พูดกันแบบตรงไปตรงมา เราไม่อาจไล่เรียงชื่อของคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกโดยขาดชื่อของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ไปได้เลย 

ในวัย 80 ปีและหกทศวรรษของการทำหนัง เขากำกับหนังยาวทั้งสิ้น 27 เรื่องกับสารคดีอีก 17 เรื่อง รวมทั้งกำลังจะมีภาพยนตร์ลำดับล่าสุดอย่าง Killers of the Flower Moon (2023) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘ตัวเต็ง’ ของออสการ์ที่จะจัดขึ้นต้นปีหน้า และหากไล่ย้อนกลับไปยังเส้นทางการทำหนังของเขา ก็นับว่าสกอร์เซซีปักหมุดหมายในการทำหนังหลายต่อหลายเรื่อง

สกอร์เซซียังส่งอิทธิพลต่อคนทำหนังรุ่นหลังๆ หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ บง จุนโฮ (Bong Joon-ho) ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้คว้ารางวัลออสการ์จาก Parasite (2019) เขาขึ้นกล่าวขอบคุณบนเวทีต่อสกอร์เซซี ซึ่งเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับเขาว่า “ตอนผมยังอายุน้อยและเพิ่งเริ่มเข้าวงการภาพยนตร์ มันมีคำกล่าวหนึ่งที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจผมมาก นั่นคือ ‘ยิ่งเรื่องที่เล่าเป็นส่วนตัวมากเท่าไร ยิ่งเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์มากเท่านั้น’ และประโยคดังกล่าวก็มาจาก มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้ยิ่งใหญ่นี่เอง” รวมทั้ง ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ​(Todd Phillips)  ซึ่งหนังที่เขากำกับอย่าง Joker (2019) มีฉากที่อ้างถึง The King of Comedy (1982) ของสกอร์เซซีด้วย (แถมตัวละครที่เป็น ‘ตัวขับเคลื่อน’ สำคัญในหนังทั้งสองเรื่องคือเดอ นีโรเหมือนกันอีกต่างหาก)

อย่างไรก็ดี กว่าที่สกอร์เซซีจะมาเป็นคนที่บันดาลใจให้คนอื่น เขาเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากคนทำหนังรุ่นก่อนๆ หลายต่อหลายคนเช่นกัน เราอยากชวนมาสำรวจหนังที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญให้คนทำหนังหนุ่มสกอร์เซซี ที่ในเวลาต่อมา กลายเป็น ‘ปู่ซ่าบ้าพลัง’ ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

ที่จะขาดไปไม่ได้เลยเป็นลำดับแรกคือ Citizen Kane (1941) หนังเรื่องแรกโดย ออร์สัน เวลล์ส  (Orson Welles) ที่เข้าชิงออสการ์ทั้งสิ้นเก้าสาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับยอดเยี่ยม นับเป็นหนึ่งในหนังที่สร้างหมุดหมายของศิลปะการทำภาพยนตร์ในยุค 40s โดยเฉพาะงานจัดแสงและงานตัดต่อ ตัวหนังว่าด้วยเรื่องราวของนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามจากสื่อมวลชนถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบ และเมื่อกำลังจะสิ้นใจ เขาได้เอ่ยศัพท์สุดท้ายว่า “Rosebud” และกลายเป็นชนวนให้นักข่าวคนหนึ่งตามสืบสวนถึงความหมายของคำนั้น อันนำไปสู่เงื่อนปมแสนซับซ้อนเบื้องหลัง

สกอร์เซซีเคยให้สัมภาษณ์ว่า Citizen Kane คือหนึ่งในหนังที่ส่งผลสะท้านสะเทือนต่อตัวเขามากที่สุด “Citizen Kane ทำให้ผมตระหนักว่าสิ่งที่ผู้กำกับต้องทำจริงๆ นั้นคืออะไร” เขากล่าว “ผมดูเรื่องนี้เป็นครั้งแรกจากโทรทัศน์ และสังเกตถึงวิธีตัดต่อ วิธีวางมุมกล้องของหนัง คือเขาไม่เขินกล้องเลย และไม่กลัวที่จะใช้กล้องเพื่อสำรวจตัวเอง และผมว่าเขาทำเรื่องทั้งหมดนี้ด้วยความมั่นใจและยอดเยี่ยมจริงๆ จนเวลาคุณดูหนังแล้วจะรู้สึกว่า ‘เหมือนว่ากล้องมันจะเคลื่อนนะ’ และผมเองก็มาตระหนักถึงการเคลื่อนของกล้องก็เพราะเขาใช้เลนส์กว้างถ่ายทำนี่แหละ คือถ้าคุณใช้เลนส์กว้างถ่ายแล้วขยับได้เร็วพอ คุณจะเห็นเหมือนว่าผนังมันเคลื่อนผ่านคุณไปเลย และนี่แหละคือสิ่งที่ผมคิดว่าเวลล์สบุกเบิกไว้ในโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์อเมริกันล่ะ”

ในยุค 1970s สกอร์เซซียังเป็นคนทำหนุ่มและเริ่มจับกลุ่มกับผู้กำกับวัยเดียวกัน ซึ่งในเวลาต่อมา กลายเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกาอย่าง ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma), ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola), จอร์จ ลูคัส (George Lucas) และ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และแน่นอนว่าในยุคที่หนังสกุล ‘French New Wave’ หรือคลื่นลูกใหม่จากฝรั่งเศส ไล่เรียงเข้ามาฉายในสหรัฐฯ ไวยากรณ์ภาพยนตร์สดใหม่ก็บันดาลใจให้กลุ่มคนทำหนังอเมริกันหวังอยากวาดลวดลายเช่นนั้นบ้าง ซึ่ง The 400 Blows (1959) ผลงานของ ฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์ (Francois Truffaut) คือหนึ่งในหนังที่เป็นธงใหญ่ของหนังสกุลนี้ 

โดยหนังเล่าถึงชีวิตของเด็กชายวัย 13 ปีที่หากพินิจจากสายตาคนนอกแล้ว เขาดูเป็นเด็กไม่เอาไหน ขี้ขโมยและสร้างปัญหาสารพัด กระนั้น เมื่อหนังค่อยๆ ไต่เลาะเส้นชีวิตของเขา ก็ทำให้คนดูเห็นบาดแผลบางอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์สามัญหนึ่งคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฉากจบที่ตัวละครจ้องลึกเข้ามาในกล้องราวกับจะสะท้อนภาพจิตวิญญาณวัยเยาว์ที่แหลกสลาย สกอร์เซซีจัดอันดับให้หนังเรื่องนี้ของทรุฟโฟต์เป็นหนึ่งใน ‘รายชื่อหนังต่างประเทศ 39 เรื่องที่คนทำหนังรุ่นใหม่ควรดู’ 

และในกลุ่มคนทำหนังหัวขบถแห่งฝรั่งเศสนั้น เมื่อมีทรุฟโฟต์แล้วย่อมต้องมี ฌ็อง-ลุก กอดาร์ (Jean-Luc Godard) หนึ่งในหัวขบวนสำคัญของการเคลื่อนไหวด้านภาพยนตร์ดังกล่าว โดยหนังของกอดาร์ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อสกอร์เซซีอย่างมากคือ Contempt (1963) ว่าด้วยเรื่องราวชวนปวดเศียรเวียนเกล้าของผู้คนในวงการภาพยนตร์ เมื่อเมียนักแสดงของนักเขียนบทชาวฝรั่งเศส รู้สึกว่าผัวกำลังใช้เธอเพื่อต่อรองการงานกับโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันขี้หลี ความบาดหมางทางจิตใจนี้ยังผลให้เกิดการแตกหักทางความสัมพันธ์อย่างรุนแรงในท้ายที่สุด โดยสำหรับสกอร์เซซี เขาพินิจว่าหนังเรื่องนี้ของกอดาร์ ผู้เป็นที่จดจำจาก Breathless (1960) และ Pierrot le Fou (1965) มากกว่า ช่างโดดเด่นในด้านงานภาพและการใช้สีอย่างที่สุด ราวกับเป็นงานจากจิตรกรที่วาดแปรงลงบนผืนผ้าใบ 

“ผมว่ามันเป็นหนังที่ฉายให้เห็นภาพของความล้มเหลวของชีวิตคู่ได้อย่างชวนสะเทือนใจเหลือเกิน ทั้งยังบาดลึกแสนลึก โดยเฉพาะฉากที่ยืดยาวและเป็นที่เข้าใจได้ระหว่าง มิเชล พิกโกลี (Michel Piccoli) กับ บรีฌิต บาร์โดต์ (Brigitte Bardot) นักแสดงนำของเรื่องในอพาร์ตเมนต์พวกเขา ต่อให้คุณไม่รู้ว่าชีวิตการแต่งงานของ กอดาร์ กับ อันนา คาเรนนินา (Anna Karina) นักแสดงคู่บุญและอดีตภรรยาของกอดาร์ จะเกิดขึ้นในเวลานั้นก็ตาม แต่คุณจะสัมผัสถึงเรื่องนี้ได้ผ่านการแสดง ผ่านการเคลื่อนไหวในแต่ละฉาก ปฏิสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกัน ซึ่งแสนจะเจ็บปวดหากแต่ก็ทรงพลังเหลือเกิน ราวกับเป็นส่วนเสี้ยวของบทเพลงว่าด้วยโศกนาฏกรรม”

ในยุคเดียวกันนั้น สกอร์เซซียังชื่นชม Paisan (1946) หนังสัญชาติอิตาลีที่เข้าชิงออสการ์สาขาเขียนบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ โรแบร์โต รอสเซลลินี (Roberto Rossellini) ถือเป็นหนังลำดับที่สองของไตรภาคหนังสงคราม (War Trilogy) โดยอีกสองเรื่องคือ Rome, Open City (1945) และ Germany Year Zero (1948) ซึ่งทั้งสามเรื่องล้วนแล้วแต่พูดถึงแง่มุมของสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

ทั้งนี้ Paisan เล่าถึงหกแง่มุมของชีวิตคนช่วงจบสงครามในอิตาลี ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องของผู้คนในแคว้นซิซิลี ไปจนถึงเทือกเขาทางตอนเหนือ ทำให้ สกอร์เซซี ผู้เติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายอิตาลี ในขณะที่ทำหนังสารคดี My Voyage to Italy (1999) ว่าด้วยภาพยนตร์อิตาลี จึงเริ่มเรื่องด้วยหนังของรอสเซลลินีนั่นเอง

“ผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกทางโทรทัศน์กับคุณปู่คุณย่า และเห็นปฏิกิริยาที่พวกเขามีต่อบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งพวกเขาจากมาในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจริงและชัดแจ้งทั้งในแง่ภาพและบุคลิกผู้คน เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสถึงพลังของภาพยนตร์ ที่ไปไกลกว่าฮอลลีวูดด้วยซ้ำ ทั้งยังถ่ายทำภายใต้เงื่อนไขที่ยากเย็นแสนเข็ญ อุปกรณ์การถ่ายทำก็ไม่ได้ดีนัก และผมยังได้เห็นว่า ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังอย่างเดียว แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวมันเองกับผู้ชมด้วย” 

สกอร์เซซียังได้แรงบันดาลใจมาจาก Take Care of My Little Girl (1951) หนังของ ฌ็อง นีกูเลสโก (Jean-Jacques Rousseau) คนทำหนังชาวโรมาเนีย-อเมริกัน ผู้ที่โลกมักจะจดจำเขาจาก How to Marry a Millionaire (1953) หนังโรแมนติก-คอเมดี ที่นำแสดงโดยนักแสดงหญิงแห่งยุคสมัยอย่าง มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) 

กระนั้น สำหรับสกอร์เซซีแล้ว หนังแบบ Take Care of My Little Girl ที่ว่าด้วยชีวิตสดใสของหญิงสาวที่ค่อยๆ มัวหมองลง เมื่อเจอกับความจริงของชีวิตมหาวิทยาลัย ก็น่าจดจำไม่แพ้กัน ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขาทำ Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974) เล่าเรื่องของแม่ม่ายที่ตัดสินใจย้ายกลับบ้านเกิด หวังผลักดันลูกชายคนเดียวให้เป็นนักร้องดัง หากแต่การเดินทางของเธอก็พลิกผันเมื่อเจอกับชายแปลกหน้าสองคนระหว่างทาง

“ผมว่าหนังของนีกูเลสโกน่าสนใจก็ตรงที่มันพูดถึงบรรยากาศของอเมริกายุค 50s นี่แหละ ถ้าคุณลองมองข้ามบางเรื่องไป เช่น การให้นักแสดงวัย 30 มารับบทเป็นเด็กสาววัยมหาวิทยาลัย คุณก็จะไหลไปกับตัวหนังและไม่ตะขิดตะขวงใจอะไรกับเรื่องนี้เลย” เขาว่า

กล่าวสำหรับตัวสกอร์เซซีเองได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำหนังรุ่นใหม่ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งยังช่วยสถาปนาและก่อร่างสร้างฐานของความเป็นภาพยนตร์ให้แข็งแรง ทั้งในบ้านเกิดตัวเองและทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่จนถึงทุกวันนี้ หลายคนยังเห็นเขาเป็นเสมือนเรือธงสำคัญของการทำหนัง รวมทั้งการทำ Killers of the Flower Moon หนังมหากาพย์ความยาวสามชั่วโมงครึ่งเรื่องล่าสุด ที่คงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีพละกำลังมากพอ ซึ่งยิ่งพินิจตัวสกอร์เซซีในวัย 80 และหนังที่อลังการเช่นนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าเหตุใดโลกจึงยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งมาหลายยุคหลายสมัย อย่างที่ไม่อาจหาใครมาวัดรอยเท้าได้

Tags: , , , , , , ,