

การรู้จักแขวนความเชื่อเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ว่าเรารับรู้ข้อมูลข่าวสารในฐานะข้อมูลที่มันผ่านตาเรา โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรีบให้ข้อตัดสินกับมันว่าจริงหรือไม่ และถ้าอยากจะตัดสินใจเชื่อจริงๆ เราคงต้องออกแรงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้สิ่งที่เราแขวนเอาไว้มีน้ำหนักมากพอ ที่เราจะเชื่อมันได้ อย่างน้อยเราก็อ้างได้ว่า เรามีข้อมูลมากพอที่จะสนับสนุนความเชื่อของเรา

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมากมายเช่นนี้ ไม่ได้ยากเลยที่เราจะค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเพื่อทำให้ข่าวที่เราอยากจะเชื่อมีน้ำหนักมากขึ้น ที่พูดถึงจากมุมของผู้ใช้มากกว่าสำนักข่าวก็เพราะว่า ผู้ใช้เองควรจะมีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองในการสืบเสาะหาความรู้ อย่างน้อยก็เพื่อให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดของข้อมูลที่แสดงผลบนหน้าข่าวของเรา 

ข่าวนั้นจะปลอมหรือไม่ปลอม ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้รับข่าวที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของการชวนเชื่อ หรือไม่ไหลไปตามกระแสความคิดเห็นของคนอื่น ในกรณีที่ข่าวมีความเห็นเป็นฝักฝ่าย เราก็ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการมองว่า มีฝ่ายที่ถูกหรือผิดเอาไว้ตั้งแต่ต้น 

สิ่งที่จะช่วยในการรับข่าวสารที่มีความคิดเห็นหลากหลาย ก็คือการแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น แม้จะฟังดูไม่ซับซ้อน แต่เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนพอสมควร เพราะการที่เราจะเข้าใจข่าวที่เราได้รับและมองออกว่าข้อเท็จจริงของข่าวคืออะไร ส่วนใดคือการวิเคราะห์หรือการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนหรือแหล่งข่าวนั้น วิธีที่จะช่วยฝึกที่ง่ายที่สุด ก็คือ การเปรียบเทียบข่าวเดียวกันจากหลายๆ แหล่งข้อมูล นั่นจะช่วยให้เห็นข่าวเดียวกันจากหลากหลายแง่มุมได้มากขึ้น

Tags: , , , , , , ,