โลกจดจำเพียงผู้ชนะ?

ในปี 1820 อาร์เธอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญามองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเบอร์ลินได้หมายใจจะไฝว้กับเฮเกล (Hegel) ปราชญ์ผู้กำลังโด่งดังในเวลานั้นด้วยการจัดชั่วโมงบรรยายให้ตรงกัน เพื่อพิสูจน์ดูสิว่าจะมีคนฟังใครมากกว่ากัน ในสายตาของเขา เฮเกลเป็นแค่นักต้มตุ๋นผู้ซุ่มซ่าม แต่นี่คงเป็นไม่กี่ครั้งในชีวิตเลยกระมังที่โชเพนเฮาเออร์คิดบวกเกินไป เพราะปรากฏว่าวันนั้นนักศึกษาเฮละโลกันไปฟังเฮเกล และมีเหลือเพียง 5 คนร่วมชั้นบรรยายของโชเพนเฮาเออร์ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย เลิกข้องแวะกับโลกวิชาการชั้นนำอีกต่อไป แน่นอนว่าโชเพนเฮาเออร์ย่อมรู้สึกหดหู่สิ้นหวังซังกะตายไม่ต่างจากการถูก คนรัก ชื่อ ความรู้ ทอดทิ้ง

ถึงแม้ชื่อเสียงจะเทียบเท่าเฮเกลไม่ได้ แต่โชคยังดีที่โชเพนเฮาเออร์มิได้อันตรธานหายไปจากประวัติศาสตร์ปรัชญา เพราะหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ผลงานของเขา (ที่จัดเป็นปรัชญากระแสรอง) ก็ยังครองใจนักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์และคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนหนึ่งเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องราวของโชเพนเฮาเออร์บอกอะไรกับเรา ผมคิดว่ามันใช้เปรียบเทียบอธิบายกับการพลาดรักผิดหวังในการเป็นนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ เช่นกรณีของพี่น้องสกลาดานอฟสกี (Skladanowsky Brothers) สองพี่น้องนักประดิษฐ์และผู้กำกับหนังยุคบุกเบิกได้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่โชคร้ายกว่าหน่อยตรงที่ชื่อเสียงของพี่น้องสกลาดานอฟสกีได้เลือนหายไปจากการรับรู้เกือบจะสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

มักซ์ สกลาดานอฟสกี (Max Skladanowsky) หนึ่งในพี่น้องนักประดิษฐ์และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเยอรมันยุคบุกเบิก

มักซ์ สกลาดานอฟสกี (Max Skladanowsky) เกิดที่เมืองปังโคว์ใกล้กับกรุงเบอร์ลิน คาร์ล บิดาของเขามีอาชีพเป็นช่างทำกระจก แรกสุดนั้นมักซ์เคยใฝ่ฝันอยากเป็นช่างภาพ เขามีฝีมือด้านการเขียนสีลงบนกระจก และความสนใจในสอง กิจกรรมนี้ทำให้เขาเริ่มหลงใหล โคมวิเศษ (Magic Lantern) เครื่องฉายภาพยุคบุกเบิกที่ถูกคิดค้นและพัฒนาเรื่อยมานับจากศตวรรษที่ 17

โคมวิเศษ เครื่องฉายเงาที่เป็นความบันเทิงในบ้านยุคบุกเบิกที่มีต้นกำเนิดในศตวรรษที่ 17

ถ้าใครเคยอ่านนวนิยายเรื่องเยี่ยมยอด In Search of Lost Time มาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) ได้ยกเอาประสบการณ์ในการชมโคมวิเศษมากล่าวไว้ใน Swann’s Way เล่มแรกสุดของนวนิยายชุดนี้ (ในตอนที่ตัวเอกมาร์แซ็ลจะต้องถูกส่งขึ้นนอนทว่าเขายังไม่ง่วง และเศร้าที่ไม่ได้อยู่ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารค่ำกับพ่อแม่) พรุสต์ได้บรรยายไว้ว่า “มันเปลี่ยนผนังห้องทึบทึมให้กลายเป็นปรากฏเหนือธรรมชาติ สีสันฉูดฉาดเลื่อมลายสายตา ตำนานทั้งหลายถูกคัดสรรมาเหมือนดั่งภาพในกรอบบานหน้าต่างที่ประเดี๋ยวเคลื่อนขยับประเดี๋ยวลับหายไป”

ถือว่าเป็นวรรณกรรมเล่มแรกๆ ที่บรรยายถึงสิ่งประดิษฐ์นี้ไว้ได้อย่างน่าตื่นตะลึง แม้จะลงท้ายอย่างหักมุมว่า “แต่ความเศร้าของข้าพเจ้ากลับเพิ่มขึ้นอย่างทบทวี เพราะเพียงแค่การเปลี่ยนแสงสีเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำลายความประทับใจอันเคยคุ้นที่ข้าพเจ้ามีต่อห้องของตัวเอง”

แลเห็นชีวิตที่เคลื่อนไหว

ด้วยโคมวิเศษนี้เองที่ทำให้ครอบครัวสกลาดานอฟสกีได้ออกตระเวนไปทั่วยุโรปกลาง นับตั้งแต่ปี 1879 เป็นต้นมาและจากนั้นมักซ์กับเอมิล ผู้เป็นน้องชายก็ได้ประดิษฐ์คิดค้นกล้องถ่ายภาพของตนเองขึ้นในช่วงปี 1890 ก่อนจะปรับปรุงอุปกรณ์นี้ให้กลายเป็นเครื่องฉายภาพยนตร์ที่พวกเขาให้ชื่อว่า ไบโอสคอป (Bioscop) ซึ่งมาจาก bioskop คำกรีกที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า แลเห็นชีวิต จึงไม่เกินเลยไปนัก หากจะพูดว่าเครื่องฉายไบโอสคอปคือการพัฒนาโคมวิเศษให้มีกลไกภายในสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

เครื่องฉายไบโอสคอปมี 2 เลนส์ ใช้ฟิล์มขนาด 54 ม.ม. จำนวน 2 รีล วิ่งประสานกันจนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวความเร็ว 16 เฟรมต่อวินาที เมื่อพิจารณาจากรูปร่างหน้าตาของไบโอสคอปก็จะเห็นได้ชัดเจนว่ามันมีความแตกต่างจากเครื่องฉายอื่นๆ ในห้วงเวลาเดียวกัน (ส่วนใหญ่ยังคงมีส่วนผสมของไม้) เพราะไบโอสคอปของสกลาดานอฟสกีสร้างขึ้นจากโลหะแทบจะทุกชิ้นส่วน และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เครื่องฉายไบโอสคอปมีราคาในการผลิตต่อหน่วยมากมายมหาศาล

ไบโอสคอป (Bioscop หรือ Bioskop) เครื่องฉายที่ทำจากโลหะทั้งชิ้นจนทำให้มีราคาค่างวดในการผลิตสูงกว่าเครื่องฉายอื่นๆ

เพียงแต่ฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ที่สกลาดานอฟสกีใช้ในเวลานั้นปราศจากรูหนามเตย (perfs) นั่นทำให้การจัดการควบคุมเป็นไปได้ยาก และสามารถก่อให้เกิดข้อผิดพลาดขณะทำงานได้โดยง่าย คล้ายกับเครื่องฉายซิเนมาโตกราฟ (Cinématographe) ต้นแบบที่สร้างขึ้นในปี 1892 โดยนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสนามว่า เลอง บูลี (Léon Bouly) ที่ก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้

ซิเนมาโตกราฟ (Cinématographe) โดยเลอง บูลี (Léon Bouly) ที่ภายหลังได้ขาย ‘ชื่อ’ นี้ให้แก่พี่น้องลูมิแยร์ผู้ทำชื่อซิเนมาโตกราฟกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก

กล่าวได้ว่าภาพยนตร์ของสกลาดานอฟสกีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนประกอบของการแสดงที่เต็มไปด้วยสีสันและความบันเทิงใจแบบมรสพโรงใหญ่ที่มีคณะนักร้อง นักเต้น และนักดนตรี โดยจะเห็นได้ว่ากลไกของไบโอสคอปถูกออกแบบมาให้ฉายภาพเคลื่อนไหวที่มีความยาวไม่กี่วินาทีวนซ้ำไปมาได้นับครั้งไม่ถ้วน

การรับชมภาพยนตร์ของสกลาดานอฟสกีจึงถูกเห็นเป็นเพียงไม้ประดับของการแสดงที่แม้จะเคยถูกยกให้เป็นส่วนสำคัญ ดังคำโฆษณาที่ว่า “เป็นนวัตกรรมกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัย” แต่ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ในแบบเดียวกันกับที่พี่น้องลูมิแยร์ (Lumière Brothers) จัดฉายต่อหน้าสาธารณชนชาวปารีส ในวันที่ 28 ธันวาคมปี 1895 ที่เป็นการฉายภาพยนตร์โดยไม่มีโชว์อื่นๆ ปะปน

เครื่องฉายภาพยนตร์ของพี่น้องลูมิแยร์ (Lumière Brothers)

เมื่อความหวังมีไว้ผิดหวัง

หากเปรียบในแง่ของเวลา สกลาดานอฟสกีต้องถือว่าจัดฉายภาพยนตร์ก่อนหน้าพี่น้องลูมิแยร์ มีหลักฐานชัดเจนว่าพวกเขาได้รับการว่าจ้างด้วยเงิน 2,500 โกลด์มาร์คให้นำเอาคณะมหรสพและอุปกรณ์ฉายภาพยนตร์ไบโอสคอปมาจัดการงานแสดงรอบยิ่งใหญ่ที่กรุงเบอร์ลิน ในวันที่ 1 กันยายน ปี 1895 ที่ถือว่าการแสดงครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะมันทำให้พวกเขาได้รับการทาบทามให้ไปจัดแสดงที่ปารีสในวันที่ 31 ธันวาคม 1895 – 1 มกราคมปี 1896

ใบประกาศโฆษณางานแสดงเครื่องไบโอสคอปที่ห้องวินเทอร์การ์เทิน ในโรงแรมเซนทรัล กรุงเบอร์ลิน และใบประกาศโฆษณาที่กล่าวถึงงานแสดงของพี่น้องสกลาดานอฟสกีที่ปารีสในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถูกยกเลิกไปเสียก่อน

ทุกอย่างน่าจะไปได้ดี ถ้าหากการจัดฉายภาพยนตร์ของพี่น้องลูมิแยร์ช่วงปลายปีไม่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นจนทำให้เกิดการยกเลิกรายการโชว์ของพี่น้องสกลาดานอฟสกีในฝรั่งเศสที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า

เช่นเดียวกับความรักความสัมพันธ์ทั้งหลาย ยามเมื่อทุกอย่างดี มันก็ราบรื่นเป็นสุข ปัญหาไม่ปรากฏ แต่เมื่อถึงคราวจะจบ ทุกสิ่งทุกอย่างก็พร้อมจะประเดประดังเข้ามาทำให้เกิดรอยร้าว เต็มไปด้วยเหตุผลที่ทำให้เกิดปัญหา ในกรณีของสองพี่น้องสกลาดานอฟสกีก็เป็นเช่นนี้ เริ่มตั้งแต่การที่พวกเขาออกแบบเครื่องไบโอสคอปอย่างสลับซับซ้อนเกินไป แพงเกินไป (หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้ฟิล์มขนาด 54 ม.ม. ปราศจากรูหนามเตย) จนกระทั่งลามเลยไปถึงชนชั้นชาติกำเนิด ที่ทำให้ศิลปะภาพยนตร์ของเขาเข้าไม่ถึงชนชั้นกลางในเมือง ภาพยนตร์ของสกลาดานอฟสกีถูกจริตชนชั้นล่างและผู้ใช้แรงงานมากกว่า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือว่า ชีวิตหลังจากนั้น พี่น้องสกลาดานอฟสกียังคงพัฒนาภาพยนตร์ต่อไป แม้ภาพยนตร์จะหันหลังให้พวกเขาและเลือกเดินต่อไปยังอีกเส้นทางหนึ่ง

สุดท้ายจะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายไม่ทราบได้ ในห้วงเวลาที่นาซีเรืองอำนาจนั้น พวกเขามีความพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ทำให้พี่น้องสกลาดานอฟสกีเป็นผู้คิดค้นภาพยนตร์ แต่ครั้นเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงชื่อเสียงของพวกเขาก็ได้อันตรธานหายไปอีกครั้ง และผู้คนก็จดจำสองพี่น้องลูมิแยร์ในฐานะผู้บุกเบิกภาพยนตร์เสมอมา

 

อ้างอิง

Tags: , ,