ทั้งๆ ที่ใครก็บอกว่ายุคนี้ต้องไฮเทค ต้องตามโลกดิจิทัลให้ทัน แต่ดูเหมือนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะไม่ใช่ตัวละครโดดเด่นของพรรคไหน หากส่องนโยบายในเว็บไซต์แต่ละพรรค หัวข้อนี้ก็ไม่ได้ออกมาโดดๆ (เท่าที่ดูก็มีเพียงพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเพียงแนวนโยบายแบบกว้างๆ)
แต่ก็ไม่ใช่ว่าพรรคต่างๆ มองข้าม พวกเขาสอดแทรกเรื่องเทคโนโลยีไปในการแก้ปัญหาด้านอื่นๆ เช่น การเกษตร การพัฒนาเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาการทำงานของภาครัฐเอง
ส่วนอีกสองเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพื่อเปิดทางให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็คือการศึกษาและกฎหมายต่างๆ
เริ่มจากแก้การศึกษา ต้นน้ำของเทคโนโลยี
หลายพรรคเห็นตรงกันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นได้ เมื่อแก้ไขที่การศึกษา
พรรคพลังประชารัฐ เน้นตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการสร้าง ‘ทักษะ’ (skillset) และ ‘วิธีคิด’ (mindset) สร้างอาชีพใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีรากฐานจากวิทยาศาสตร์ มุ่งให้ KMUTT (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) เป็น MIT ของประเทศไทย เป็นหัวหอกในการเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ของไทย และ เสนอให้เด็กๆ เรียนเรื่อง AI, Coding และ IoT ตั้งแต่ประถมฯ ต้น
พรรคอนาคตใหม่ เสนอการเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยเพื่อที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัล ด้วยการเพิ่มหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับโรงเรียนสายสามัญและสายอาชีวะ เพื่อจะให้มีนักเรียนและบุคลากรรุ่นใหม่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมไอที เปิดโรงเรียนสายอาชีพเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในวัยทำงานแล้วได้กลับมาสู่ระบบการศึกษา เพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีและด้านดิจิทัล
พรรคเพื่อไทย บอกว่า ก่อนอื่น ต้องเปลี่ยนความคิดเรื่องการศึกษา จากวิทยาศาสตร์เพื่อสอบผ่าน มาเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อการสร้างชาติ ซึ่งต้องกลับไปแก้ไขบรรยากาศการเรียนให้นักเรียนกล้าโต้เถียง เห็นแย้ง เพราะเป็นหัวใจสำคัญของวิทยาศาสตร์
ทลายกรอบขังการพัฒนา
อย่างที่สองคือการกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ซึ่งตัวแทนจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเพื่อไทย เห็นตรงกันว่า พ.ร.บ. ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ จะต้องได้รับการทบทวนเพื่อไม่ให้เกิดการตีความอย่างกว้าง ที่อาจสร้างความเสียหายในอนาคต เนื่องจากความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานพัฒนาเทคโนโลยีหรือการตั้งศูนย์ข้อมูล (data center) ของต่างชาติ ซึ่งอุปสรรคส่วนนี้อาจทำให้บุคลากรไทยพลาดโอกาสไปได้อีกมาก
พรรคเพื่อไทย ระบุในนโยบายกว้างๆ ว่าจะ ‘ปรับปรุงกฎหมาย’ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนา การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการถ่ายทอดทักษะ
พรรคอนาคตใหม่ เสนอให้ออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้ชาวต่างชาติที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น ลดกฎเกณฑ์ในการทำวีซ่าทำงานให้ง่ายดายขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาทำงานกับบริษัทสัญชาติไทย
ในขณะที่ พรรคประชาชาติ ชูเรื่องปลดโซ่ตรวนในระบบงานวิจัย ลดความเป็นพรรคเป็นพวกและอิทธิพลแฝงในระบบการทำวิจัย นำคนจากภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาอยู่ในคณะกำหนดนโยบายมากขึ้น ไม่ใช่กีดกันให้อยู่แค่ในห้องแล็บ
เทคโนโลยีการเกษตร
หากเป็นด้านการเกษตร หลายๆ พรรคชูประเด็นเกษตรทันสมัย หรือ smart farmer นำเอาเทคโนโลยีเข้าไปสร้างประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งฟังดูยังไม่เห็นความแตกต่างกันมากนัก
อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้ทำข้อมูลเชื่อมโยงอุปสงค์-อุปทาน (demand-supply) ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และใช้ Agriculture technology root (ATR) หรือเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นมาใช้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
เช่นเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐ พูดถึงการใช้ ‘บิ๊กดาต้า’ (big data) มาทำ Agri-Map นำข้อมูลทางภูมิศาสตร์และชีววิทยามาเสริม เพื่อบอกว่าพื้นที่ไหนควรปลูกอะไร มุ่งสร้างเกษตรกรอัจริยะให้ได้ 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี
หรือพรรคอนาคตใหม่ที่จะให้นำเทคโนโลยีไปลดต้นทุนที่ ‘ต้นทาง’ เช่น ปุ๋ย แรงงาน เมล็ดพันธุ์ และนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ ‘ปลายทาง’ เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมการเกษตรธรรมดาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น การดึงโปรตีนจากข้าวมาทดแทนโปรตีนจากถั่วเหลืองสำหรับคนที่แพ้ถั่วเหลือง หรือการสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้สามารถเป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งประเด็นอุตสาหกรรมยางพารานี้ก็สอดคล้องกับพรรคภูมิใจไทย
ประชันนโยบายพรรคการเมือง EP 01: สุขภาพ
ส่งเสริมภาคธุรกิจ
ในด้านการนำเทคโนโลยีไปเสริมภาคธุรกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ชูเรื่องส่งเสริมการติดตั้งเครือข่าย 5G และโครงการ GovTech หรือเทคโนโลยีภาครัฐ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ พูดถึงแนวคิดนี้ว่า GovTech คือการประสานงานระหว่างสองฝั่ง ระหว่างรัฐที่ต้องการพัฒนา และสตาร์ตอัปที่ต้องการลูกค้าและ Use case ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศ เช่น คุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ หรือเรื่องสุขภาพ ซึ่ง GovTech นี้ จะช่วยทั้งส่งเสริมการทำงานของภาครัฐ และสนับสนุนสตาร์ตอัปในประเทศให้เกิดขึ้นด้วยเงินจากภาครัฐ
ด้านพรรคอนาคตใหม่ มองว่าการมีโอเพนดาต้าจะทำให้ SMEs สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจ และทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการสนับสนุนสตาร์ตอัปมากกว่าแค่การจัดประกวด ด้วยการสร้าง ‘สภาพแวดล้อม’ ให้เกิดการ disrupt เช่น ปรับกฎหมายเพื่อให้ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ไม่ให้สตาร์ตอัปโตมากสุดแค่ไปรับใช้กลุ่มทุน ส่วน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค มองว่าอุตสาหกรรมรถบัส และอุตสาหกรรมรถไฟ เป็นสองอุตสาหกรรมเด่นที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและทำได้ทันที ซึ่งควรหันไปพัฒนาเทคโนโลยีที่ประเทศอื่นยังไม่มีใช้ ดีกว่าทำซ้ำกับประเทศอื่นๆ ซึ่งสุดท้ายอาจเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
พรรคพลังประชารัฐ จะจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ตอัป ตั้งเป้าสร้างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น เป็นเมืองระดับโลกสำหรับสตาร์ตอัป ให้มีสตาร์ตอัปเกิดใหม่ 10,000 ราย และผลิต makers ให้ได้ 1 ล้านคนภายใน 5 ปี รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มตลาดเพื่อรองรับ
เทคโนโลยีแก้ปัญหารัฐ
นี่เป็นส่วนที่พรรคอนาคตใหม่พูดย้ำหลายครั้ง คือการทำให้ข้อมูลรัฐกลายเป็น open data ที่ไม่ใช่แค่การเผยแพร่ไฟล์พีดีเอฟ แต่เป็นฐานข้อมูลที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (machine readable) เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปใช้งานและต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรม หรือสื่อมวลชนนำไปใช้ตรวจสอบการทุจริตต่างๆ ได้
นอกจากนี้ จะนำข้อมูลทั้งหมดที่เป็นของทุกกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานต่างๆ ของรัฐเข้ามาเชื่อมโยงให้เป็นฐานข้อมูลเดียว เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ให้บริการกับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เช่น ระบบจองคิวโรงพยาบาลรัฐ นำข้อมูลระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชนมารวมให้เป็นฐานข้อมูลเดียว เพื่อวิเคราะห์การเดินทางที่ดีที่สุดให้กับประชาชน รวมทั้งต้องฝึกฝนข้าราชการไทยให้มีทักษะในด้านดิจิทัล ทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อรองรับกับรัฐบาลใหม่
พรรคกลาง พรรคเพื่อไทย และพรรคมติประชา เสนอแนวคิดอย่างหนึ่งที่ตรงกัน คือการนำเทคโนโลยีมาสร้างการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย ต่อนโยบายต่างๆ ได้ตลอดกระบวนการ ไม่ต้องคอยรอเลือกตั้งใหม่ทุก 4 ปี
ที่มา:
- งานเสวนา เลือกตั้ง ‘62 กับอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย’ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอน 1 และตอน 2
- Future Talk เสวนาเปิดนโยบาย 5 พรรคการเมืองด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเทรนด์แห่งอนาคต “Looking For The Future of Thailand”
- https://pprp.or.th
- https://www.ptp.or.th/page/policy
- https://futureforwardparty.org/about-fwp/our-policies
- https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/008-Thailand-Manufacturing-News-Mreport
- https://www.msn.com/th-th/news/national/
- https://youtu.be/B2TThqtGOkA?t=4170
- https://www.voicetv.co.th/read/KWTDso5st
- ข้อมูลพรรคการเมือง แอปพลิเคชัน SmartVote