ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันส่วนใหญ่มีอายุหลายร้อยปีเป็นอย่างน้อย ในช่วงเวลาดังกล่าว ศัพท์ก็อาจวิวัฒนาการไปทั้งในแง่ความหมาย และในแง่ตัวสะกด บางครั้งหน้าตาเปลี่ยนไปจนเรามองรากเดิมไม่เห็น หรือถึงแม้ดูออกว่าคำนั้นมีรากอะไร ความหมายของคำนั้นก็อาจวิวัฒนาการไปจนเราเชื่อมโยงไม่ออกว่าเกี่ยวกับรากนั้นๆ อย่างไร

สัปดาห์นี้ เราจะไปนับเลข 1-7 กับเจ็ดคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่มีตัวเลขซ่อนอยู่อย่างแนบเนียน

Onion

คำว่า onion ที่แปลว่า หัวหอม ภาษาอังกฤษยืมมาจาก oignon ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมาจาก unionem ในภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง คำนี้หากแปลตามตัวจะหมายถึง หนึ่ง ความเป็นหนึ่งเดียว

ที่เลขหนึ่งมาโยงกับหัวหอม บ้างก็บอกว่าเพราะหัวหอมมีเนื้อชั้นหุ้มหลายชั้น แต่ทั้งหมดแล้วรวมเป็นหัวหอมลูกเดียว บ้างก็บอกว่าเพราะ unionem แปลว่า ไข่มุก ได้ด้วย ชาวไร่หัวหอมเห็นผลผลิตตัวเองแล้วหน้าตาก็มีความคล้ายคลึงเลยเรียกหัวหอมว่า unionem เสียเลย

คำว่า onion นับเป็นแฝดคนละคู่กับคำว่า union เพราะมาจาก unionem ทั้งคู่ ความหมายของ union จึงเกี่ยวกับอะไรที่มารวมเป็นหนึ่งคล้ายๆ กัน เช่น สหภาพ (คนที่ประกอบอาชีพเดียวกันมารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว) หรือ การสมรส (คู่สมรสรวมกันเป็นหนึ่งเดียว)

Balance

คำว่า balance นี้หน้าตาผ่านมีดหมอมาพอควร หากสืบสาวกลับไปจะพบว่าดั้งเดิมแล้วที่มาคือคำว่า bilanx ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจาก bi- หมายถึง สอง และ lanx หมายถึง จาน

ที่จานสองใบมาเกี่ยวกับคำว่า balance ได้ก็เพราะแรกเริ่มเดิมที คำว่า balance หมายถึง ตาชั่ง ในที่นี้ไม่ใช่ตาชั่งตามเขียงหมูที่มีจานตั้งอยู่บนแท่นวัด แต่เป็นชนิดที่มีจานสองข้างแบบที่เห็นในสัญลักษณ์ราศีตุลย์หรือตามร้านขายยาจีนสมัยโบราณ

ด้วยเหตุนี้ คำว่า balance จึงมีเลขสองซ่อนอยู่ เป็นเหตุให้ความหมายต่างๆ ของคำว่า balance มักเกี่ยวกับอะไรที่มีสองด้าน เช่น เมื่อใช้ balance ที่แปลว่า สมดุล (เช่น work-life balance ความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต) ก็หมายถึงสองฝั่งมีน้ำหนักหรือความสำคัญพอกัน หรือหากหมายถึง การทรงตัว (เช่น He lost his balance and fell. เขาทรงตัวไม่อยู่แล้วล้ม) ก็เกี่ยวกับการคงน้ำหนักร่างกายสองฝั่งให้เท่ากันและตั้งตรงอยู่ได้นั่นเอง

Travel

คำว่า travel ที่แปลว่า เดินทาง ในปัจจุบันนี้ ว่ากันว่ามาจากคำว่า trepalium หรือ tripalium ในภาษาละติน มาจาก tri ที่แปลว่า สาม (อย่างที่พบในคำว่า triangle ที่แปลว่าสามเหลี่ยม) รวมกับ palus ที่แปลว่า เสาหรือแท่งลิ่ม (อย่างที่พบในคำว่า impale ที่แปลว่า แทงหรือเสียบ) tripalium นี้เป็นชื่อเรียกอุปกรณ์ทรมานในสมัยก่อนชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้สามท่อนมาผูกขัดกันแล้วปักลงพื้น ไว้ขึงทาสหรือนักโทษเพื่อทรมานหรือเผาทั้งเป็น

ที่อุปกรณ์ทรมานนี้มาเกี่ยวกับการเดินทางได้ก็เพราะการเดินทางในสมัยก่อนนั้นยากลำบากมาก ชนิดที่รถไฟฟ้าเสียและรอรถเมล์นานเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไปเลย แต่ละที่ห่างกันมาก จะไปไหนก็ต้องเดินเท้า หรือไม่ก็ใช้ม้าใช้เรือ ถนนก็ไม่เรียบสวยเหมือนทุกวันนี้ ค่ำไหนก็ต้องนอนนั่น ความทรมานจึงถูกเชื่อมโยงกับการเดินทาง ทำให้คำว่า trepalium เพี้ยนเสียงเกิดเป็นคำว่า travel ในที่สุด

ทั้งนี้ travel ยังมีแฝดคนละฝาอีกคำคือ travail หมายถึง ความทรมาน การตรากตรำ หรือ การทำงานใช้แรงงาน ในสมัยก่อน ผู้หญิงที่กำลังคลอดบุตร ก็เรียกว่า a woman in travail เพราะกำลังเจ็บปวดทรมานอยู่นั่นเอง

Squad

คำนี้หลายคนอาจรู้จักจากหนังเรื่อง Suicide Squad ปกติใช้หมายถึง หมู่ทหารแบบหมู่เล็กๆ มีทหารสัก 10 คน หรือไม่ก็ใช้หมายถึง กองกำลัง เช่น drug squad ก็จะหมายถึง หน่วยปราบปรามยาเสพติด หรือจะใช้แบบไม่เป็นทางการ หมายถึง กลุ่มก๊วน ก็ได้ เช่น แก๊งเพื่อนสาวของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นต้น

ภาษาอังกฤษยืมคำว่า squad มาจาก esquade ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งสืบย้อนกลับไปแล้วมาจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า ทำให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบจาก ex- ที่แปลว่า ออก และ quadrare ที่แปลว่า ทำให้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (quadrare นี้รากเดียวกับคำว่า quarter ที่หมายถึง หนึ่งในสี่ และ quadruple ที่แปลว่า เพิ่มเป็นสี่เท่า ด้วย)

ที่กองกำลังมาเกี่ยวกับสี่เหลี่ยมได้ก็เพราะแต่ก่อนนิยมจัดกองกำลังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเวลาที่ต้องรบกับพลทหารม้าหรือกองกำลังที่เหนือกว่า การจัดไพร่พลเป็นรูปทรงแบบนี้เลยกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกหมู่ทหารนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนี้ คำว่า squad มีแฝดคนละฝาที่มาจาก ex- รวมกับ quadrare เหมือนกัน นั่นคือคำว่า square ที่แปลว่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่เดิมใช้เรียกไม้ฉากของช่างไม้ ต่อมาจึงมาใช้เรียกชื่อรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เท่ากันทุกด้าน ก่อนจะนำไปใช้บรรยายพื้นที่ที่มีถนนล้อมสี่ด้านหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น the Red Square หรือ Times Square เป็นต้น

Punch

น้ำพั้นช์ที่เราดื่มกันทุกวันนี้แม้จะมีชื่อแลดูเป็นภาษาอังกฤษ แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เครื่องดื่มของทางตะวันตกแต่อย่างใด ว่ากันว่าเป็นเครื่องดื่มมีต้นกำเนิดจากอินเดีย แล้วเผยแพร่ไปสู่โลกตะวันตกในสมัยที่อังกฤษเข้ามายึดครอง

คำว่า punch นี้ว่ากันว่ามาจากคำว่า pañca ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ห้า เป็นญาติๆ กับคำในภาษาไทย อย่าง ปัญจวัคคีย์ (สาวกห้ารูปของพระพุทธเจ้า) และ เบญจรงค์ (แม่สีทั้งห้าที่ใช้ในชามหรือถ้วย) และคำในภาษาอังกฤษอย่าง pentagon (รูปห้าเหลี่ยม) เป็นต้น

ส่วนที่เครื่องดื่มนี้มาเกี่ยวกับเลขห้าก็เพราะแต่เดิมเครื่องนี้ประกอบด้วยส่วนผสมห้าชนิด ได้แก่ เหล้า น้ำ น้ำมะนาว น้ำตาล และเครื่องเทศ นั่นเอง

Semester

คำว่า semester ในภาษาไทยมักใช้คำว่า ภาคเรียน หรือถ้าเรียกทับศัพท์ก็คือ เทอม โดยปกติปัจจุบันภาคเรียนหนึ่งยาวประมาณ 16-18 สัปดาห์ หรือราวๆ สี่เดือน แต่ถ้าสืบสาวไปถึงรากของคำนี้แล้ว จะพบว่าเทอมหนึ่งควรจะยาวหกเดือนต่างหาก

นั่นก็เพราะคำนี้มาจากคำว่า semestris ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจาก sex ที่แปลว่า หก (เช่นที่เจอในคำว่า sextet กลุ่มนักดนตรีหกคน หรือ sextuplet แฝดหก) รวมกับคำว่า mensis หมายถึง เดือน (เช่นที่เจอในคำว่า menstruation หรือ menses ที่หมายถึง ประจำเดือน) ได้ความหมายรวมว่า หกเดือน

ที่เรานำคำว่า semester มาใช้ทั้งที่ภาคเรียนเรายาวไม่ถึงหกเดือนก็เพราะภาษาอังกฤษรับคำนี้มาใช้จากเยอรมนี ซึ่งหนึ่งปีการศึกษาในมหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็นสองภาคเรียน ภาคเรียนละหกเดือนนั่นเอง

September

ชื่อเดือนกันยายนนี้ อันที่จริงแล้วมาจากราก septem ในภาษาละตินที่หมายถึง เจ็ด ที่เลขเจ็ดไปอยู่ในชื่อเดือนเก้าได้ก็เพราะแต่เดิมแล้วปฏิทินของชาวโรมันโบราณมีแค่สิบเดือนและเริ่มต้นที่เดือนมีนาคม พอนับไล่ไปแล้วเดือนกันยายนก็จะเป็นเดือนที่เจ็ดพอดี

ต่อมาภายหลังมีการปรับปฏิทิน มีเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น กันยายนที่เคยเป็นเดือนที่เจ็ดเลยร่นกลายเป็นเดือนที่เก้า แต่เนื่องจากชื่อไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย จึงทำให้ชื่อเดือนเก้ามีเลขเจ็ดอยู่

อันที่จริงแล้ว เดือนที่ตามหลังเดือนกันยายนทั้งหมดก็เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน October ที่เคยเป็นเดือนแปด (octo หมายถึง แปด เป็นญาติกับคำว่า octopus ที่แปลว่า หมึกยักษ์ ที่มีแปดขา) ก็กลายไปเป็นเดือนสิบ November (novem หมายถึง เก้า รากเดียวกับ นว หรือ นพ เช่นในคำว่า นพรัตน์ หรือแก้วเก้าประการ) ก็เคลื่อนไปเป็นเดือนสิบเอ็ด ส่วน December (decem หมายถึง สิบ รากเดียวกับ decade ที่หมายถึง ทศวรรษหรือสิบปี) ก็ถูกผลักไปเป็นเดือนสิบสองนั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.ท์
  • Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Stockwell, Robert, and Donka Minkova. English Words: History and Structure. Cambridge University Press: Cambridge, 2001.
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
  • Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: , , ,