เคส ราเดอ (H.E. Mr. Kees Pieter Rade) มาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีก่อน แบ็กแพ็กเกอร์หนุ่มร่างสูงจากเนเธอร์แลนด์สะพายเป้ขึ้นเหนือไปเที่ยวเชียงใหม่และเชียงราย ก่อนจะลงใต้แล้วต่อเรือไปเกาะสมุยในยุคที่ยังไม่มีเที่ยวบินไปลงที่นั่น

หลังจากทริปนั้น เขากลับมาเมืองไทยอีกครั้งเมื่อปี 2561 ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อท่องเที่ยว แต่เพื่อทำหน้าที่เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

นิคารากัวและบราซิลคือสองประเทศก่อนหน้าที่เขาเคยประจำการในฐานะเอกอัครราชทูต แต่นอกเหนือจากนี้ เคสยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตอาร์กติก (Arctic Ambassador) คนแรกของเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศในการรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมบริเวณอาร์กติกและแอนตาร์กติกโดยเฉพาะ

ทั้งตำแหน่งทางการทูตและความรับผิดชอบที่เชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ ทั้งหมดเริ่มต้นจากความตั้งใจของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีเป้าหมายอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นผ่านงานที่ตัวเองทำ

คุณเริ่มคิดตอนไหนว่าอยากเป็นนักการทูต

ผมไม่ใช่เด็กที่คิดไว้ตั้งแต่สี่ขวบว่าโตขึ้นจะต้องเป็นทูตให้ได้ ผมมาคิดเรื่องอาชีพก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยในอัมสเตอร์ดัม สาขาที่เรียนคือกฎหมาย โดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ช่วงเรียนจบผมคิดไว้ว่าถ้าไม่เป็นทนายก็อยากทำงานอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายๆ ประเทศ เพราะตั้งธงไว้ในใจว่าอยากจะทำงานที่เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ซึ่งถ้าเป็นทนาย เราก็สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้มีรายได้น้อยและอาจเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างในสังคมได้

แต่ในขณะเดียวกัน การทำงานที่ต้องติดต่อสัมพันธ์กับหลายๆ ประเทศที่ต้องใช้ทักษะการเจรจาเพื่อการตกลงร่วมกันและนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ก็เป็นอีกเรื่องที่ความรู้ความสามารถของเราน่าจะทำได้ บวกกับประสบการณ์ของตัวเองที่เติบโตที่บรัสเซลส์อยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าการได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ฟังดูน่าสนใจ สุดท้ายจึงตัดสินใจสมัครงานที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งก็โชคดีได้งานทั้งสองที่ และเลือกกระทรวงการต่างประเทศในที่สุด แต่ระหว่างที่รอผลสมัครงาน ผมก็ทำงานให้กับองค์กรเอ็นจีโอในอัมสเตอร์ดัมที่ทำเรื่องของความเท่าเทียมกันในระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเข้าไปทำงานจริงๆ แล้ว คุณคิดว่าตัวเองได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงอะไรตามที่ตั้งใจไว้ไหม

เป็นคำถามที่ตอบยากเหมือนกันนะ เพราะผมเริ่มงานด้วยความตั้งใจเหมือนอย่างที่เล่าก็จริง แต่ไม่ได้มีความคาดหวังชัดเจนว่างานที่รับผิดชอบจะต้องเป็นแบบไหน แต่เอาเป็นว่าช่วงที่ประจำอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ มีช่วงที่ผมต้องรับผิดชอบแผนกที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้เงินเพื่อการพัฒนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณจาก UN และ IFIs (International Financial Institutions) ที่จะมอบให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา อย่างเช่นถ้าเราจะจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือนิคารากัว ซึ่งเม็ดเงินบริจาคในตอนนั้นคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณที่ใช้ในประเทศเขาแต่ละปี ผมจะต้องทำให้เห็นว่านิคารากัวตรงกับเงื่อนไขในการใช้เงินนี้อย่างไร เงินที่ได้จะถูกนำไปใช้เพื่อผู้มีรายได้น้อยในสังคมนั้นจริงๆ ไม่ใช่เอาไปเพื่อช่วยคนที่มีเงินอยู่แล้วที่นั่น เพราะเรื่องแบบนี้ถือว่าสำคัญทั้งในมุมมองขององค์กรและประเทศที่เป็นผู้บริจาค และประเทศผู้รับบริจาค

การได้มีโอกาสเป็นคนที่เจรจาระหว่างระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานที่บริจาคทำให้รู้สึกว่า หน้าที่การงานของเราสามารถช่วยเน้นย้ำปัญหาและความจำเป็นในการช่วยเหลือคนจนได้ ซึ่งเอาเข้าจริงผมรู้สึกว่าไม่ใช่แค่ประเด็นนี้เท่านั้นที่เรามีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นไหน ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญและเราพยายามที่จะสื่อสารถึงสิ่งนั้น ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม

จากประวัติการทำงานแล้ว ดูเหมือนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกประเด็นที่คุณให้น้ำหนักไม่น้อย

ใช่ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าสำคัญและควรพูดถึงมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจสมัครทำงานในตำแหน่งของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องดูแลเรื่องนี้โดยตรง แผนกที่ผมสมัครเป็นไดเรกเตอร์ในตอนนั้นเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องสภาพภูมิอากาศ, น้ำ, ความมั่นคงทางอาหาร, พลังงาน, ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งานของผมแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณที่จะใช้ในเรื่องนี้ ส่วนที่สองคือการเจรจาและทำงานร่วมกับองค์กรสากลต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืน ยิ่งทำเรื่องนี้และยิ่งได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญมากแค่ไหนและสำคัญในระดับที่เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างในเรื่องนี้ ไม่ใช่รอต่อไปอีก 50 ปีหรือ 100 ปีแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง เพราะถ้ารอให้ถึงตอนนั้น มันอาจจะสายไปแล้วก็ได้ คนรุ่นผมเองคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่หรอก แต่สำหรับคนรุ่นลูกของผม พวกเขาเป็นเจเนอเรชันที่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม

นอกจากดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง คุณยังเคยดำรงตำแหน่งทูตอาร์กติกคนแรกของเนเธอร์แลนด์ หน้าที่ที่มาพร้อมกับตำแหน่งนี้คืออะไร

ที่จริงแล้ว ช่วงที่ผมดูแลส่วนงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ หนึ่งในประเด็นที่อยู่ในความรับผิดชอบของแผนกเราด้วยก็คือนโยบายที่เกี่ยวกับบริเวณอาร์กติกและแอนตาร์กติกา ซึ่งสำหรับเนเธอร์แลนด์แล้ว ความสนใจในเรื่องอาร์กติกสืบย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 17 ยุคที่ชาวดัตช์ออกสำรวจและค้นพบดินแดนใหม่ๆ จากการเดินเรือ หนึ่งในดินแดนที่ค้นพบโดยกัปตันเรือชาวดัตช์ก็คือ Spitsbergen ที่อยู่ทางเหนือของนอร์เวย์ ความสนใจในอาณาบริเวณนี้ของเนเธอร์แลนด์ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยของเราหลายแห่งมีวิชาที่ว่าด้วยเรื่องอาร์กติกโดยเฉพาะ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศเองก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และส่งเสริมให้เข้าร่วมการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพภูมิประเทศที่ทำให้เนเธอร์แลนด์จัดเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลด้วย

เพื่อทำให้ภารกิจด้านนี้ชัดเจนขึ้น รัฐบาลจึงมองว่า ตำแหน่งทูตอาร์กติกจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะองค์กรอื่นๆ หรือประเทศต่างๆ จะรู้ทันทีว่าใครเป็นตัวหลักที่ต้องติดต่อเมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับอาร์กติก ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของผมอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีตำแหน่งนี้เสียอีก แต่เมื่อมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก็ช่วยให้คนเห็นภาพการทำงานมากขึ้น

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทูตอาร์กติก คุณได้ไปเยือนอาร์กติกกี่ครั้ง

ผมไปที่นั่นทั้งหมดสามครั้ง อย่างที่รู้กันว่าที่ Spitsbergen อากาศหนาวมาก สภาพภูมิอากาศทำให้มีประชากรอยู่ที่นั่นเพียง 2,000-3,000 คน และมีหมีขั้วโลกประมาณ 3,000 ตัว ถ้าคุณไปที่นั่นและจะออกจากเขตตัวเมือง คุณจะเจอกับป้ายที่บอกว่า ถ้าออกจากเขตนี้ไป ให้พกปืนไรเฟิล เพื่อป้องกันตัวจากหมีขั้วโลก

ทางตอนเหนือของ Spitsbergen มีเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่า Ny-Ålesund เมืองนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยที่มีคนอยู่ราวๆ 40 คนในช่วงฤดูหนาว และเพิ่มเป็นร้อยกว่าคนในช่วงฤดูร้อน ที่ศูนย์วิจัยนั้น ผมได้คุยกับนักวิจัยบางคนที่ทำงานที่นี่มาตั้งแต่ยังเป็นนักวิจัยอายุน้อย พวกเขาเล่าให้ฟังว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับตอนที่มาถึงครั้งแรกเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน และนอกจากคำบอกเล่าของพวกเขา ผมยังได้เห็นธารน้ำแข็งในระยะที่ใกล้พอจะได้ยินเสียงธารน้ำแข็งแตกตัว ในความทรงจำของผม เสียงมันคล้ายๆ กับเสียงฟ้าผ่า พร้อมกับที่ได้เห็นน้ำแข็งตกลงไปในทะเล การเดินทางไปที่นั่นคือการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อนแบบเป็นรูปธรรมด้วยตาตัวเอง และเป็นภาพที่ฝังอยู่ในความรู้สึก สิ่งที่ได้เห็นมันยากที่จะทำให้ผมมองโลกในแง่ดีได้เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

พอได้เห็นได้เจอภาพเหล่านี้ด้วยตัวเอง มีส่วนทำให้คุณรู้สึกว่ายิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องนี้หรือไม่

มีส่วนนะ แต่ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ไม่ใช่นักวิจัย แต่ผมอ่านสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยถ่ายทอดมา และเมื่อประกอบกับประสบการณ์ตรงของตัวเอง มันทำให้รู้สึกเหลือเชื่อที่ยังมีคนบางส่วนที่คิดว่าเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่เกิดขึ้นจริง เรายังมีนักวิจัยอีก 3 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันจำนวนมาก เรายังมีนักการเมืองในโลกที่ปฏิเสธเรื่องนี้และคิดว่าการใช้ถ่านหินไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะฉะนั้นยิ่งรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องบอกต่อเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรู้ในวงกว้าง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อชะลอความรุนแรงของปัญหานี้

ที่เนเธอร์แลนด์ การพูดคุยกันถึงประเด็นเหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาไหม

ถือว่าธรรมดานะ รวมถึงการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วย อย่างเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ กลุ่มนักรณรงค์ชาวเนเธอร์แลนด์ลงชื่อร่วมกันเกือบ 900 คน เพื่อฟ้องรัฐบาลในข้อหาว่ารัฐบาลยังพยายามน้อยเกินไปในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วศาลตัดสินให้รัฐบาลแพ้ และต้องเร่งลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 25% ภายในปี 2020 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 1990

หรืออีกกรณีที่มีประชาชนลงชื่อร่วมกันมากกว่า 13,000 คน เพื่อเรียกร้องให้ Shell ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสาธารณะสำหรับคนที่นั่น

หลังจากอยู่ประเทศไทยมาได้ปีกว่า คุณมองว่าประเทศไทยพูดถึงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตัดสินว่าคนไทยพูดเรื่องนี้มากพอหรือยัง แต่เท่าที่เห็นก็คิดว่าในเมืองไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้นะ และก็พูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย บ่อยครั้ง การพูดถึงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของการตั้งคำถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งนอกจากการพูดคุยแล้ว ถ้าบวกความพยายามที่มากขึ้นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องดีมากๆ ยกตัวอย่างเรื่องถุงพลาสติกที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและเห็นได้ชัด หลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก แม้แต่กัมพูชาที่สภาวะเศรษฐกิจยังตามหลังไทยอยู่มาก ที่นั่นถ้าลูกค้าต้องการถุงพลาสติกก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งถ้ากัมพูชาทำได้ ผมเชื่อว่าเมืองไทยก็น่าจะทำได้ เช่นกัน ถ้าทุกคนพยายามให้มากขึ้นในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การปรับตัว

การรับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างจากหน้าที่ทางการทูตอื่นๆ ของคุณอย่างไร

ถ้าในส่วนของการบริหารทีม ไม่ว่าจะทำงานส่วนไหนหรือแม้แต่ทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานทางการทูต หน้าที่ในการบริหารก็เหมือนกัน นั่นคือการทำให้ทุกคนทำงานตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่และมีความสุข แม้ว่ารายละเอียดปลีกย่อยจะต่างกัน ที่ต้องเน้นเรื่องความสุขด้วยเพราะเมื่อคนทำงานอย่างมีความสุข ก็จะทำให้ผลงานออกมาดีขึ้น

แต่การจับงานที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมันแตกต่างจากงานอื่นๆ ตรงที่เราไม่ได้ทำแค่เพราะมันเป็นหน้าที่ แต่เราทำเพราะรู้สึกกับมันจริงๆ และมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ อีกอย่างหนึ่งก็คือการตระหนักถึงเรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ติดตัวผมมา แม้ว่าวาระอย่างเป็นทางการจะหมดลง มันกลายเป็นเหมือนพันธกิจส่วนตัวที่เราจะต้องใส่เรื่องนี้ลงไปเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่อื่นๆ ที่ทำ ซึ่งรวมถึงหน้าที่ของการเป็นทูตประจำประเทศไทยด้วย

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยจัดงาน Dutch Sustainability Days ขึ้นในปีนี้ด้วยหรือเปล่า

ใช่ ส่วนหนึ่งก็เพราะความยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ คือเรื่องที่ผมสนใจและให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ข้อดีของการทำงานในประเทศไทยก็คือเรามีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลาได้ เมื่อเทียบกับบางประเทศที่มีประเด็นต่างๆ เข้ามาให้รับมือ จัดการ และแก้ไขกันแบบรายวัน ประกอบกับเรื่องความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของเนเธอร์แลนด์ เพราะเราเชื่อว่า แม้การปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็จะให้ประโยชน์กับมนุษย์ในระยะยาวที่ควบคู่ไปกับผลกำไร และทางกระทรวงการต่างประเทศเองก็แนะนำให้สถานทูตเนเธอร์แลนด์ทั่วโลกให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วย เราจึงคิดว่า Dutch Sustainability Days ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆ ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ น่าจะมีส่วนทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นและทำให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นในหลายบริบทของสังคม

หนึ่งในกิจกรรมที่ผมเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนกันทางความคิดในประเด็นนี้มากที่สุด น่าจะเป็นงาน Dutch-Thai Sustainability Conference ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม เพราะเราเชิญวิทยากรจากเนเธอร์แลนด์มาแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น Jan Peter Balkenende อดีตนายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ที่ปัจจุบันเป็นตัวหลักของ Dutch Sustainable Growth Coalition หรือ Herman Huisman ที่เป็น Ambassador of the Holland Circular Hotspot เราอยากให้ข้อมูลและการพูดคุยในวันนั้นนำไปสู่การค้นพบวิธีที่เหมาะสมของแต่ละคนหรือแต่ละธุรกิจ

แต่กิจกรรมอื่นๆ ก็สำคัญแตกต่างกันไป อย่างเช่นกิจกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องปศุสัตว์ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่คนสนใจในวงกว้าง แต่ก็มีประโยชน์สำหรับคนในอุตสาหกรรมนั้น เพราะประเทศไทยมีปริมาณการผลิตค่อนข้างสูง การทำให้ระบบการผลิตยั่งยืนขึ้นก็เท่ากับลดปริมาณการใช้พลังงานหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตลงได้ไม่น้อย หรืออย่าง Dutch Water Bootcamp ก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับทั้งไทยและเนเธอร์แลนด์

อีกกิจกรรมคือ Sustainable Culinary Dutch ที่เราจับมือกับร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำอีก 8 แห่ง อย่างเช่นร้านอาหาร Savelberg Thailand, โรงแรม Okura Prestige และโรงแรม Boulevard Bangkok ที่เสิร์ฟเมนูพิเศษที่ทำจากวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ตลอดช่วงที่เราจัดงาน Dutch Sustainability Days อีกด้วย

นอกจากคำว่า ความยั่งยืน แล้ว อีกคำที่ได้ยินมากขึ้นทุกวันนี้และมักจะได้ยินคู่กันก็คือคำว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ที่เนเธอร์แลนด์มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมานานแค่ไหน

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว แต่คำนี้และเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาของประเทศมาตั้งแต่ปี 2559 ดังนั้น ถ้าพูดกันตามตรงก็ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนเนเธอร์แลนด์เหมือนกัน การแนะนำแนวคิดนี้ให้กับคนเนเธอร์แลนด์จึงเป็นความพยายามให้คนเข้าใจคอนเซปต์ว่า ในวงจรการผลิตนั้น ไม่ควรจะเป็นการสร้าง ใช้ แล้วก็ทิ้ง แต่ควรจะเป็นการสร้าง การใช้ และการนำกลับมาใช้อีกครั้ง หรือการรีไซเคิล

เมื่อนับเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีวิธีการอย่างไรที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้คนในประเทศเข้าใจ

หนึ่งในกลยุทธ์ที่มาพร้อมกับเรื่องการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ประกาศเมื่อปี 2559 ก็คือการอธิบายให้คนเข้าใจเรื่องนี้ผ่านการศึกษา เพราะวิธีที่จะเปลี่ยนความคิดของคนหรือปลูกฝังความเข้าใจใหม่ๆ ต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐาน และจุดนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เองยังต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาไปถึงจุดที่ต้องการ ซึ่งถ้าทำได้ มันก็จะกลายเป็นนิสัยของคน อย่างเช่นเรื่องการแยกขยะที่กลายเป็นพฤติกรรมปกติของคนดัตช์ไปแล้ว เราจะรู้สึกแปลกๆ เวลาที่ต้องทิ้งขยะอย่างขวดพลาสติกรวมกันกับขยะสด เพราะเรารู้ว่าถ้าเราแยกขยะอย่างถูกต้องที่เนเธอร์แลนด์ ขยะก็จะถูกนำไปรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์ต่อได้ตามประเภทของมัน

ในชีวิตส่วนตัวของคุณมีอะไรที่สอดคล้องกับเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียนบ้างหรือเปล่า

มีบ้างนะ แต่ผมรู้สึกว่ายังไม่มากพอ ยังอยากทำให้ได้มากกว่านี้ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็อย่างเรื่องการแยกขยะ คือเราแยกขยะพลาสติก กระดาษ และขยะสดอยู่แล้ว และผมยังมีสวนออร์แกนิกเล็กๆ ของตัวเองด้วย อยู่ในบริเวณบ้านพักทูตนี่ละ บางครั้งแม่ครัวของเราก็ทำอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่เก็บจากสวนนี้

อีกสิ่งที่ผมสังเกตตัวเองก็คือผมกินเนื้อวัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน มันไม่ได้มาจากการบอกตัวเองว่าต้องกินน้อยลง ต้องเลิกสั่งเนื้อวัวเวลาไปตามร้านอาหาร แต่มันน่าจะมาจากการที่เราเข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตและรู้ว่ากว่าจะมาเป็นเนื้อวัวแต่ละชิ้นแต่ละจานนั้น ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว กระบวนการผลิตของเนื้อไก่จะส่งผลกระทบน้อยกว่า พอเรื่องนี้มันอยู่ในจิตสำนึกของเราตลอดเวลาแล้ว พฤติกรรมก็เลยเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ

กับลูกชายที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรีเร็วๆ นี้ คุณคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเขาบ้างไหม

คุยบ้างนะ แต่ไม่ได้คุยบ่อย เพราะช่วงนี้ลูกเรียนอยู่ที่อเมริกา จังหวะในการคุยกันเรื่องนี้ตรงๆ ก็เลยมีไม่มาก แต่ก่อนหน้านี้ผมได้เห็นเขาทำโปรเจ็กต์ส่งไปประกวดงานหนึ่ง แล้วก็ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้รับเลือกให้ไปพรีเซนต์โปรเจ็กต์ที่ยุโรป เขาทำเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันทำให้เห็นว่าถึงเขาจะไม่ได้พูดกับเราตรงๆ ว่าสนใจ แต่สิ่งที่เขาทำก็ทำให้เห็นว่าเขาใส่ใจกับเรื่องนี้เช่นกัน

คุณเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับ Dutch Sustainability Days ที่ทำอยู่บ้างไหม

ยังก่อน เพราะช่วงนี้เขากำลังทำไฟนอลโปรเจ็กต์ส่ง เดดไลน์วันเดียวกับวันสุดท้ายที่เราจัดกิจกรรม แต่ตอนบินไปงานรับปริญญาเขาเดือนหน้า ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง (ยิ้ม)

Fact Box

Dutch Sustainability Days เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเนเธอร์แลนด์และไทย ผ่านหลากหลายกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2562 ที่ครอบคลุมมุมมองทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Dutch Sustainability Days ได้ที่ www.dutchsustainabilitydays.com

Tags: , , , , , ,