จากกรณีศึกษาที่ถูกนำเสนอไปแล้วเมื่อคราวก่อน นับจากเรื่องราวของนักประดิษฐ์ผู้ล้มเหลว หรือ สองพี่น้องผู้ไม่ได้คิดค้นภาพยนตร์ จนไปถึงแวดวงนักเขียนชีวิตพัง น่าจะเรียกได้ว่าเพียงพอแล้วที่เราจะเห็นว่าความผิดหวังเป็นศิลปะของมวลชนคนส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าจะพูดไปถึงวงการอื่นๆ ก็คงจะมีตัวอย่างความพินาศให้ยกมาเป็นอุทาหรณ์อีกมากมาย แต่ผู้เขียนบทความ (ที่แม้พยายามจะปวารณาตนเป็นศิลปินแห่งความผิดหวัง) ก็ยังคิดว่าน่าจะพักวางเรื่องพังๆ แล้วมาลองฟังดูสิว่า มีบุคคลใดในประวัติศาสตร์บ้างที่สามารถเผชิญหน้ากับความผิดหวังได้อย่างห้าวหาญ
หลังจากนั่งคิดนอนคิดหลายตลบก็พบว่ามีกลุ่มคนที่เรียกกันว่านักมองโลกในแง่ร้าย (Pessimist) พวกหนึ่งนี่ล่ะ ที่มีวิธีจัดการกับเหตุอับโชครุนแรงของตนเองหรือกับโลกใบนี้ได้ดีในแบบของพวกเขาเอง
ลัทธิมองโลกในแง่จริง
“ปรัชญาของข้าพเจ้าไม่ปลอบประโลมใจอะไรใครทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าพูดความจริง และคนทั้งหลายที่มั่นใจเต็มประดาว่าอะไรก็ตามที่พระเจ้าสร้างมานั้นดีอยู่แล้ว ก็จงไปหาพระและปล่อยนักปรัชญาทั้งหลายไว้ในความสงบ!”—อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer)
ในทางปรัชญา การมองโลกในแง่ร้าย หรือทุทรรศน์นิยม (Pessimism) มักถูกจัดวางให้อยู่ตรงกันข้ามกับการมองโลกในแง่ดี หรือสุทรรศน์นิยม (Optimism) ทั้งสองมุมมองถือว่าต่อสู้ขับเคี่ยวกันมาโดยตลอด นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเฮราไคลตัส (Heraclitus) ถูกเรียกว่า ปราชญ์ร่ำไห้ เพราะเขาน้ำตาไหลตลอดเวลา ขณะที่เดโมไครตัส (Democritus) ถูกเรียกว่า ปราชญ์สรวลเส เพราะเขาหัวเราะใส่ทุกอย่างบนโลกใบนี้
หรืออย่างผลงานของ On Nature or the Non-Existent ของกอร์เกียส (Gorgias) ผู้มีชีวิตอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับโสเครตีส ก็ได้มีการกล่าวถึงขีดจำกัดของมนุษย์ในการเข้าถึงความเป็นจริงหรือความรู้ ที่อาจสรุปได้ด้วยคำสั้นๆ ว่า ชีวิตบนโลกใบนี้ช่างคลุมเครือและดูมืดมัวเกินกว่าแสงสว่างแห่งปัญญาจะสาดส่องเข้าไปถึง ซึ่งก็นับเป็นการอธิบายโลกในมุมร้ายอีกทางหนึ่ง
กล่าวได้ว่า การตั้งคำถามและความกังวลใจในสุขภาวะและทุกขภาวะของเรา ถือเป็นอีกเรื่องที่มนุษย์เฝ้าครุ่นคิดมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มอารยธรรม และก็เป็นเช่นนี้ในแทบทุกช่วงของประวัติศาสตร์ความคิด เพียงแต่คำว่า Pessimism ต้องถือเป็นศัพท์สมัยใหม่ที่กำเนิดเมื่อราวศตวรรษที่ 18 โดยคำนี้มีรากศัพท์มาจาก Pessimus ในภาษาลาตินที่แปลว่า ‘เลวร้าย’
คนหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับการมองโลกในแง่ร้ายอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเอกลักษณ์ติดตัวเขาจนจวบสิ้นลมหายใจก็คือ อาร์เธอร์ โชเปนเฮาเออร์ จะด้วยความอินกับปรัชญาอินเดีย ศาสนาพราห์ม-พุทธ หรือด้วยการพลาดหวังอะไรก็ตามตลอดชีวิต ทำให้เขาเห็นว่า “ชีวิตคือความผิดหวัง หรือไม่ก็เป็นเรื่องหลอกลวง”
โชเปนเฮาเออร์สร้างหลักปรัชญาจากคำอธิบายในเรื่องเจตจำนง (will) ที่กำหนดความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ เขาทำการโต้แย้งปรัชญาของไลบ์นิซ (Leibniz) ปราชญ์ยุคก่อนหน้าที่เห็นว่า “โลกเป็นไปได้ในหนทางที่ดีที่สุด” หรือโลกที่เป็นอยู่นี้ดีที่สุดแล้วเท่าที่มันจะดีได้ หากจำกันได้วอลแตร์ (Voltaire) เองก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง Candide ขึ้นมาเพื่อเสียดสีไลบ์นิซในเรื่องนี้เช่นกัน
ในขณะที่โชเปนเฮาเออร์นั้นได้ใช้ตรรกะมาอธิบายว่า “สิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เราสามารถวาดภาพ หรือจินตนาการถึง แต่ต้องเป็นสิ่งที่มีตัวตนและคงอยู่ หากโลกในตอนนี้ถูกจัดการให้ดูประหนึ่งว่าจะสามารถดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความยุ่งยากที่ต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลที่ตามก็คือความเป็นไปไม่ได้ที่โลกเลวร้ายจะสิ้นสุดลง หรือไม่อาจคงอยู่ต่อไป ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง โลกจึงเป็นไปได้ในหนทางที่เลวร้ายที่สุด”
กล่าวให้เราสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ โลกที่เป็นอยู่ไม่ได้ดี หรือสมบูรณ์ที่สุดเหมือนอย่างที่ไลบ์นิซกล่าวอ้าง หากแต่มันเป็นสถานที่ที่มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยความทุกข์และทุกคนต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อจะมีชีวิตอยู่ กระนั้นการมองเห็นโลกเป็นสถานที่ร้ายๆ และเต็มไปด้วยความทุกข์โศก ไม่ได้ทำให้เราห่อเหี่ยวหรือหดหู่ใจเพียงอย่างเดียว หากบางครั้งมันกลับทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตและการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ท่ามกลางความทุกข์ และสามารถรับมือกับมันได้ในฐานะความจริงที่เราต้องเผชิญ
ปรัชญามองโลกในแง่ร้ายได้เผยแพร่ออกไปในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 นักมองโลกในแง่ร้ายที่ถือกันว่ามีบทบาทในการเผยแพร่ความคิดดังกล่าวออกไปได้แก่ ไบรอน (Byron) กวีเอกชาวอังกฤษ เลโอพาร์ดี (Leopardi) กวีและนักปรัชญาชาวอิตาลี และโชเปนเฮาเออร์ ซึ่งเล่ากันว่าทั้งสามคนเคยอยู่พำนักในอิตาลีในห้วงเวลาเดียวกัน ทั้งสามต่างรู้กิตติศัพท์ของกันและกัน แต่ก็ไม่เคยพยายามนัดพบหรือทำความรู้จักกัน
แต่เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ปรัชญามองโลกในแง่ร้ายอาจถูกท้าทายด้วยกระแสปรัชญาต่างๆ ที่ทำให้เรามองโลกอย่างมีความหวัง แต่ถึงเป็นเช่นนั้นก็ได้มีผู้รับช่วงต่อเป็นชายคนหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดจากดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดแห่งแวมไพร์ ผู้กลายเป็นประกาศกคนสำคัญ
คนแปลกหน้าในปารีส
“ความผิดหวังนั้นไม่มีขีดจำกัด”-อี. เอ็ม. โชราน
ช่วงฤดูหนาวก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองราวหนึ่งปี (1943-1944) บรรยากาศของปารีสเวลานั้นย่ำแย่ทั้งจากสภาพชีวิตความเป็นอยู่และแรงกดดันจากสงครามที่ปะทุคุโชนอยู่รอบนอก แต่กระนั้นคาเฟ เดอ เฟลอร์ ริมถนนแซงต์-แฌร์แม็ง-เดอ-แปรส ก็เปิดให้บริการตามปกติและยังเป็นที่สิงสถิตของบรรดาปัญญาชน โดยเฉพาะคู่รักนักปรัชญา ฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) และ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beavoir)
ห่างออกไปไม่ไกลจากคนทั้งสอง มีชายหนุ่มผมสีน้ำตาลทองแบบแผงคอสิงโตนั่งสูบยากล้องอยู่เงียบๆ เพียงลำพังเช่นนั้นเป็นประจำแทบทุกวัน อาจมีบ้างที่เขาหันไปจุดบุหรี่ให้โบวัวร์ หรือซาร์ตร์ แต่เขาก็ไม่เคยเอื้อนเอ่ย หรือเสวนากับคนทั้งสอง แม้แต่โบวัวร์เองก็ทำมากสุดเพียงพยักหน้าแทนคำทักทาย หรือขอบคุณเพียงเท่านั้น
ชายหนุ่มผู้นิ่งเงียบนั้นคือ เอมิล โชราน (Emil Cioran) ในวัยสามสิบสามปี นักศึกษาปริญญาเอกชาวโรมาเนียจากบูคาเรส ที่ยังไม่เริ่มต้นเขียนวิทยานิพนธ์แม้แต่สักคำเดียว
ความไม่เป็นฝรั่งเศสอวลอายอยู่รายรอบบุคลิก ท่วงท่าอาการ และโดยเฉพาะในดวงตาสีเขียวและขนคิ้วอันมีเอกลักษณ์ของเขา เขามาที่คาเฟ่ในเวลาเดิมๆ เป็นประจำแทบทุกวัน นั่งอยู่เงียบๆ เพียงลำพังตั้งแต่เช้าจรดค่ำ หรือตั้งแต่ค่ำไปจนดึกดื่นเที่ยงคืนราวกับเป็นพนักงานคนหนึ่ง
แทบไม่มีใครรู้เลยว่า ชายวัยสามสิบสามผู้นี้คือนักเขียนผู้เคยมีผลงานตีพิมพ์ในภาษาโรมาเนียมาแล้ว 5 เล่ม และผลงานเรื่อง On the Heights of Despair (1934) ได้สร้างชื่อให้แก่เขาในฐานะนักปรัชญาหนุ่ม ผู้ปฏิเสธความหวังในการมีชีวิตอยู่
แต่ชายคนนี้ในปารีสกลับเป็นเพียงคนแปลกหน้า เป็นปัญญาชนในวงรอบนอกซาร์ตร์-โบวัวร์ที่แทบไม่เคยปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับคนวงในเลย จนกระทั่งเขาเริ่มต้นเขียนผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาในภาษาฝรั่งเศส ผลงานที่เขาเปรียบเปรยว่าเป็นดั่ง “การเขียนจดหมายรักในขณะที่มือข้างหนึ่งถือพจนานุกรม”
จาก Emil Cioran สู่ E.M. Cioran
เอมีล โชราน ได้ส่งต้นฉบับที่เขาเขียนและแก้ไขอยู่หลายรอบให้แก่อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) นักปรัชญาผู้โด่งดังที่ประจำอยู่ที่สำนักพิมพ์กัลลิมารด์ (Gallimard) แต่ก็ต้องประสบกับความผิดหวังอย่างจัง เมื่อกามูส์เห็นว่า ผลงานชิ้นนี้ขาดแกนหลักในการนำเสนอ ทุกประเด็นดูแปลกแยกและกระจัดกระจาย นั่นเป็นเพราะโชรานเขียนผลงานในรูปแบบของ Aphorism ที่ถักสานทุกอย่างจากถ้อยความรวบกระชับสลับกับความเรียงสั้นๆ ที่พูดถึงหลากประเด็นความคิด
คำท้วงติงเชิงจิกกัดของกามูส์ทำให้เขากลับไปแก้ไขผลงานของเขาด้วยความขื่นขมและแค้นเคือง ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า ความพยายามในการมีผลงานตีพิมพ์ รวมถึงกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นส่วนหนึ่งของการแก้แค้นของโชราน ที่ต้องการเอาชนะทั้งความดัดจริตของปัญญาชนชาวฝรั่งเศสรวมไปถึงผู้คนในประเทศบ้านเกิดของเขา
จนในที่สุด ผลงาน Précis de décomposition (1949) หรือ A Short History of Decay ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยกัลลิมารด์ สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ได้รับรางวัลรีวารอล (Rivarol) สำหรับต้นฉบับยอดเยี่ยมโดยนักเขียนต่างชาติ และก็ได้ทำให้หนุ่มชาวโรมันเนียวัยสามสิบปลายได้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ E.M. Cioran จนชื่อของเขาก็ถูกนำไปเทียบชั้นกับซาร์ตร์และกามูส์ ถือว่าแผนการแก้แค้นของโชรานได้บรรลุผลสำเร็จ
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ A Short History of Decay เป็นผลงานที่ไม่แสดงถึงความหวังใดๆ บนโลกใบนี้ โชรานได้กระทำความโชเปนเฮาเออร์ไปจนถึงจุดที่ผู้อ่านค้นพบว่าตัวเองถูกเหวี่ยงลงมาบนโลกที่รอวันพังทลายลงได้ทุกขณะ นักปรัชญาได้ถูกเปรียบเปรยให้เป็นโสเภณีที่คอยเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเอาใจแขก และการฆ่าตัวตายนั้นก็เป็นเพียงการกระทำของคนมองโลกในแง่ดี จนกล่าวได้ว่าทุกสิ่งอย่างและความคิดที่ปรากฏในผลงานชิ้นนี้ช่วยขับเน้นบรรยากาศแห่งความล่มสลายของอารยธรรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โชรานได้นำพาพาศิลปะของความสิ้นหวัง (ผ่านการมองโลกในแง่ร้าย) ไปสุดขอบความคิด แต่กระนั้น A Short History of Decay ก็เป็นผลงานที่ตอบโจทย์คนจำนวนมากมายในเวลานั้นที่ทำให้หันกลับมามองความจริงว่า โลกไม่เคยเป็นดินแดนในอุดมคติ และอาจไม่มีวันเป็น ส่วนความสิ้นหวังก็นั้นก็ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด ดังนั้นแล้วการมีชีวิตอยู่โดยเนื้อแท้จึงเป็นความทุกข์ทรมาน
โมริส นาโด (Maurice Nadeau) นักวิจารณ์ผู้โด่งดังในเวลานั้นถึงกับเขียนบทวิจารณ์เพื่อสรรเสริญโชรานไว้ในหนังสือพิมพ์ Combat ว่า “เขามาถึงแล้ว เขาผู้ซึ่งเรากำลังเฝ้ามองหา ศาสดาพยากรณ์ในยุคของเรา ยุคแห่งค่ายกักกัน การอัตวินิบาตกรรมหมู่ ผู้ถูกเลือกที่มาถึงที่รับการฝึกฝนตระเตรียมตัวจากนักปรัชญาแห่งความว่างเปล่า ความไร้สาระ ผู้นำสารแห่งข่าวร้ายชั้นยอด ขอเรากล่าวต้อนรับเขาและเฝ้ามองเขาอย่างพิจารณาอย่างใกล้ชิด เขาผู้เป็นประจักษ์พยานแห่งห้วงเวลาที่เราอยู่”
แม้การฆ่าตัวตายจะเป็นประเด็นสำคัญในงานเขียนของเขา กระทั่งผลงานที่เขาเขียนในภาษาโรมาเนียที่เรารู้จักในชื่อ On the Heights of Despair ก็มาจากวลีที่หนังสือพิมพ์มักจะใช้สำหรับข่าวฆ่าตัวตาย (เช่น “ณ จุดสูงสุดแห่งความสิ้นหวัง ชายหนุ่มวัยยี่สิบห้าตัดสินใจฆ่าตัวตาย”) แต่กระนั้นโชรานกลับไม่เคยพยายามคิดฆ่าตัวตาย เพราะการฆ่าตัวตายมักเป็นสิ่งที่เกิดช้าไปเสมอ
โชรานเสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์ในวัย 84 ปี หรือภายหลังจากคู่ชีวิตของเขา ซีโมน บูเอ่ (Simone Boué) จากไปราวสองปี
อ้างอิง
- E.M. Cioran, The Trouble of Being Born, translated by Richard Howard (New York: Arcade Publishing, 2016)
- E.M. Cioran, History and Utopia , translated by Richard Howard (New York: Arcade Publishing, 2016)
- Arthur Schopenhauer, On the Suffering of the World (London: Penguin Books, 2004)
- Ilinca Zarifopol-Johnston, Searching for Cioran, edited by Kenneth R. Johnston (Indianapolis: Indiana University Press, 2009)