ความหลงตัวเองเป็นบุคลิกเฉพาะตนในบรรดาผู้นำเผด็จการ ผู้นำประเภทนี้มักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด หลงระเริงในอำนาจ ไม่ฟังคนรอบข้าง และมักจะลำเลิกบุญคุณตลอดเวลา ราวกับว่าขาดตัวเองไม่ได้ และถ้าไม่มีตัวเอง องค์กรจะล่มสลาย 

อันที่จริง มีศัพท์เฉพาะที่เรียกอาการดังกล่าวคือคำว่า Narcissism หรือการให้ความสำคัญกับตัวเองอย่างยิ่งยวด ชนิดที่ว่า ‘เก่ง’ และ ‘ยิ่งใหญ่’ อยู่คนเดียว ในอดีต มีความเชื่อว่าอาการนี้ เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ทำให้คิดว่าคนเหล่านี้เหนือกว่าคนอื่นจนทำให้ความมั่นใจในตัวเองพุ่งถึงขีดสุด แต่ก็มีความเชื่ออีกรูปแบบที่มองว่าพวกที่หลงตัวเองไม่ได้รักตัวเอง ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งเหนือกว่าคนอื่น แต่มักเกลียดตัวเอง และรู้สึกไร้ค่า

“เป็นเวลานานแล้วที่ไม่ชัดเจนว่าทำไมคนหลงตัวเองถึงมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พูดชมตัวเองบ่อยๆ และให้ความสนใจกับคนอื่นๆ น้อยกว่าให้ความสนใจในตัวเอง สิ่งนี้แพร่หลายมากในยุคของโซเชียลมีเดีย เป็นพฤติกรรมที่หลายเรียกว่า Flexing (การอวดไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างฟุ่มเฟือย)”

ปาสคาล วอลลิช (Pascal Wallisch) รองศาสตราจารย์ด้านคลินิกในภาควิชาจิตวิทยาและศูนย์วิทยาศาสตร์ข้อมูลของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก รวมถึงหนึ่งในผู้เขียนในวารสาร Personality and Individual Differences ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา

“คนหลงตัวเองเหล่านี้หาได้รู้สึกว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น หากแต่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มั่นคง และการพูดถึงตัวเองในแง่ดีบ่อยๆ คือการรับมือกับความไร้ค่าของพวกเขา”

แมรี โควัลซิก (Mary Kowalchyk) ผู้วิจัยอีกคนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าบุคลิกภาพหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองดีอยู่คนเดียวนั้นเป็นพฤติกรรมชดเชย และกลบเกลื่อนความรู้สึกไร้ค่าของบุคคลนั้นๆ

“คนหลงตัวเองเป็นคนที่รู้สึกไม่มั่นคง พวกเขาจะรับมือกับความไม่มั่นคงเหล่านั้นด้วยการอวดตัวเอง แน่นอนว่า สิ่งนี้จะทำให้ในระยะยาว คนจะชอบพวกเขาน้อยลง และทำให้คนเหล่านี้ ‘เปราะ’ มากขึ้นไปอีก ซึ่งจะนำไปสู่วงจรของการอวดตัวเองแบบไม่รู้จบ”

การศึกษาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Individual Differences พบว่า จากการทดสอบนักศึกษา 300 คน แบ่งออกเป็นผู้หญิง 60% และผู้ชาย 40% ที่มีอายุเฉลี่ยราว 20 ปีนั้น พบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมโอ้อวด หลงตัวเอง มักระบุในแบบสอบถามว่ารู้สึกไร้ค่า ไม่มั่นคง มีความรู้สึกผิดในใจอยู่เสมอ

กล่าวสำหรับอาการหลงตัวเองนั้น อาจตรวจสอบ ได้ดังนี้

  • มีความรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญสูงเกินควรและต้องการการชื่นชมอย่างต่อเนื่องมากเกินไป
  • คาดหวังที่จะได้รับการยอมรับว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น
  • ทำตัวเย่อหยิ่ง คุยโม้ และอวดดี
  • อิจฉาคนอื่นและเชื่อว่าคนอื่นอิจฉาตัวเอง

และในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้จะกระฟัดกระเฟียดเสมอเมื่อได้รับความสนใจจากผู้อื่นน้อยเกินไป มีปัญหาในการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมตนเอง รวมถึงมักจะตอบโต้ด้วยอาการ ฉุน โกรธ และพยายามพูดถึงคนอื่นในเชิงหยามเหยียด 

“ลองคิดดูสิ ถ้าไม่มีผม วันนี้จะเป็นอย่างไร”

“ลองย้อนกลับไปดูสิ สมัย… เขาแย่กว่าผมตั้งเยอะ” 

นี่คือตัวอย่างของคนหลงตัวเอง ที่เกินเยียวยาและเกินรักษา… แต่เรื่องจะซับซ้อนกว่านั้น หากคนหลงตัวเองลักษณะนี้เป็น ‘ผู้นำ’  

ผู้นำหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Leadership เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการบริหารงานที่สนใจแต่ตัวเองเพียงคนเดียว ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความเย่อหยิ่ง หมกมุ่นในตัวเอง และต้องการความชื่นชมเป็นการส่วนตัวเสมอ

การศึกษาอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin ชี้ให้เห็นว่า เมื่อองค์กรไม่มีผู้นำ หรือหาผู้นำไม่ได้ สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ คนหลงตัวเอง และคิดว่าตัวเองทำได้ เป็นศูนย์กลางของทุกอย่างมักจะขึ้นมามีอำนาจ และควบคุมคนที่ไร้ผู้นำ 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ องค์กรที่หลงตัวเอง… ผู้นำที่หลงตัวเองแบบนี้จะเลือกคนประจบสอพลอขึ้นมาเป็นบริวารใกล้ชิดในทีมผู้บริหารระดับสูง เพื่อสนับสนุนพฤติกรรมหลงตัวเองเหล่านี้ จริงอยู่ ผู้นำประเภทนี้อาจประสบความสำเร็จในบางเรื่อง อาจทำให้องค์กรเจริญงอกเงยได้ แต่สิ่งที่รู้กันก็คือ มีองค์กรน้อยมากที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวภายใต้การนำของผู้บริหารประเภทนี้ 

เนวิลล์ ไซมิงตัน (Neville Symington) นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ บอกว่า ความแตกต่างระหว่าง ‘องค์กรที่ดี’ กับ ‘องค์กรที่เป็นพิษ’ ก็คือความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อแยกพวก ‘หลงตัวเอง’ ออกมา ไม่ให้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงให้ได้ ก่อนที่คนเหล่านี้จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

เพราะฉะนั้น อย่าลืมเช็กเพื่อนร่วมงานของคุณ กระทั่งหัวหน้าของคุณ ว่าพวกเขาหลงตัวเองอย่างรุนแรง หรือมีแต่พวกประจบสอพลอคนหลงตัวเองอยู่แถวหน้า เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือไม่

หากพบแต่คนเหล่านี้ ก็จงเตือนเขาเสีย หรือถ้าเตือนไม่ได้ ก็เอาตัวเองออกห่างจากคนประเภทนี้ ปล่อยให้พวกเขาอวยกันเอง ครื้นเครงในกะลา

ชีวิตมีค่ามากกว่านั้น อย่าไปเสียเวลากับคนประเภทนี้เลย..

ที่มา 

https://www.nyu.edu/about/news-publications/news/2021/march/narcissism-driven-by-insecurity–not-grandiose-sense-of-self–ne.html

https://www.psychologytoday.com/us/blog/communication-success/201507/10-signs-you-re-dating-narcissist

https://www.washington.edu/news/2022/06/01/narcissistic-bosses-stymie-knowledge-flow-cooperation-inside-organizations/

Tags: , , ,