1

คืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 คืนเคานต์ดาวน์ที่ ‘ซานติก้า’ ย่านเอกมัย เปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน คืนนั้นนอกจากจะเป็นคืนข้ามปีแล้ว ยังเป็นคืนที่สถานบันเทิงอย่างซานติก้า ผับหรูหรากำลังจะปิดตัว หลังหมดสัญญาเช่า และเจ้าของที่เตรียมรีโนเวตใหม่ครั้งใหญ่

2

คืนนั้น นักท่องราตรีเกือบ 1,000 คน ตัดสินใจไปเคานต์ดาวน์ที่สถานบันเทิงซานติก้า เนื่องจากมองว่าเป็นสถานบันเทิงที่เปิดบริการมานานตั้งแต่ปี 2547 ในฐานะสถานบันเทิงที่หรูหราที่สุด ดีที่สุด และสนุกที่สุด อีกทั้งคืนนั้นยังมีนักร้องนำอย่าง อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หรือโจอี้ บอย (Joey Boy) รวมถึงกลุ่มก้านคอคลับเตรียมแสดงหลังช่วงเคานต์ดาวน์

3

ข้อมูลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่า ในช่วงเวลาเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2551 สราวุธ อะริยะ หรือมิว นักร้องนำวงเบิร์น (BURN) ร้องเพลงอะโบเดเบ และ It’s my life ของ จอน บอน โจวี (Jon Bon Jovi) จบเพียงไม่นาน ก็มีพลุจากสเปเชียล เอฟเฟกต์ ถูกจุดโดยระบบไฟฟ้าอัตโนมัติของสถานบันเทิงขึ้นไปบนเพดาน ประกอบกับมีการยิงริบบิ้นกระดาษขึ้นไปพร้อมๆ กัน โดยหลังจากการจุดพลุดังกล่าวนาน 30 วินาที ประกายไฟจากพลุก็ไปโดนริบบิ้น

4

หลังจากการจุดพลุดังกล่าวราว 30 วินาที ประกายไฟจากพลุก็ไปโดนริบบิ้นกระดาษที่ยิงขึ้นไป และไปโดนส่วนต่างๆ ของอาคารสถานบันเทิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนที่ทำมาจากวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย เช่น โฟมและฟองน้ำ เพื่อเก็บกักเสียงจากด้านในสถานบันเทิงไม่ให้ออกไปรบกวนประชาชนบริเวณใกล้เคียง เก้าอี้ โซฟา และเสาที่หุ้มด้วยไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีเรซิ่นเป็นองค์ประกอบที่ติดไฟง่าย ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเร่งหนีออกจากอาคารที่ลุกไหม้ทั้งหลัง

5

ทางหนีไฟทางเดียวที่ทุกคนรู้คือประตูหน้าของสถานบันเทิงที่มีขนาดเพียง 2.5 เมตร เป็นทางเดียวกับทางเข้าที่คับแคบ จึงมีความแออัดเบียดเสียดมากจนเกิดการล้มและเหยียบกัน ทุกคนต่างพากันหนีเปลวไฟที่กำลังไล่ตาม ไม่มีใครรู้ว่ามีทางออกอีกทีทางที่ด้านหลังวงดนตรี ประกอบกับควันรุกไล่มาทางด้านหลัง ทำให้หลายคนสำลักควันอยู่ด้านหน้าประตู

6

หนึ่งชั่วโมงหลังจากเหตุการณ์ไฟลุกไหม้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็สามารถดับเพลิงได้สำเร็จ โดยจากผู้ใช้บริการสถานบันเทิงราว 1,000 คนในวันนั้น มีผู้บาดเจ็บราว 200 คน และเสียชีวิตจากไฟไหม้ สำลักควัน และถูกเหยียบอีกกว่าครึ่งร้อย

7

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าสถานบันเทิงซานติก้ามีประตูเข้าออกทั้งหมด 4 ประตู โดยมีประตูเข้าออกหลักเพียง 1 ประตู ซึ่งมีขนาดความสูง-กว้างไม่ได้มาตรฐานที่สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยกำหนด และอีก 3 ประตูที่เหลือเป็นประตูที่ใช้เข้าออกเพื่อไปทำกิจกรรมส่วนตัว เช่น สูบบุหรี่ และประตูสำหรับแขกวีไอพี (VIP)

8

จากกรณีนี้มีผู้เสียหายหลายรายยื่นฟ้องทางแพ่งและทางอาญาต่อ วิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว เจ้าของสถานบันเทิงซานติก้า บุญชู เหล่าสีนาท กรรมการบริษัททำเอฟเฟกต์ ‘โฟกัสไลต์ฯ’ และผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 6 ราย

ด้านคดีอาญา ในปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเจ้าของสถานบันเทิงซานติก้า และบริษัททำเอฟเฟกต์ทั้งหมด 3 ปี ต่อมาในปี 2556 ศาลอุทรณ์พิพากษาจำคุกบริษัททำเอฟเฟกต์ 3 ปี พร้อมกับยกฟ้องเจ้าของสถานบันเทิงซานติก้า

ในส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เจ้าของบริษัททำเอฟเฟกต์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายเป็นจำนวนเงิน 8.7 ล้านบาท โดยเจ้าของสถานบันเทิงซานติก้าไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ให้ข้อมูลว่ายังมีผู้เสียหายอีกประมาณ 46 รายที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด

9

ข้อมูลจากงานวิจัยระดับปริญญาโทเรื่อง ‘การจัดการความปลอดภัยในอาคารสถานบริการ: กรณีศึกษา ซานติก้าผับ, กรุงเทพฯ’ ของ รณภพ สุนทรโรหิต อดีตนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สถานบริการซานติก้าละเลยกฎกระทรวงที่กำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2549 ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบด้วย

1. ผู้ให้บริการต้องกำกับ ดูแล ให้ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือปฏิบัติงาน

2. วิเคราะห์งานในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อค้นหาความเสี่ยงอันตรายเบื้องต้น โดยอาจร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยขั้นสูงกว่าคนอื่นๆ ได้

3. สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

4. ตรวจสอบสภาพการทำงาน เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน

5. ผู้ให้บริการต้องกำกับ ดูแล การใช้อุปกรณ์ คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ

6. รายงานการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้าง และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการทำงานที่สูงกว่า

7. ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับสูงกว่า และรายงานผล รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้างโดยไม่ชักช้า

8. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน

9. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย

ท้ายที่สุดพบว่า ผู้ใช้บริการสถานบันเทิงเสียชีวิตที่หน้าประตูเข้า-ออกหลักมากที่สุด เนื่องจากว่ากันว่าผู้ใช้บริการไม่รู้ว่าประตูอื่นๆ อยู่บริเวณไหน รวมทั้งไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟที่ชัดเจน รวมทั้งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ต่างพยายามออกจากประตูที่พวกเขาเข้ามาในตอนแรกเท่านั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปราว 14 ปี เหตุการณ์คล้ายกันวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง และคร่าชีวิตประชาชนไปหลายราย เป็นคำถามที่ว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้เรียนรู้บทเรียนใดๆ จากโศกนาฏกรรม ‘ซานติก้าผับ’ หรือไม่

ที่มา:

https://youtu.be/gtK6TWWl5MQ

https://youtu.be/_AG23Wwi2H8

https://www.drauditor.com

Tags: , ,