-1-
“Ohhh!, how come you are here?” เพื่อนชาวอินโดนีเซียเดินรี่เข้ามาด้วยความประหลาดใจเมื่อเดินเจอในงานเปิดนิทรรศการศิลปะแห่งหนึ่ง
“I come here just for being here.” เราตอบออกไปแบบติดตลก แต่มีส่วนจริงอยู่ว่า หลายครั้งเราก็คาดหวังหรือวางแผนอะไรไม่ได้มากกว่าพาตัวเองไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเพื่อรอดูว่าจะเจออะไรบ้าง…
โนวิ กฤษณมูรติ (Novi Kresnamurti) ทำงานเป็นก็อปปีไรเตอร์ และดีไซน์เนอร์ มาเชียงใหม่มาเกือบสามปีแล้ว เราเจอกันครั้งแรกราวสามสี่ปีก่อน เมื่อเธอแวะมาดูงานที่แกลเลอรีสปีดดีแกรนด์มาในกรุงเทพฯ เธอเดินทางจากจาการ์ต้ามาเที่ยวเมืองไทยในช่วงเวลาที่ buzzword อย่าง “Southeast Asia” เพิ่งเริ่มต้น ทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ยังไม่มีกิจกรรมอะไรที่โยงเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านจนเอิกเกริกอย่างทุกวันนี้ แต่พลวัตของโลกเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของเศรษฐกิจและการเมือง ระบบความสัมพันธ์ในโลกศิลปะก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่างประกอบกันที่กว้างมากกว่า ‘โลกภายในวงการ’ จนถึงแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะสามารถทำงานข้ามความเป็นเอกเทศของศาสตร์สาขาและชาติพันธุ์มากขึ้น โลกทัศน์แบบเดิมต่อความบริสุทธิ์ของศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจัดแบ่งประเภทงาน อาจต้องถูกท้าทายโดยการข้ามไขว้ที่เปิดทางให้ลูกผสมและการกลายพันธุ์เสนอจินตนาการใหม่ให้กับสังคม
มองดูตัวเมืองเชียงใหม่ที่เคยเป็นปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ภูมิทัศน์ของเมืองเริ่มถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยตัวเลขของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่พุ่งสูงขึ้น ทว่าไม่ใช่เพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์อย่างที่มักปรากฏตามสื่อ แต่คือกลุ่มคนรุ่นใหม่จากเอเชียที่เดินทางคนเดียว หรือมากับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่เพียงแค่นักเดินทางชาวญี่ปุ่นอีกต่อไปที่มีกำลังพอจะจ่ายสำหรับการเดินทาง หนุ่มสาวชาวจีน นักศึกษาศิลปะจากเกาหลี นักวิจัยจากไต้หวัน และก็อปปีไรเตอร์อย่างโนวิจากอินโดนีเซีย ต่างล้วนมีส่วนในพลวัตของเมือง
เชียงใหม่ยังเป็นหนึ่งใน ‘จุดเช็กอิน’ ของกองทัพคนทำงานศิลปะจากต่างพื้นที่ต่างวัฒนธรรม ด้วยภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม หนุนส่งให้เชียงใหม่ถูกเลือกเป็นที่พักของศิลปินต่างถิ่นและต่างชาติ ย้ำด้วยเรื่องเล่าถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปินในยุค ’90s อย่าง ‘เชียงใหม่จัดวางสังคม’ (Chiangmai Social Installation) ที่ขณะนี้กลายเป็นวาทกรรมผลิตซ้ำมากกว่าจะเป็นการทบทวนเชิงวิพากษ์วาทกรรมที่จะเป็นคุณกับการศึกษา จนถึงระบบความสัมพันธ์ของคนกับเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศและการเติบโตของเมือง ทั้งสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยต่างๆ และการมีอยู่ของหอศิลป์ มิวเซียมเอกชน แกลเลอรี งานหัตถกรรม งานออกแบบ งานประชุมเสวนา ฯลฯ
แต่ภาพกว้างแบบไร้รอยต่อของประวัติศาสตร์ศิลปะและเรื่องเล่าของปัจจุบัน ไม่เพียงพอจะเข้าใจความเป็นไปและเงื่อนไขของระบบความสัมพันธ์ที่ผู้คนต้องรับมืออยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะภาพสวยมักไม่ได้รื่นรมย์อย่างที่ชวนให้ใครเชื่อ เราควรเฉลียวต่อเรื่องเล่าที่เรียบเนียนเกินไป เพื่อเปิดทางให้ความคิดได้แตะลงสู่ความขรุขระของความจริง และอนุญาตให้เกร็ดรายทางได้แสดงตัวท้าทายความเป็นเอกเทศของการมีอยู่ของศิลปะ ศิลปิน และมายาคติที่ทนทาน
-2-
ฉากหลังคือสองย่านที่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคืนวันเสาร์แรกของเดือนสุดท้ายที่มีกิจกรรมทางศิลปะเกิดขึ้นพร้อมกัน หนึ่งเป็นงานเปิดนิทรรศการ ปรากฏกลาย/Photomutagenesis ณ Asia Culture Station และโรงแรม The Laboratory บนถนนนิมมานเหมินทร์-ถนนศิริมังคลาจารย์ อีกหนึ่งคืองานแสดงดนตรีสด ]extanting<01>interstices[ ณ extantation ในย่านวัดอุโมงค์-วัดโป่งน้อย กิจกรรมทั้งคู่สนับสนุนโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น ทว่าอยู่บนความสัมพันธ์ที่ต่างระดับกัน
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เงินลงทุนจำนวนมากสนับสนุนผู้คนและองค์กรทางศิลปะใน ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ จนเกิดการเดินทางและถ่ายเทข้อมูลหลากหลายท่าที ตั้งแต่ทุนนักวิจัย ศิลปินในพำนัก กิจกรรมและนิทรรศการทางศิลปะ จนถึงนิทรรศการขนาดใหญ่เกี่ยวกับภูมิภาคนี้ในมหานครโตเกียวช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา จินตนาการได้ไม่ยากว่าการลงทุนผ่านการสนับสนุนเงินทุนจำนวนมหาศาลมีผลสำคัญต่อภูมิภาคที่เงินงบประมาณสำหรับกิจกรรมทางศิลปะมีอยู่อย่างจำกัด แต่ระบบความสัมพันธ์บนการขยายตัวของเงินทุนควรจะเป็นสิ่งที่ถูกตั้งไตร่ตรองไปด้วยพร้อมกัน รวมถึงคำถามที่ว่า ท้ายสุดแล้วกิจกรรมทางศิลปะทั้งหมดได้สร้าง (และตัดทอน) อะไรและอย่างไรบ้าง? กิจกรรมทั้งหมดสื่อสารไปสู่ใคร? และท้ายสุดสิ่งที่จะหลงเหลือและถูกเข้าใจในอนาคตคืออะไร?
นับตั้งแต่การก่อตั้ง ACS (Asia Culture Station) ในเชียงใหม่ ภายใต้เงินทุนสนับสนุนของ Asia Center Japan Foundation มีกิจกรรมทางศิลปะและความรู้ที่น่าสนใจเกิดขึ้นต่อเนื่องในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นของ CAC (Chiangmai Art Conversation) ที่ท้ายสุดกลายมาเป็น ACS (Asia Culture Station) ไม่ใช่เพียงชื่อที่ถูกขยายจากบริบทท้องถิ่นมาใช้คำอย่าง ‘Asia’ ซึ่งกลายเป็นคำที่กว้าง (และมีปัญหาในตัว) แต่ยังกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ ที่ปักหลักอยู่บนพื้นที่เฉพาะ ขณะที่วาระและนโยบายถูกควบคุมผ่านองค์กรที่ให้ทุนจากประเทศที่ร่ำรวยกว่า
นั่นหมายถึงว่าองค์กรท้องถิ่นผันตัวเองเป็นสถานีย่อยทางวัฒนธรรม จ่ายอิสรภาพต่อการกำหนดนโยบาย เพื่อแลกเงินทุนสร้างกิจกรรมศิลปะที่ไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์และวาระของผู้ให้ทุน […] ข้อเท็จจริงนี้ชวนให้คิดถึงประวัติศาสตร์ที่คล้ายกันในช่วงสงครามเย็น เมื่อประเทศมหาอำนาจต่อสู้กันผ่านสุนทรียศาสตร์และมายาคติของศิลปะสมัยใหม่ที่ยังคงมีผลคั่งค้างมาจนถึงปัจจุบัน (รวมถึงความคิดต่อศิลปะในเหล่าศิลปิน ‘ร่วมสมัย’ บางกลุ่มในบ้านเรา)
เมื่อถามเพิ่มเติมถึงความคิดต่อพื้นที่จัดงาน อธิคม มุกดาประกร หนึ่งในทีม Asia Culture Station ผู้จัดนิทรรศการ ปรากฏกลาย/Photomutagenesis อธิบายว่า เกิดจากการต่อรองหลายปัจจัยในเรื่องเวลาและงบประมาณ แถมลักษณะการออกแบบพื้นที่คล้ายแล็บวิทยาศาสตร์ พ้องกับความคิดตั้งต้นของนิทรรศการที่ล้ออยู่กับเรื่องการแปรและกลายพันธุ์ ที่ขนาบด้วยชื่อภาษาอังกฤษชวนงงเมื่อได้ยินครั้งแรก ‘Photomutagenesis’ อันแปลว่า การก่อรูปใหม่ผ่านการกลายพันธุ์จากแสง
พื้นที่นิทรรศการหลัก ปรากฏกลาย/Photomutagenesis แตะปัญหาที่ผู้จัดนิทรรศการอย่าง Asia Culture Station ต้องเจอ (รวมถึงใครก็ตาม) เมื่อเลือกแสดงงานภายนอก ‘พื้นที่ศิลปะ’ ที่โครงสร้างโดยปกติสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดการนิทรรศการโดยตรง ขณะที่งานออกแบบและภาษาของพื้นที่อื่นยึดโยงอยู่กับการใช้งานหลักของพื้นที่นั้น การเข้าไปครองพื้นที่ในวาระเฉพาะกิจจึงต้องอาศัยการเลาะไวยากรณ์เดิมของพื้นที่
ครั้นงานศิลปะต้องการเสนอภาษาของตัวเอง กระบวนการจัดนิทรรศการจึงสร้างความท้าทายอีกลักษณะ และความท้าทายตรงนี้น่าสนใจเสมอ แม้ไม่ใช่ทุกครั้งที่พื้นที่ศิลปะจะงัดข้อกับพื้นที่ทั่วไปได้สำเร็จ
เดินผ่านประตูทึบของโรงแรม เข้าสู่พื้นที่ของนิทรรศการที่ผนังส่วนใหญ่เป็นกระจกใส ภาพจากภายนอกทั้งสองฝั่ง — ทางเดินริมถนน และพื้นที่ด้านในของโรงแรม — กลายเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองทางสายตาของนิทรรศการนี้ไปโดยปริยาย เมื่อพื้นที่แสดงงานมีความลึกเพียงไม่กี่ก้าว จังหวะการเดินถูกบีบออกไปทางด้านข้างพร้อมๆ กับงานที่เรียงแนวไปตามขวางทางขวามือประตูทางเข้า การรับมือกับผู้ชมท้าทายพอๆ กับการหาระยะมองที่เหมาะสมในการดูงานที่จะไม่เผลอเหยียบเท้าใครโดยไม่ตั้งใจ
เมื่อมองผ่านมุมการจัดนิทรรศการในกรณีนี้ ทีมผู้จัดมีทางเลือกหลักสองทางที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ทางเลือกแรกคือ เคลียร์พื้นที่ให้ราบเกลี้ยง ก่อนเอางานเข้าไปติดตั้ง ราวกับพื้นที่นั้นถูกแปรสภาพเป็นห้องสีขาวเพื่อรองรับงานจัดวาง อีกทางคือ เข้าไปแฝงอยู่กับองค์ประกอบดั้งเดิมที่มีต้นไม้หลายพันธุ์วางซ้อนเต็มพื้นที่ นิทรรศการไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเงื่อนไขเดิมจนขาวสะอาดเพื่อรองรับตัวงาน กรณีนี้ ปรากฏกลาย/Photomutagenesis ถูกจัดการภายใต้วิธีคิดแรก ทั้งนี้ การตัดสินใจทางใดทางหนึ่งไม่ได้เป็นเรื่องถูกผิด แต่ในทางเลือกทั้งสองนั้น ให้ผลต่องานนิทรรศการที่ออกมาแตกต่างกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ผลงานในชื่อ ‘Signs’ (2014&2017) ของศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ อิงอยู่กับผนังและฝ้าเดิมของโรงแรม ‘แผ่นป้ายประท้วง’ ในขนาดเท่ากันทั้งสี่ชิ้นเล่นกับวาทศิลป์ที่เดาไม่ยากสำหรับคนที่คุ้นเคยกับบริบทการเมืองไทย ทว่าบางครั้ง คำก็ถูกวนใช้ซ้ำโดยศิลปินหลายนามจนอาจไร้พลัง เพราะความลงรอยเป็นเนื้อเดียวกันของภาษาศิลปะและภาษาการเมือง ไม่พอที่จะทำให้การล้อเลียนทำงานอย่างเท่าทันความซับซ้อนของสถานการณ์ที่ ‘กลายพันธุ์’ ไปแล้ว
เช่นเดียวกับแผ่นป้ายประท้วงสีทองที่ลอยอยู่เหนือหัวอีกสองชิ้น อ้างอิงกับวลี “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ…” น่าเสียดายว่างานหยุดอยู่แค่การ ‘เล่นคำ’ กับภาพจำที่เป็นไวยากรณ์เบื้องต้นของศิลปะที่พูดเรื่องการเมือง แต่ความซับซ้อนของบริบททางประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกขบคิดเพื่อจะกลายมาเป็นส่วนของการสร้างและตีความใหม่ในงาน ทั้งผลงานกลับไม่ได้ชวนให้มองขึ้นไปด้วยการจัดวางผ่านแสงที่ส่องกระจายทั่วห้องจนขาดจุดโฟกัส กลับเป็นความขัดแย้ง (paradox) ของงานเองที่พยายามวางอยู่บนอุปลักษณ์ของ ‘แสง’
แสงส่องออกไปในทางรุกล้ำมากกว่าจะฉายส่องงาน โดยเฉพาะกรณีงาน ‘Super Rat’ ของศิลปินกลุ่ม Chim↑Pom จากประเทศญี่ปุ่น ความเข้าใจส่วนตัวต่อผลงานดั้งเดิมทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะเจอความซุกซนจากงานของศิลปินกลุ่มนี้ […]
หนูพันธุ์พิเศษในย่านชิบูย่าที่กลายพันธุ์ด้วยการใช้ยาเบื่อหนู สามารถต้านทานจนมีชีวิตอยู่ได้ในสังคมมนุษย์ ผลิตยาพิษฆ่าพวกมัน ชื่อเล่นว่า ‘Super Rat’ ราวกับขนานนามการดิ้นรนในโลกที่เต็มไปด้วยพิษ หนูกลายพันธุ์ถูกจับฆ่าและสตัฟฟ์ไว้ ทาสีเลียนแบบโปเกมอน (Pokémon) คาแรกเตอร์ชื่อดังจากบริษัทนินเทนโด (Nintendo) การผสมพันธุ์ ‘Super Rat’ กับ ‘Pokémon’ คือการล้อเลียนที่ฉลาดบนพื้นฐานที่ศิลปินเข้าใจพื้นฐานและวิวัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของประเทศตัวเองอย่างปรุโปร่ง สิ่งมีชีวิตแรกกลายพันธุ์ผ่านสารเคมีที่ต้านทานเงื่อนไขทางวิวัฒนาการเดิม ขณะที่โปเกม่อนคือตัวละครที่มาจากจินตนาการและกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตทางวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่น
‘Super Rat’ ของ Chim↑Pom จึงเป็นผลงานที่ใช้ทั้งสิ่งผลิตทางวัฒนธรรมและสิ่งไม่พึงปรารถนา (ที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของคนเช่นกัน) แล้วโยนกลับไปสู่พื้นที่เดิม บนถนนของมหานครโตเกียว ที่นอกจากความรุ่งโรจน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม มันยังมีสิ่งที่ถูกมองข้ามในสังคมกำลังปรับตัว/กลายพันธุ์เพื่อหาที่ทางให้ตัวเอง — ครั้นเมื่อโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เกิดรั่วไหลจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2011 ชาวญี่ปุ่นต้องกลับมาถามถึงความอยู่รอดของตัวเองในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษจากโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่สามารถยับยั้งได้จนปัจจุบัน ระบบความสัมพันธ์กลับตาลปัตร: หรือว่าคนจะต้องเรียนรู้จาก ‘Super Rat’ ที่ตนรังเกียจ?
จริงอยู่ว่า ยังมีปัจจัยหลากหลายที่ประกอบการรับรู้ต่องานศิลปะร่วมสมัย แต่การรับรู้ที่อยู่นอกเหนือภาษาและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันกลายเป็นผัสสะสำคัญของผู้คนในบริบทหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่แปลข้ามบริบทได้ยาก คำถามคือ ‘Super Rat’ ของ Chim↑Pom จะทำงานอย่างไรเมื่อถูกตัดออกจากพื้นที่เดิม? การเดินทางข้ามพื้นที่ของศิลปะที่ทำงานอยู่กับพื้นที่หนึ่งควรถูกแปลความและจัดวางใหม่อย่างไร? ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่การจำลองความเหมือนทุกรูขุมขนในพื้นที่ใหม่ เพราะการแปลความเช่นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้หรือสมเหตุสมผล อีกทั้งการแปลโดยการร่ายยาวเบื้องหลังทางสังคม วัฒนธรรม จนถึงความคิดตั้งต้นของงาน ไม่สามารถครอบคลุมถึงความทรงจำ รอยบาก และนัยะนานาที่ภาษาคลุมไม่ถึง
เมื่อ ‘Super Rat’ ถูกติดตั้งบนแท่นสูงสีขาว ครอบด้วยกระจกใสทรงลูกบาศก์ที่มีไฟส่องไปที่ตัวงานจากทั้งสี่มุม การติดตั้งบอกเราเป็นนัยว่า หนูตัวนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อันมีพลังวิพากษ์อีกต่อไป การปะทะกันระหว่างความคิดต่อศิลปะและการต่อรองชีวิตในพื้นที่จริงหายไป เหลือเพียงหนูสีเหลืองสดที่เป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง ขับเน้นเพิ่มด้วยแสงไฟส่องจากทุกทางราวกับเป็นอัญมณีราคาแพง ขนาบด้วยวิดีโอของกลุ่มศิลปินที่วิ่งไล่จับหนูในตัวเมืองโตเกียว แต่เมื่อมองขนาบกับแท่นสูงและกระจกใสบรรจุหนูสีเหลืองภายในที่มีไฟส่องจ้า ภาพเคลื่อนไหวนี้ดูราวกับเป็นฉลากของสินค้าในรูปของศิลปะเสียมากกว่า
ศิลปะฆ่า ‘Super Rat’ เพื่อทำให้มันกลายเป็นวัตถุแห่งการวิพากษ์ชีวิตในเงื่อนไขสังคมของญี่ปุ่น การตายเพื่อเกิดใหม่ในคราบศิลปะจึงอาจพอมีคุณอยู่บ้างในแง่นี้ แต่เมื่อ ‘Super Rat’ ต้องตายครั้งที่สองผ่านกลไกของวงการศิลปะ ‘Super Rat’ จึงกลายเป็น ‘commodity’ หรือกลายเป็น ‘สินค้า’ ไปโดยสมบูรณ์ จนเราอดถามไม่ได้ว่า ในกรณีนี้มันได้กลาย (พันธุ์) เพื่อเป็นคุณแก่ใคร?
นอกจากพื้นที่ของ Laboratory Hotel นิทรรศการนี้ยังใช้พื้นที่บางส่วนของ Asia Culture Station สำหรับติดตั้งงานอีกชิ้นของ ศุภพงศ์ เหล่าธีรศิริ บนแผ่นป้ายติดตั้งหน้าตึกเขียนว่า “I must be sad” อิงอยู่กับความเหนือจริงของสังคมไทยภายใต้การควบคุมที่ความสุขและความโศกเศร้ากลายเป็นหน้าที่ทางการเมืองมากกว่าเสรีภาพของประชาชน คล้ายคลึงกับงานสี่ชิ้นก่อนหน้าที่เล่นคำอยู่กับบริบททางการเมืองที่เกิดดับในสังคมไทย แต่การเล่นโวหารทางการเมืองเหล่านี้ ติดอยู่ในเพดานของภาพแสดงแทนทางการเมืองด้วยการหยิบส่วนเสี้ยวจากปรากฏการณ์ให้เป็นวัตถุดิบทางศิลปะ
กลายเป็นว่าสิ่งที่มีชีวิตชีวาที่สุดในนิทรรศการ ปรากฏกลาย/Photomutagenesis อยู่ในช่วงการพูดคุยกับศิลปินอินโดนีเซีย วิโม อัมบาลา บายัง (Wimo Ambala Bayang) จริงว่าส่วนใหญ่เราคาดหวังเนื้อหาจากเวทีแบบ artist’s talk ได้ไม่มากนัก จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของ Ruang Mes 65 กลุ่มศิลปินที่รวมตัวกันทำงานในเมืองย็อคยาการ์ต้า หรือเรื่องราวเบื้องหลังความคิดต่อผลงานที่นำมาแสดงในชื่อ ‘พวกวิลันดาบุกมาแล้ว Belanda Sudah Dekat!’ ที่สร้างชีวิตชีวาให้กับบรรยากาศของบทสนทนาก่อนเปิดนิทรรศการ แต่เป็นปฏิสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างคนที่เกิดขึ้นตลอดการพูดคุย การถอดความ จนถึงความคลาดเคลื่อนจากความเข้าใจต่อบริบทอื่นของผู้ฟังที่อาจเกิดขึ้น ช่วยเตือนเรากลายๆ ว่า ‘ความเข้าใจ’ เรียกร้องระยะเวลาที่เหมาะสม บวกกับความอดทนกับรายละเอียดที่ต้องเพิ่มพูนและวิพากษ์ต่อเนื่องพร้อมกัน
ประวัติศาสตร์ช่วงอาณานิคมและการต่อสู้เพื่อเอกราช เป็นเนื้อหาที่ยังพบอยู่เรื่อยๆ จากศิลปะสมัยใหม่จนมาถึงศิลปะร่วมสมัยในอินโดนีเซีย วิโมจินตนาการ ‘กองทัพที่ห้า’ ขึ้นมาใหม่เป็นกองกำลังที่หก เจ็ด แปด… ความน่าสนใจอยู่ที่การเลือก ‘กลุ่มคน’ ในปัจจุบันที่มีความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้แตกต่างกันไป เพื่อกลับมาตีความสิ่งที่ผ่านพ้นตามความเข้าใจที่หลากหลาย ภาพถ่ายของกลุ่มกองทัพในจินตนาการปรากฏผ่านกระบวนการทางศิลปะที่ทำให้เวลาของอดีตถูกมองใหม่ผ่านสายตาของปัจจุบัน
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่การแปลความไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายศิลปินตามลำพัง เพราะกลุ่มคนที่ถูกถ่ายภาพได้ค่อย ๆ แปลความเข้าใจของตนเองต่อประวัติศาสตร์ด้วยการแสดงผ่านหน้ากล้องที่จะรั้งเวลาชั่วขณะนั้นไว้ และใบหน้าของ ‘วิลันดา’ ที่กำลังบุกเข้ามาปรากฏตัวอีกครั้งผ่านแววตาของนักแสดงในภาพถ่ายเหล่านี้
เดินทางจากถนนนิมมานเหมินทร์และถนนศิริมังคลาจารย์ มายังซอยวัดอุโมงค์-วัดร่ำเปิงที่อยู่ไม่ไกลกันนัก เพียงไม่กี่ปี ภูมิทัศน์ย่านนี้ถูกปรับเปลี่ยนไปมาก สิ่งก่อสร้างบอกถึงผู้คนที่ใช้พื้นที่เหล่านั้น ซอยวัดอุโมงค์ไม่ได้เป็นแค่แหล่งรวมบ้านศิลปินอาวุโสและพื้นที่ศิลปะของเหล่าอาจารย์จากสถาบันศิลปะอีกต่อไป พื้นที่รกร้างถูกถางใหม่รับผู้คนหลายกลุ่มหลากที่มา และการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คนที่จะเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ที่อยู่ลึกเข้าไปจากวัดร่ำเปิง มีชื่อว่า extantation ของ Tara Transitory ศิลปินชาวสิงคโปร์ที่ใช้ชีวิตและทำงานนอกประเทศบ้านเกิดมาเป็นสิบปี งานแสดงดนตรี ]extanting<01>interstices[ ในคืนนั้น คือการทำงานร่วมกันระหว่าง กากูชิน นิชิฮาร่า (Kakushin Nishihara) ชัยวัฒน์ พุ่มประจำ (คีตทิพย์ ภราดร) และทาร่า ทรานสิททอรี่ (Tara Transitory) ชื่องานและชื่อสถานที่บอกนัยของความเป็นอื่นในทางภาษา ย้อนกลับมาถามความคิดที่รองรับการทำงานไปพร้อมกัน ส่งไปถึงบทสนทนาส่วนตัวที่มีกับทาร่าเพื่อถามหาจุดที่เลือกยืนในพื้นที่อื่นทางวัฒนธรรม ขณะที่พยายามจะต่อติดกับบริบทและภาษาผ่านวิธีการต่างๆ
หนึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้ทาร่าพูดภาษาไทยได้ในระดับบทสนทนาประจำวัน การฝึกภาษาคือหนึ่งในการแสดงความใส่ใจเบื้องต้นของคนทำงานในบริบทนอกเหนือภาษาแม่ เรายังคุยเกี่ยวกับประเด็นรายรอบปัญหาของการใช้ภาษาอังกฤษและการทำงานในองค์กรศิลปะยุโรปที่อยู่กับวาทกรรมหลักและการพูดแทน ‘ความเป็นอื่น’ จนกระทั่งความเป็นอื่นยังคงไร้ตัวตนหรือไม่แม้แต่จะแปลความผ่านภาษาได้ วาทกรรมและความรู้จึงอาจติดอยู่ตรงภาษาและการแปลความ โดยละเลยรายละเอียดที่ถ่ายโอนไม่ได้ ถ้าผู้มองไม่ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อ ‘ความจริง’ ของตัวเอง
ทาร่ายกตัวอย่างหนังสือ Not Your World Music: Noise in the South East Asia เขียนโดยชาวยุโรปสองคนเดินทางท่องเที่ยวใน ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่ส่งให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงยอดนิยมเมื่อใครพูดถึงดนตรีทดลองในภูมิภาค นักเขียนกลายเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีทดลอง’ ใน ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่อาจไม่มีใครอื่นจากภูมิภาคนี้ที่เก็บรวบรวมและเขียนถึงในภาษา ‘อังกฤษ’ ที่ถูกอนุมานว่าเป็น ‘ภาษาสากล’ ในการสื่อสารข้ามพรมแดน บทสนทนาจึงแตะไปถึง ‘master tool’ ในคำของ Audre Lodre ว่ามันกลายเป็น dilemma ที่สำคัญของนักคิดนักเขียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่และอยู่ในสำนึกต่อการเมืองของความรู้ ขณะที่เราอยู่ภายใต้ภาษาที่ยังคงมีอำนาจนำในการชี้ว่าอะไรคือความรู้ ภาษาเดียวกันนี้ยังช่วยให้เราด้วยกันเองสื่อสารข้ามพื้นที่กับผู้คนที่แชร์ความคิดวิพากษ์เดียวกัน ยังเป็นคำถามที่ไม่ได้คำตอบ (และอาจให้คำตอบไม่ได้) ต่อ ‘สื่อ’ ที่เป็นได้ทั้งพิษและการเยียวยา กระทั่งคิดต่อว่า เป้าต่อการวิพากษ์ไม่ได้มีองคาพยพที่รวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ซับซ้อนและย้อนแย้ง กระทั่ง ‘สื่อ’ ที่ว่าเองก็เลี่ยงการกลายพันธุ์เมื่อเดินทางข้ามผ่านบริบทไม่ได้ นั่นอาจคือการบอกเรากลายๆ ว่าอำนาจนำที่คิดว่าเป็นเอกภาพ ไม่ได้ทำงานควบคุมโดยไร้ ‘รอยต่อ’ และ ‘รอยแยก’ เช่นกัน
บ้านเดี่ยวที่ถูกแปลงให้เป็นพื้นที่ศิลปะในชื่อ extantation มีทั้งส่วนภายนอก มีเปลญวน ม้าหิน เก้าอี้พลาสติก รองรับการสังสรรค์ของผู้มาร่วมงาน และส่วนภายในบ้านที่เป็นพื้นที่แสดงงาน ห้องนอนแยกย่อย และองค์ประกอบต่างๆ ของบ้านทั่วไป การแสดงเริ่มอย่างลำลองจากบริเวณด้านนอก แล้วค่อยๆ นำผู้ชมเข้าพื้นที่ภายใน อุปมาเป็นความพยายามข้ามเส้นจาง ๆ ของ ‘นอก-ใน’
เสียงจากบิวะ (Biwa) เครื่องดนตรีประเพณีของญี่ปุ่นถูกปรับมาใช้พร้อมกับอุปกรณ์กำเนิดเสียงอย่างอื่น นอกจากเสียงร้องเพลงจากกากูชิน ตุ๊กตาเล็กใหญ่และโครงกระดูกสัตว์กลายเป็นเครื่องดนตรี ที่บางตัวถูกแปลงกายหน้าตาตามนักดนตรีที่รอยสักกลายเป็นส่วนหนึ่งของผิวคลุมร่างกาย ชัยวัฒน์อยู่ในเครื่องแต่งกายทันสมัยในขณะเล่นแคน ผสมจังหวะจากเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของทาร่า องค์ประกอบเหล่านี้คือพลวัตในเสียงของการแสดงสดครั้งนี้ ขนานไปกับภาษาพูดในการทำงานครั้งนี้ ที่ข้ามไขว้ไปมาระหว่างภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น จีนแมนดาริน ผ่านล่ามชาวจีนที่คล่องแคล่วภาษาญี่ปุ่นทำหน้าที่เชื่อมภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษและภาษาจีน ล่ามภาษาไทยที่ช่วยแปลภาษาอังกฤษกลับไปมา
กลุ่มผู้เข้าชมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อในงานของ ]extanting<01>interstices[ มีความหลากหลายของคนตั้งแต่ผู้พักอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง กลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในเชียงใหม่ นักศึกษาศิลปะจากเกาหลี และผู้คนไม่คุ้นหน้า ทำให้บรรยากาศแตกต่างกับงานเปิดนิทรรศการ ปรากฏกลาย/Photomutagenesis ที่โรงแรม Laboratory เมื่อเต็มไปด้วย ‘คนในวงการศิลปะ’ ที่คุ้นทั้งชื่อและใบหน้า มีการเมืองของวงการแทรกซึมอยู่ในกระบวนการสังสรรค์ของงานนิทรรศการ
การแสดงดนตรีสดไม่ได้จบลง ณ พื้นที่ศิลปะในคืนวันเสาร์นั้น เมื่อวันจันทร์คือการเดินทางลงภาคสนามของนักดนตรีกลุ่มนี้
]extanting<01>interstices[ ถูกจัดขึ้นอีกครั้งในบ่ายวันจันทร์ ใต้โถงอาคารขนาดใหญ่ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดเชียงใหม่ หรือ “วิทยาลัยรั้วไฟฟ้า” เรียกตามชัยวัฒน์ที่ทำงานประจำเป็นอาจารย์สอนศิลปะให้กับเด็กนักเรียนที่นั่น การย้ายจากพื้นที่ศิลปะไปสู่ ‘พื้นที่อื่น’ ในครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ศิลปินจัดการพื้นที่ใหม่ได้อย่างในกรณีทั่วไป เมื่อพื้นที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดของตัวเอง สิ่งที่ศิลปินต้องทำ คือการปรับและรับมือกับพื้นที่และภาษาใหม่ ราวกับบอกเราเป็นนัยว่า ลำพังมายาคติและมนต์ของศิลปะ บางทีก็ไร้ความหมายเมื่อออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง
ก่อนหน้าการแสดงดนตรีสด คือกิจกรรมสวดมนต์ภาวนาโดยนักบวชจากหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ชุมชนการปฏิบัติธรรมที่ก่อตั้งโดย ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) นักดนตรีนั่งรออยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ไม่ไกลจากโถงที่นักเรียนทั้งหญิงชายกำลังอยู่ในกิจกรรมควบคุมตนผ่านสมาธิ สวดมนต์ในรูปแบบเนื้อร้อง จนเราแอบคุยกันแบบติดตลกว่า แล้วการแสดงดนตรีต่อไป จะทำให้วินัยที่เพิ่งปลูกฝังกระเจิงหายไปไหม?
อันที่จริงกิจกรรมทางศาสนาแบบนี้ก็มีอยู่ในโรงเรียนทั่วไป ไม่ว่าจะในรูปแบบของศาสนาพุทธหรือคริสต์ บางทีวิทยาลัยรั้วไฟฟ้าหรือวิทยาลัยรั้วคอนกรีตปกติ ก็อาจจะไม่ได้ต่างกันมากมายอย่างที่ใครจะคิด กฎเกณฑ์ ขนบ ความเชื่อในโลกทั่วไปก็ควบคุมเด็กและเยาวชนอย่างสาหัสอยู่แล้ว จนบทลงโทษในนามของความถูกต้อง วัฒนธรรม ความดี กระทั่งความอาวุโส กลายเป็นรั้วไฟฟ้าที่มองไม่เห็นและควบคุมกำกับเด็กและเยาวชนได้ซับซ้อนกว่าในอีกทาง
เมื่อถึงเวลาของการแสดง เราได้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักดนตรีและทีมเด็กนักเรียนที่ถูกฝึกให้จัดการระบบเครื่องเสียงและพื้นที่ นอกจากแบบฝึกหัดทางวิชาชีพ การแสดงครั้งนี้ยังเป็นการรับมือซึ่งกันและกันระหว่างนักดนตรีกับนักเรียน จนถึงครูอาจารย์ที่อาจมีประสบการณ์ต่อดนตรีหลากหลายและมากน้อยแตกต่างกัน การแสดงเริ่มด้วยทาร่าขอให้กลุ่มเด็กนักเรียนหญิงจำนวนน้อยที่ถูกแบ่งกลุ่มนั่งแยกออกไปทางริมของโถงอาหาร ให้ขยับเข้ามานั่งในพื้นที่ด้านหน้าของเวที ขณะที่กลุ่มเด็กชายต้องถอยร่นออกไป และสร้าง ‘ระยะห่าง’ ระหว่างสองเพศตามกฎที่กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการจัดการพื้นที่ตรงนั้น แต่ความน่าสนใจคือความสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด เมื่อนักเรียนหญิงชาย
สร้าง ‘ภาษาใบ้’ สื่อสารต่อกันภายในอย่างที่เราผู้มาใหม่ไม่มีทางจะ ‘อ่าน’ ความหมายเหล่านั้นได้
ชัยวัฒน์ตระเตรียมนักเรียนด้วยการเล่าถึงธรรมชาติของดนตรีที่นักเรียนจะได้ยิน และบอกว่านักเรียนควรฟัง ‘ดนตรีทดลอง’ อย่างไร ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า เราต้องตระเตรียมผู้ฟังหรือไม่ ถ้าการเข้าใจเสียงอาจไม่ได้เรียกร้องความเข้าใจทางทฤษฎี แต่คือการเปิดรับความไม่คุ้นเคยทางผัสสะมากกว่า
สิ่งที่ปรากฏเมื่อการแสดงเริ่มต้นคือ ท่าทางกระตือรือร้นทั้งจากทางฝั่งนักเรียนและครูอาจารย์ กลุ่มครูในชุดกากีนั่งและยืนอยู่รอบนอกอย่างหลวมๆ มีอาจารย์หญิงคนหนึ่งแสดงท่าทีสนใจต่อเพลงของกากูชินและเข้ามาถามถึงความหมาย แม้ช่วงร้องเพลงประกอบบิวาของกากูชินเริ่มต้นพร้อมเสียงล้อเลียนจากนักเรียนที่มีต่อความประหลาดของโทน แต่นั่นคือเสรีภาพเล็กๆ ของผู้ชมที่จะมีปฏิกิริยาอย่างใดก็ได้ต่อศิลปะ โดยเฉพาะเมื่ออาการล้อเลียน เสียงหัวเราะ สายตาที่มอง และร่างกายที่ขยับเบาๆ ขัดอยู่กับการนั่งเรียงแถวตรง ทรงผมเด็กชายที่สั้นเกรียน และเด็กหญิงต้องรัดผมด้วยโบว์เรียบร้อย
ช่วงถามตอบในตอนท้าย ไม่มีนักเรียนคนไหนยกมือ การแสดงจึงจบลงด้วยการมอบของที่ระลึกแก่ทีมนักดนตรี เป็นภาพวาดในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กจากผลงานศิลปะของนักเรียน เสียงปรบมือปิดท้ายก่อนกลุ่มนักเรียนเดินเรียงแถวไปโรงอาหารตามเวลาที่กำหนดประจำวัน
ภาพย้อนกลับไปที่คืนวันเสาร์ ณ extantation เมื่อนอริฮิโกะ โยชิโอกะ (Norihiko Yoshioka) ผู้อำนวยการทั่วไปของเจแปนฟาวเดชั่น กรุงเทพฯ ที่เพิ่งลงเครื่องถึงเชียงใหม่และมาแวะชมการแสดงที่องค์กรในการดูแลสนับสนุนค่าเดินทางให้กับนักดนตรีญี่ปุ่นใน ]extanting<01>interstices[ ตามมาพร้อมด้วยศิลปินและผู้ชมจำนวนหนึ่งจากงานเปิดนิทรรศการ ปรากฏกลาย/Photomutagenesis ให้ภาพนอริฮิโกะเป็นสัญลักษณ์ของแสงจากแดนอื่นที่กลุ่มนักปฏิบัติทางศิลปะเดินหันตาม …….ลากเส้นบรรจบตั้งแต่องค์กรต่างประเทศผู้ให้ทุนสนับสนุนศิลปะ หน่วยงานท้องถิ่นที่รับใช้นโยบาย แกลเลอรีท้องถิ่น พื้นที่ทางเลือก ผู้คนในวงการศิลปะ ผู้มีส่วนร่วมจากหลายที่มา ไปจนถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถูกกักพื้นที่ชั่วคราว
ระลึกภาพรั้วไฟฟ้าอีกครั้ง จนบอกตัวเองเบาๆ ว่า ข้างนอกข้างในอาจไม่ได้ต่างกันเพราะรั้วเป็นเพียงสิ่งกักขังที่เปลี่ยนรูปลักษณ์เท่านั้นเอง
ขอขอบคุณ Asia Culture Station, Tara Transitory, และ ชัยวัฒน์ พุ่มประจำ
Tags: ศิลปะ, เชียงใหม่, นิทรรศการ, Japan foundation, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้