prelude to Art of Disappointment
‘ศิลปะของความผิดหวัง’ แบ่งออกเป็นสองซีก เหมือนคนละฟากกำแพง คือเป็นศิลปะของ ‘ผู้สร้าง’ และศิลปะของ ‘ผู้รับรู้’ ที่อาจแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
สำหรับผู้สร้าง เขาแทบไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่าตัวเองกำลังทำศิลปะ เพราะมันอาจหมายถึงการกระทำธรรมดา การพูดคุย และแสดงออกพื้นฐานทั่วไปที่ทำให้ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้สึกผิดหวัง เขาอาจรู้สึกเสียใจหรือผิดหวังกับตัวเอง แต่เขาจะไม่ทันเฉลียวใจว่าทั้งหมดนี้คือชิ้นงานศิลปะ และเขาได้กลายเป็นศิลปินแห่งความผิดหวัง
หากในกรณีของผู้รับรู้ ที่อีกนัยคือ ผู้ประสบกับความผิดหวัง เขาย่อมเป็นมากกว่า ‘ผู้ชม’ ด้วยเพราะเขาได้รับผลกระทบโดยตรงผ่านความเจ็บปวด เศร้าสร้อย โกรธเกรี้ยวจากความผิดหวังที่ผู้สร้างหยิบยื่นให้ เขาอาจไม่ทันได้รู้สึกถึงความเป็นศิลปะของมัน แต่หากวันหนึ่งเขาเกิดตระหนักได้ เขาก็จะได้รู้ว่าตนเองได้ย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งศิลปะที่มีความผิดหวังเป็นสื่อกลาง แม้เขาจะยังคงต้องเจ็บปวด เศร้าสร้อย และโกรธเกรี้ยว ไม่ต่างไปจากเดิม
สิ่งประดิษฐ์น่าผิดหวัง
อดีตคนรักของชายคนหนึ่งกล่าวว่า สมองของเธอเหมือนเครื่องบันทึกเทป เมื่อเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ เธอจะบันทึกลงไปบนความรักครั้งเก่า ซึ่งเขาได้นำคำนี้มาพูดกับเธออีกครั้งภายหลังสิ้นสุดความสัมพันธ์ว่า “เรารู้ว่าทุกอย่างจบลงแล้ว ดังนั้นขอให้เราบันทึกมิตรภาพหนใหม่ทับลงไปบนความสัมพันธ์ครั้งก่อนเก่า”
ผมเล่าเรื่องนี้ทำไม? เพราะเครื่องบันทึกเทปที่พวกเขาอ้างถึงกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่คนถัดจากปัจจุบันไปไม่รู้จัก และเป็นเพียงประดิษฐกรรมที่ถูกหลงลืม เช่นเดียวกับกระบอกขี้ผึ้งบันทึกเสียง (cylinder record) หรือเทปนากรา (Nagra) ที่ว่ากันว่าสามารถอัดทับได้นับพันนับหมื่นครั้ง
การถูกลืมในโลกแห่งประวัติศาสตร์ แม้เป็นจะเป็นเรื่องธรรมดาที่น่าเศร้า ทว่าการไม่มีตัวตนให้จดจำ หรือไม่เคยถูกรับรู้ว่ามีอยู่อาจน่าสลดหดหู่ แลดูสิ้นหวังยิ่งกว่า
ด้วยเป็นเวลาหลายร้อยปีที่การประดิษฐ์คิดค้นจำนวนมากบนโลกใบนี้ ไปไม่ถึงฝั่งฝันและได้กลายเป็นเพียงความสร้างสรรค์ที่ล้มเหลว หรือเป็น ‘สิ่งประดิษฐ์น่าผิดหวัง’ อันเกิดจากจินตนาการแปลกล้ำที่ไม่สามารถกลายเป็นจริงได้ เรารู้ดีว่าหนึ่งความสำเร็จมักต้องแลกมาด้วยความล้มเหลวนับร้อยพัน ดังคติที่ว่า “เคยลอง เคยล้ม ไม่เป็นไร ลองใหม่ ล้มใหม่ ล้มได้ดีกว่า” แต่กระนั้นสำหรับบางคนแล้ว การหกล้มไม่ได้ทำให้พวกเขาล้มดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังล้มได้ย่ำแย่ลงไปอีก และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เราจะได้พูดกันต่อไป
เราถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้าง
ย้อนกลับไปยังยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผนวกกำลังกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นกระแสการแข่งขันได้ผลักดันให้เกิดประดิษฐกรรมขึ้นมามากมายเป็นประวัติการณ์ เครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ ฟิล์มถ่ายรูปและภาพยนตร์ ล้วนถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ที่นักประวัติศาสตร์โดยมากขนานนามว่า ยุควิคตอเรีย (Victoria Era) ซึ่งด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดจารีตแบบแผนในชีวิตแต่งงาน การแต่งกายแบบมิดชิดปิดคลุม การหุ้มห่อขาโต๊ะเก้าอี้ด้วยผ้า การพูดเรื่องเพศด้วยภาษาซ่อนนัย จนถูกมองว่าเป็นยุคสมัยแห่งการเก็บกดปิดกั้นกามารมณ์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยบางคนเชื่อว่า ระบบคิดดังกล่าวได้ส่งทอดผ่านชนชั้นนำมาสู่สังคมไทยและยังคงแผ่ผลอิทธิพลสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันผ่านระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ยุคที่ได้ชื่อว่าอนุรักษ์นิยมนี้เองที่การเมืองมีความก้าวหน้า ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด การแปลงเปลี่ยนสิ่งประดิษฐ์ให้เป็นสินค้าเพื่อมวลชนคือหนทางไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย นักประดิษฐ์คนไหนทำได้ก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีอย่างชนิดชั่วข้ามคืน
โธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นับเป็นบุคคลต้นแบบแห่งยุคดังกล่าว แม้ความเป็นจริงเขาจะถูกนักประดิษฐ์หลายคนตราหน้าว่าเป็นพวกร้อยเล่ห์ แต่สำหรับฌ็อง-ลุก โกดารด์ (Jean-Luc Godard) ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ เขายกย่องให้เอดิสันเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ ก่อนหน้าพี่น้องลูมิแยร์ (Lumière Brother) ที่ทั้งโลกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งภาพยนตร์ (ในบทตอนต่อไป เราจะได้พูดถึงพี่น้องสกลาดานอฟสกี (Skladanowsky Brother) สองผู้คิดค้นเครื่องฉายภาพยนตร์ที่เคยจัดแสดงก่อนหน้าพี่น้องลูมิแยร์ แต่โลกได้ลืมพวกเขา หรือจดจำได้เพียงในฐานะนักประดิษฐ์ผู้ล้มเหลว)
ช่วงก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 ความคิดที่ว่า คนเรานั้นสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ด้วยสองมือ ถือว่าแพร่หลายอย่างมาก โดยผู้ที่ทำให้หลักคิดดังกล่าวกระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วก็คือ ซามูเอล สไมลส์ (Samuel Smiles) บิดาแห่งหนังสือฮาว-ทูชื่อดังชาวอังกฤษ
หนังสือเรื่อง Self-Help (1859) ของสไมลส์ถือว่าให้อิทธิพลต่อคนจำนวนมากในเวลานั้น โดยเฉพาะวรรคทองที่เหมือนจงใจเขียนมอบให้นักประดิษฐ์ทั้งหลายว่า “เราค้นพบว่า อะไรก็ตามที่ควรทำนั้น มักมาจากการได้รู้ว่าอะไรที่เราไม่ควรทำ และมันเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า คนที่ไม่เคยทำอะไรพลั้งพลาดนั้น เขาย่อมจะไม่มีวันได้ค้นพบอะไร”
การแข่งขันประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดตามมาโดยอัตโนมัติก็คือ ถ้าสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เหล่านี้ล้มเหลว หรือแทบไม่เคยสร้างจริงแล้ว เราจะหาหลักฐานนี้ได้จากไหน? คำตอบคือ สิ่งประดิษฐ์ทุกชนิดจะต้องมีการจัดทำแบบเพื่อจดสิทธิบัตร (patent) ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นได้ถูกเก็บไว้ในสำนักทะเบียนเพื่องานออกแบบ (Design Registry) ที่ Somerset House ในกรุงลอนดอน ซึ่งปัจจุบันได้ถูกย้ายไปไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (The National Archives) เป็นที่เรียบร้อย
จากหลักฐานชั้นต้นนี้เอง เราจึงได้เห็นว่ามีสิ่งประดิษฐ์รูปร่างหน้าตาประหลาดจำนวนมากที่นักประดิษฐ์ผู้ดำเนินรอยตามคำคมของสไมลส์ได้ส่งมาจดสิทธิบัตร อย่างเช่น อุปกรณ์ปรุงสุกทุกอย่างของอาหารในคราวเดียวอันอาจเป็นต้นแบบของเตาไมโครเวฟในปัจจุบัน หรือเครื่องถอดรองเท้าบู๊ท ที่สุดท้ายแล้ว ไม่มีอะไรจะถอดรองเท้าได้ดีเท่ากับมือเราเอง เพราะก็ชัดเจนว่าการใช้อุปกรณ์ถอดรองเท้าไม่ตอบโจทย์เท่าการออกแบบรองเท้าให้ถอดง่ายขึ้น เช่น การใช้ซิป หรือวัสดุยางยืดมาเป็นส่วนผสม รวมถึง อ่างประหยัดน้ำที่พอให้นั่งจ่อมตัวลงไป หรือกรรไกรส้อมที่ไม่รู้ว่านักประดิษฐ์คิดอะไรอยู่ตอนนั้น
สิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่ถูกพบในสำนักทะเบียนเพื่องานออกแบบ แม้จะแลดูพิลึกพิลั่นน่าขบขัน แต่ถึงกระนั้นมันก็ถือเป็นศิลปะของความผิดหวังที่แลดูน่าเศร้าด้วยเช่นกัน เปรียบไปก็เหมือนความนึกคิด ความฝัน กระทั่งความรักที่ไม่อาจเป็นจริงได้ ในอีกทางเราอาจพูดได้ด้วยซ้ำว่ามันคือภาพแทนของความรักโรแมนติก ที่เริ่มต้นด้วยความพยายามเอาอกเอาใจ แต่สุดท้ายก็ต้องร้างรากันไป เพราะความไม่เข้าอกเข้าใจในกันและกัน
อ้างอิง
Samuel Beckett, Nohow On (London: John Calder, 1991)
Samuel Smiles, Self-Help (London: John Murray, 1908)
Julie Halls, Inventions that didn’t change the world (London:Thames & Hudson, 2014)
Tags: สิ่งประดิษฐ์, นักประดิษฐ์, ยุควิคตอเรีย, หอจดหมายเหตุ, Design Registry, invention