แนวคิดที่ต้องการให้สัดส่วนของประติมากรรมในโลกหิมพานต์มีสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ (anatomy) นั้น นับได้ว่าเป็นของใหม่ของสังคมสยาม
จากข่าวของมติชนที่ระบุว่า ในขณะนี้กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กำลังเร่งมือปั้นประติมากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทพบุรุษ เทพสตรี โดย “อยู่ในขั้นการตรวจกายวิภาคให้ได้สัดส่วน” และยังระบุด้วยว่าช่างจะปั้นพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ “ให้มีความคล้ายคลึงมนุษย์ที่สุด” (มติชน, 2560) นับว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากต่อวิธีคิดในการปั้นรูปจำลองของเทพที่ไม่มีใครเคยเห็นให้กลายเป็นรูปธรรมแบบมนุษย์
ก่อนจะไปเรื่องอื่นขออธิบายสั้นๆ นิดหนึ่งว่าประติมากรรมต่างๆ ที่ประกอบพระเมรุมาศนี้มีหน้าที่เดียวเลยคือ การหนุนเสริมให้เห็นว่าพระเมรุมาศคือเขาพระสุเมรุ ในขณะที่มหาเทพทั้งสี่นี้ก็คือความพยายามในการผสมผสานความเชื่อ (syncretism) พราหมณ์กับพุทธ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไทยที่เปรียบดังพระโพธิสัตว์นั้นอยู่เหนือมหาเทพทั้งสี่
กลับมาที่ประเด็นเทพเจ้าเพาะกาย เมื่อแนวคิดสัจนิยม (realism) จากตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดต่อชนชั้นนำสยามเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทำให้เราเริ่มเห็นประติมากรรมแนวสมจริง เห็นได้จากพระคันธาราษฎร์ หรือพระพุทธรูปปางขอฝน ที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพระพุทธรูปมีสัดส่วนถูกต้องตามกายวิภาค แขนมีกล้ามเป็นมัดอย่างชัดเจน และริ้วจีวรก็เป็นไปตามธรรมชาติ
ด้านหนึ่งต้นแบบของการทำพระพุทธรูปมีกล้ามแบบนี้มาจากการที่อังกฤษได้เข้าไปปกครองในเขตปากีสถาน จึงได้ค้นพบพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘คันธาระ’ (Gandhara) ซึ่งสะท้อนอิทธิพลของกรีกแบบเฮลเลนิสติก (Hellenistic) พระพุทธรูปในศิลปะแบบนี้สร้างคล้ายกับเทพเจ้ากรีกคือ เน้นกล้ามเนื้อและสัดส่วนถูกต้องตามหลักกายวิภาค ที่สำคัญคือเชื่อกันในเวลานั้นว่าคันธาระเป็นศิลปะแรกที่สร้างพระพุทธรูปในรูปแบบมนุษย์ (human form) เป็นครั้งแรกของโลก
ดังนั้นเมื่อตะวันตกค้นพบพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุด มันก็น่าจะคล้ายกับพระพุทธเจ้ามากที่สุด ผลก็คือทำให้ รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ย้อนกลับไปสู่การสร้างพระพุทธรูปยุคแรกเริ่ม ซึ่งหมายถึงได้ย้อนกลับไปสู่ต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาด้วย แต่ปรากฏว่าพระพุทธรูปมีกล้ามนี้ก็เป็นได้แค่ pilot project ไม่ได้ทำต่อ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือ มีความใกล้เคียงมนุษย์มากเกินไปจนไม่น่านับถือ
นั่นแสดงว่าสิ่งที่ชนชั้นนำสยามให้ความสำคัญไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า realistic form หากแต่เป็นกายวิภาคแบบอุดมคติ (idealistic form) ด้านหนึ่งอาจอธิบายได้ว่าชนชั้นนำสยามชอบการทำพระพุทธรูปตามรูปร่างอุดมคติอย่างคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ แต่อีกด้านหนึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะศาสนาพุทธถือว่าร่างกายคือภาชนะที่บรรจุของหลักธรรม (vessel of law) ธรรมจึงย่อมสำคัญกว่ารูป ดังนั้นกายวิภาคที่ไม่เหมือนมนุษย์จึงแสดงสภาวะเหนือมนุษย์มากกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตามแนวคิดสัจนิยมที่ส่งผลต่อการสร้างประติมากรรมจากตะวันตกก็ได้กลายมาเป็นระบบคิดของช่างสยาม เห็นได้จากทั้งภาพวาดและประติมากรรมประกอบพระเมรุนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ได้แสดงเส้นสายของกล้ามเนื้อที่เหมือนมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะปรากฏตามวัดหรือพระเมรุก็ตาม
ทว่าเอาเข้าจริงหมุดหมายที่สำคัญที่ทำให้รากฐานของแนวคิดในการทำประติมากรรมมีความถูกต้องตามหลักกายวิภาคอย่างแท้จริงก็เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ที่ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ประติมากรรมที่เราเห็นกันในสื่อจึงเริ่มต้นจากการวาดตามหลักกายวิภาค แบ่ง figure ออกเป็น 8 ส่วน เริ่มปั้นจาก body ที่ช่างมองทะลุเห็นกล้ามเนื้อจนดูเปลือยล่อนจ้อนก่อน แล้วค่อยนุ่งผ้าให้บรรดาเทวดานางฟ้าทีหลัง ที่ว่ามานี้คือวิธีการปั้นประติมากรรมอย่างใหม่ด้วยอิทธิพลตะวันตก
โลกของรูปทรงนั้นสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา น่าคิดนะครับว่า เทพเจ้าเพาะกายในช่วงนี้กำลังบอกอะไรกับเรา เราคงไม่อาจคิดแทนช่างได้ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถไปทูลถามรัชกาลที่ 5 ได้ หากแต่การที่เราอยู่ภายใต้โครงสร้าง (structure) ของสังคมเดียวกัน ซึ่งกำหนดวิธีคิดของเรานั้น อาจพอเข้าใจได้ว่า ด้านหนึ่งคือการที่ช่างพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องมากที่สุดได้ส่งผลต่อการสร้างกล้ามเนื้อจริงขึ้นในประติมากรรมเทพ
แต่อีกด้านหนึ่งก็คือเป็นไปได้ไหมว่า เทพเจ้าเพาะกายนี้คือสำนึกคล้ายกับกรีกที่ Superman เท่านั้นที่จะสามารถมี body ที่สมบูรณ์ได้
กล้ามเนื้อนี้ก็คือการแสดงอำนาจอย่างหนึ่งของเทพเจ้านั่นเอง
ติดตามเรื่องราวของพระเมรุจากพระเมรุขนาดใหญ่และวิจิตรพิสดารที่ลดทอนทั้งขนาดและความวิจิตรลง เป็น ‘สวรรค์ชั้นประหยัด’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้กลายมาเป็นต้นแบบให้กับพระเมรุมาศของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงสืบต่อมา ได้ที่ พระเมรุมาศ ‘สวรรค์ชั้นประหยัด’ ในยุคสัจนิยม และความเป็นมาของเมรุสำหรับราษฎรครั้งแรก ได้ที่ พ.ศ. 2475 จากพระเมรุเจ้าสู่เมรุไพร่ อำนาจ การเปลี่ยนผ่าน และสัญลักษณ์การต่อสู้ทางชนชั้น และ และเรื่องราวของ ‘เทพ’ ประดับพระเมรุมาศที่มีสัดส่วนถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ ได้ที่ ทำไม ‘เทพ’ ประดับพระเมรุมาศถึงหุ่น ‘ล่ำ’
บทความนี้ขอขอบคุณ: คุณพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน, คุณคงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, อาจารย์คงกฤช ไตรยวงศ์
อ้างอิง:
– มติชน. ปั้นประติมากรรมคล้ายคลึงมนุษย์ สรุปสัตว์หิมพานต์ประดับสระอโนดาตด้านละ 15-20 ตัว. [Accessed on: 19/1/2017] Available at: http://www.matichon.co.th/news/433207
Tags: KingRama9, History, crematory, พระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่9, PipadKrajaejun