When Philo Met Sophia (12)

Negative Thinking: บทเรียนจาก ‘ความเป็นอื่น’

1

ในงานชิ้นสำคัญ Les lois de l’imitation (1880) หรือ The Laws of Imitation นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส กาเบรียล ตาร์ด (Gabriel Tarde) เสนอว่าการเลียนแบบ (Imitation) ถือเป็นจุดตั้งต้นของวิวัฒนาการทางสังคม เพราะไม่เพียงแค่เป็นรากฐานของภาษา ศิลปะ และการสร้างสรรค์ทั้งหลาย หากยังเป็นสารัตถะของอารยธรรมมนุษย์

กระบวนการเลียนแบบจะนำไปสู่การคัดค้าน (Opposition) และก่อเกิดนวัตกรรม (Invention) และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ‘สิ่งเก่า’ และ ‘สิ่งใหม่’ ล้วนเป็นผลจากการทำซ้ำ (Repetition) ซึ่งตาร์ดยังกล่าวด้วยว่า การเลียนแบบไม่เพียงปรากฏแค่ในสังคมมนุษย์ หากแต่ยังรวมไปถึงสัตว์ พืชพรรณทั้งหลาย จนถึงจุลชีพต่างๆ ในธรรมชาติอีกด้วย กล่าวในอีกทางก็คือ กฎแห่งการเลียนแบบถือเป็นพื้นฐานในทุกสรรพสิ่ง

Les lois de l’imitation (1880) หรือ The Laws of Imitation ของ กาเบรียล ตาร์ด (Gabriel Tarde) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ‘ความซ้ำ’ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเลียนแบบก็ถือว่า ‘แตกต่าง’ หรือเป็นคนละสิ่งกับกระบวนผลิตซ้ำความเหมือน (The Same) ซึ่งบยุง-ชอล ฮาน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาร่วมสมัยเห็นว่า กำลังก่อปัญหาขึ้นในหลายระดับ

เพราะโลกที่เราอยู่ ณ เวลานี้พยายามจะขจัด ‘ความแตกต่าง’ และ ‘ความเป็นอื่น’ ออกไป เพียงเพราะความเป็นอื่นถูกมองใน ‘เชิงลบ’ หรือเป็นสภาวะนิเสธ (Negativity) ดังที่เขาอภิปรายไว้ในงาน The Expulsion of the Other (2016) ว่า

“นี่เป็นเวลาที่ความเป็นอื่น (The Other) ได้จบสิ้นลง ความเป็นอื่นในฐานะของความลับ ความเป็นอื่นในฐานะของแรงกระตุ้นเร้า ความเป็นอื่นในฐานะของความรัก (Eros) ความเป็นอื่นในฐานะของนรก และความเป็นอื่นในฐานะของความเจ็บปวดได้หายไป”[1]

ฮานยังเน้นย้ำว่า

“ความเหมือนที่แพร่ขยายได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อพยาธิสภาพของกายภาพทางสังคม ความป่วยไข้นี้ไม่ได้เกิดจากการห้าม หรือกดทับ แต่มาจากการสื่อสาร และการบริโภคที่มากล้นเกินจำเป็น”[2]

โรคร้ายแห่งยุคสมัยจึงไม่ได้มาจากแรงกดดัน (Repression) ภายนอก เช่น ความรู้สึกแปลกแยกต่อสภาพแวดล้อมสังคม ทว่ามาจากภาวะซึมเศร้า (Depression) ภายในตัวเราเอง เช่น ความหวังในความสำเร็จ การมีชีวิตที่ดี หรือมีสุขภาพแข็งแรง

อย่างไรก็ตามความรุนแรงจากโลกแห่ง ‘ความเหมือน’ เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ยาก เพราะมันมักจะมาในรูปแบบของแนวคิดเชิงบวก (Positive Thinking) มาทั้งในรูปแบบของความเติบโตในทางเศรษฐกิจ อัตราการผลิต การบริโภคที่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สะดวกรวดเร็ว การสื่อสารโต้ตอบที่ฉับไว หากสำหรับฮานแล้ว ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘นรกแห่งความเหมือน’

บยุง-ชอล ฮาน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาชาวเกาหลี-เยอรมัน

2

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลสิ่งที่ไม่สิ้นสูญหรือยากจะหมดสิ้นไปนับจากนี้ก็คือ ‘ข่าวสาร’ และ ‘ข้อมูล’ ที่ถาโถมเข้าใส่ เปรียบดั่งมหาสมุทรกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ใครสามารถควบคุมจัดการก็ย่อมสร้าง ‘ผลประโยชน์’ และ ‘มูลค่า’ แต่หากไม่ได้ คนที่ลอยคอในมหาสมุทรข้อมูลข่าวสารก็อาจเป็นเพียงสิ่งที่สร้าง ‘กำไร’ ให้กับธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมต่อ วางอยู่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งข่าวสารข้อมูล หรือ ณ ปัจจุบันก็คือสังคมเครือข่ายนั้นๆ

ฮานชี้ว่าสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือเป็น ‘อปกติสภาวะ’ เพราะส่งผลกระบวนโดยตรงต่อการสร้าง ‘ความรู้’ และ ‘การรู้’ ที่เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นสำหรับมนุษย์ กระบวนการ Digitalization สำหรับฮานเปรียบเสมือนสึนามิที่โหมซัดเข้าใส่สังคมมนุษย์[3]

ฮานแบ่งชัดเจนระหว่าง ‘ข้อมูล’ (อันอาจหมายรวมถึงข่าวสาร ประเด็นร้อน หรือดราม่ารายวันต่างๆ) กับสิ่งที่เขาเรียกว่าความรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนต้องสร้าง หรือมีส่วนประกอบสร้างขึ้นมาผ่านการขบคิด การมีประสบการณ์ ที่โดยมากแล้วต้องใช้เวลา และไม่สามารถรวบรัดโดยเร็วไวได้ ความรู้จึงไม่สามารถดาวน์โหลดหรือเซฟลงไปในความทรงจำของเราได้ในทันที และสิ่งที่ทำให้ความรู้แตกต่างจากข้อมูลก็คือสิ่งที่ฮานเรียกว่า ความเป็นอื่น หรือ The Other

ความรู้ต้องอาศัยความเป็นอื่นหรือการคิดในเชิงลบ (Negative Thinking) ซึ่งมาจากความแตกต่าง ความไม่คุ้นเคยที่เข้ามาปะทะเราจากภายนอก

การเรียนรู้มักไม่ใช่เรื่องสนุกและสบายใจ ในหลายครั้งมักจะสร้างความงุนงง สับสนและปั่นป่วนให้แก่ผู้เรียนรู้เสมอ เพราะการได้ ‘ความรู้’ ก็คือการปะทะกับสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งซึ่งบางครั้งแปลกปลอม แปลกแยกจากความรู้ที่เรามีนั่นเอง

ในขณะที่ข้อมูล เช่น ตัวเลขสองข้างของสมการ รายได้ต่อหัวของประชากร ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่เกือบทั้งหมดมาจากการเปรียบหา ‘ความเหมือน’ ซึ่งสำหรับฮานถือเป็นขั้นต้นของกระบวนการสร้างความรู้ เฉกเช่นเดียวกับระบบดิจิทัลและอัลกอริทึม (Algorithm) ที่ต่างก็วางอยู่บนกระบวนการสร้างความเหมือนในระบอบแห่งข้อมูล (Information Regime)

3

หากศตวรรษที่ 19-20 ระบอบแห่งวินัย (Discipline Regime) ขูดรีดเราผ่านร่างกาย และ ‘กำลังงาน’ ศตวรรษที่ 21 ก้าวเข้าสู่ระบอบแห่งข้อมูลที่ขูดรีดเราทั้งหลายผ่านข่าวสารและข้อมูล

ประเด็นหนึ่งที่ชวนให้ใคร่ครวญก็คือ ระบอบแห่งวินัยให้ความสำคัญกับ ‘การควบคุม’ แต่ระบอบแห่งข้อมูลนั้นให้ความสำคัญกับการให้ ‘อิสระ’ หมายความว่า ผู้ที่อยู่ในระบอบแห่งข้อมูลจะไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกควบคุมกดดันใดๆ พวกเขาจะรู้สึกก็แต่การมีเสรีภาพ (Freedom) และความจริงแท้ (Authentic)

ฮานชี้ให้เห็นว่า การบงการในระบอบแห่งข้อมูลสะท้อนให้เห็นจากการดูหนังหรือซีรีส์ผ่านระบบสตรีมมิงที่เราสามารถดูได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเร่ง สามารถหยุด หรือข้ามไปตามใจเรา ระบบอัลกอริทึมจะเลือกและป้อนเรื่องใหม่ๆ ให้แก่เรา โดยเราจะไม่ทันรู้สึกว่าตัวเราถูกจำกัดหรือควบคุมแม้แต่น้อย เรามีอิสระเต็มร้อย การดู การฟัง การได้ค้นพบหนัง หรือเพลงใหม่ๆ มาจากความสนใจของตัวเรา ไม่ได้ถูกกำหนดโดยระบบจัดการใดๆ 

เช่นเดียวกับการแสดงออกต่างๆ ในสังคมเครือข่ายที่เรารู้สึกลึกๆ ว่า นั่นคือตัวตนหนึ่งของเรา หรือเราสามารถเป็นเราเท่าที่อยากเป็นได้ มันคือพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) รูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดการพัฒนาของการใช้เหตุผล

แต่ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงมาจากการก้าวเข้ามามีบทบาทอิทธิพลของทุนนิยมข้อมูล (Information Capitalism) ที่หาประโยชน์จากการการเชื่อมต่ออย่างไร้พรมแดนของเรา การสื่อสารในยุคดิจิทัลเปลี่ยนการสื่อสารเป็นการจับตาควบคุม (Surveillance) ยิ่งเราสื่อสารหรือเปลี่ยนตัวเราไปสู่ในรูปของข้อมูลมากเท่าไร เราก็ยิ่งถูกควบคุมมากขึ้นเท่านั้น

Infocracy: Digitization and the Crisis of Democracy (2022)

ระบอบแห่งข้อมูลจึงสร้างปรากฏการณ์ที่ยอกย้อนขึ้นในหลากหลายระดับ นับตั้งแต่เรื่องของความรู้ที่ถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงแค่ข้อมูล หรืออิสรภาพที่อยู่ภายใต้การถูกจับจ้องและควบคุม หรือชัดเจนว่าเราต่างฝาก ‘ความเป็นส่วนตัว’ ไว้กับผู้มีอำนาจในการเปิดเผย หรือหาประโยชน์จากความเป็นส่วนตัวของเรา หรือเป็นดังที่ฮานเน้นย้ำไว้ใน Infocracy ว่า ระบอบแห่งข้อมูลไม่ต้องสร้างแรงกดดัน คนทั้งหลายต่างผลิตตัวเขาออกมา จัดแสดงในรูปของแกลเลอรีและการอยู่ใต้แสงสปอตไลต์อย่างจงใจ

ไม่เพียงเท่านั้นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้ชื่อว่าสมาร์ต (Smart) ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านอย่างแสงสว่าง ตู้เย็น หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น และอื่นๆ ต่างก็คือผู้ส่งมอบข้อมูลของเรากลับไป ความสะดวกสบายของเราก็คือการถูกจับจ้องเฝ้ามอง

ดังนั้น แม้ระบอบแห่งข้อมูลจะเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส (Transparency) แต่ผู้เป็นเจ้าของอำนาจหรือผู้ให้บริการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟน แอปพลิเคชัน หรือเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ก็อยู่ในสภาพที่โปร่งใสเกินกว่าใครจะมองเห็น หรือพูดง่ายๆ ก็คืออยู่เหนือการตรวจสอบ

นี่เป็นจึงเป็นยุคสมัยที่ความแปลกแยก (Alienation) อาจไม่ได้เกิดขึ้นจาก ‘ผู้อื่น’ หรือ ‘สิ่งอื่น’ แต่เป็นผลมาจากตัวเราเอง และการผลิตซ้ำตัวเราภายใต้ระบอบแห่งข้อมูลนั่นเอง

 

เชิงอรรถ

[1] Han, Byung-Chul, The Expulsion of the Other (Cambridge: Polity, 2018) 1.

[2] Ibid.,1.

[3] Han, Byung-Chul, Infocracy (Cambridge: Polity, 2022) 12.

Tags: , , ,