จากการจัดอันดับของ Cs Global Wealth Report เมื่อปีที่ผ่านมา (2018) ชี้ออกมาว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มี ‘ความเหลื่อมล้ำ’ หรือช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากที่สุดในโลก ซึ่งรากฐานของปัญหาคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่ถูกออกแบบอย่างไม่รัดกุม จนทำให้การพัฒนาและความร่ำรวยในประเทศตกอยู่ในกำมือของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม

  อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศของเราเพียงที่เดียว มันเป็นผลพวงจากระบบทุนนิยม ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งได้กระจายผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก นักคิดมากมายต่างระดมสมองเพื่อที่จะถมช่องว่างที่เกิดขึ้น จนออกมาเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก คือ ‘รัฐสวัสดิการ (Welfare State)’

 ถึงแม้ประเทศไทยยังคงห่างไกลจากแนวคิดรัฐสวัสดิการอยู่อักโข แต่ครั้งหนึ่ง เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเริ่มดำเนินนโยบาย ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ ซึ่งเป็นหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้าที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นคนจนเท่านั้น

30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง เป็นนโยบายที่มีคุณภาพและช่วยบรรเทาความโหดร้ายจากค่ารักษาพยาบาลของคนจนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็มีฝ่ายเห็นต่างที่กังวลว่างบประมาณบานปลาย และยังเจอปัญหาของระบบโรงพยาบาลที่บุคลากรทางการแพทย์กระจุกตัวอยู่เฉพาะเมืองใหญ่

The Momentum ย่อยแนวคิดของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมวงสัมมนา 2 แห่ง แห่งแรกจัดขึ้นโดย Workpoint TV เรื่อง ‘ดีเบต นโยบายสุขภาพ’ ซึ่งได้มี 4 พรรคเข้าร่วมการดีเบตครั้งนั้น ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์), พรรคพลังประชารัฐ (สุวิทย์ เมษินทรีย์), พรรคประชาธิปัตย์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ), พรรคอนาคตใหม่ (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

และอีกเวทีเสวนา จัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด เพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปครบรอบ 11 ปี ของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิกหลักประกันสุขภาพของไทย ภายใต้ชื่อ “มองไปข้างหน้า พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ซึ่งนอกจากหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรคข้างต้นแล้ว ยังมีตัวแทนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (ทันตแพทย์ศุภผล เอี่ยมเมธาวี) ที่มาร่วมวงเสวนาด้วยอีกคน

แต่ละพรรคการเมืองต่างยอมรับว่า หน้าที่ของรัฐในการจัดสวัสดิการสุขภาพในฐานะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนนั้นเป็นเรื่องจำเป็น ต่างแต่เพียงว่า จะเลือกระบบบริหารจัดการด้วยวิธีไหน

3 กองทุน 3 ขั้นความเหลื่อมล้ำ

  สำหรับงบกองทุนสุขภาพของรัฐ แบ่งออกเป็น 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งปัญหาใหญ่คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนต่างๆ ทั้งเรื่องความแตกต่างของคุณภาพยา คุณภาพการรักษาและการให้บริการ

 ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ต่างมองแนวทางการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ออกมาใกล้เคียงกันคือ ไม่จำเป็นต้องยุบรวมทั้ง 3 กองทุน โดยพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เสนอว่า กองทุนทั้ง 3 ควรจะคงไว้ดังเดิม หากแต่ต้องใช้บัญชียาเป็นบัญชีเดียวกัน กล่าวคือ หากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ไข้ขึ้น ปวดหัว และไปใช้สิทธิ์รักษาสุขภาพของข้าราชการ ยาที่หมอสั่งให้นั้น ต้องเป็นยาตัวเดียวกับที่ป้าขายกล้วยทอดหน้าตลาดได้รับจากการยื่นใช้สิทธิ์บัตรทอง

พรรคพลังประชารัฐก็มองใกล้เคียงกับอีกสองพรรคในประเด็นนี้ เพียงแต่เสนอให้คงไว้ซึ่งสิทธิ์พิเศษของแต่ละระบบ รวมถึงสิทธิเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่พร้อมจ่ายเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม มีเพียงพรรคอนาคตใหม่ที่มองต่างออกไป อนาคตใหม่เสนอให้ยุบทั้ง 3 กองทุนเป็นกองทุนเดียวกัน ซึ่งพวกเขากล่าวว่ามันเป็นไปได้ โดยต้องเริ่มจากการดึงสิทธิ์รักษาพยาบาลออกจากหลักประกันสังคม เพื่อให้หันมาใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพด้วยกัน ก่อนที่จะเกลี่ยอัตราการเติบโตของกองทุนข้าราชการ และนำมาทบกับงบของกองทุนหลักประสุขภาพแทน เพื่อให้อัตราการเติบโตของสองกองทุนมาบรรจบกันในที่สุด อนาคตใหม่ยังเสนออีกว่า แนวทางนี้จะใช้กับข้าราชการที่บรรจุใหม่เท่านั้น สำหรับข้าราชการที่เคยได้รับสิทธิดั้งเดิมอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินต่อไป

ในแง่ของปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทุกพรรคเสนอทางออกเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นควรที่จะเน้นการดูแลสุขภาพเชิงรุก หรือรณรงค์ให้ประชาชนรักษาสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ก่อนที่จะไปแก้ปัญหาด้วยการรักษาจากมือหมอที่ปลายน้ำ อีกทั้งทุกพรรคต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ (co-pay) เป็นแนวคิดที่ถอยหลังมากกว่าก้าวหน้า

เพื่อไทย – เริ่มต้นและพัฒนา – Health for All ถึง All for Health

พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐบาลที่ริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอธิบายว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นเพียงแนวคิด Health for All ซึ่งเป็นจุดตั้งต้น ก่อนดำเนินไปสู่แนวคิด All for Health เท่านั้น ปลายทางของพวกเขายังคงมุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงสุขภาพมากกว่ารอคอยการรักษาพยาบาลจากหน่วยงานทางการแพทย์

ในเรื่องงบประมาณ พวกเขาเสนอให้ปรับปรุงแนวทางการจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มงบประมาณในแต่ละกองทุน รวมถึงเพิ่มสิทธิ์การตรวจสุขภาพสำหรับประชาชนประจำปี อีกทั้งยังนำเสนอแนวนโยบาย ‘คืนโรงพยาบาลให้ประชาชน’ ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับโรงพยาบาลท้องถิ่น และชุมชน เพื่อจัดบริการสุขภาพ และจัดสรรงบประมาณด้วยตนเอง เนื่องจากเพื่อไทยมองว่าแต่ละพื้นที่มีพฤติกรรมซึ่งเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะมีหน้าที่กำกับดูแลแทนที่ส่วนกลาง เพื่อออกแบบให้สอดรับกับบริบทและพฤติกรรมของคนในชุมชน

เพื่อไทยยังผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดปัญหาทางเทคนิค เช่น การขอนัดคิวตรวจล่วงหน้าเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งเพื่อไทยเสนอแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘หมอประจำตัว’ เป็นทางออกของปัญหาเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้น รวมถึงพวกเขายังพร้อมนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นไปไม่ว่าจะเป็น AI หรือ หุ่นยนต์มาช่วยเป็นมือซ้ายมือขวาของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

ประชาธิปัตย์ – ยกระดับ 3 กองทุน ไม่ยุบรวม

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปรยว่าการยุบรวมทั้ง 3 กองทุนอาจจะเป็นไปได้ในอนาคตข้างหน้า แต่ในบริบทปัจจุบัน การรวม 3 กองทุนอาจจะเป็นหนทางที่ยิ่งสร้างปัญหาให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ ในปัจจุบัน ผู้ที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมต้องเสียเงินสองต่อ คือ เสียภาษีและจ่ายเงินสมทบ พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอให้คนกลุ่มนี้เลือกว่าอยากอยู่ในระบบนี้ต่อไปหรือไม่ หากไม่อยากเสียเงินสมทบ ก็ให้ออกไปอยู่กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านสวัสดิการสุขภาพของข้าราชการ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มองว่า ส่วนใหญ่ผู้เข้ามารับราชการยอมได้รับเงินเดือนต่ำกว่าภาคเอกชน เพื่อแลกกับสวัสดิการเหล่านี้ การจะยุบรวมกองทุนจึงอาจไม่ยุติธรรมกับข้าราชการเก่า ดังนั้นถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากผู้เข้ามารับราชการใหม่ โดยต้องหาวิธีชดเชยให้ส่วนที่หายไปของข้าราชการใหม่อีกด้วย

ในเบื้องต้น เขามุ่งหวังให้หน่วยงานสุขภาพภาคเอกชนเข้ามาจับมือกับภาครัฐเพื่อลดการดึงทรัพยากรไปจากภาครัฐ พร้อมยังเสนอให้ปรับระบบขอรับงบประมาณ รวมถึงให้มีการระดมเงินเพิ่มเติม อาทิ การจัดระบบภาษีที่ก้าวหน้ามากขึ้น เพิ่มอัตราภาษีบาป (ยาสูบ สุรา) และพวกเขายังมองว่า สปสช. ต้องเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อยาและจัดทำค่าบริการต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเงินที่เป็นส่วนเพิ่มมานั้น ประชาธิปัตย์เสนอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคร้ายแรง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาโรค รวมถึงนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิทธิ์การตรวจสุขภาพประจำปีของประชาชนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ประชาธิปัตย์สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดบริการสุขภาพในท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งต้องยกระดับความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั้งในแง่ความรู้ อำนาจหน้าที่ และการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือ เพื่อเป็นด่านแรกของการรักษา ลดภาระความอัดแน่นของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล

ประชันนโยบายพรรคการเมือง EP 02:  คมนาคม

ประชันนโยบายพรรคการเมือง EP 03: ศิลปวัฒนธรรม

ประชันนโยบายพรรคการเมือง EP 04: วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อนาคตใหม่ – ยุบรวม 3 กองทุน ทุกคนต้องเท่าเทียม

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคเดียวที่มองว่ากองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ควรจะถูกยุบรวมเป็นกองทุนเดียว หัวหน้าพรรคของพวกเขากล่าวว่า “ข้อมูลสถิติ พ.ศ. 2546 ข้าราชการมีสิทธิในการรักษาพยาบาลต่อหัวละ 5,600 บาท บัตรทอง 1,200 บาท พ.ศ. 2559 ข้าราชการมีสิทธิในการรักษาพยาบาลต่อหัว 15,326 บาท บัตรทอง 3,200 บาท เพิ่มโดยเฉลี่ยทุกปี ปีละ 8% เท่ากัน” ซึ่งเขามองว่าหากกองทุนเหล่านี้ยังโตในปริมาณเท่ากันแบบนี้เรื่อยๆ จะยิ่งสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองทุนให้มีมากขึ้น เขาจึงเสนอให้ “ข้าราชการต้องโตน้อยกว่านี้ โตในราคาที่น้อยลง แล้วให้สิทธิบัตรทองโตเร็วขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ข้าราชการไม่ได้รวยขึ้นเพราะภาษีตัวเอง ในอนาคตเราหวังให้ทั้ง 3 กองทุนรวมกันเป็นก้อนเดียว”

อนาคตใหม่มองการยกระดับการบริการสุขภาพ โดยแบ่งเป็น 3 แนวทาง

  1. ยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน – อสม. ต้องมีความรู้ ความสามารถ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้ป่วยก่อนส่งโรงพยาบาล ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการร้ายแรง สามารถส่งข้อมูลไปที่โรงพยาบาลเพื่อประสานให้จ่ายยาเพียงอย่างเดียวได้ทันที

  2. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี – ทำ Big Data ให้โรงพยาบาลเล็ก-ใหญ่ และบุคลากรทางการแพทย์สามารถแบ่งปันและเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยร่วมกัน สนับสนุนให้นำเทคโนโลยี AI มาช่วยเป็นมือไม้ของบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งพวกเขายังสนับสนุนให้ประเทศไทยมีการผลิตยาเวชภัณฑ์ใช้เองภายในประเทศ

  3. กระจายอำนาจท้องถิ่น – ข้อนี้เป็นนโยบายที่พวกเขาพูดอยู่เสมอว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญของพรรค ลดอำนาจส่วนกลางและทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารตนเองมากขึ้น ซึ่งรวมถึงในด้านสาธารณสุข

พลังประชารัฐ – ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน

พรรคพลังประชารัฐ มองว่าสังคมควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยึดหลัก ‘ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน’ คนที่มีเงินไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกันสุขภาพ เพื่อนำทรัพยากรไปมอบให้คนที่จำเป็นจริงๆ แต่ทั้งนี้ทุกคนควรต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพื้นฐานก่อน

รองหัวหน้าพรรคของพวกเขาเน้นย้ำเรื่อง การรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยพวกเขาชูแนวคิดหมอครอบครัว ให้ทุกครอบครัวตลอดจนทุกคนมีหมอประจำตัวของตัวเอง โดยตั้งเป้าไว้ 6,500 ทีม ในปี 2572 (ตอนนี้มี 800 ทีม) ซึ่งหมอครอบครัวต้องสามารถลงพื้นที่ตรวจรักษานอกโรงพยาบาลได้เลย เพื่อลดปัญหาความแออัดของโรงพยาบาล

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบมากขึ้นก็เป็นอีกสิ่งที่พลังประชารัฐเน้นย้ำ โดยต้องการสร้างฐานข้อมูลที่แบ่งปันข้อมูล ประวัติผู้ป่วย, การพบแพทย์และการใช้ยา ตลอดจนนำเทคโนโลยีสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถให้คำปรึกษาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ร้ายแรงได้ในทันที อีกทั้งพวกเขายังจะมุ่งพัฒนา จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งเป็นการศึกษาในระดับดีเอ็นเอ เพื่อนำมายกระดับคุณภาพยาและการรักษา ซึ่งพวกเขาอ้างว่าถ้าทำสำเร็จสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 70,000 ล้านบาท/ปี

รวมพลังประชาชาติไทย – เดินคารวะแผ่นดิน เพื่อเรียนรู้ปัญหา

    พรรครวมพลังประชาชาติไทย เล่าให้ฟังในเวที “มองไปข้างหน้า พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ว่า พวกเขาออกเดินทางคารวะแผ่นดินทั้งประเทศ เพื่อจะได้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนนำมาออกนโยบาย

    พรรค ‘ลุงกำนัน’ มองว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุจึงเป็นนโยบายที่ควรมาเป็นลำดับแรก โดยพวกเขาเสนอให้เพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขเพื่อ

  1. เพิ่มจำนวนและศักยภาพนักบริบาลผู้สูงอายุ 100,000 คน พร้อมทั้งเพิ่มค่าตอบแทน 10,000 – 15,000 บาท/เดือน

  2. เพิ่มศักยภาพและค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครอนามัยชุมชน

  3. เปิดโครงการคัดกรองโรคร้าย สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป

  4. ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เวลาที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องรอคิว

  5. โรงพยาบาลตำบลทุกแห่ง ต้องมีแพทย์ปฏิบัติการไปประจำอยู่ทั่วทั้งประเทศ

  6. โรงพยาบาลตำบล 8,000 แห่ง ควรต้องมีแพทย์ปฏิบัติการ และแพทย์แผนไทยประจำอยู่

  7. น้อมนำแนวพระราชดำริมาพัฒนาองค์ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย

    พวกเขามองว่าควรที่จะยกระดับโรงพยาบาลท้องถิ่น ทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะการเดินทางคารวะแผ่นดินทำให้พวกเขาได้เห็นว่า โรงพยาบาลประจำจังหวัดมีประชาชนแห่มาใช้สิทธิ์รักษาสุขภาพโดยปราศจากการคัดกรอง ทำให้มีสภาพไม่แตกต่างใดๆ กับ ‘โรงคัดศพ’ พวกเขาจึงเสนอให้ยกระดับหน่วยงานสาธารณสุขทั้งประเทศให้มีคุณภาพทั้งในแง่ สถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังเสนอให้โรงพยาบาลระดับตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจดูเรื่อง สุขอนามัย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,