When Philo Met Sophia (04)
Hearts are made to be broken: หัวใจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลาย
“My desire to live is as intense as ever, and though my heart is broken,
hearts are made to be broken: that is why God sends sorrow into the world.”1
Oscar Wilde
1
ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) กล่าววาทะสำคัญที่ว่า ‘หัวใจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลาย’ หรือ ‘Hearts are made to be broken…’ ไว้อย่างน้อยก็สองครั้งสองคราด้วยกัน ครั้งแรกอยู่ในงานเล่มสำคัญ De Profundis ที่เขาประพันธ์ไว้ขณะถูกจองจำ มีเนื้อความว่า “สิ่งเลวร้ายที่สุดนั้น (ไวลด์หมายถึงชีวิตในคุก) ไม่ใช่การทำให้หัวใจใครสักคนแตกสลาย เพราะหัวใจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลาย ทว่าเป็นเพราะมันได้เปลี่ยนหัวใจนั้นให้กลายเป็นก้อนหิน”2 และอีกครั้งก็อยู่ในจดหมายที่เขาเขียนไปถึงคาร์ลอส แบล็กเกอร์3 (Carlos Blacker) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1897 มีใจความว่า “ความปรารถนาที่จะมีชีวิตของฉันยังคงเต็มล้นเช่นที่ผ่านมา แม้นว่าหัวใจฉันได้แตกสลาย หัวใจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลาย นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมพระเจ้าถึงได้ส่งความเศร้าลงมาบนโลกใบนี้”
สำหรับไวลด์แล้ว การมีอยู่ของหัวใจและการแหลกสลายของมัน ถือเป็นวิถีทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เรายังคงต้องทุกข์ร้อน เจ็บปวด เพราะเราต่างก็มีหัวใจ มีความรักผูกพันกับผู้คนและรวมไปถึงสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย
อาการหัวใจสลายของไวลด์ดูเหมือนจะสื่อความหมายเลยพ้นไปจากเรื่อง ‘ความรัก’ แต่ถึงกระนั้น ถ้อยคำ ‘หัวใจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลาย’ ก็ยังคงเป็นอมตะและเป็นอีกหนึ่งข้อความที่กินความและกินใจคนหัวใจสลายจากความรัก หรือความสัมพันธ์ใดๆ ก็ตามจวบจนถึงทุกวันนี้
ผมยกเรื่อง ‘หัวใจสลาย’ ขึ้นมาพูดถึงผ่านบทความนี้ ก็ด้วยเพราะรายล้อมรอบตัวเหมือนจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ประสบกับความผิดหวังในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความรักที่เรียกกันว่า Unrequited Love หรือ ‘รักที่ไม่สมหวัง’ ซึ่งว่าไปก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราเลยก็ว่าได้
ทว่าคำถามสำคัญที่อยู่ในใจของ ‘หัวใจสลาย’ เกือบทุกคนก็คือ เราจะต้องตกอยู่ในภาวการณ์เช่นนี้อีกกี่ครั้ง หรือเราจะสามารถเยียวยาอาการที่ว่าได้เมื่อไร หาก ‘ความรัก’ ที่เรามี ‘เป็นไปไม่ได้’ แน่นอนว่า ตัวผมเองก็ไม่มีคำตอบ หรือไม่มีข้อมูลเพียงจะตอบ เลยไปปรึกษาหารือตำราและตัวบทต่างๆ จึงพบว่ามีนักวิชาการพยายามศึกษาเรื่องนี้ไว้พอสมควร
หนึ่งในนั้นก็คืองาน Breaking Hearts: The Two Sides of Unrequited Love (1991) ของรอย เอฟ. เบาไมสเตอร์ (Roy F. Baumeister) กับซาราห์ อาร์. วอตแมน (Sarah R. Wotman) นักจิตวิทยาสังคมที่พยายามลงไปศึกษาปรากฏการณ์ ‘อกหัก’ หรือ ‘การพลาดหวังในความรัก’ ที่ ณ ปัจจุบันน่าจะถือว่าเป็น Cult Classic ไปแล้ว
2
เบาไมสเตอร์กับวอตแมนสำรวจพบว่า คนในช่วงวัย 20 ปี โดยเฉลี่ยจะประสบกับเหตุการณ์อกหัก หรือความรักไม่สมหวังอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งจะมีเพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่บอกว่า ‘ไม่เคยอกหัก’ นั่นแปลว่า ความไม่สมหวังในความรักเกิดขึ้นบ่อยกว่าความสมหวังในรักสำหรับคนในช่วงวัยดังกล่าว4
กล่าวได้หรือไม่ว่า เกือบทุกคนที่เริ่มรู้จักความรัก หรือเริ่มที่จะรักใครสักคน เขาหรือเธอจะได้เรียนรู้ผ่านความผิดหวังมากกว่าสมหวัง และยิ่งเมื่อเราอยู่ในช่วงวัยยี่สิบกว่าๆ ความผิดหวังจากรักจะทำให้เราเจ็บปวดรุนแรงอย่างน้อยก็ 1 ครั้ง (และผลกระทบจากความรักที่ไม่สมหวังที่เกิดหลังจากนั้นก็จะรุนแรงน้อยลงโดยลำดับ)
ดังที่เราทราบกันดีว่า แวร์เธอร์ระทม หรือThe Sorrows of Young Werther (1774) ของโยฮันน์ โวล์ฟกัง เกอเธ่ (Johann Wolfgang Goethe) นวนิยายที่ว่าด้วยเรื่องความรักไม่สมหวัง ถูกประพันธ์ขณะเกอเธ่อายุได้ 24 ปี
เกอเธ่ถอดเอาประสบการณ์พลาดรักผิดหวังของเขาอย่างน้อย 2 ครั้ง กับเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของเพื่อนมาผนวกรวมเข้าเป็นเนื้อหาของนวนิยายเล่มนี้ โดยเขาใช้เวลาเขียนเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเมื่อตอนตีพิมพ์ครั้งแรกไม่ได้ลงชื่อผู้แต่ง หากคนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านก็พอคาดเดาได้ว่าผู้เขียนเป็นใคร
The Sorrows of Young Werther เป็นเรื่องราวของแวร์เธอร์ ชายหนุ่มผู้อ่อนไหวที่ได้เดินทางไปยังเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง แล้วตกหลุมรักกับชาร์ลอตเต หญิงสาวซึ่งกำลังจะแต่งงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ากับอัลแบร์ท (ชายผู้มีอายุมากกว่าเธอเป็นสิบปี) แวร์เธอร์พำนักอยู่ในเมืองชนบทนั้นจนเริ่มแลเห็นว่า ความรักที่มีเป็นจริงไปไม่ได้ เขาจึงเดินทางไปทำงานในเมืองอีกเมืองหนึ่ง ด้วยหวังว่าธุระหน้าที่ต่างๆ จะบรรเทาเยียวยารักษาความเจ็บปวดนั้นได้ในวันหนึ่ง เขาตกหลุมรักกับสุภาพสตรีชื่อย่อว่า บี. ทว่ากลับถูกคนในแวดวงชั้นสูงเหยียดหยามดูแคลน จนต้องออกเดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย และสุดท้ายต้องบากหน้ากลับไปยังเมืองที่ชาร์ลอตเตกับอัลแบร์ท ที่ตอนนี้ทั้งสองแต่งงานและกลายเป็นคู่สามีภรรยากันแล้ว
ด้วยความรู้สึกเห็นใจในตัวของแวร์เธอร์ที่หดหู่เศร้าซึม ชาร์ลอตเตจึงพยายามดีต่อเขา แต่กลับกลายเป็นว่ามันทำให้ความรักความปรารถนาในใจของแวร์เธอร์ปั่นป่วนรุนแรงยิ่งขึ้น แม้จะถูกขอให้พักเว้นการเจอกัน แต่แวร์เธอร์ก็ยังเดินทางไปหาชาร์ลอตเต และในวันที่อัลแบร์ทไม่อยู่บ้าน การได้นั่งพูดคุยกันเพียงลำพัง และการอ่านบทกวีทำให้แวร์เธอร์เผลอจูบชาร์ลอตเต ซึ่งเธอไม่ได้ปฏิเสธในครั้งแรก แต่เมื่อรู้สึกตัวเธอก็ผลักเขาออก และขอให้ไม่ให้เขามาเจอเธออีกต่อไป
เหตุการณ์นี้นำไปสู่จุดจบของเรื่องราวที่โศกเศร้าสะเทือนใจภายหลังจากนั้น นั่นก็คือการที่แวร์เธอร์คิดว่า ความตายจะแก้สมการความรักได้ ถ้าหากอัลแบร์ทหรือตัวเขาไม่มีชีวิตอยู่อีกแล้ว ปัญหานี้ก็จะหมดไป แน่นอนว่า ในที่สุด เขาเลือกจบชีวิตตนเอง (ด้วยปืนพกของอัลแบร์ท ซึ่งให้ยืมไปด้วยคิดว่าแวร์เธอร์จะพกติดตัวไปเพื่อใช้ป้องกันตัวระหว่างการเดินทาง)
The Sorrows of Young Werther เป็นนวนิยายซาบซึ้งสะเทือนใจที่คนหนุ่มคนสาวในเวลานั้นต่างพากันอ่านอย่างกว้างขวาง จนขึ้นแท่นกลายเป็นผลงานขายดีทั่วทั้งในและนอกยุโรป ถึงขนาดที่นโปเลียน (Napoleon) ก็ยังพกนวนิยายของเกอเธ่เล่มนี้ไปอ่านขณะเดินทางไปรบกับกองทัพออตโตมันที่อียิปต์
ในแง่ของศิลปะการประพันธ์ต้องเรียกว่า The Sorrows of Young Werther ได้สร้างปทัสถานใหม่ให้วรรณกรรมภาษาเยอรมันสมัยใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่มีเล่มใดได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญ (Canon) เหมือนเช่นวรรณกรรมอังกฤษหรือฝรั่งเศส The Sorrows of Young Werther ของเกอเธ่ได้กลายเป็นหลักไมล์แรกของกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า Sturm und Drang ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจก และเป็นต้นธารของขบวนการโรแมนติก (Romanticism) ในเวลาต่อมา
ผลกระทบทางด้านสังคมของ The Sorrows of Young Werther ทำให้มีคนประพฤติตนเลียนแบบแวร์เธอร์ทั้งการแต่งกาย การพกปืน ไปจนถึงการเลือกจบชีวิตเมื่อพลาดรักผิดหวัง (โดยพบหลักฐานว่ามีนวนิยายเล่มนี้พกติดตัว) แม้นักวิชาการในปัจจุบันจะออกมาอธิบายว่า ปรากฏการณ์แวร์เธอร์ระบาด (Werther Fever) ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงอะไรจริงๆ เช่นที่กล่าวอ้างถึงกัน หรือเกิดเหตุเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น แต่คำสั่งห้ามตีพิมพ์และจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ในบางประเทศก็เป็นเกิดขึ้นจริง
ดูเหมือนว่า เกอเธ่เองอาจไม่ค่อยรู้สึกภาคภูมิใจกับ The Sorrows of Young Werther มากเท่ากับผลงานอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อคนหนุ่มสาวที่ต้องเผชิญกับความพลาดรักผิดหวัง ซึ่งในช่วงท้ายของชีวิต เกอเธ่เขียนจดหมายไปถึงโยฮันน์ เพเทอร์ เอคเคอมันน์ (Johann Peter Eckermann) ผู้เขียน Conversations with Goethe และได้กล่าวถึงงาน The Sorrows of Young Werther ไว้ว่า “นี่เป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่เหมือนดังนกเพลิแกน ซึ่งฉันได้ให้เลือดจากหัวใจเป็นอาหาร… มันเป็นสภาวการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยฉับพลัน ปั่นป่วนใจฉัน และเป็นผลลัพธ์จากสภาวะจิตใจที่ผลิตสร้างแวร์เธอร์ขึ้นมา ฉันเคยมีชีวิต เคยรัก และต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส…และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น”5
3
สำหรับผมแล้ว ความน่าสนใจอีกประการของ Breaking Hearts น่าจะอยู่ตรงที่เบาไมสเตอร์กับวอตแมนพยายามจะให้ความสำคัญทั้งกับ ‘ผู้หักอก’ และ ‘ผู้อกหัก’ ด้วยเพราะพวกเขาเชื่อว่า มีหลายครั้งที่รักที่ไม่สมหวังมีคนเจ็บปวดหรือหัวใจสลายมากกว่า ‘หนึ่ง’ หรือแม้โดยทั่วไปเราจะเชื่อว่า คนปฏิเสธรักจะเจ็บปวดน้อยกว่าคนถูกปฏิเสธ (กระทั่งมีงานวิจัยชี้ว่า ‘คนหักอก’ โดยมากมักมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ‘คนอกหัก’ จะทำใจได้โดยเร็ว หรือเร็วกว่าที่คนอกหักจะทำใจได้ในความเป็นจริง) หากก็มีหลายกรณีด้วยเช่นกันที่พูดได้ว่า ‘ผู้ปฏิเสธ’ ก็สามารถได้รับบาดแผลและความเจ็บปวดได้ไม่น้อยกว่า ‘ผู้ถูกปฏิเสธ’
เช่นเดียวกันกับ The Sorrows of Young Werther ที่เราหลายคนอาจเห็นว่า แวร์เธอร์เป็นคนเจ็บปวดและสูญเสียมากที่สุด ในขณะที่ชาร์ลอตเตที่จำเป็นต้องหักอกแวร์เธอร์ (อันนำไปสู่ตอนจบอันเป็นโศกนาฏกรรม) ก็ชัดเจนว่า เธอแบกรับความเจ็บปวดที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ซึ่งในตอนท้ายของนวนิยายก็ได้ระบุบอกเป็นนัยไปว่า สุดท้ายชาร์ลอตเตก็ ‘หัวใจสลาย’ และอาจสิ้นลมหายใจภายหลังจากความตายของแวร์เธอร์
สภาพการณ์ที่คนปฏิเสธรักต้องเผชิญในบางครั้งจึงมีลักษณะยอกย้อนไม่ต่างไปจากถ้อยคำในนวนิยาย Wuthering Heights ของเอมิลี บรอนเต (Emily Brontë) ที่ว่า “ฉันไม่ได้ทำลายหัวใจเธอ เธอเป็นคนทำ และเพื่อทำลายมัน เธอได้ทำลายหัวใจฉันไปด้วย”6
บางคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจคิดว่าเรื่องราวทำนองนี้จะมีก็แต่เพียงนวนิยายเท่านั้น7 แต่ Breaking Hearts ก็ได้พยายามนำเสนอให้เห็นว่า ความซับซ้อนยอกย้อนของความรักที่ไม่สมหวังก็มีอยู่ในโลกความจริงด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เป็นเหมือนข้อสรุปสำคัญของของเบาไมสเตอร์กับวอตแมนก็คือถึงแม้เราจะเข้าใจธรรมชาติ ‘ความรัก’ หรือแม้แต่ ‘หัวใจ’ (ที่อาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลายเช่นที่ไวลด์กล่าวไว้) ดีมากเพียงใดก็ตาม หากสุดท้ายการมีรักก็คือการแบกรับความเสี่ยง ที่เราจะต้องเปิดตัวเอง เพื่อรับโอกาสที่จะเจ็บปวด ซึ่งแน่นอนว่า ความไม่สมหวังในรักนั่นก็คือมิติหนึ่งของความเสี่ยง8 คงมีบ้างสำหรับบางคนที่สามารถจะรอดพ้นความเสี่ยงนี้ไปได้ หากโดยส่วนใหญ่แล้ว การมีรักจะทำให้เรายอมรับที่จะเสี่ยง แต่ถึงกระนั้นความรักก็ไม่ใช่เกมที่มีคนแพ้และชนะ เช่น เกมหมากรุก หรือไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ Zero-Sum Game เพราะการมีรักคือการชนะร่วมกัน หรือไม่ก็พ่ายแพ้ไปด้วยกัน ซึ่งสำหรับความรักที่ไม่สมหวังแล้วก็คือกรณีหลังนั่นเอง9
1 The Complete Letters of Oscar Wilde, edited by Merlin Holland & Rupert Hart-Davis (London: Fourth Estate, 2000) 912.
2 “The most terrible thing about it is not that it breaks one’s heart—hearts are made to be broken—but that it turns one’s heart to stone.”
3 เป็นคนละคนกับนักจิตบำบัดชื่อดัง C. P. Blacker แต่เป็นแบล็คเกอร์คือคนที่ไวลด์ได้อุทิศหนังสือ The Happy Prince and Other Tales (1888) ฉบับที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เดวิด นัทท์ (David Nutt) ให้นั่นเอง
4 Roy F. Baumeister & Sarah R. Wotman, Breaking Hearts: The Two Sides of Unrequited Love, (New York: Guilford Press, 1992) 11.
5 “This is another one of those creatures whom, like the pelican, I have fed with the blood of my own heart…there were special circumstances close at hand, urgent, troubling me, and they resulted in the state of mind that produced Werther. I had lived, loved, and suffered much…that’s what it was.”
6 “I have not broken your heart – you have broken it; and in breaking it, you have broken mine.”
7 กรณีศึกษาใน Breaking Hearts นอกเหนือจากตัวบทวรรณกรรมที่เรารู้จักเป็นอย่างดีแล้วก็ยังมีเรื่องราวจากบุคคลจริงๆ ที่ต้องถือว่า บางเรื่องยิ่งกว่านวนิยาย เช่นเรื่องของศิลปินคนหนึ่งที่ไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนไปสู่การเป็น ‘คนรัก’ ได้ และกลายเป็นว่า ‘ความพยายาม’ ที่มากล้นและไม่สิ้นสุดของเขายังทำให้เธอขยาดหวาดกลัวจนต้องตัดความสัมพันธ์ฉันเพื่อนกับเขาในที่สุด
8 Ibid., 10.
9 Ibid., 214.
Tags: ความรัก, philosophy, ปรัชญา, When Philo met Sophia, Oscar Wilde, อกหัก, ออสการ์ ไวลด์